วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2562

ความปลอดภัยในการทำงานและการออกแบบ ตอน ทำไมเมื่อวานจึงไม่เกิดเรื่อง MO Memoir : Tuesday 29 January 2562

วันก่อนก็ทำแบบนี้ (หรือมากกว่านี้) ก็ไม่เห็นมีอะไร แล้วทำไมวันนี้จึงมีเรื่อง
 
อุบัติเหตุหลายกรณีก็เป็นแบบนี้ อย่างเช่นเหตุการณ์ที่เกิดที่โรงงานเอทานอลแห่งหนึ่งเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๙ (ภาพข่าวในรูปที่ ๑ ข้างล่าง ที่คัดมาเพียงบางส่วน) ที่คนงานเข้าไปทำงานเชื่อมฝาถังบำบัดน้ำเสียจนเสร็จ และก็รับเงินค่าจ้างไปแล้ว แต่พอวันรุ่งขึ้นเมื่อกลับมาเก็บเครื่องมือ ปรากฏว่าเกิดการระเบิดเกิดขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๓ ราย
 
คำถามหนึ่งที่เราน่าจะถามก็คือ ทำไมวันก่อนหน้า (ทั้ง ๆ ที่ควรเป็นวันที่มีการทำงานเชื่อมกันขนานใหญ่) จึงไม่เกิดการระเบิด แล้วทำไมพอวันมาเก็บเครื่องมือ ซึ่งตามข่าวบอกว่าสงสัยว่าคงมีการเชื่อมเกิดขึ้น แล้วบังเอิญมีแก๊สที่ติดไฟได้อยู่ในบริเวณนั้น จึงเกิดการระเบิด แล้ววันก่อนหน้านี้ทำไมจึงไม่มีแก๊สติดไฟได้ปรากฏในพื้นที่ทำงาน

รูปที่ ๑ ภาพข่าวจากหน้าเว็บหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ข่าวคนงานซ่อมฝาถังบำบัดน้ำเสียแล้วเกิดการระเบิดจนมีผู้เสียชีวิต ๓ ราย (เนื้อหาข่าวนำมาเพียงบางส่วนเพื่อใช้ประกอบการสอน)
 
การย่อยสลายสารอินทรีย์ในสภาวะที่ไม่มีอากาศนั้นจะทำให้เกิดแก๊สมีเทน (methane CH4) ที่เบากว่าอากาศ ในกรณีที่โรงงานมีของเสียที่เป็นสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้เป็นจำนวนมาก ก็จะทำให้คุ้มค่าที่จะทำการผลิตแก๊สมีเทนจากของเสียเหล่านี้เพื่อเอาไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงาน การย่อยสลายสารอินทรีย์แบบนี้จำเป็นต้องกระทำในภาชนะปิดที่ไม่มีอากาศ (anaerobic) ไม่เช่นนั้นแบคทีเรียที่เปลี่ยนสารอินทรีย์ไปเป็นมีเทนจะตาย และเกิดการย่อยสลายด้วยแบคทีเรียที่ใช้อากาศ (aerobic) ซึ่งจะได้คาร์บอนไดออกไซด์แทน แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าถ้าทำการย่อยสลายแบบใช้ออกซิเจนในถังแล้วจะไม่มีการเกิดมีเทนขึ้น ถ้าหากออกซิเจนกระจายไม่ทั่วถึงและมีมุมอับที่ออกซิเจนเข้าไปถึง เชื้อที่ไม่ต้องการออกซิเจนมันก็รอดชีวิตอยู่แถวนั้นได้ และเปลี่ยนสารอินทรีย์เป็นมีเทนได้เช่นกัน
 
ที่เคยเห็นในกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี (ที่ทั้งโรงงานเต็มไปด้วยสารไวไฟ) ในการเข้าไปทำงาน process area จำเป็นต้องได้รับอนุญาตว่าให้ทำอะไรเพียงแค่ไหนและในช่วงเวลาไหนตามใบอนุญาต (ที่เขาเรียกว่า work permit) ที่เขาออกให้ เช่นถ้าเขาอนุญาตให้เพียงแค่เข้าไปถอดอุปกรณ์ ก็ทำได้เพียงแค่ถอดอุปกรณ์ จะเข้าไปทำงานเชื่อมโลหะ (ที่เป็นงานที่ในกลุ่มที่เขาเรียกว่า hot work) ไม่ได้ และถ้าเขาอนุญาตให้ทำได้ไปถึงแค่เวลาไหน มันก็จบเพียงแค่นั้น ถ้าวันหลังต้องการมาทำงานเพิ่มเติมต่อ ก็ต้องมีการขออนุญาตใหม่
 
แต่ที่สำคัญก็คือทางโรงงาน (ซึ่งก็ควรเป็นฝ่ายผลิต) ควรต้องเป็นผู้จัดเตรียมบริเวณและตัวอุปกรณ์ ให้มีความปลอดภัยที่จะให้บุคคลอื่นเข้ามาทำงาน (เช่น การระบายความดันและสิ่งที่ค้างอยู่ในระบบออกให้มากที่สุดก่อน การตรวจสอบพื้นที่ว่ามีแก๊สไวไฟปรากฏหรือไม่ เป็นต้น) และควรต้องมีคนคอยดูแลการทำงานของผู้ที่เข้ามาว่าไม่ได้ทำเกินเลยสิ่งที่อนุญาตให้ทำ และยังต้องคอยตรวจสอบสภาพแวดล้อมบริเวณรอบข้างพื้นที่ทำงานตลอดเวลาด้วย ว่ายังปลอดภัยสำหรับการทำงานอยู่ (เช่นไม่มีการปรากฏของแก๊สที่เป็นพิษหรือลุกติดไฟได้)
 
ในข่าวเหตุการณ์ที่เกิดนั้น (เท่าที่ค้นดู) ไม่มีการให้รายละเอียดเกี่ยวกับถังว่าเป็นแบบไหน แต่คิดว่าเป็นแบบ tank ที่ตั้งอยู่บนพื้น เพราะผู้เสียชีวิตมีทั้งที่ตกลงมาและค้างอยู่บนหลังคา แบคทีเรียย่อยสลายนั้นมันทำงานแบบไม่มีเวลาหยุดพัก ดังนั้นตรงนี้จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นมาอีกข้อหนึ่งคือ ในวันก่อนหน้าที่ไม่เกิดเหตุการณ์นั้น ในถังยังมีการย่อยสลายที่ทำให้เกิดมีเทนหรือไม่ ถ้าหากยังมีอยู่ แล้วทำไมการทำงานในวันแรกจึงไม่เกิดเรื่อง แต่ถ้าถังนั้นเป็นถังเปล่าที่ข้างในนั้นสะอาด (คือไม่มีการผลิตมีเทน) แล้วแก๊สที่ทำให้เกิดการระเบิดในวันรุ่งขึ้นนั้นมาจากไหน
 
ตามเนื้อข่าวนั้นถังที่เกิดเรื่องเป็นถังเก็บน้ำเสีย "ที่ยังสามารถนำไปผลิตเป็นไบโอแก๊สได้" ถ้าเป็นเช่นนี้เราก็อาจตั้งสมมุติฐานว่าถังนี้น่าจะเป็นถังแบบ cone roof ที่มีท่อ vent อยู่ข้างบน (รูปที่ ๒) ท่อ vent นี้มีไว้เพื่อให้อากาศในถังไหลออกเวลาที่มีของเหลวไหลเข้าถัง (ป้องกันถังได้รับความเสียหายจากความดันภายในสูงเกิน) และให้อากาศข้างนอกไหลเข้าเวลาที่สูบของเหลวออกจากถัง (ป้องกันถังได้รับความเสียหายจากการเกิดสุญญากาศภายใน)

รูปที่ ๒ ตัวอย่างฝาถังแบบ cone roof และ floating roof รูปนี้นำมาจาก Memoir ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓๐๑ วันศุกร์ที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เรื่อง "การควบคุมความดันในถังบรรยากาศ (Atmospheric tank)"
 
ถ้าสงสัยว่าแก๊สข้างในถังมีองค์ประกอบของแก๊สเชื้อเพลิง การเข้าไปทำงานเชื่อมโลหะบนฝาถัง โดยเฉพาะกับตัวฝาถังเอง ก็คงจะไม่เหมาะสม แต่ถ้าหากเป็นองค์ประกอบอื่นที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับโครงสร้างหลักของถังหรือโครงสร้างที่ไม่ใช่ส่วนที่ทำหน้าที่กักเก็บของเหลวและแก๊สภายในถัง เช่นซ่อมแซมราวยึดจับสำหรับการเดิน ก็อาจเข้าไปทำงานเชื่อมได้ แต่ทั้งนี้ต้องทำการเบี่ยงท่อทางออกของ vent ไปยังตำแหน่งอื่นที่ปลอดภัย (เช่นต่อสายยางให้มันระบายออกไปที่อื่นที่ไกลออกไป) เพื่อไม่ให้แก๊สที่ไหลออกมาทาง vent นั้นมีโอกาสสัมผัสกับประกายไฟที่เกิดจากการเชื่อม
 
อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่มีข้อมูลก็คือ ถ้าสมมุติว่าถังดังกล่าวมีท่อ vent (หรือวาล์วหายใจ Breather valve) แล้วท่อ vent นั้นมีการติดตั้ง Flame arrester หรือไม่ Flame arrester นี้จะติดตั้งกับกรณีของถังเก็บของเหลวที่ความดันบรรยากาศที่รู้แน่ชัดว่าไอระเหยของของเหลวที่เก็บไว้ในถังนั้นสามารถติดไฟได้ แต่ถ้าไม่คิดว่าไอที่ออกมาจากถังนั้นสามารถติดไฟได้ ก็จะไม่มีการติดตั้ง Flame arrester 
  
การติดตั้ง Flame arrester จะติดตั้งเข้ากับท่อ vent หรือใต้ Breather valve ตัว Flame arrester นี้มีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เปลวไปที่เกิดภายนอกถัง (เช่นไฟที่เกิดจากไอที่ระเหยออกมาจากภายในถังถูกจุดระเบิด) เข้าไปทำให้ไอที่ลอยอยู่เหนือของเหลวภายในถังเกิดการระเบิดตาม รายละเอียดของ Breather valve และ Flame arrester สามารถอ่านได้จาก Memoir ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๙๑๒ วันพุธที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๗ เรื่อง "Breather valve กับ Flame arrester"
 
ข้อมูลจากข่าวเท่าที่หาได้นั้นไม่มีการระบุว่าการระเบิดเกิดขึ้นเฉพาะข้างนอกถังหรือเกิดขึ้นในถังด้วย เพราะถ้าเกิดขึ้นเฉพาะข้างนอกถังจากแก๊ส "ไบโอแก๊ส (ซึ่งมีมีเทนเป็นหลัก)" ก็จะทำให้เกิดคำถามตามมาอีก เพราะมีเทนเป็นแก๊สที่เบากว่าอากาศ ดังนั้นถ้ามันไหลออกมาทาง vent มันก็จะฟุ้งกระจายลอยขึ้นไปได้ง่าย ยากที่จะสะสมบนหลังคา tank (ซึ่งดูเหมือนว่าจะตั้งอยู่กลางแจ้ง) แต่ถ้ามีการระเบิดภายในด้วย (ซึ่งอาจเกิดจากการที่มีการไปเชื่อมเหล็กในบริเวณใกล้กับทางออกของ vent ทำให้แก๊สที่รั่วออกมาลุกติดไฟ และไฟนั้นเดินทางย้อนกลับเข้าไปในถัง) ก็คงไม่แปลกถ้าการระเบิดนั้นจะรุนแรงมากพอจนทำให้ผู้เข้าไปทำงานบนฝาถังทั้ง ๓ คนเสียชีวิต
 
ในการจ้างผู้รับเหมาที่เป็นคนภายนอกนั้น เราก็คงจะจ้างคนที่มีความรู้ความสามารถในงานที่เราต้องการให้เขาทำ เช่นถ้าเราต้องการจ้างคนมาทำงานเชื่อมโลหะ เราก็คงต้องหาช่างที่มีฝีมือทางด้านนี้ แต่ก็ไม่ควรจะไปคาดหวังว่าเขามีความรู้ดีเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานของสถานที่ที่เขาเข้าไปทำงาน ชึ่งตรงนี้เห็นว่าควรมีการสื่อสารกันให้ชัดเจนว่าเมื่อได้รับอนุญาตให้ทำงานอะไร ทำได้ในบริเวณไหน ในช่วงเวลาใด ก็จำเป็นต้องทำตามนั้น ห้ามทำนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต และในขณะที่กำลังทำงานอยู่นั้นต้องมีการควบคุมตรวจสอบอะไรบ้าง เช่นถ้าได้รับอนุญาตให้ทำเพียงแค่เข้าไปเก็บเครื่องมือ ก็ทำได้เพียงแค่เก็บเครื่องมือเท่านั้น ถ้าในระหว่างที่เข้าไปเก็บเครื่องมือพบเห็นว่างานที่ทำเอาไว้ยังไม่เรียบร้อยดี อยากจะปรับแต่งให้ดีขึ้นด้วยการเชื่อมเพิ่มเติม ก็ห้ามกระทำ เว้นแต่จะได้รับการเตรียมพื้นที่และได้รับอนุญาตจากทางโรงงานก่อน

ที่เล่ามาทั้งหมดข้างต้นเป็นเพียงแค่การนำข่าวมาเป็นตัวอย่างให้นิสิตใช้ฝึกตั้งสมมุติฐานจากข้อมูลที่มีปรากฏในข่าว (ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นของเหตุการณ์) และความรู้พื้นฐานที่นิสิตเรียนกันมา (ซึ่งตรงนี้ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะได้เรียนกัน เพราะอาจารย์มหาวิทยาลัยช่วงหลัง ๆ นี้เห็นคุยได้แค่เพียงงานที่ตัวเองทำวิจัย) ที่ผมนำมาใช้สอนนิสิตนะครับ ส่วนเหตุการณ์จริงเป็นอย่างไรนั้นผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน

อีกกรณีหนึ่งที่ผมยกมาสอน ที่เป็นเหตุการณ์ที่ช่างเชื่อมโลหะเสียชีวิตเมื่อกลับมาทำงานที่เดิมในวันรุ่งขึ้นเช่นกัน (ทั้ง ๆ ที่การทำงานวันก่อนหน้าไม่มีปัญหาอะไร) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ และมีผู้เล่าเหตุการณ์ไว้ในวารสาร Loss Prevention Bulletin ฉบับที่ ๙๗ ปีค.ศ. ๑๙๙๑ เหตุการณ์เกิดเมื่อมีการเข้าไปเชื่อมชิ้นส่วนสแตนเลสในถังอะลูมิเนียมที่กำลังสร้างอยู่ (รูปที่ ๓) โดยเป็นการเสียชีวิตเนื่องจากการ "ขาดอากาศ" เรื่องที่นำมาเป็นเรื่องที่เคยเล่าไว้ใน Memoir ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๑๑๖๒ วันพุธที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๙ เรื่อง "อันตรายจากแก๊สเฉื่อย (ตอนที่ ๒)"

รูปที่ ๓ ช่างเชื่อมเสียชีวิตจากการขาดอากาศเนื่องจากเข้าไปเชื่อมโลหะในพื้นที่จำกัด (confined space)

พอยกตัวอย่างนี้มาสอนก็เป็นดังที่คาดก็คือ แทบจะไม่มีนิสิตคนใดเข้าใจ เพราะตอนนี้แม้แต่ผู้ที่จบทางสายวิศวกรรมศาสตร์ก็ตาม ถ้าไม่ได้เรียนสาขาทางด้านที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ แล้ว จะไม่รู้จักว่างานเชื่อมโลหะนั้นทำกันอย่างไร คนที่พอจะเข้าใจอยู่บ้างก็คือคนที่ได้สัมผัสกับงานก่อสร้าง หรือที่เรียนในหลักสูตรเก่ามา ซึ่งยังได้สัมผัสกับงานแบบนี้อยู่
 
อะลูมิเนียมและเหล็กกล้าไร้สนิม (ก็คือเหล็กสแตนเลสนั่นแหละ) เชื่อมยากกว่าเหล็กกล้าธรรมดา ต้องใช้ช่างเชื่อมมีฝีมือกว่า การเชื่อมโลหะกลุ่มนี้จะใช้การเชื่อม TIG (ย่อมาจาก Tungsten Inert Gas welding) หรือบ้านเราเรียกว่า "เชื่อมอาร์กอน" เพราะใช้แก๊สอาร์กอนเป็นตัวไล่อากาศออกจากบริเวณที่ทำการเชื่อมในขณะที่ทำการเชื่อม
 
ในการเชื่อมแบบธรรมดาหรือเชื่อมอาร์กอนนั้น มันจะมีการปลดปล่อยแก๊สเฉื่อยออกมา ซึ่งก็แน่นอนว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เล็งเห็นกันในขณะที่กำลังทำงานอยู่ ดังนั้นจึงต้องจัดให้มีระบบระบายอากาศ "ในขณะที่กำลังทำงานอยู่" เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ทำงานจะไม่ได้รับอันตรายจากแก๊สที่ปลดปล่อยออกมาที่สะสมอยู่ในบริเวณที่ทำงาน แต่เมื่อหยุดทำงานตอนเย็น ระบบระบายอากาศก็คงจะถูกปิด (เพราะคิดว่าเมื่อไม่มีการเชื่อมก็ไม่มีการปลดปล่อยแก๊สใด ๆ ออกมา) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือสายแก๊สอาร์กอนที่จ่ายแก๊สไปยังขั้วทังสเตนนั้นไม่ได้ถูกปิด ทำให้แก๊สอาร์กอนที่หนักกว่าอากาศนั้นไหลเข้าไปแทนที่อากาศทางด้านล่างของถัง และมีระดับที่สูงมากพอที่จะทำให้คนที่ลงไปในถังนั้นจมอยู่ในแก๊สอาร์กอน ผลที่ตามมาก็คือเมื่อมีคนงานลงเข้าไปทำงานในถัง ก็เลยขาดอากาศจนเสียชีวิต

(หมายเหตุ : บทความชุด "ความปลอดภัยในการทำงานและการออกแบบ" นี้จัดทำขึ้นเพื่อขยายความสไลด์ประกอบการสอนวิชา "2105689 การออกแบบและดำเนินการกระบวนการอย่างปลอดภัย (Safe Process Operation and Desing)" ที่เปิดสอนให้กับนิสิตระดับปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นครั้งแรกในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา ๒๕๖๑)

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2562

เขียวปากจิ้งจกกินนกกระจอก MO Memoir : Monday 28 January 2562

ให้รูปมันเล่าเรื่องเองดีกว่านะครับ มีบ้านอยู่ติดสวนรก ๆ ก็มีสิทธิพบเห็นเรื่องราวแบบนี้ครับ :) :) :)
 

เย็นวันเสาร์หลังจากกลับถึงบ้าน คุณแม่ก็บอกว่ามีงูเขียวกำลังกินนอกกระจอกอยู่ริมรั้วบ้านข้าง ๆ ก็เลยถือโอกาสแวะไปดูหน่อย ดู ๆ แล้วตัวน่าจะยาวสักเมตร ดูที่หางก็ไม่มีสีน้ำตาล ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นงูเขียวปากจิ้งจกมากกว่าจะเป็นหางไหม้ แต่ก็ต้องจัดว่าเป็นเขียวปากจิ้งจกที่ตัวยาวที่สุดที่เคยเจอ เขียวพระอินทร์ที่เคยพบก็ไม่ยาวขนาดนี้

 
ไม่รู้เหมือนกันว่านกระจอกพลาดท่าได้อย่างไร คงเป็นเพราะแวะมาเกาะกิ่งกระถินริมรั้ว ก็เลยเข้าทางผู้ล่าที่มารออยู่ก่อนแล้ว เห็นที่คอนกมีเลือดออกอยู่ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันจัดการกับนกอย่างไร


ถ่ายรูปเสร็จก็กลับมาพัก คิดว่าจะรอดูว่ามันจะกลืนนกอย่างไร สักพักคุณแม่ก็มาบอกว่า ลุงบ้านติดกันตรงนั้นจัดการไปแล้ว เพราะเขากลัวว่ามันจะเข้าไปกินนกที่เขาเพาะเลี้ยงเอาไว้ และถนนตรงนี้ก็มีเด็กเล็กออกมาเล่นอยู่เป็นประจำในช่วงเย็น ๆ


ถือว่าวันนี้เป็นการนำเสนอชีวิตธรรมชาติของสัตว์ก็แล้วกันครับ :) :) :)

วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2562

ความปลอดภัยในการทำงานและการออกแบบ ตอน วางความคิดให้เป็นกลาง แล้วตั้งคำถามพื้น ๆ MO Memoir : Saturday 26 January 2562

"เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาที่หาต้นตอไม่เจอ ให้ลองตั้งคำถามพื้น ๆ"    

ประโยคข้างบนเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมบอกกับนิสิตป.โท ที่ผมสอนอยู่เป็นประจำ เวลาที่เขาทำการทดลองแล้วพบปัญหากับตัวอุปกรณ์หรือผลการทดลอง แล้วนึกหาสาเหตุไม่เจอว่าต้นตอของปัญหามันมาจากไหน ก็ให้ลองใช้วิธีนี้ดู    

"คำถามพื้น ๆ" นี้หมายความถึงให้ตั้งคำถามว่า มีอะไรเกิดขึ้น พบเห็นอะไร ได้ยินสิ่งไหน ฯลฯ เอาแค่นั้นพอ อย่าพึ่งไปใส่ข้อมูลอื่น ๆ ลงไปว่ามันไม่น่าจะมีสาเหตุมาจากนั่นจากนี่ หรือมันต้องมีสาเหตุมาจากนั่นจากนี่ แต่การจะทำเช่นนี้ได้ก็ต้องสามารถวางความคิดให้เป็นกลางให้ได้ก่อน คืออย่าเพิ่งลำเอียงหรือใส่ความรู้สึกส่วนตัวใด ๆ เข้าไป การทำเช่นนี้จำเป็นต้องใช้สติช่วยกำกับ จากนั้นจึงค่อยพิจารณาหาเหตุผลว่า มีอะไรที่เป็นไปได้บ้างที่สามารถนำมาสู่ สิ่งที่เกิด ที่พบเห็น ที่ได้ยิน ฯลฯ เหล่านั้น ตรงนี้เป็นขั้นตอนของการใช้ปัญหาไตร่ตรอง    

การทำเช่นนี้ไม่เพียงแค่อาจช่วยแก้ปัญหาในงานที่กระทำอยู่ แต่ยังช่วยให้เราตรวจสอบความรู้หรือข้อมูลที่เราได้รับมานั้นด้วยว่า มันถูกต้องหรือควรค่าต่อการน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

ข้อความที่ปรากฏในกรอบข้างบน เป็นต้นเรื่องของบทความเรื่อง "วางความคิดให้เป็นกลาง แล้วตั้งคำถามพื้น ๆ" (Memoir ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๔๔๖ วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๐)
 
การพิจารณาหาสาเหตุของอุบัติเหตุก็เช่นกัน บ่อยครั้งที่พบว่าพอมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น และมีคนนำเสนอสาเหตุที่ทำให้เกิด ก็จะมีคนจำนวนมากกระโดดเกาะกระแสตามสาเหตุนั้น โดยไม่มีการตั้งคำถามว่าสาเหตุที่มีการกล่าวอ้างขึ้นมานั้นเป็นไปได้จริงหรือไม่ หรือยังมีสาเหตุอื่นที่เป็นไปได้อีกหรือไม่
 
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดในขณะนี้คือสภาพอากาศในกรุงเทพและปริมณฑลที่มีฝุ่นขนาดเล็ก ต่างมีการโทษว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้สิ่งโน้นเป็นตัวกลางทำให้เกิดฝุ่น แต่ที่ผมยังสงสัยอยู่ก็คือ มีใครได้เก็บตัวอย่างฝุ่นมาตรวจองค์ประกอบบ้างหรือไม่ เพราะฝุ่นที่มาจากต้นตอที่แตกต่างกันย่อมมีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน เช่นฝุ่นที่มาจากการเผาไหม้น้ำมันก็ย่อมต้องมีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก ฝุ่นที่มาจากการเผาไหม้ชีวมวลทางการเกษตร บางชนิดก็จะมีซิลิกาเป็นองค์ประกอบหลัก บางชนิดก็จะมีพวกเถ้า (เช่นสารประกอบอัลคาไลน์เป็นองค์ประกอบหลัก) ถ้าเรามีการวิเคราะห์ก่อนว่าต้นตอหลักของฝุ่นที่เป็นปัญหาในขณะนี้มาจากไหน เราก็จะได้มุ่งไปแก้ที่ตัวต้นตอหลัก ปัญหาจึงจะได้รับการแก้ไขโดยเร็ว
 
และในขณะเดียวกันก็ควรตั้งคำถามว่า ทำไมกิจกรรมเดียวกัน (เช่นการก่อสร้างกับรถควันดำ) ที่มีการทำกันมาก่อนหน้านี้จึงไม่ก่อให้เกิดปัญหามากขนาดนี้ แต่เพิ่งจะมาเกิดขึ้นในตอนนี้ (คือมันมีปัจจัยอะไรที่แตกต่างกันหรือเปล่า) หรือกิจกรรมแบบเดียวกันที่มีขนาดกิจกรรมใกล้เคียงกันที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่น กลับไม่เกิดปัญหาเช่นเดียวกันในพื้นที่นั้น (คือสิ่งที่คิดว่าเป็นต้นตอของปัญหานั้น อันที่จริงแล้วมันอาจไม่ใช่ก็ได้) เช่นในบริเวณเส้นทางจากสระบุรีไปแก่งคอย มวกเหล็ก และปากช่อง ที่มีทั้งโรงงานปูนซิเมนต์ โรงงานเซรามิก (มีทั้งเหมืองหินและการเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อเผาปูนและผลิตภัณฑ์เซรามิก) เป็นเส้นทางที่มีรถบรรทุกใช้งานเป็นจำนวนมาก (ที่ต่างใช้น้ำมันดีเซล แถมยังเป็นช่วงที่ต้องไต่ขึ้นเนินลาดชันยาวที่ต้องเร่งเครื่องมาก) มีการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง แต่กลับไม่พบกับปัญหาเรื่องฝุ่นสะสมในอากาศแบบเดียวกับที่กรุงเทพประสบ (ผลจากภูมิประเทศที่แตกต่างกันหรือไม่) 
  
เพื่อเป็นการฝึกหัด ลองพิจารณาตัวอย่างง่าย ๆ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาก่อนดูไหมครับ กรณีที่มีลูกโป่งอัดแก๊สระเบิดในรถยนต์ เกิดการลุกไหม้ ทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย และหนึ่งในนั้นก็เป็นเด็กด้วย ผมสรุปย่อข่าวไว้ในรูปข้างล่าง ลองอ่านเล่นเอาเองก่อนนะครับ


เรามาเริ่มกันที่ลูกโป่งสวรรค์ก่อน โดยขอเริ่มจากคำถามแรกคือแก๊สอะไรที่อัดลูกโป่งแล้วทำให้ลูกโป่งลอยได้ คำตอบก็คือแก๊สที่มีความหนาแน่นน้อยกว่าอากาศ ในทางเคมีก็คือแก๊สใด ๆ ที่มีน้ำหนักโมเลกุล (เฉลี่ย) น้อยกว่าน้ำหนักโมเลกุลเฉลี่ยของอากาศ อากาศประกอบด้วยไนโตรเจน (น้ำหนักโมเลกุล 28) 79% และออกซิเจน (น้ำหนักโมเลกุล 32) อีก 21% (ส่วนแก๊สอื่นถือได้ว่าน้อยมาก) ดังนั้นน้ำหนักโมเลกุลเฉลี่ยของอากาศคือ 28.84
 
แก๊สที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำกว่าอากาศ (เรียงจากต่ำไปสูง) เห็นจะได้แก่ ไฮโดรเจน (H2 น้ำหนักโมเลกุล 2) ฮีเลียม (He น้ำหนักโมเลกุล 4) มีเทน (CH4 น้ำหนักโมเลกุล 16) แอมโมเนีย (NH3 น้ำหนักโมเลกุล 17) อะเซทิลีน (C2H2 น้ำหนักโมเลกุล 26) และเอทิลีน (C2H4 น้ำหนักโมเลกุล 28) แก๊สธรรมชาติเติมรถยนต์ (CNG) ที่ขายกันในบ้านเราประกอบด้วยมีเทน 82% และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 น้ำหนักโมเลกุล 44) อีก 18% ดังนั้นน้ำหนักโมเลกุลเฉลี่ยก็คือ 21.04
 
ในบรรดาแก๊สต่าง ๆ ในย่อหน้าข้างบนนั้น เราคงตัดอะเซทิลีนและเอทิลีนออกไปก่อนได้ เพราะมันเบากว่าอากาศเพียงเล็กน้อย พอมาอัดใส่ลูกโป่งที่พอรวมน้ำหนักลูกโป่งเข้าไปแล้ว คงจะไม่ลอยขึ้น แก๊สแอมโมเนียก็ไม่เคยเห็นใครเอามาอัดใส่ลูกโป่งสวรรค์ คงเป็นเพราะมันแพง กลิ่นแรง และยังทำปฏิกิริยาเคมีได้ ตัวมีเทนหรือ CNG นั้นก็เคยเห็นคนเอามาอัดลูกโป่งเล่นเหมือนกัน (เล่นกันในแลป) แต่ก็ไม่เคยได้ยินว่ามีการใช้อัดลูกโป่งสวรรค์ขาย ที่เหลืออยู่ก็เห็นจะได้แก่ไฮโดรเจนที่เตรียมเองได้ง่าย (อะลูมิเนียมกับโซดาไฟ) และฮีเลียมที่แม้จะแพง แต่ก็เฉื่อยและไม่ติดไฟ
 
ในเหตุการณ์นี้มีเพลิงไหม้เกิดขึ้นในรถ แสดงว่าแก๊สที่บรรจุในลูกโป่งนั้นเป็นแก๊สที่ติดไฟได้ แต่ทุกลูกหรือไม่นั้นคงบอกไม่ได้ เพราะเปลวไฟที่เกิดขึ้นมันก็ทำให้ลูกโป่งที่บรรจุแก๊สฮีเลียมที่อยู่ข้าง ๆ แตกได้เช่นกัน และแก๊สที่ติดไฟได้ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในเหตุการณ์นี้ก็คือไฮโดรเจน
 
ประเด็นถัดมาที่ต้องพิจารณาก็คือทำอย่างไรแก๊สเชื้อเพลิงถึงจะติดไฟได้ เรื่องนี้เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าการที่เชื้อเพลิงจะลุกติดไฟได้นั้นต้องมีองค์ประกอบ ๓ ส่วนด้วยกันดังแสดงในรูปข้างล่าง คือต้องมีเชื้อเพลิงและสารออกซิไดซ์ที่ "ผสมกัน" ในสัดส่วนที่พอเหมาะ จากนั้นต้องมีแหล่งพลังงานมากระตุ้นให้เชื้อเพลิงและสารออกซิไดซ์ทำปฏิกิริยากัน



ในเหตุการณ์นี้สารออกซิไดซ์คืออากาศ (ที่ประกอบด้วยออกซิเจน 21%) ถ้าความเข้มข้นของเชื้อเพลิงในอากาศต่ำเกินไป ปฏิกิริยาลูกโซ่การเผาไหม้จะเกิดไม่ได้เพราะเชื้อเพลิงมีไม่พอ (ไม่สามารถสร้างความร้อนให้ปฏิกิริยาเกิดต่อเนื่องได้) ในทางตรงกันข้ามถ้าเชื้อเพลิงมีความเข้มข้นสูงเกินไป ปฏิกิริยาการเผาไหม้ก็จะดำเนินไปข้างหน้าไม่ได้อีกเพราะสารออกซิไดซ์มีไม่พอ ช่วงสัดส่วนที่ส่วนผสมนี้สามารถติดไฟได้เรียกว่าช่วง explosive limit ค่าความเข้มข้นเชื้อเพลิงต่ำสุดที่ทำให้ส่วนผสมติดไฟได้เรียกว่า Lower Explosive Limit (ย่อว่า LEL) และค่าความเข้มข้นเชื้อเพลิงสูงสุดที่ทำให้ส่วนผสมติดไฟได้เรียกว่า Upper Explosive Limit (ย่อว่า UEL) ช่วงระหว่างค่า LEL ถึง UEL ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อุณหภูมิ ความดัน และส่วนผสมของสารออกซิไดซ์ อย่างเช่นในกรณีของแก๊สไฮโดรเจนที่ความดันบรรยากาศและอุณหภูมิห้องนั้น ค่า LEL ในอากาศคือ 4 vol% และค่า UEL คือ 77 vol%
 
(หมายเหตุ : บางทีเขาจะใช้คำว่า Flammability แทนคำว่า Explosive คือจะเรียกเป็น Lower Flammability Limit (LFL) และ Upper Flammability Limit (UFL) แทน)
  

ลูกโป่งสวรรค์อัดแก๊สไฮโดรเจนเนี่ย ถ้าใครเอาบุหรี่หรือไฟไปจี้ มันก็ระเบิดได้ครับ เพราะพอลูกโป่งแตกออกแก๊สไฮโดรเจนก็จะกระจายออกมา พอเจอกับความร้อนจากบุหรี่หรือเปลวไฟ มันก็ลุกพรึบทันที ถ้าเป็นลูกโป่งหลายลูกลอยอยู่ติด ๆ กัน เปลวไปที่เกิดขึ้นก็จะไปทำให้ลูกโป่งใบข้าง ๆ แตก และปล่อยแก๊สไฮโดรเจนออกมา กลายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ไปเรื่อย ๆ จนกว่าลูกโป่งจะแตกหมด
 
แต่ในเหตุการณ์นี้ ตามคำบอกเล่าของผู้ขับรถก็คือ พอดึงสายชาร์จโทรศัพท์ออก ลูกโป่งก็เกิดการระเบิด ก็เลยคิดว่าประกายไฟที่เกิดขณะการดึงสายชาร์จออกเป็นตัวจุดระเบิด เวลาที่หน้าสัมผัสไฟฟ้าแยกออกจากกันนั้นมันเกิดประกายไฟได้ครับ มันไม่ขึ้นกับว่าสายชาร์จนั้นได้มาตรฐานหรือไม่ได้มาตรฐาน ความต่างศักย์ที่ป้อนผ่านสาย USB ก็ทำให้เกิดประกายไฟได้ ผมเองก็เห็นเป็นประจำเวลาเสียบสาย USB (ของเครื่องพิมพ์) เข้ากับคอมพิวเตอร์ที่บ้าน

แต่คำถามที่เราควรถามตามมาก็คือ ถ้าเป็นเช่นนี้ แสดงว่าไฮโดรเจนต้องรั่วออกมาจากลูกโป่งในปริมาณหนึ่ง ที่ทำให้ความเข้มข้นแก๊สไฮโดรเจนในอากาศ โดยเฉพาะบริเวณจุดที่ดึงสายชาร์จออก ต้องมีค่าอย่างน้อย 4 vol% ดังนั้นคำถามก็คือช่วงเวลานับตั้งแต่ปิดประตูรถครั้งสุดท้ายนับตั้งแต่มีลูกโป่งอยู่ในรถจนเกิดเหตุการณ์นั้น แก๊สไฮโดรเจนสามารถรั่วออกจากลูกโป่งจนทำให้ความเข้มข้นในห้องโดยสารนั้นสูงถึงระดับอย่างน้อย 4 vol% ได้หรือไม่
 
วัสดุที่ใช้ทำลูกโป่งสวรรค์ตอนนี้เห็นมีอยู่ด้วยกันสองแบบ วัสดุแรกคือยางลาเท็กซ์ (Latex) ที่มีการใช้กันมานานแล้ว วัสดุนี้มีข้อดีคือมีราคาถูก มีหลากหลายสี แต่มีข้อเสียคือมันเป็นวัสดุที่มีรูพรุน (แต่เล็กเกินกว่าตาเราจะมองเห็น) ที่แก๊สซึมผ่านได้ ถ้าเอามาอัดแก๊สไฮโดรเจนก็อยู่ได้แค่วันเดียว เรียกว่าอัดไว้เช้าวันนี้ เช้าวันรุ่งขึ้นลูกโป่งก็ลอยไม่ไหวแล้ว
 
วัสดุแบบที่สองคือไมล่าร์ (Mylar) หรือที่เรียกกันว่าลูกโป่งฟอยล์ ที่เห็นเป็นสีเงินพิมพ์ลวดลายต่าง ๆ หรือขึ้นรูปเป็นรูปร่างต่าง ๆ (เช่นเป็นตัวอักษร หรือรูปสัตว์ต่าง ๆ) วัสดุตัวนี้มีราคาแพงว่าลาเท็กซ์ แต่ป้องกันการรั่วซึมได้ดีกว่าลาเท็กซ์มาก เรียกว่าได้สามารถเก็บแก๊สไฮโดรเจนได้นานหลายวัน
 
ในเหตุการณ์นี้ ในข่าวก็ไม่มีข้อมูลว่าลูกโป่งที่เกิดเหตุนั้นทำจากวัสดุอะไร
 
คำถามอีกคำถามหนึ่งที่ตามมาก็คือ ปรกติแล้วที่จุดบุหรี่ในรถที่เราใช้เสียบสายชาร์จโทรศัพท์นั้น มันมักจะอยู่ที่ระดับต่ำ และอยู่ที่แผงคอนโซลหน้ารถ แต่แก๊สไฮโดรเจนเป็นแก๊สที่เบากว่าอากาศมาก ดังนั้นถ้ามันรั่วออกมาจากลูกโป่งมันก็ควรจะลอยอยู่ระดับเพดาน ในเหตุการณ์นี้ลูกโป่งนั้นอยู่ที่เบาะหลัง ดังนั้นคำถามก็คือแก๊สไฮโดรเจน (ถ้ามีการรั่วออกจากลูกโป่งที่ลอยอยู่ที่เบาะหลัง) สามารถแพร่ไปยังตำแหน่งที่จุดบุหรี่ที่อยู่ที่ระดับต่ำกว่าและอยู่ทางด้านหน้ารถได้อย่างไร (เช่นลมจากเครื่องปรับอากาศทำให้ไฮโดรเจนในห้องโดยสารเกิดไหลหมุนเวียนไปยังบริเวณดังกล่าวได้หรือไม่)
 
ข้อสรุปของอุบัติเหตุที่เกิดนั้นไม่ควรที่จะได้มาจากสมมุติฐานที่ตั้งขึ้นลอย ๆ (แต่ฟังดูดี) โดยไม่มีการตรวจสอบสมมุติฐานที่ตั้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรู้ที่มีอยู่และการใช้การทดลองช่วยในการพิสูจน์ สิ่งนี้จำเป็นสำหรับาการสอบสวนเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดการณ์แบบเดียวกันขึ้นก ดังนั้นจึงควรที่จะต้องพิจารณาความเป็นไปได้ต่าง ๆ ให้รอบคอบ จากนั้นจึงพิจารณาหลักฐานที่มีว่าสนับสนุนหรือหักล้างสมมุติฐานข้อใด ซึ่งจะเป็นการแสดงให้เห็นว่การพิจารณาหาสาเหตุนั้นได้กระทำอย่างรอบคอบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว

(หมายเหตุ : บทความชุด "ความปลอดภัยในการทำงานและการออกแบบ" นี้จัดทำขึ้นเพื่อขยายความสไลด์ประกอบการสอนวิชา "2105689 การออกแบบและดำเนินการกระบวนการอย่างปลอดภัย (Safe Process Operation and Desing)" ที่เปิดสอนให้กับนิสิตระดับปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นครั้งแรกในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา ๒๕๖๑)

วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2562

ตรงตามแบบ (ตอนที่ ๓) MO Memoir : Thursday 24 January 2562

ปรกติผมก็ไม่ค่อยได้ไปนั่งกินข้าวเที่ยงที่โรงอาหารนี้หรอกครับ เพราะคนเยอะมาก จะไปก่อนเที่ยงก็ยังไม่ค่อยหิว แต่ถ้าไปหลังบ่ายโมงกับข้าวก็ไม่ค่อยเหลือแล้ว พอจะไปได้บ้างก็ช่วงปิดเทอม สัปดาห์ที่แล้วมีโอกาสแวะไปอีกครั้งหนึ่ง ก็เลยถ่ายรูปพัดลมที่อยู่ที่ชั้น ๒ ของอาคารโรงอาหารมาให้ดูกัน (รูปที่ ๑) สังเกตเห็นอะไรอยู่หลังพัดลมไหมครับ :) :) :)

รูปที่ ๑ พัดลมเครื่องหนึ่งบนชั้น ๒ ของอาคารโรงอาหาร เห็นอะไรอยู่หลังพัดลมไหมครับ

รูปที่ ๒ สิ่งที่ติดตั้งอยู่ข้างหลังพัดลมคือป้ายบอกเส้นทางไปยังทางออกฉุกเฉิน

สิ่งที่อยู่ข้างหลังพัดลมคือป้ายบอกทางออกฉุกเฉิน ที่บอกว่าเส้นทางออกฉุกเฉินจากตัวอาหารอยู่ทางด้านไหน ซึ่งมันก็ควรติดตั้งในตำแหน่งที่ผู้คนที่ใช้อาคารนั้น "เห็นได้ชัด
  
ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าระหว่างผู้ติดป้ายทางออกฉุกเฉินกับผู้ติดพัดลมนั้นใครมาติดก่อนกัน แต่คงไม่ใช่ทีมเดียวกันแน่ ถ้ามองในฐานะผู้รับเหมาก็ต้องทำงานให้ถูกต้องตามแบบที่ผู้ว่าจ้างกำหนดไว้ การมีการแก้แบบย่อมหมายถึงความล่าช้าในการทำงานและการได้เงินค่าจ้าง ยิ่งเป็นการว่าจ้างของหน่วยราชการที่ว่ากันตามตัวอักษรด้วย การไม่ทำงานตรงตามตัวอักษรก็อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ ดังนั้นถ้าหากเขาสามารถทำงานในสถานที่จริงได้โดยไม่ติดขัดอะไร เขาก็จะทำไปเรื่อย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องสนว่าสิ่งที่เขาทำลงไปนั้นจะส่งผลกระทบต่อสิ่งอื่นหรือไม่ ซึ่งมองในแง่หนึ่ง การพิจารณาว่าสิ่งที่จะทำขึ้นมาใหม่นั้นจะส่งผลกระทบต่อสิ่งอื่นหรือไม่นั้นควรเป็นสิ่งที่ผู้ออกแบบควรต้องเป็นฝ่ายพิจารณามากกว่าก็ได้
 
แต่ถ้ามองจากอีกมุมมองหนึ่งหนึ่ง มันก็จะเป็นการบอกถึงความเป็น "มืออาชีพ" ของผู้รับเหมา ที่เมื่อใดก็ตามที่เห็นว่าแบบที่ได้รับมานั้นเมื่อนำมาปฏิบัติจริงมันดูแปลก ๆ หรือมีปัญหา ก็ควรที่ต้องทำการทักท้วงไปยังผู้ว่าจ้างก่อนที่จะเดินหน้าทำงานต่อไป ว่าจะยืนยันให้ทำตามนั้นหรือควรแก้ไขแบบเสียก่อน
 
ปัญหาแบบนี้อาจจะเกิดจากการที่ในระบบราชการนั้น ผู้ออกแบบ ผู้เปิดซองประมูลงาน และผู้ตรวจรับงาน ต่างเป็นกรรมการคนละชุดกัน และไม่มีใครมีหน้าที่มาคอยตรวจสอบการทำงานของผู้รับเหมาในขณะที่งานกำลังดำเนินการอยู่ มันก็เลยมีเหตุการณ์ทำนองนี้เห็นได้ทั่วไปเป็นประจำ ที่พบเห็นได้ง่ายที่สุดน่าจะได้แก่สัญญาณไฟจราจรหรือป้ายเครื่องหมายจราจรต่าง ๆ หาไม่ยากหรอกครับที่จะเห็นสัญญาณไฟไปติดตั้งไว้หลังต้นไม้บ้าง หลังป้ายบ้าง หรือติดตั้งป้ายบังกันบ้าง หรือติดตั้งในตำแหน่งที่ยากจะมองเห็น ตัวอย่างสุดท้ายนี้ถ้านึกภาพไม่ออกก็ไปดูได้ที่สัญญาณไฟจราจรให้คนข้ามถนนได้ครับ ในหลาย ๆ ที่เลยรถคันแรกที่มาจอดที่ทางข้ามจะมองไม่เห็นว่าสัญญาณไฟเปลี่ยนจากแดงเป็นเขียวหรือยัง เพราะมันติดตั้งอยู่บนเสาสูงเหนือตัวรถตรงทางข้าม ไม่ได้มีเสาอีกต้นหนึ่งที่ต่ำกว่าที่อยู่ห่างออกไปข้างหน้าออกไป ที่ง่ายต่อการสังเกตมากกว่าแบบเดียวกับสัญญาณไฟที่ทางแยก

วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2562

ความปลอดภัยในการทำงานและการออกแบบ ตอน คำตอบของคำถามขึ้นอยู่กับสถานการณ์ MO Memoir : Tuesday 22 January 2562


จากตัวเลขข้างบน ลองตอบคำถามต่อไปนี้เล่น ๆ นะครับ ค่อย ๆ อ่านคำถามและตอบเรียงข้อไปทีละข้อ ส่วนคำตอบก็เก็บเอาไว้ในใจ ไม่ต้องเขียนออกมาหรอกครับ

ข้อ ๑. จากตัวเลขข้างบน ถ้าให้หาค่าเฉลี่ย คุณจะตอบเท่าไร

ข้อ ๒. ถ้าคุณทำการวิเคราะห์ตัวอย่างหนึ่งด้วยการไทเทรต 3 ครั้ง (ด้วยวิธีการเดียวกัน) และพบว่าปริมาณ titrant ที่ใช้ไปในแต่ละครั้งคือ 20.0 ml, 20.3 ml และ 20.0 ml คุณจะบันทึกค่าเฉลี่ยเท่าไร

ข้อ ๓. ในการสอบสัมภาษณ์เข้าทำงาน สมมุติว่าคุณเป็นคนเข้ารับการสัมภาษณ์ และผู้สัมภาษณ์ถามคุณด้วยคำถามในข้อ ๒. คุณจะตอบด้วยตัวเลขอะไร

ข้อ ๔. ในการสอบสัมภาษณ์เข้าทำงาน สมมุติว่าคุณเป็นผู้สัมภาษณ์ และคุณถามผู้เข้ากับการสัมภาษณ์ด้วยคำถามในข้อ ๒. คุณอยากจะให้ผู้เข้ารับการสัมภาษ์ตอบด้วยตัวเลขอะไร

หลังจากตอบคำถามทั้ง ๔ ข้อข้างต้นแล้ว ที่ต่างใช้ตัวเลขเดียวกัน และถามหาค่าเฉลี่ยเหมือนกัน ขอให้ลองกลับมาพิจารณาคำตอบของคุณดูนะครับ ว่าคุณตอบด้วย "ตัวเลขเดียวกัน" ทุกข้อหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ นั่นเป็นเพราะอะไร
 
ถ้าคุณตอบคำถามทั้ง ๔ ข้อด้วย "ตัวเลขเดียวกัน" ทุกข้อ และก็มีเพื่อนคุณอีกคนหนึ่งที่ตอบคำถามทั้ง ๔ ข้อนี้ด้วย "ตัวเลขเดียวกัน" ทุกข้อ คุณคิดว่า "ตัวเลขเดียวกัน" ของคุณ กับ "ตัวเลขเดียวกัน" ของเขานั้น เหมือนกันหรือไม่ครับ

คำถามนี้ดัดแปลงมาจากข้อสอบวิชา ๒๑๐๕๒๗๐ เคมีวิเคราะห์ ภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา ๒๕๔๕ ที่เคยนำมาลง blog ไว้ในเรื่อง "เท่ากับเท่าไร" (Memoir ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๒ วันพฤหัสบดีที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๑) แต่ที่นำมาเป็นตัวอย่างในเรื่องความปลอดภัยนี้ก็เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า ด้วยคำถามเดียวกันกับเหตุการณ์เดียวกัน คำตอบที่ได้อาจจะแตกต่างไปได้ ขึ้นอยู่กับสถานภาพของผู้ถามและผู้ที่ต้องหาคำตอบ
 
การวิเคราะห์หาสาเหตุของอุบัติเหตุก็เช่นกัน ข้อสรุปของการวิเคราะห์ขึ้นอยู่กับว่าต้องการหาอะไร ตัวอย่างเช่นกรณีของการระเบิดที่โรงงานแห่งหนึ่งที่มาบตาพุดในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ ที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ผมได้ฟังเรื่องจากวิศวกรอาวุโสท่านหนึ่งในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๗ ในฐานะที่ท่านได้มีส่วนร่วมเข้าไปสอบสวนเหตุการณ์ ท่านเล่าให้ฟังว่าในการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวมีทีมสอบสวนเข้าไปทำงาน ๓ ทีมด้วยกัน (ที่ต่างคนต่างทำงาน) โดยแต่ละทีมมีวัตถุประสงค์ในการหาคำตอบที่แตกต่างกันคือ
 
ทีมที่ ๑ คือทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากเหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จึงจำเป็นที่ต้องหาผู้กระทำผิดที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุจนทำให้เกิดการเสียชีวิต เพื่อจะได้ดำเนินคดีต่อไป ดังนั้นการสอบสวนนี้จึงเป็นการมุ่งหาตัวบุคคลที่กระทำผิด (ซึ่งแน่นอนว่าคงต้องเป็นใครอย่างน้อยสักคนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุก่อนเกิดเหตุการณ์)
 
ทีมที่ ๒ คือทางบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีกระบวนการผลิต ที่ต้องการทราบว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการออกแบบกระบวนการที่ผิดพลาดหรือไม่ หรือเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยในการทำงาน ดังนั้นการสอบสวนนี้จึงเป็นการมองไปที่เหตุที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากความบกพร่องของการออกแบบหรือไม่เป็นหลัก เพราะถ้าพบว่ามันเกิดจากความบกพร่องของการออกแบบ มันก็จะส่งผลต่อโรงงานแบบเดียวกัน (ที่สร้าง ณ สถานที่อื่น) ที่ใช้กระบวนการแบบเดียวกันด้วย แต่ถ้าพบว่าเกิดจากความบกพร่องของผู้ปฏิบัติงาน การสอบสวนก็เป็นอันจบ
 
ทีมที่ ๓ คือทีมที่ถูกว่าจ้างโดยตัวโรงงานเพื่อให้หาสาเหตุว่า "ทำไมถึงพลาดได้" การสอบสวนตรงนี้ไม่ได้เป็นการสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิด (เหมือนทีมที่ ๑) แต่มองไปยังการทำงานและการควบคุมการทำงานเป็นหลัก

แต่จะว่าไป คำตอบคำถามที่ว่า "ทำไมถึงพลาดได้" มันก็ขึ้นอยู่กับว่าต้องการให้จบลงแค่ไหนได้เช่นกัน เช่นถ้าพบว่าเกิดจากโอเปอร์เรเตอร์ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้อง แต่จะมีการถามต่อไปหรือไม่ว่าทำไปโอเปอร์เรเตอร์ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ 
  
- เขาไม่รู้ว่ามันมีขั้นตอนให้ปฏิบัติ และไม่เคยมีใครบอกให้เขารู้ว่ามี (คือไม่รู้ว่ามีอะไรควรต้องทำ)
 
- เขารู้ว่ามันมีการกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติ แต่ไม่มีใครรู้ว่ามีการกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ที่ไหน อาศัยการจำต่อ ๆ กันมาหรือการฝึกระหว่างการทำงานจริง
 
- การถ่ายทอดด้วยการให้ผู้เรียนจดบันทึกเอง ทำให้ข้อมูลที่ถ่ายทอดนั้นสูญหายหรือบิดเบือนไป
 
- ขั้นตอนการทำงานถูกเขียนเอาไว้เป็นภาษาต่างประเทศ พอมีการแปลเป็นไทยแล้วแปลไม่ครบหรือแปลผิด (อันนี้ผมเคยเจอกับเครื่องมือวิเคราะห์ที่นิสิตใช้)
 
- เขารู้ว่าควรปฏิบัติตามขั้นตอนใด แต่ไม่รู้ว่าวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องตามขั้นตอนนั้นควรทำอย่างไร เช่นขั้นตอนปฏิบัติอาจบอกว่าให้ระวังการมีของเหลวหรือแก๊สความดันสูงตกค้างในระบบเวลาที่จะถอดหน้าแปลน แต่เขาไม่เคยได้รับการอบรมว่าวิธีการถอดหน้าแปลนที่ถูกต้องในกรณีเช่นนี้ควรต้องทำอย่างไร (ทำนองว่าเขาอาจถอดนอตออกมาเลยทีละตัว แทนที่จะค่อย ๆ ทำการคลายนอตทีละตัวทีละน้อย ๆ)
 
- โอเปอร์เรเตอร์ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ แต่ขั้นตอนปฏิบัตินั้นไม่เหมาะสมเสียเอง (คืออาจเกิดจากความไม่รู้ของผู้เขียนขั้นตอนการปฏิบัติ)
 
- ขั้นตอนปฏิบัตินั้นไม่เหมาะสมกับสภาพการทำงานจริง (เช่นสภาพพื้นที่การทำงานที่คับแคบ อุปกรณ์ไม่เหมาะสม
  
- ไม่เห็นความสำคัญของขั้นตอนที่กำหนดไว้ และก่อนหน้านั้นยังพบว่าการทำงานข้ามขั้นตอนทำให้ทำงานได้เร็วขึ้นแถมยังไม่เกิดอะไร และผู้มีอำนาจควบคุมการทำงานและกำหนดขั้นตอนการทำงานก็เห็นชอบด้วย เพียงแต่ไม่มีการไปแก้ไขสิ่งที่เขียนเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
 
- ถูกกดดัน (ซึ่งมักจะเป็นโดยวาจา) จากเบื้องบนให้ต้องลัดขั้นตอนการทำงาน (เช่นต้องรีบ start up โรงงานให้ทันเวลา หรือต้องรีบแก้ไขข้อขัดข้องก่อนที่กระบวนการผลิตทั้งกระบวนการจะไม่สามารถเดินต่อไปได้)
 
- ให้โอเปอร์เรเตอร์กำหนดวิธีการทำงานเอง โดยไม่คิดจะทำการตรวจสอบ (โดยผู้มีความรู้และประสบการณ์) ว่าเหมาะสมหรือไม่ ดูแต่เพียงว่าถ้าไม่เกิดเรื่องอะไรก็ถือว่าวิธีการนั้นใช้ได้ (เรื่องทำนองนี้ผมพบเป็นประจำกับการทำการทดลองของนิสิตบัณฑิตศึกษา และเคยเขียนไว้ใน Memoir ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๑๑๔๗ วันอังคารที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๙ เรื่อง "ไม่เคยบอกให้ทำอย่างนั้น แต่ไม่เคยบอกให้ทำอย่างไร")
 
- ฯลฯ (เชิญเติมต่อได้ตามสบายครับ เพราะตอนนี้ผมนึกออกเพียงแค่นี้ครับ)
 
หรือในกรณีที่พบว่าเกิดจากการที่โอเปอร์เรเตอร์ไม่เชื่อในสัญญาณเตือน หรือแปลค่าที่เครื่องวัดอ่านได้ผิดพลาด หรือไม่ตอบสนองต่อสัญญาณเตือน จะมีคำถามต่อไปหรือไม่ว่าอาจเกิดขึ้นจากการที่
 
- สัญญาณเตือนที่เกิดมักเป็นสัญญาณหลอก (fault alarm) จนไม่มีใครเชื่อเมื่อเกิดเหตุการณ์จริง (กรณีของการระเบิดที่โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ปี ๒๕๔๒ ก็เป็นแบบนี้)
 
- ตำแหน่งติดตั้งอุปกรณ์วัดนั้นทำให้ยากที่จะเข้าไปอ่าน เช่นต้องก้มดู หรือติดตั้งอุปกรณ์วัดสิ่งที่แตกต่างกัน แต่ตัวอุปกรณ์มีหน้าตาคล้าย ๆ กันในบริเวณที่ติดกัน ทำให้อ่านผิดได้ หรือรูปแบบการแสดงผลนั้นไม่เหมาะสม ทำให้อ่านผิดพลาดได้ในเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินที่ผู้ปฏิบัติงานนั้นมีเวลาไม่มากในการอ่านค่า (ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของกรณีหลังก็คือมาตรแสดงความเร็วของรถยนต์ที่วิ่ง ที่ยังนิยมใช้รูปแบบเข็มชี้มากกว่าตัวเลขดิจิตอล เพราะผู้ขับขี่ไม่ได้ต้องการทราบค่าความเร็วที่ละเอียด ต้องการทราบเพียงแค่ว่าวิ่งเร็วประมาณไหน และก็มีเวลาอ่านค่าไม่มากเพราะไม่สามารถละสายตาจากถนนได้นาน มีเวลาเพียงแค่การชำเลืองมองผ่านพวงมาลัยแค่นั้นเอง ซึ่งในกรณีแบบนี้มาตรวัดที่แสดงผลด้วยเข็มจะอ่านได้ง่ายกว่า)
 
- การมีสัญญาณเตือนเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันมากเกินไป จนทำให้โอเปอร์เรเตอร์ไม่สามารถหาได้ว่าจุดใดเป็นต้นตอของสาเหตุที่แท้จริง ที่ทำให้เกิดสัญญาณเตือนตัวอื่นตามมา (ลองนึกธรรมชาติของคนดูนะครับ ถ้าอยู่ดี ๆ มีใครโยนงานสารพัดงานเต็มไปหมดมาให้ใครสักคนทำในเวลาเดียวกันโดยต้องการในเวลาอันสั้นด้วย คุณคิดว่าเขาจะเร่งทำงานหรือไม่ทำเลยสักชิ้นครับ)
 
- ความเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างค่าที่เครื่องวัดแสดงกับค่าที่โอเปอร์เรเตอร์เข้าใจ อันเป็นผลจากการขาดการสื่อสารที่ดีระหว่างฝ่าย instrument ที่ทำการติดตั้งและสอบเทียบเครื่องวัด กับโอเปอร์เรเตอร์ที่เป็นคนอ่านค่าเครื่องวัด เช่นเครื่องวัดบอกค่าเป็น % ในขณะที่โอเปอร์เรเตอร์เข้าใจว่าตัวเลขที่เห็นนั้นคือค่าที่วัดได้จริง หรือตำแหน่งช่วง 0-100% ของค่าที่เครื่องวัดแสดงที่ฝ่าย instrument กำหนดนั้น ทางฝ่ายโอเปอร์เรเตอร์เข้าใจเป็นอย่างอื่น (เหตุการณ์นี้ผมเคยพบกับกรณีของการวัดระดับของเหลวใน vessel วางตั้งที่ฝาบน-ล่างของถังมีรูปร่างเป็น ellipsoid (ทรงรี) โดยทาง instrument กำหนดระดับ 0% ไว้ที่ตำแหน่ง tangent line ด้านล่างของถัง แต่ตัวโอเปอร์เรเตอร์เข้าใจว่าอยู่ที่ก้นถัง แล้วเกิดการโวยวายกันว่าเครื่องวัดอ่านค่าผิดพลาด เชื่อถือไม่ได้ สุดท้ายต้องช่วยทั้งสองฝ่ายปรับความเข้าใจให้ตรงกัน
ตรงนี้ขอเพิ่มเติมนิดนึง Tangent line คือแนวที่รูปทรงถังเปลี่ยนจากรูปทรงกระบอกเป็นโค้งตามความโค้งของฝา ไม่ใช่แนวรอยเชื่อมระหว่างฝาถังกับตัวถังทรงกระบอก เพราะบางทีตัวฝาถังมันมีส่วนที่เป็นทรงกระบอกที่เขาทำมาเพื่อไว้เชื่อมกับส่วนลำตัวทรงกระบอกของถังด้วย เรื่องนี้เคยอธิบายไว้ใน Memoir ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๕๖๒ วันจันทร์ที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๑ เรื่อง "Tangent line to Tangent line")
 
- ฯลฯ (และเช่นกัน เชิญเติมต่อได้ตามสบายครับ เพราะตอนนี้ผมนึกออกเพียงแค่นี้ครับ)

ครับ ที่เขียนมาทั้งหมดก็คือสิ่งที่อยากให้ผู้เข้าฟังผมบรรยายได้เข้าใจว่า ผมต้องการสื่ออะไรถึงพวกเขาด้วยตัวเลข ๓ ตัวตอนต้นเรื่องนั้น สำหรับวันนี้ก็คงจะขอจบ Memoir ตอนนี้เพียงเท่านี้

(หมายเหตุ : บทความชุด "ความปลอดภัยในการทำงานและการออกแบบ" ที่ทำขึ้นเป็นตอนต่าง ๆ นั้น จัดทำขึ้นเพื่อขยายความสไลด์ประกอบการสอนวิชา "2105689 การออกแบบและดำเนินการกระบวนการอย่างปลอดภัย (Safe Process Operation and Desing)" ที่เปิดสอนให้กับนิสิตระดับปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นครั้งแรกในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา ๒๕๖๑)