วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2557

ใครควรเข้าใจตะวันตก MO Memoir : Sunday 19 January 2557

"ใครอยากเข้าใจตะวันตก ผมไม่รู้
แต่ใครควรเข้าใจตะวันตก, ผมว่าได้แก่คนไทยทุกคนเป็นที่สุด"

นั่นคือประโยคเริ่มต้นบทที่ ๑ ในหนังสือ "ตะวันตกวิกฤต คริสต์ศาสนา" เขียนโดย ไมเคิล ไรท์
  
ในยุคที่การสื่อสารผ่านทางอินเทอร์เน็ตแพร่หลายไปทั่วโลก แต่ก็ยังเป็นเรื่องน่าแปลกที่ทำไมเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยของเราเอง หรือเกิดขึ้นในเขตที่เราอาศัยอยู่เอง คนไทยส่วนหนึ่งกลับไม่เข้าไปสัมผัส ไม่เข้าไปตรวจสอบ ไม่เชื่อถือและตั้งข้อสงสัยรายงานข่าวสารที่สื่อในประเทศนำเสนอ แต่คนไทยจำนวนนั้น (ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย) กลับ "เชื่ออย่างหัวปักหัวปำ" กับข้อมูลที่สื่อทางชาตินำเสนอ
  
เขียนถึงจุดนี้บางคนก็คงจะอธิบายว่าทำไมคนไทยจึงตั้งข้อสงสัยกับรายงานข่าวของสื่อเมืองไทย ด้วยเหตุผลที่ว่าสื่อเมืองไทยนั้น "ซื้อได้" คือสามารถจ้างให้รายงานให้เชียร์ใคร หรือบิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสีใครก็ได้ ถ้าเช่นนั้นมันก็มีคำถามตามมาเช่นกันก็คือ แล้วสื่อต่างชาติล่ะ มัน "ซื้อไม่ได้เลยหรือไง"

เมื่อไม่นานมานี้ระหว่างขับรถ ผมได้ฟังรายการวิทยุที่ส่งกระจายเสียงเป็นภาษาไทยมาจากต่างประเทศ ตอนท้ายของรายการก็มีการคุยกันระหว่างผู้ดูแลรายการในประเทศไทย (ที่ถ่ายทอดสัญญาณจากสถานีวิทยุต่างประเทศภาคภาษาไทยนั้น) กับคนไทยผู้จัดรายการอยู่ต่างประเทศ คำถามหนึ่งที่ผู้จัดรายการฝั่งไทยถามก็คือ เขารู้สึกว่ารายงานข่าวของทางต่างประเทศนั้นมันไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเมืองไทย คำถามก็คือเป็นเพราะอะไร


รูปที่ ๑ หนังสือที่ใช้ในการเขียน Memoir ฉบับนี้ นับจากซ้าย (๑) "ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา" โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๕๔๓ (๒) "ตะวันตกวิกฤต คริสต์ศาสนา" โดย ไมเคิล ไรท์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๕๔๖ (๓) "พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต พ.ศ. ๒๑๘๒ " โดย วนาศรี สามนเสน แปลเป็นภาษาไทยจากภาษาอังกฤษ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ. ๒๕๔๘ และ (๔) "กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้" โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พิมพ์ครั้งที่ห้า พ.ศ. ๒๕๔๔
  
สิ่งที่ผู้รายงานข่าวภาคภาษาไทยจากต่างประเทศอธิบายมานั้นผมพอจะสรุปได้ดังนี้คือ ต้องเข้าใจว่านักข่าวต่างประเทศของสำนักข่าวต่าง ๆ นั้นมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท เช่น
  
- จ้างเพียงคนเดียว แต่ทำข่าวทั้งภูมิภาค ขึ้นอยู่กับว่าในภูมิภาคนั้นประเทศใดคิดว่าจะมีข่าวเด่น ก็จะให้นักข่าวคนนั้นไปประจำในประเทศนั้น โดยที่นักข่าวคนนั้นไม่ใช่คนที่เกิดในภูมิภาคที่เข้าไปทำงาน
  
- ในกรณีที่เห็นว่าประเทศใดประเทศหนึ่งมีความสำคัญ ก็จะจ้างเอาไว้ประจำประเทศนั้น โดยที่นักข่าวคนนั้นไม่ใช่คนของประเทศนั้น
  
- จ้างคนของประเทศที่ต้องการทำข่าว ให้ทำข่าวในประเทศของตัวเอง และส่งให้สำนักข่าวต่างประเทศ
  
แต่ที่แน่ ๆ ก็คือถ้าเป็นนักข่าวต่างประเทศ ก็เชื่อได้ว่าคงไม่มีใครไปอ่านกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เขาจะเข้าใจผิด เพราะเขาไม่รู้ว่าปัญหานั้นมันเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายอย่างไร และถ้าเป็นกรณีที่เป็นนักข่าวประจำภูมิภาคที่จะเข้าไปทำข่าวในประเทศใดประเทศหนึ่งในกรณีที่มีเหตุสำคัญ (เช่นความรุนแรง) ก็เป็นการยากที่เขาจะเข้าใจสาเหตุที่เป็นต้นตอของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งมักเป็นเรื่องสืบเนื่องติดต่อกันมานาน
  
และที่สำคัญก็คือ นักข่าวก็สามารถ "ถูกซื้อตัว" ได้เช่นเดียวกัน

ไมเคิล ไรท์ ยังเขียนต่อในบทที่ ๑ หน้าที่ ๑ ในหนังสือของเขาว่า
  
"การที่ชาวสยาม ปฏิเสธ คริสต์ศาสนา เป็นสิทธิของเขา (และผมว่าสาธุ ๆ ดี ๆ) แต่การที่ชาวสยาม ไม่ศึกษา คริสต์ศาสนา เท่ากับเป็นการหลับตารับเปลือกนอกของตะวันตกโดยไม่รู้ถึงขั้วหัวใจของฝรั่งว่า เขาคิดอย่างไร, ฝันอย่างไร, กลัวอะไร, และพ่ายแพ้อย่างไร ชาวสยามโดยมากมักมองเฉพาะความสำเร็จและหรูหราของชาวยุโรป, ไม่สนใจความสับสน, ยุ่งยากและความบกพร่องทางปัญญาของตะวันตก, ที่ล้วนเป็นบทเรียนที่สำคัญไม่แพ้ความรุ่งโรจน์ของยุโรปและอเมริกา"

ในหน้าที่ ๕-๖ ของบทที่ ๑ ไมเคิล ไรท์ ยังเขียนต่อว่า
  
"ศาสนาคริสต์สามารถอธิบายตะวันตกได้ทั้งหมด, ไม่ใช่สิ่งดีงามเพียงอย่างเดียว เพราะแม้ชาวตะวันตกจะทำผิดพระศาสนาอย่างร้ายแรงเพียงใด, ก็มักจะอ้างคริสต์ศาสนาเพื่อสนับสนุนความผิดนั้น ๆ ได้เสมอ เช่นเมื่อจะสู้รบกันก็จะอ้างทฤษฎี "สงครามยุติธรรม" (Just War); จะจับมิจฉาทิฐิไปทรมานฆ่าเสีย (Inquisition) ก็จะอ้าง "พระธรรมคำสอนที่ถูกต้อง" (Orthodoxy); หรือจะล่าเมืองขึ้น (Colonialism) ก็อ้างว่า "เพื่อเผยแพร่ศาสนานำคนป่าเถื่อนเข้าสู่ศีลธรรมและสวรรค์"
.....
แม้เรื่องที่ดูไม่เกี่ยวกับศาสนา, เช่นระบบทุนนิยมและระบบมาร์กซิสต์, ยังงอกออกมาจากศาสนาคริสต์ :- ฝ่ายนายทุนอ้างว่า "พระผู้เป็นเจ้าย่อมประทานรางวัลแก่ผู้ที่ขยันสร้างสรรค์ทำประโยชน์", ฝ่ายมาร์กซิสต์อ้างว่า "ผู้มีอำนาจวาสนาจะตกต่ำ, ผู้ยากไร้และผู้ต่ำต้อยจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน" คำอ้างเหล่านี้ล้วนมีพระคัมภีร์คริสต์ศาสนาสนับสนุน"

ที่มีเครื่องหมาย "," หรือ ";" ตามตำแหน่งต่าง ๆ นั้น ผมลอกตามหนังสือของ ไมเคิล ไรท์ มาโดยตรง

"ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา" เป็นหนังสือที่ผมซื้อมาเพราะชื่อของมัน สิ่งสำคัญที่ผมได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ก็คือเราจำเป็นต้อง "อ่านคนเขียน" ก่อน ว่าเขาเป็นใคร ตอนที่เขาเขียนเรื่องต่าง ๆ นั้นเขาผ่านประสบการณ์ใดมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขาเขียน แต่มันส่งผลถึงมุมมองและการแปลความหมายเหตุการณ์ที่เขาเขียนถึง หรือประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขาเขียน แต่เป็นมุมมองที่เขามองมาจากมุมไหน ดังนั้นในบทแรกในหน้าที่ ๔ ของหนังสือเล่มนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ จึงเขียนไว้ว่า
  
"... แม้ว่าประวัติศาสตร์ในยุคนี้จะมีหลักฐานของชาติตะวันตกเพิ่มพูนขึ้นมาก แต่ความสนใจของนักเดินทาง พ่อค้า และนักสอนศาสนาตะวันตกมีอยู่จำกัด และไม่ช่วยให้เราเข้าใจภูมิภาพเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากทัศนะของประชาชนในภูมิภาคนี้เลย การศึกษาประวัติศาสตร์ของภูมิภาคโดยอาศัยหลักฐานภายนอกจึงไม่ทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้ได้ดีไปกว่าการสังเกตุการณ์ "จากกราบเรือหรือเมืองป้อมที่เป็นโรงเก็บสินค้า" ของฝรั่ง"

ตอนที่ผมศึกษาอยู่ทางประเทศนั้น เวลาที่ต้องศึกษาเกี่ยวกับแนวทฤษฎีใด สิ่งหนึ่งที่อาจารย์ที่ปรึกษาถามก็คือได้ไปอ่านบทความต้นฉบับแล้วหรือยัง ทั้งนี้เป็นเพราะการอ่านแนวความคิดที่คนอื่นนำมาเล่าต่อกันเป็นทอด ๆ นั้นมันทำให้แนวความคิดเดิมที่คนแรกนำเสนอเอาไว้นั้นมันผิดเพี้ยนไปได้ 
   
หนังสือสองเล่มที่ผมกล่าวมาข้างต้นนั้น ผมได้ให้นิสิตป.เอก คนแรกของผม (และก็เพียงคนเดียวที่ได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและจบไปทำงานแล้ว) ไปอ่านให้หมด ก่อนที่จะเริ่มเรียนกับผม

วัน วลิต เป็นชาวฮอลันดาชื่อ "เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremisa Van Vliet)" แต่เป็นที่รู้จักของคนไทยทั่วไปว่า "วันวลิต" เขาผู้นี้เข้ามาทำงานในกรุงศรีอยุธยาในช่วงปีพ.ศ. ๒๑๗๖-๒๑๘๕ หรือใช้เวลา ๙ ปีอยู่ในกรุงศรีอยุธยา เขาได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเมืองไทยอย่างละเอียดและยังเรียนรู้ภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญก็คือได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทยไว้ถึง ๓ เล่ม (แต่เป็นภาษาฮอลันดา)
  
"พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต พ.. ๒๑๘๒" นั้น พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เขียนไว้ในบทคำนำเสนอของหนังสือดังกล่าวว่า
  
"โดยเฉพาะคุณลักษณะของกษัตริย์แต่ละพระองค์ที่วันวลิตระบุไว้เป็นแบบฉบับในการเขียนเลยนั้น แทบจะไม่มีปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับของคนไทยเลย ....
ข้อความส่วนนี้ทำให้พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิตแตกต่างไปจากการเขียนพงศาวดารของคนไทยอย่างชัดเจน ...
อย่างไรก็ดี แม้ วันวลิต จะไม่มีข้อจำกัดในด้านนี้ แต่ก็ควรพิจารณาว่าทั้งหมดเป็นความคิดเห็นของวันวลิต ผู้เป็นปุถุชนคนหนึ่ง ที่มองจากด้านของตนเองผู้มีประโยชน์เฉพาะตนเป็นอย่างหนึ่ง หรือด้านที่เป็นข่าวสารที่ได้รับมาทางหนึ่งทางใด ดังจะพบว่าในบางรัชกาลที่วันวลิตกล่าวถึงความดีไม่ดีของพระมหากษัตริย์อยุธยา จะมีความแตกต่างไปบ้างจากการรับรู้ที่ได้จากการอ่านพงศาวดารที่คนไทยเขียน"

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็เป็นบุคคลท่านหนึ่งที่เขียนหนังสือและบทความไว้หลากหลาย หนึ่งในหนังสือที่ท่านเขียนได้แก่ "กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้" ที่เขียนขึ้นโดยอิงจากหนังสือของ วันวลิต และก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาเรื่องราวที่เขียนขึ้นโดย วันวลิต นั้น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ได้เกริ่นนำเอาไว้ว่า
"ในการอ่านเรื่องที่จะได้แปลต่อไปนี้ ผู้อ่านควรทำใจไว้ก่อนว่า ผู้ที่เขียนเรื่องนี้ขึ้น เป็นฝรั่ง ถึงจะอ่านหนังสือไทยออกขนาดอ่านจดหมายเหตุต่าง ๆ ในกรุงศรีอยุธยาได้ และพูดภาษาไทยขนาดที่จะซักถามข้อความต่าง ๆ จากคนไทยได้ แต่จิดใจก็ยังเป็นฝรั่ง เพราะฉะนั้นที่จะให้เข้าใจคนไทยและเข้าใจถึงจิตใจคนไทยอย่างแท้จริง ตลอดจนวิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยได้อย่างถ่องแท้นั้น จึงเป็นของยาก แม้หนังสือต่าง ๆ ที่ฝรั่งเขียนขึ้นเกี่ยวกับเมืองไทยในปัจจุบันนี้ก็อยู่ในลักษณะเช่นเดียวกัน จะเชื่อถือไปหมดทุกข้อทุกกระทงไม่ได้ ทั้งนี้เป็นข้อสังเกตข้อแรก"

หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกในปีพ.ศ. ๒๕๑๙ หรือเมื่อ ๓๘ ปีที่แล้ว

เมื่อตอนเรียนมัธยมปลายนั้น ครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษา (ต้องกราบขออภัยที่ผมจำชื่อของท่านไม่ได้ จำได้แต่ว่าท่านเป็นคนตัวอ้วน ร่างใหญ่) กล่าวเอาไว้ประโยคหนึ่งว่า "วิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เป็นวิชาท่องจำ แต่เป็นวิชาที่ต้องใช้เหตุผลในการทำความเข้าใจ" ซึ่งกว่าที่ผมจะเข้าใจประโยคที่ท่านกล่าว ก็ล่วงเลยเวลามาจนหลังเรียนจบปริญญาตรี
  
สภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของชุมชนนั้น ถูกกำหนดโดยลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนใด ก็อิงอยู่กับภูมิประเทศและภูมิอากาศของสังคมนั้นด้วย กฎเกณฑ์ใด ๆ ที่ไม่สามารถทำให้คนในชุมชนนั้นสามารถดำรงชีพอยู่ได้ ก็ไม่แปลกที่คนในชุมชนนั้นจะปฏิเสธ
  
เรื่องนี้ผมเคยคุยกับผู้ที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้เคร่งศาสนาพุทธผู้หนึ่ง ที่คิดว่าศาสนาพุทธนั้นดีที่สุด ในหัวข้อที่ว่าการฆ่าสัตว์นั้นเป็นบาป ผมก็เลยย้อนถามกลับไปว่าถ้าไปบอกพวกเอสกิโมที่อาศัยอยู่ตามขั้วโลกในภูมิประเทศที่เย็นจัด พื้นเป็นน้ำแข็ง (เกือบ) ตลอดทั้งปี ที่ปลูกอะไรกิน (แทบ) ไม่ได้ หรือชนเผ่าที่เร่ร่อนอยู่ในทะเลทายในตะวันออกกลาง ว่าอย่าฆ่าสัตว์ เพราะมันบาป แล้วจะให้คนเหล่านั้นเขากินอะไร แล้วเขาจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ช่วงเวลาที่ศาสนาพุทธเกิดขึ้นและเผยแผ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้นั้น คนในภูมิภาคแถบนี้อยู่ในดินแดนที่ปลูกพืชผักกินได้ทั้งปี หรือไม่ก็มีเทคโนโยลีที่จะถนอมพืชผัก (หรือแม้กระทั่งเนื้อสัตว์) เก็บไว้กินได้ตลอดทั้งช่วงฤดูหนาว แต่ในเวลาเดียวกันนั้นคนทางยุโรปยังไม่รู้จักการถนอมพืชผัก (หรือเนื้อสัตว์) ไว้กินเช่นคนเอเชีย ดังนั้นศาสนาที่ห้ามการฆ่าสัตว์เช่นศาสนาพุทธ จึงยากที่จะได้รับการยอมรับจากผู้คนที่อาศัยอยู่ทางด้านตะวันตกของประเทศอินเดีย คนเอเชียมีเทคโนโลยีในการถนอมอาหารมาเป็นเวลานับพันปีแล้ว แต่เรากลับมาเรียนหนังสือยกย่อง ฟรานซิส เบคอน ว่าเป็นผู้คนพ้นว่าความเย็นจากหิมะช่วยเก็บเนื้อไก่ไว้ได้นานขึ้น ซึ่งเป็นการค้นพบของชาวตะวันตกเมื่อไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมานี่เอง


เรื่องที่คนไทยเห็นว่าคำพูดฝรั่งถูกต้องไปเสมอนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว เรื่องหนึ่งก็ได้เคยเล่าเอาไว้แล้วใน Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๖๔ วันพุธที่ ๑๖ มกราคม พ.. ๒๕๕๖ เรื่อง "กระสุน Siamese type 66 (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๓๔)" ลองย้อนกลับไปอ่านดูได้

ไม่มีความคิดเห็น: