วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2561

รถไฟ ไปเรื่อย ๆ (๕) ในอุ้งหัตถ์กรมพระกำแพง ฯ MO Memoir : Sunday 25 March 2561

กรุงเทพฯ
๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๗

สหรัฐอเมริกาได้ตัดสัมพันธ์ทางการฑูตกับประเทศเยอรมันนีและบีบบังคับให้ประเทศที่ยังเป็นกลางกระทำเช่นนั้นด้วย ทุกคนที่นี่จึงรู้สึกตึงเครียดเพราะไม่ทราบว่าประเทศสยามจะมีท่าทีตอบโต้อย่างไร ความตึงเครียดยิ่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อหน่วยข่าวของรอยเตอร์ได้โทรเลขแจ้งมาว่า ประเทศจีนได้ตัดสินใจปฏิบัติตามสหรัฐอเมริกา ส่วนข่าวของที่นี่ไม่ได้เอ่ยถึงท่าทีของสยามที่มีต่อทิศทางทางการเมืองที่เปลี่ยนไปแม้แต่น้อย และไม่มีสัญญาณใด ๆ เช่นเดียวกันที่จะบ่งบอกว่าประเทศสยามจะละทิ้งความเป็นกลางที่ยึดถืออย่างเหนียวแน่นมาตลอดเวลานั้น ทุกสิ่งยังคงเหมือนเดิม ดังนั้นพวกเราจึงรู้สึกพึงพอใจ
 
ย่อหน้าข้างบนนำมาจากหน้า ๒๕๕ ในหนังสือ "กำเนิดการรถไฟในประเทศไทย" ที่เป็นการแปลบันทึกของ ลูอิส ไวเลอร์ ชาวเยอรมันผู้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมรถไฟของสยามในเวลานั้น

การสร้างเส้นทางรถไฟของไทยนั้นเริ่มจากให้บริษัทอังกฤษเป็นผู้สำรวจ พอจะสร้างเส้นทางสายไปโคราชปรากฏว่าทางเยอรมันประมูลได้ ทางอังกฤษก็โวยวายหาว่าไม่เป็นธรรม สุดท้ายทางรัฐบาลไทยจึงต้องยอมให้อังกฤษเป็นคนก่อสร้าง แต่การควบคุมงานให้เป็นหน้าที่ของวิศวกรเยอรมัน ทำให้เจ้ากรมรถไฟสามคนแรกของไทยนั้นเป็นชาวเยอรมัน
 
แต่พอเป็นเส้นทางสายใต้ ที่อังกฤษถือว่าฝั่งตะวันตกของสยามนั้นเป็นเขตอิทธิพลของอังกฤษ ประกอบกับรัฐบาลสยามมีปัญหาเรื่องเงินที่จะใช้ในการก่อสร้าง (ตอนนั้นการก่อสร้างเส้นทางสายเหนือและสายอีสานก็ยังไม่เรียบร้อย) จึงต้องยอมยกรัฐในคาบสมุทรมลายาให้กับอังกฤษและให้อังกฤษเป็นคนก่อสร้าง เพื่อแลกกับเงินกู้ ทำให้ตอนนั้นสยามมีหน่วยงานกำกับดูแลรถไฟสองหน่วยงานด้วยกัน โดยหน่วยงานแรกนั้นดูแลเส้นทางสายเหนือและอีสาน (ที่ใช้รางขนาด standard gauge) และหน่วยงานที่สองที่ดูแลเส้นทางสายใต้ (ที่ใช้รางขนาด metre gauge)
 
วันที่ ๕ มิถุนายน ปีพ.ศ. ๒๔๖๐ (ค.ศ. ๑๙๑๗) รัชกาลที่ ๖ ได้ยุบรวมหน่วยงานกำกับดูแลเส้นทางรถไฟทั้งสองเส้นทางเข้าด้วยกัน โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน (พระอิสรยศในขณะนั้น) โดยให้ลูอิส ไวเลอร์ เป็นหัวหน้าวิศวกร และนาย เอช กิตตินส์ เป็นที่ปรึกษากรมรถไฟ 
  
และในเดือนถัดมาในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม สยามก็ประกาศสงครามกับเยอรมัน ส่งผลให้วิศวกรเยอรมันที่ทำงานก่อสร้างและกำกับดูแลการรถไฟต้องถูกปลดออกจากตำแหน่งและควบคุมตัวไว้ในค่ายเชลยศึก
  
การที่สยามต้องประกาศสงครามกับเยอรมันโดยเลือกไปอยู่ฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสนั้นจะเรียกว่าทำความเสียใจให้กับคนไทยจำนวนไม่น้อย เพราะช่วงเวลาก่อนหน้านั้นต่างก็ได้รับรู้การกระทำที่ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสกระทำต่อสยาม ในขณะที่ทางเยอรมันนั้นไม่ได้มีพฤติกรรมดังกล่าว การที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และแรงกดดันจากมหาอำนาจ ทำให้สยามที่เป็นประเทศที่ไม่มีกำลังทหารจะไปต่อรองกับใครต้องตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก
 
สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๑ แม้สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศของสยามเริ่มดีขึ้น แต่ตามความหวาดระแวงก็ยังคงมีอยู่ ปัญหานี้นำมาซึ่งการโต้เถียงเรื่องการขยายเส้นทางรถไฟและการปรับเปลี่ยนขนาดรางรถไฟ ในขณะนั้นเส้นทางสายใต้ (ที่ใช้รางขนาด meter gauge) นั้นเรียกได้ว่าสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว (รูปที่ ๒) แต่การเชื่อมต่อไปยังเส้นทางสายเหนือและอีสานยังเป็นปัญหาอยู่ เนื่องจากยังไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำ และการที่ใช้รางที่มึความกว้างที่แตกต่างกัน (สายเหนือใช้รางขนาด standard gauge)
 
ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรมีการปรับรางให้เป็นขนาด standard gauge เพื่อป้องกันไม่ให้มหาอำนาจเข้ามาใช้เส้นทางรถไฟของสยามได้ เพราะในขณะนั้นเส้นทางรถไฟของอังกฤษและฝรั่งเศสที่สร้างในภูมิภาคนี้ต่างก็ใช้รางขนาด metre gauge แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสยามควรมีการพัฒนาด้วยการเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยรถไฟในภูมิภาคนี้ ดังนั้นควรต้องใช้รางขนาด metre gauge เพื่อที่จะได้สามารถเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟใน พม่า คาบสมุทรมลายา เขมร และเวียดนาม เข้าด้วยกันได้

ในบทที่ ๒ หัวข้อ ๒.๒ หน้าที่ ๕๐ ของหนังสือ "Rails of the Kingkon : The History of Thai Railways" ผู้แต่งคือ Ichiro Kakizaki ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า "ในการเลี้ยงอาหารค่ำ ณ สโมสรโรตารี กรุงเทพ ในปีค.. ๑๙๒๖ กรมพระกำแพงเพชรแสดงความตั้งใจที่ชัดแจ้งว่าต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางของเส้นทางรถไฟในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้อธิบายด้วยการใช้มือแทนเครือข่ายรถไฟในสยามโดย นิ้วหัวแม่มือแทนเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อไปยังพม่า นิ้วชี้แทนเส้นทางรถไฟสายเหนือ นิ้วกลางแทนเส้นทงารถไฟสายขอนแก่น นิ้วนางแทนเส้นทางรถไฟสายอุบลราชธานี นิ้วก้อยแทนเส้นทางรถไฟสายตะวันออก และแขนแทนเส้นทางรถไฟสายใต้"

แต่ก่อนที่จะไปถึงเวลานั้น สยามต้องตัดสินใจให้ได้ก่อนว่าจะเลือกใช้รางกว้างขนาดเท่าใด


รูปที่ ๑ รูปนี้ถ่ายจากภาพที่แขวนไว้ในตู้รถไฟที่ใช้เป็นห้องสมุดรถไฟนพวงศ์ เป็นภาพหัวรถจักรไอน้ำที่สถานีหัวลำโพง เดิมนั้นเส้นทางรถไฟสายนี้เป็นรางกว้างขนาด standard gauge (ลูกศรสีเหลือง) พอจะให้รถไฟที่ใช้รางขนาด meter gauge วิ่งได้ก็ต้องทำการวางรางเพิ่มอีกเส้นหนึ่ง (ลูกศรสีเขียว) แสดงว่าภาพนี้ถ่ายไว้ในช่วงที่อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนขนาดรางเพื่อให้รถไฟที่ใช้รางขนาดความกว้างแตกต่างกันนั้นวิ่งบนเส้นทางเดียวกันได้

รูปที่ ๒ แผนการสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อไปยังประเทศต่าง ๆ ของไทยในปีค.ศ. ๑๙๒๕ ที่ประมวลโดย Ichiro Kakizaki

รูปที่ ๓ "ฉัตรชยานุสสรณ ๒๔๘๐" บรรจุพระสรีรางคารของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ณ สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ถ่ายไว้เมื่อวันพุธที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ 

รูปที่ ๔ "ฉัตรชยานุสสรณ ๒๔๘๐" ถ่ายไว้เมื่อวันพุธที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖


รูปที่ ๕ "ฉัตรชยานุสสรณ ๒๔๘๐" ถ่ายไว้เมื่อวันพุธที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

ไม่มีความคิดเห็น: