วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ชมเมืองพัทลุง ตอน แหงนมองเขาพนมวังก์ รำลึกความทรงจำวัดทุ่งขึงหนัง MO Memoir : Saturday 29 June 2562

ผู้ใหญ่เขาเล่าว่าบริเวณนี้เป็นที่ราบเหมาะแก่การทำนา (ซึ่งก็น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะมีน้ำหลากท่วมประจำ) และชาวบ้านเคยเอาหนัง (น่าจะเป็นหนังวัว) มาตากแห้ง หมู่บ้านนี้ก็เลยมีชื่อว่า "บ้านทุ่งขึงหนัง" ซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางเส้นทางระหว่างตัวอำเภอเมืองกับอำเภอควนขนุน ตอนเด็ก ๆ (ก็เมื่อกว่า ๔๐ ปีที่แล้ว) ตอนไปเยี่ยมคุณตาคุณยาย ยังจำได้ว่าพอตกค่ำที่นั่นก็จะเงียบมาก นาน ๆ ทีจะมีรถวิ่งผ่านไปบนถนนสักคัน ท้องฟ้ามืดมากขนาดมองเห็นทางช้างเผือกได้ชัดเจน
 
แต่ในความมืดและเงียบสงบนั้นก็มีความน่ากลัวอยู่ เพราะช่วงนั้นบริเวณดังกล่าวแม้ว่าจะห่างจากตัวจังหวัดเพียงแค่ ๑๐ กิโลเมตร ก็จัดว่าเป็นเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หรือ ผกค. (น่าจะเป็นพื้นที่สีชมพู) แถวนี้ก็เคยมีโรงพักตั้งอยู่ แต่โดนผกค.ยกพวกมาปิดล้อมและเผาทิ้ง นับแต่นั้นก็ไม่เคยมีสถานีตำรวจอีกเลย
 
พอตกค่ำก็จะอยู่กันแต่ในบ้าน (เพราะไม่รู้จะไปไหน) โทรทัศน์ก็มีดูเพียงช่องเดียวคือช่อง ๑๐ หาดใหญ่ (ที่สถานีอยู่ห่างออกไป ๑๐๐ กิโลเมตร) แต่ละบ้านจึงต้องมีเสาอากาศสูง และยังต้องมีบูสเตอร์ช่วยขยายสัญญาณอีก ไม่งั้นก็ดูไม่ได้ ตัวโคมหลอดฟลูออเรสเซนต์ก็ไม่เหมือนกับที่เห็นที่กรุงเทพ เพราะมันมีกระบอกอะไรไม่รู้ติดตั้งเพิ่มเข้ามา เพิ่งจะมารู้ตอนโตว่านั่นคือตัวเก็บประจุที่ใช้ปรับค่าตัวประกอบกำลัง (power factor) เพื่อลดการใช้กระแส นั่นคงเป็นเพราะสมัยนั้นระบบไฟฟ้าในต่างจังหวัดของเรายังไปไม่ทั่วถึง การลดการสูญเสียการส่งกำลังแม้จะดูว่าเป็นเพียงเล็กน้อยก็ถือว่าสำคัญ

รูปที่ ๑ วัดทุ่งขึงหนังและโรงเรียนวัดทุ่งขึงหนังอยู่ที่มุมล่างของแผนที่ แนวเขาด้านขวาคือเขาพนมวังก์ 
  
เขาพนมวังก์ที่เห็นตอนเด็ก ๆ นั้นยังมีการทำเหมืองหินอยู่ ครอบครัวคุณน้าครอบครัวหนึ่งทำกิจการระเบิดหินและโม่หินขาย บางปีที่ไปก็มีโอกาสได้เห็นเขาระเบิดภูเขาจากหลังบ้านที่ไปพัก เสียงระเบิดดังดี แต่กิจการนี้ก็เลิกทำไปนานแล้ว และดูเหมือนว่าตัวเขาพนมวังก์เองก็ถูกจัดให้เป็นวนอุทยานแห่งชาติไปแล้ว จำได้ว่าปีหนึ่งมีไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่ตลาดในตัวเมือง มีการมาเอาระเบิดที่บ้านคุณน้า เขาบอกว่าจะเอาไปทำลายบ้านบางหลังทิ้งเพื่อกันไม่ให้ไฟลุกลาม จริงเท็จอย่างไรก็ไม่รู้ แต่นั่นคือเรื่องที่ได้เห็นมาตอนที่ยังเป็นเด็กอยู่ ตรงบริเวณที่เป็นโรงโม่หินตรงนี้คุณแม่เคยเล่าให้ฟังว่าแถวนี้แต่ก่อนเคยมีที่เผาศพ เรียกว่า "ที่เปลว" ตอนคุณแม่ยังเด็กนั้นเวลาที่มีการเผาศพทีก็จะช่วยกันหยิบไม้ฟืนไปช่วยงาน ถือว่าเป็นการทำบุญ ที่มาเผาตรงนี้อาจเป็นเพราะว่าสมัยนั้นวัดยังไม่มีเมรุ และบริเวณนี้ก็เป็นที่ห่างไกลชุมชน 
  
วันก่อนเดินทางกลับนั้นคุณน้าที่พาเที่ยวอ่างเก็บน้ำก็พานั่งรถเล่นวนรอบเขาลูกนี้ พร้อมกับเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง ทำให้รู้ว่าแต่ก่อนนั้นเคยมีการปีนขึ้นไปเก็บขี้ค้างคาวลงมาขาย และมีการขุดยิปซัมไปขายด้วย นอกจากนี้ใต้เขาลูกนี้ยังมีทางน้ำไหลลอดใต้ผ่าน ทางออกนั้นอยู่ฝั่งฟากตะวันตก แต่ยังไม่มีใครสำรวจ แม้ว่าจะขึ้นไปสำรวจว่าบนเขาลูกนี้มีถ้ำหรืออะไรอย่างอื่นซ่อนอยู่บ้างนั้นก็ยังไม่มีคนทำ อาจเป็นเพราะว่างูชุม แถมเป็นงูเห่าด้วย
 
ถนนจากควนขนุนไปยังตัวจังหวัดนั้นเส้นเดิมเขาว่าเป็นที่ที่ได้จากการบริจาคของชาวบ้าน แบบว่าใครอยากมีที่ดินติดถนนก็บริจาคที่ส่วนหนึ่งให้รัฐทำถนน ถนนมันก็เลยคดไปคดมา พอโครงการถนนสายเอเชียเข้ามา ก็เลยมีการปรับแนวถนนบางช่วง ช่วงไหนที่มันเลี้ยวเข้าชุมชนก็ตัดเส้นใหม่เป็นทางตรงเลี่ยงออกมา การเดินทางก็เลยสะดวกขึ้น แต่สำหรับบ้านเรือนที่สร้างอยู่บนแนวถนนเส้นเดิมนั้นดูเหมือนว่ากาลเวลาจะหยุดนิ่งไป บรรยากาศสองข้างทางที่มีไม้ใหญ่ร่มรื่นก็ยังคงเป็นแบบนั้น เว้นแต่บางช่วงที่ใกล้ชุมชนได้มีการขยายถนนจาก ๒ ขึ้นเป็น ๔ ช่องทางจราจร
 
ไม่รู้ว่าเป็นเพราะมีวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยทักษิณมาตั้งที่อำเภอควนขนุนหรือเปล่า จึงทำให้ตัวเมืองพัทลุงค่อนข้างจะมีการขยายตัวขึ้นเหนือมาตามแนวถนนเส้นนี้ แทนที่จะไปทางตะวันตกเส้นที่มุ่งไปตรัง หรือลงใต้เส้นที่มุ่งไปหาดใหญ่ มีร้านอาหารโผล่ขึ้นหลายร้าน แถวนี้จะมีร้านสเต็กอยู่ร้านหนึ่ง ท่าทางจะขึ้นชื่อมาก ขนาดมีคนขับรถมาจากหาดใหญ่หรือนครศรีธรรมราชเพื่อมากินอาหารที่ร้านนี้ ผมเองก็เพิ่งจะมีโอกาสได้ไปกินเป็นครั้งแรกก็คราวนี้เอง แต่ไม่ขอให้ความเห็นใด ๆ
 
ถนนเส้นนี้ยังทำหน้าที่เป็นคันกั้นน้ำด้วย เวลาที่ฝนตกหนัก น้ำจะไหลหลากมาจากเขาบรรทัดที่อยู่ทางตะวันตก ดังนั้นชุมชนที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของถนนก็จะโดนน้ำท่วมก่อน ก่อนที่จะไหลหลากข้ามมาท่วมทางฝั่งตะวันออก จะว่าไปชุมชนทั้งสองฝั่งถนนแถวนี้ สามารถนับลำดับญาติกันได้ทั้งนั้น ลำดับที่อยู่ใกล้กับผมหน่อยจะอยู่ทางฝั่งตะวันออก ทางฝั่งตะวันตกก็จะเป็นอีกสายหนึ่งที่อยู่ห่างหน่อย เรียกว่าต้องย้อนขึ้นไปถึงรุ่นทวดก่อนแล้วค่อยนับลงมาอีกทางหนึ่ง
 
ที่บ้านทุ่งขึงหนังนี้จะมีวัดทุ่งขึงหนังเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ญาติฝ่ายคุณแม่ของผมเวลามีงานอะไรก็จะไปจัดกันที่วัดนี้เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นงานทำบุญหรืองานศพ ก็เรียกได้ว่าได้แวะเวียนไปเป็นประจำตั้งแต่เด็กเวลาที่ได้ไปเที่ยวที่นั่น หลายสิ่งในวัดก็เปลี่ยนไป ที่เห็นเหมือนเดิมอยู่ก็มีแต่หอระฆัง ตอนเด็ก ๆ นั้นเห็นเขาไปโปรยทานจากหอระฆังก็ยังรู้สึกว่ามันเป็นหอสูง แต่ทำไมตอนนี้จึงรู้สึกว่ามันเตี้ยจังก็ไม่รู้ หรือเป็นเพราะว่าในบริเวณตัววัดมีการถมที่ให้สูงขึ้น เพื่อที่เวลาน้ำท่วมจะได้ไม่รู้สึกว่าน้ำมันท่วมสูงมาก (คือมันก็ยังท่วมอยู่ดี)
 
ด้านหลังวัดที่ติดกับเมรุจะเป็นสวนยาง ไม่รู้ว่าเป็นธรรมเนียมของคนทางด้านนี้หรือเปล่า ที่ว่าเวลามีงานศพหรืองานวัดใด ๆ มักจะมีการไปตั้งบ่อนในสวนยางหลังวัดกันเป็นประจำ มีอยู่ปีหนึ่งไปเที่ยวงานสงกรานต์ที่วัดแห่งหนึ่ง บนศาลานั้นพระท่านก็กำลังสวดให้ศีลให้พรระหว่างการเลี้ยงพระเพล ด้านหลังศาลานั้นก็มีการเตรียมตัวกันหลายวง ทั้งไฮโลและน้ำเต้าปูปลาและอื่น ๆ อีก ตอนงานศพคุณยายของผมเมื่อกว่า ๑๐ ปีที่แล้วที่วัดนี้ ก็ดูเหมือนจะมีการตั้งวงอยู่ในสวนยางหลังวัดเหมือนกัน ไม่รู้ว่าใครจากไหนเป็นเจ้ามือเพราะไม่ได้เข้าไปดู แต่ถึงเข้าไปดูก็คงไม่รู้จักว่าใครเป็นใคร

พอผมโตขึ้นก็ไม่ค่อยได้มีโอกาสลงไปที่นี่เท่าไรนัก ก็เลยต้องขอบันทึกเรื่องเหล่านี้เอาไว้กันลืม ว่าตอนเด็ก ๆ นั้นเคยได้ยินหรือได้เห็นอะไรมาบ้าง สิ่งใดบ้างที่เคยมี และชีวิตชุมชนคนที่นี่เป็นอย่างไร

รูปที่ ๒ เขาพนมวังก์ ถ่ายเมื่อตอนเช้า มองจากสวนหลังบ้านของคุณน้าที่ไปพักอยู่ รูปนี้ถ่ายเอาไว้เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่วนรูปอื่น ๆ ที่เหลือถ่ายเอาไว้เมื่อวันพุธที่ ๒๒ พฤษภาคม

รูปที่ ๓ โรงเรียนวัดทุ่งขึงหนัง ตั้งอยู่คนละฟากถนนของวัดทุ่งขึงหนัง ปัจจุบันมีนักเรียนลดลงไปมาก สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะการเดินทางที่สะดวกขึ้น ทำให้การเดินทางไปเรียนยังโรงเรียนใหญ่ที่อยู่ไกลออกไปนั้นทำได้ง่ายขึ้น

รูปที่ ๔ ป้ายชื่อโรงเรียน ถ่ายป้ายชื่อเก่าเอาไว้เป็นที่ระลึกหน่อย

รูปที่ ๕ เดินผ่านหน้าโรงเรียน ต้องข้ามถนนไปยังอีกฝั่งหนึ่งจึงจะถึงวัดทุ่งขึงหนัง 

รูปที่ ๖ แผนผังสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ในบริเวณวัด 

รูปที่ ๗ หอระฆัง ที่ถ้านับอายุถึงวันนี้ก็ ๕๕ ปีแล้ว

รูปที่ ๘ โบสถ์ประจำวัด

รูปที่ ๙ ศาลาสำหรับนั่งพัก อยู่ใกล้ ๆ กับหอระฆัง

รูปที่ ๑๐ เมรุเผาศพที่อยู่ทางด้านหลังติดสวนยาง เมรุนี้มีมาทีหลัง ตอนผมยังเด็กที่วัดยังไม่มีเมรุ ตอนงานเผาศพคุณตามีคุณลุงคนหนึ่งไปจ้างเมรุชั่วคราวมาใช้

รูปที่ ๑๑ สวนยางหลังวัด

รูปที่ ๑๒ ซุ้มประตูทางเข้า แต่ในรูปนี้เป็นการมองออกไป

รูปที่ ๑๓ เขาพนมวังก์เมื่อมองจากทางเข้าวัดไปทางตะวันออก

วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2562

แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๖๐ (ตอนที่ ๑๑) MO Memoir : Wednesday 26 June 2562

อย่างแรกเลยก็ต้องขอแสดงความยินดีกับสมาชิกกลุ่มทั้งสองรายที่ผ่านการสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ไปเมื่อวันจันทร์และอังคารที่ผ่านมา ที่เหลือก็คงเป็นเพียงแค่การแก้เล่มแล้วส่งเท่านั้นเอง
 
ตอนที่ผมเรียนโทที่อังกฤษนั้น มหาวิทยาลัยที่ผมเรียน แม้ว่าจะมีการทำวิทยานิพนธ์ มีการทำเล่มปกแข็งส่ง แต่ไม่มีการสอบวิทยานิพนธ์แบบสอบปากเปล่า เขาเรียนโทกันปีเดียว ทั้งเรียนวิชาและทำวิทยานิพนธ์ไปพร้อมกัน ในขณะที่บางภาควิชาในมหาวิทยาลัยเดียวกันแท้ ๆ เปิดภาคเรียนมาก็เรียนกันอย่างเดียว ไปทำวิทยานิพนธ์กันอย่างเดียวช่วงประมาณ ๓ เดือนสุดท้ายแล้วก็ส่งเลย หัวข้อวิทยานิพนธ์ก็เป็นหัวข้อที่อาจารย์เข้ามีอยู่แล้ว แล้วเราก็เข้าไปเลือกสมัครทำ
 
พอผ่านเข้าเรียนปริญญาเอกก็ไม่มีวิชาเรียน เรียกว่าทำวิจัยกันอย่างเดียว แล้วก็มีการสอบหัวข้อ โดยหลัก ๆ ของการสอบหัวข้อก็คือ เราต้องนำเสนอให้ผู้ฟังเห็นว่าสิ่งที่เราคิดจะทำนั้นมันน่าสนใจตรงไหน และเรามีแนวทางจะทำอย่างไร ไม่ได้มีการกำหนดรายละเอียดไว้อย่างเฉพาะเจาะจง เรียกว่าให้การค้นพบมันนำพาไปเองว่า จากสิ่งที่เราค้นพบนั้นเราควรทำอะไรต่อไป
 
พออาจารย์ที่ปรึกษาเขาเห็นว่าเรามีผลงานมากพอที่จะสอบวิทยานิพนธ์ได้แล้ว เขาก็จะให้เราเริ่มเขียน สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่เขาบอกผมก็คือ ผมไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับเขา เพราะเขาไม่ได้เป็นคนให้ผมผ่านหรือไม่ผ่าน กรรมการสอบต่างหากที่จะให้ผมสอบผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะในการสอบนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาไม่มีสิทธิให้คะแนนสอบ บาง College นั้นไม่ให้อาจารย์ที่ปรึกษาอยู่ในห้องสอบด้วยซ้ำ เรียกว่าจัดห้องสอบแยกให้ต่างหาก มีเฉพาะผู้เข้าสอบและกรรมการอีก ๒ ท่าน เป็นอาจารย์ของสถาบัน ๑ ท่านและจากภายนอกสถาบันอีก ๑ ท่านเท่านั้น แต่ใน College ที่ผมเรียนนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาสามารถเข้าฟังการสอบได้ ถ้า "ผู้เข้ารับการสอบ" นั้นอนุญาต การที่เขาทำเช่นนี้ก็คือเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนนั้นมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นที่ขัดใจอาจารย์ที่ปรึกษา
 
รูปแบบการเขียนก็ไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว มีกฎง่าย ๆ อยู่เพียงว่า ใครก็ตามที่มาอ่านที่หลังแล้วต้องรู้เรื่อง ไม่ควรมีคำถามอะไรที่ตกค้าง เพราะวิทยานิพนธ์คือสิ่งที่จะค้างอยู่ในห้องสมุด ตัวผู้เขียนไม่รู้ว่าไปอยู่ไหนแล้ว ถ้าหากเขียนไม่ชัดเจนก็จะทำให้คนที่มาอ่านทีหลังนั้นสับสนได้ และที่สำคัญก็คือกรรมการสอบเขาอ่านอย่างละเอียด เรียกว่าถ้าใครสามารถเขียนได้แบบกรรมการสอบไม่มีข้อสงสัยใด ๆ ก็เรียกว่าสอบผ่านสบาย ซึ่งน้อยคนนักจะทำได้ สมัยผมเรียนก็เคยได้ยินเพียงรายเดียวจากผู้เข้าสอบที่ College อื่น ที่พอเริ่มสอบกรรมการสอบก็บอกโดยไม่ต้องมีการซักถามอะไรเลยว่าสิ่งที่เขาเขียนนั้นเขาเขียนไว้ดีมาก จนกรรมการสอบไม่มีคำถามอะไรจะถาม เรียกว่าให้ผ่านแล้วก็ได้ วันนั้นถือว่าเป็นการมาคุยกันเล่น ๆ เท่านั้น แต่สำหรับที่ภาควิชาเรานั้น ทำงานมาปีนี้เป็นปีที่ ๒๕ แล้ว เคยพบแค่รายเดียวเท่านั้น เป็นนิสิตจากอินโดนีเซียที่มาเรียนปริญญาโทที่ภาคเรา
 
การสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่อังกฤษนั้นไม่มีการนำเสนอ กรรมการจะอ่านเล่มจนหมดก่อน จากนั้นจึงค่อยนัดวัดสอบ การต้องรอ ๒ ถึง ๓ เดือนหลังส่งเล่มก่อนได้สอบก็ถือว่าเป็นเรื่องปรกติ พอเริ่มการสอบเขาก็ซักถามกันทันที ผมทำทั้งการทดลองและ simulation คำถามที่น่าจะยากที่สุดเห็นจะได้แก่คำถามเกี่ยวกับเรื่อง simulation ที่ผมนำเสนอการนำเทคนิค moving finite element มาใช้ในการแก้ปัญหา กรรมการสอบที่เป็นกรรมการจากภายนอกเขาบอกผมว่า เขาไม่มีความรู้เรื่องนี้ ช่วยอธิบายเป็น "ภาษาง่าย ๆ" ให้เขาเข้าใจได้ไหม
 
การที่จะอธิบายอะไรสักอย่างเป็น "ภาษาง่าย ๆ" ให้คนอื่นเข้าใจได้ คุณจะต้องมีความเข้าใจเรื่องนั้นดี และต้องสามารถหาตัวอย่างประกอบที่ผู้ฟังสามารถมองเห็นภาพได้ด้วย

การสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ วันจันทร์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๖.๐๐ - ๑๘.๐๐ น

ในการสอบปากเปล่า (ที่สามารถเขียนกระดานช่วยอธิบายได้) สองชั่วโมงของผมนั้น เนื้อหาที่โดนซักมากที่สุดคือ "วิธีการทำการทดลอง" (รวมทั้ง simulation ด้วย) เพราะถ้าวิธีการไม่ถูกต้องเหมาะสม ผลการทดลองก็ไม่ควรค่าแก่การพิจารณาใด ๆ แล้ว แต่ในภาควิชาเราที่เข้าสอบเป็นประจำ หรือในที่ประชุมวิชาการต่าง ๆ นั้นกลับพบว่าเราไปให้ความสำคัญมากกับผลการทดลองและข้อสรุปที่ได้ โดยไม่ได้สนใจตรวจสอบว่าผลการทดลองนั้นมันถูกต้องหรือไม่ และบางกลุ่มวิจัยก็มีปัญหาเรื่องวิธีการทดลอง (รวมทั้งวิธีการวิเคราะห์ตัวอย่าง) เป็นประจำ จนผมเลือกที่จะไม่ขอเป็นกรรมการสอบนิสิตกลุ่มนั้น เพราะรู้เบื้องหลังรายละเอียดการได้มาซึ่งผลการทดลองเหล่านั้นมากเกินไป แม้แต่งาน simulation ก็ยังสามารถจับได้ว่ามีการแต่งขั้นตอนการคำนวณ ด้วยการให้โปรแกรมหยุดการคำนวณก่อนที่จะลู่เข้าหาคำตอบของสมการ เพื่อให้ตัวเลขที่ได้จากการคำนวณออกมาตรงกับข้อมูลดิบที่เขามี
 
แม้แต่วิธีการวิเคราะห์ตัวอย่างนั้น แม้ว่าเราจะไม่ได้ทำการวิเคราะห์เอง แต่เราก็ต้องรู้ว่าการเตรียมตัวอย่างและรายละเอียดการวิเคราะห์นั้นเป็นอย่างไร เพราะในหลายเครื่องมือแล้ว มันไม่ได้มีวิธีเตรียมตัวอย่างเพียงวิธีเดียวที่ใช้ได้กับทุกตัวอย่าง แต่มันต้องปรับเปลี่ยนไปตามตัวอย่างที่จะทำการวิเคราะห์ หรือแม้แต่ตัวอย่างเดียวกัน ถ้าใช้วิธีเตรียมที่แตกต่างกัน ก็ให้ผลที่แตกต่างได้ อย่างเช่นการใช้เทคนิคการดูดซับไพริดีนร่วมกับ FT-IR ในการจำแนกประเภทของกรดบนพื้นผิวของแข็ง
 
ความเป็นกรดบนพื้นผิวของแข็งนั้นมี ๒ ประเภทคือ Brönsted (หมู่ไฮดรอกซิล -OH) หรือ Lewis (ไอออนบวกของโลหะ) ถ้าตัวอย่างนั้นสัมผัสกับความชื้นในอากาศจนอิ่มตัว พื้นผิวก็จะมีหมู่ -OH มาก (หมู่นี้เกาะกับไอออนบวกของโลหะ) การให้ความร้อนแก่ตัวอย่างก่อนทำการให้ตัวอย่างดูดซับไพริดีนสามารถทำให้หมู่ -OH สองหมู่หลอมรวมกันกลายเป็นโมเลกุล H2O ระเหยออกไป และเปิดไอออนบวก (กรดแบบ Lewis) สองไอออนขึ้นแทน เรียกว่ากรด Brönsted หายไป ๒ โดยได้กรด Lewis มาแทนสอง ส่วนที่ว่าหมู่ -OH จะหายไปมากน้อยเท่าใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าใช้อุณหภูมิสูงแค่ไหนในการเตรียมตัวอย่างก่อนการดูดซับไพริดีน ถ้าใช้อุณหภูมิสูงมากเป็นเวลานาน มันก็จะหายไปมาก ในเรื่องนี้ผมถึงบอกว่าอยากให้ผลการทดลองออกมาอย่างไรก็จัดให้ได้ ถ้าไม่อยากให้มีกรด Brönsted เลยก็ใช้อุณหภูมิสูงในการเตรียมตัวอย่าง แต่ถ้าอยากเห็นกรด Brönsted เยอะ ๆ ก็ให้ตัวอย่างจับความชื้นจนอิ่มตัวและใช้อุณหภูมิต่ำในการเตรียม และด้วยการวัดที่กระทำในสุญญากาศ (โดยผลที่ได้นั้นขึ้นอยู่กับวิธีเตรียม) จึงทำให้ผลที่ได้นั้นไม่สามารถเป็นตัวแทนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในระหว่างการทำปฏิกิริยาได้เสมอไป โดยเฉพาะในกรณีของเราที่ในแก๊สมีไอน้ำที่ความเข้มข้นสูง ที่ปริมาณหมู่ -OH บนพื้นผิวนั้นจะอยู่ในสภาพสมดุลกับความชื้นในแก๊ส ซึ่งเป็นสภาวะที่แตกต่างไปจากที่ใช้ในการวิเคราะห์
 
วิทยานิพนธ์นั้นมันน่าเชื่อถือแค่ไหนนั้น มันต้องคุยกันเป็นชั่วโมง และวิธีการที่ได้มาซึ่งข้อสรุปนั้นต้องได้รับการตรวจสอบโดยละเอียด พวกคุณจบไปแล้วถ้าคิดจะนำงานวิจัยใครไปใช้ ควรที่จะต้องตรวจสอบผลของเขาด้วยว่าสามารถทำซ้ำได้ และวิธีการที่ใช้ในการวิเคราะห์นั้นถูกต้อง เพราะวิธีการวิเคราะห์ที่ผิดมันก็ให้ผลการวิเคราะห์ที่ผิด (ที่ทำซ้ำได้) ไม่ใช่ฟังเพียงแค่ข้อสรุปที่เขานำเสนอในเวลาเพียงแค่ไม่กี่นาที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพสังคมปัจจุบันที่เน้นการสื่อสารด้วยการทำ infographic หรือสไลด์เพียงแค่ไม่กี่ภาพที่พยายามดึงดูดให้ผู้รับสื่อนั้นเห็นด้วยกับสิ่งที่นำเสนอโดยต้องไม่คิดเป็นอย่างอื่น 
  
ถ้าคุณต้องการรับใครสักคนไปทำงานในตำแหน่งพนักงานขาย พวกนั้นเหมาะ แต่ถ้าคุณต้องอยู่ในฐานะผู้จ่ายเงินเพื่อจะซื้อสิ่งที่เขานำเสนอ สิ่งสำคัญที่พวกคุณต้องมีคือ "ฟังอย่างไรไม่ให้ถูกหลอก"


การสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ วันอังคารที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๑.๓๐ น
 
Memoir ฉบับนี้คงเป็นฉบับปิดท้ายชุดบทความ "แนวทางหัวข้อการทำวิทยานิพนธ์นิสิตรหัส ๖๐" และสิ่งสุดท้ายที่ขอฝากไว้ให้พวกคุณที่ผ่านการสอบแล้วก็คือ รูปถ่ายที่ถ่ายเอาไว้เมื่อวันสอบและเมื่อ ๑๘ เดือนที่แล้ว เพื่อให้พวกคุณพิจารณาเองว่า สิ่งที่พวกคุณบอกกับผมเอาไว้ว่า "กาลเวลาทำอะไรหนูไม่ได้หรอก แต่การเรียนปริญญาโทนี่ซิ" มันเป็นจริงแค่ไหน
  


วันพฤหัสบดีที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๐ ระหว่างเข้าฟังการสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ของนิสิตรุ่นพี่

วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ชมเมืองพัทลุง ตอน ภูเขาที่ทะเลาะกัน ล่องแก่งลำธารา MO Memoir : Sunday 23 June 2562

ภูเขาสองลูกนี้ทะเลาะกัน เล่นกันแรง ลูกหนึ่งถึงกับหัวแตก อีกลูกหนึ่งถึงกับอกทะลุ ส่วนรายละเอียดว่าทำไปจึงทะเลาะกันนั้นจำไม่ได้แล้ว จำได้แต่เพียงว่าตอนเด็ก ๆ คุณตาเล่าให้ฟัง
 
แต่เดิม การเดินทางไปพัทลุงที่สะดวกที่สุดก็คือรถไฟ ถนนเพชรเกษมเองล่องใต้มาถึงชุมพรแล้วก็เลี้ยวขวาไประนอง จากนั้นค่อยเลี้ยวซ้ายลงใต้มาจนถึงตรัง แล้วจึงค่อยมายังพัทลุง ส่วนทางรถไฟนั้นล่องตรงจากชุมพร มาสุราษฎร์ธานี ทุ่งสง และพัทลุง ทางรถไฟมาก่อน ส่วนถนนจากชุมพรมาพัทลุงนั้นเกิดทีหลัง ลงรถไฟแล้วมองไปทางทิศตะวันออกก็จะเห็นเขาอกทะลุ เขาลูกนี้ก็เลยกลายเป็นสัญญลักษณ์ของจังหวัดนี้ ตอนนี้ได้ยินว่ามีการสร้างทางเดินไปจนถึงช่องเขาที่ทะลุแล้ว แต่คงต้องขอเตรียมตัวก่อน เพราะมันก็สูงไม่ใช่เล่นเหมือนกัน สูงมากพอที่ทำให้มีชาวต่างชาติขึ้นไปกระโดดร่มลงมาจากบนนั้นแล้ว ดูคร่าว ๆ ก็น่าจะสูงประมาณตึก ๓๐ ชั้นได้
 
Memoir ฉบับนี้เป็นบันทึกการเดินทางของวันอังคารที่ ๒๑ พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีครอบครัวคุณน้าอีกท่านหนึ่ง (บ้านที่ผมไปพักค้าง) เป็นผู้นำชมเมือง ด้วยการที่เสียเวลาอยู่ที่โรงพยาบาลตอนช่วงเช้าเนื่องจากต้องพาลูกไปให้หมอเจาะถุงหนองที่ตาเปลือกตาก่อน ที่โรงพยายาลเอกชนที่มีเพียงแห่งเดียวในตัวจังหวัดที่อยู่เลยสถานีรถไฟไปหน่อย ทำให้กว่าจะเดินทางออกจากตัวเมืองก็เกือบเที่ยงแล้ว 
  
ออกจากโรงพยาบาลก็แวะถ่ายรูปจุดชมวิวเขาอกทะลุและเขาหัวแตก ที่อยู่บนถนนเส้นเลียบทางรถไฟจากตัวสถานีขึ้นไปทางสถานีปากคลอง ทางจังหวัดเขาจัดเป็นจุดชมวิว ทำนองว่าจะให้เป็นจุดเช็คอิน แต่ผมว่าเขาสร้างอะไรเยอะไปหน่อย โดยเฉพาะอาคารที่คงอยากให้มันเป็นร้านค้า แต่ดูเส้นทางและบริเวณโดยรอบแล้วก็ไม่น่าจะประสบความสำเร็จ ณ จุดนี้ด้านหนึ่งเป็นเขาอกทะลุ อีกด้านหนึ่งเป็นเขาหัวแตก หรือเรียกชื่อเป็นทางการหน่อยก็คือ "สัตตบรรพต" ผมลงจากรถไปถ่ายรูปเพียงคนเดียว คนอื่นเขาไม่ลงกันเพราะแดดมันแรง จากนั้นก็ไปกินข้าวเที่ยงกันในตัวตลาด ณ ร้านแห่งหนึ่งที่คุณน้ารู้จักกับเจ้าของร้านดี ร้านนี้ขายบะหมี่และข้าวหมูแดง เรียกว่าทั้งอร่อยและราคาถูกแบบหาไม่ได้ในกรุงเทพ ระหว่างรถติดอยู่ในตัวเมือง คุณน้าก็ชี้ให้ดูอาคารหลังหนึ่ง และบอกว่าเป็นอาคารเก่าที่อยู่คู่ตัวเมืองมานานแล้ว อาจเรียกได้ว่าเป็นหลังเดียวที่ยังคงหลงเหลืออยู่ก็ได้
 
รูปที่ ๑ จุดชมวิวเขาอกทะลุ อยู่ริมถนนข้างทางรถไฟสายใต้ จากสถานีรถไฟพัทลุง ขับย้อนขึ้นเหนือเลียบฝั่งตะวันออกของทางรถไฟขึ้นมาหน่อย ก็จะถึงจุดฃมวิว

รูปที่ ๒ ฝั่งตรงข้ามของเขาอกทะลุ ก็คือเขาหัวแตก

รูปที่ ๓ อาคารรุ่นเก่า ที่ยังมีหลงเหลืออยู่ในตัวเมือง


เสร็จจากกินข้าวคุณน้าก็พาย้อนขึ้นไปทางเหนือตามถนนสาย ๔๑ จุดแรกที่แวะให้ก็คือสวนยางพาราที่ตามโฉนดแล้วเป็นชื่อของพี่ชายผม โดยมีคุณน้าช่วยดูแลให้ สวนยางแปลงนี้อยู่หลังวัดทุ่งขึงหนัง (เรียกว่าหลังเมรุเผาศพก็ได้) จากนั้นก็พาต่อไปยังที่เที่ยวแห่งใหม่ที่มีชื่อว่า "ควนน้อย แกรนด์แคนยอน" พื้นที่นี้เดิมเป็นบ่อดินลูกรัง มีการขุดดินลูกรังไปขายจนเป็นหลุมลึก ตอนหลังเขาก็ปล่อยให้น้ำท่วมขังจนเป็นเหมือนกับสระน้ำขนาดใหญ่ (แต่น้ำลึกจนไม่ให้ใครลงไปเล่น) เหมาะแก่การมาถ่ายรูปเล่นตอนเย็น ๆ และมากินข้าวเย็นที่ร้านอาหารริมน้ำ บ่อดินลูกรังบ่อนี้เห็นเขาขุดแบบไม่เกรงว่าสวนยางของคนอื่นที่อยู่แปลงติดกันนั้นจะยุบลงมาเลย เรียกว่าขุดซะแทบจะติดเส้นแบ่งเขตที่ดินก็ได้ แต่ก็โชคดีที่มันไม่พังลงมา แต่ผ่านไปนาน ๆ ก็ไม่รู้เหมือนกันเพราะถ้ามีน้ำซึมเข้าไปมาก ๆ ดินก็อาจจะอ่อนตัวลงไป
 
รูปที่ ๔ บ่อที่เกิดจากการขุดดินลูกรังขาย ตอนหลังน้ำท่วมเต็ม ก็เลยปล่อยให้เป็นอ่างเก็บน้ำ แต่ไม่ให้ใครลงเล่น เพราะน้ำมันลึก แต่มีการปรับปรุงบริเวณรอบอ่างให้เป็นร้านอาหาร แล้วตั้งชื่อใหม่ว่าเป็น "ควนน้อย แกรนด์แคนยอน" ที่เหมาะแก่การมานั่งกินตอนเย็น ๆ 
 
รูปที่ ๕ ตรงไหนที่เป็นดินลูกรังก็ถูกขุดไปขาย ตรงไหนเป็นหินก็ค้างอยู่อย่างนั้น

รูปที่ ๖ อีกมุมหนึ่งของอ่างเก็บน้ำ (ที่เกิดจากการขุดบ่อดินลูกรัง) มุมนี้จะมีร้านอาหารร้านใหญ่ตั้งอยู่ ตอนที่ไปนั้นเป็นตอนเที่ยงวัน ไม่มีร้านเปิดสักร้าน

รูปที่ ๗ อีกมุมหนึ่งของอ่างเก็บน้ำ (ที่เกิดจากการขุดบ่อดินลูกรัง) มุมนี้จะมีร้านอาหารเล็ก ๆ ตั้งอยู่

จุดสุดท้ายที่แวะไปเที่ยวของวันนั้นคืออ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส อ่างเก็บน้ำนี้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการป้องกันน้ำท่วมให้กับลุ่มน้ำปากพนัง และเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ห้วยน้ำใสนี้เป็นลำธารที่เป็นเส้นแบ่งระหว่างพัทลุงกับนครศรีธรรมราช แต่ถ้าเลยไปทางตะวันตกหน่อยก็จะเข้าเขตตรัง ต่อมาภายหลังมีคนเข้าไปพัฒนาเป็นสถานที่พักริมน้ำและล่องแก่ง เท่าที่สังเกตดูพวกรีสอร์ทต่าง ๆ จะตั้งอยู่ทางฝั่งพัทลุงหมด คงเป็นเพราะมันเป็นฝั่งที่มีถนน

รูปที่ ๘ ที่ตั้งของอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส เดิมนั้นคลองน้ำใสเป็นเส้นแบ่งระหว่างพัทลุงกับนครศรีธรรมราช ถ้าเลยไปทางตะวันตกหน่อยก็จะเข้าเขตจังหวัดตรัง

รูปที่ ๙ มุมเขื่อนระบายน้ำล้น จะเห็นถนนเส้นเก่าอยู่ใต้สะพานที่เป็นถนนเส้นใหม่ ถ้าไปทางซ้ายก็จะไปตรัง

รูปที่ ๑๐ จากสะพานที่เห็นในรูปที่ ๙ มองย้อนกลับมายังเขื่อนระบายน้ำล้น

รูปที่ ๑๑ บนจุดชมวิวของที่ทำการเขื่อน เขาตั้งชื่อว่าภูขี้หมิ้น

รูปที่ ๑๒ จุดปล่อยตัวสำหรับล่องแก่ง อยู่ท้ายเขื่อนลงมาหน่อย ภาพนี้มองไปทางต้นน้ำ

รูปที่ ๑๓ จากจุดเริ่มล่องแก่ง ภาพนี้มองไปทางปลายน้ำ รูปนี้ถ่ายโดยพยายามหลบขยะที่มีพวกมาล่องแก่งทิ้งอยู่บนฝั่ง จากจุดนี้ไปถึงหนานมดแดง (ดูแผนที่ในรูปที่ ๘) จะกินเวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง

รูปที่ ๑๔ บริเวณจุดขึ้นฝั่งของการล่องแก่งที่รีสอร์ทวังไม้ไผ่ ภาพนี้มองไปทางต้นน้ำ

รูปที่ ๑๕ สวนยางพาราของพี่ชาย อยู่หลังวัดทุ่งขึงหนัง ที่คุณน้าช่วยดูแลให้ วันนั้นแวะเข้าไปก่อนเลยไปควนน้อย เลยถ่ายรูปเอาไว้เป็นที่ระลึกหน่อย
 
การไปล่องแก่งที่นี่ไม่จำเป็นต้องไปพักที่รีสอร์ท สามารถติดต่อรีสอร์ทต่าง ๆ ที่เขาให้บริการ เรียกว่าขับรถไปจอดไว้ที่รีสอร์ท จากนั้นก็เปลี่ยนชุด แล้วเขาจะพาขึ้นรถไปยังจุดปล่อยตัวที่อยู่บริเวณท้ายเขื่อน แล้วก็พายเรือแคนูลำละ ๒ คนล่องมาตามสายน้ำเรื่อย ๆ จนถึงรีสอร์ทที่จอดรถเอาไว้ ก็ขึ้นฝั่งที่นั่น อาบน้ำเปลี่ยนชุดแล้วก็กลับได้ บางจุดที่อาจจะผ่านยากหน่อย ก็จะมีเจ้าหน้าที่ของรีสอร์ทไปประจำอยู่ (ช่วยผลักเรือ) เนื่องด้วยแต่ละรีสอร์ทนั้นอยู่ห่างจากจุดปล่อยตัวไม่เท่ากัน ดังนั้นระยะเวลาที่ใช้ก็ขึ้นอยู่กับว่าตอนไปติดต่อนั้นเลือกจุดที่ใกล้หรือไกลจุดปล่อยตัว รีสอร์ที่มีชื่อสุด (และดูเหมือนว่าจะเป็นแห่งแรกสุด) ของที่นี้เห็นจะได้แก่ "หนานมดแดง" ระยะเวลาจากจุดปล่อยตัวมาถึงหนานมดแดงก็ประมาณ ๓ ชั่วโมง
 
บริเวณจุดปล่อยตัวนั้นเป็นต้นน้ำ ดังนั้นมันไม่ควรมีถังขยะ เพราะถ้าเกิดน้ำมาแรงพัดเอาถังขยะลงน้ำ สายน้ำก็จะสกปรกหมด และตอนที่ไปนั้นมันก็ไม่มีถังขยะ เป็นเหมือนกับพื้นที่ราบเล็ก ๆ ริมลำธาร แต่ที่น่าเสียดายก็คือมีการทิ้งขยะกันเกลื่อนกลาดบริเวณจุดปล่อยตัวนี้แล้ว ถ้าอยากให้การท่องเที่ยวที่นี่ยืนยาว ทางผู้ให้บริการล่องแก่งก็ควรที่จะร่วมกันรักษาความสะอาด ด้วยการย้ำไม่ให้นักท่องเที่ยว (หรือพนักงานของรีสอร์ทเอง) ทิ้งขยะในบริเวณดังกล่าว และถ้ามีขยะเกิดขึ้น ก็ควรที่จะเก็บและนำออกจากพื้นที่เอง ไม่เช่นนั้นต่อไปก็คงเป็นการล่องแก่งชมขยะลอยน้ำหรือติดตามซอกหิน เพราะถ้าถึงขึ้นนี้เมื่อใดก็คงไม่ต้องไปล่องแก่งถึงพัทลุงแล้ว ล่องตามคลองต่าง ๆ ในกรุงเทพก็ได้บรรยากาศแบบเดียวกัน
 
ตอนออกจากห้วยน้ำใสก็แดดกำลังดีอยู่ แต่ยังไม่ทันกลับเข้าเส้นสาย ๔๑ เมฆฝนก็โผล่มาพร้อมฝนตกแรง ขากลับก่อนเข้าบ้าน คุณน้าก็พาไปนั่งรถวนรอบเขาพนมวังก์ พาไปดูแปลงสวนยางริมเขา แต่ไม่ได้ลงเพราะฝนยังลงเม็ดอยู่ แปลงนี้เป็นมรกดคุณแม่ที่โอนให้ผมกับน้องเป็นชื่อร่วมกัน (เรียกว่ามรกดสืบทอดมาจากคุณตาคุณยาย) โดยคุณน้าเป็นผู้ดูแลให้ บริเวณติดกันก็มีลูกพี่ลูกน้องอีกคนใช้เป็นพื้นที่ทำงานประกอบธุรกิจของเขา ก็คือการรับลาดยางถนน จะว่าไปหมู่บ้านต่าง ๆ ในบริเวณนี้ ถ้าจะลำดับนับญาติกัน โดยอิงขึ้นไปรุ่นทวดของผม ก็คงหาความเกี่ยวข้องกันได้หมด เพราะเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่มาบุกเบิกพื้นที่บริเวณนี้
 
ไม่ได้กลับไปนาน พัทลุงเปลี่ยนไปเยอะ สิ่งแรกที่เห็นคือมีสะพานลอยให้รถวิ่งข้ามแยกด้วย (ตอนผมไปครั้งสุดท้ายยังไม่มีเลย แสดงว่าไม่ได้กลับไปนาน) จากเดิมที่เคยนั่งรถแต่เช้ามืดเพื่อไปกินข้าวเช้าที่ตรัง (ที่มีชื่อเสียงมานาน) ตอนนี้ร้านอาหารแบบนี้ก็มีทั่วไปในตัวจังหวัด ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงตรัง
 
แต่สุดท้ายก่อนขึ้นเครื่องกลับ ก็ได้ไปกินข้าวเช้าที่ตรังอยู่ดี เพราะไหน ๆ ก็ต้องขึ้นเครื่องกลับที่นั่นอยู่แล้ว