วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๒๕ รถไฟเล็กลากไม้สายตะวันออก (ศรีราชา) ภาค ๒ MO Memoir : Monday 8 October 2555

"บ่ายเกือบสามโมง ที่เราโดดลงจากรถเมล์ประจำทางระหว่างกรุงเทพฯศรีราชา มันเป็นการนับครั้งไม่ถ้วนที่คณะเรามาตากอากาศศรีราชาอย่างพร่ำเพรื่อ เราทั้งหลายรับกระเป๋าเดินทางลงจากรถแล้ว เตะแข้งเตะขาพอหายเมื่อย แล้วก็หอบหิ้วกระเป๋าเดินเข้าทางเก่าที่เดินมาแล้วเสมอ คือทางเข้าในบริเวณโรงงานป่าไม้ศรีราชา และสิ่งประจำอีกอย่างคือ ตะโกนทักขึ้นไปบนที่ทำการของบริษัท บรรดาสหายทั้งหลายที่อยู่บนนั้นก็ตะโกนเอะอะลงมาตามเคย ยกมือไหว้กันคนละทีสองที โวยวายกันตามระเบียบ แล้วก็ชักยืดเข้าภายในเขตบ้านพักหลังที่ทำการ ด้วยจำนวนนักตากอากาศพร่ำเพรื่อเกือบ ๒๐ คน
.....
การตากอากาศของเราไม่มีการเล่นน้ำทะเล เพราะรู้ว่าเล่นไม่ได้ ฉลามชุม จึงโอละพ่อเป็นชมป่าแทนชมทะเล อาศัยรถยนต์รางของผู้จัดการบริษัทเข้าไปตรวจงานในป่ายุบต้นทางของการตัดโค่นไม้ มีระยะทางไกลต้องค้างปลายทางหนึ่งคืน แล้วก็ล่องกลับมาที่เดิม"

เนื้อหาข้างบนคัดมาจากนิยายเรื่อง "แขกเมื่อค่อนคืน" เขียนโดย เหม เวชกร ผมเอามาจากหนังสือชุด "ภูตผีปิศาจไทย ตอน ใครอยู่ในอากาศ" ซึ่งเป็นหนังสือเล่มที่ ๕ ในชุดครบรอบ ๑๐๐ ปี เหม เวชกร (ทั้งชุดมี ๕ เล่ม) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิริยะ ปีพ.ศ. ๒๕๔๗ เรื่อง "แขกเมื่อค่อนคืน" นี้ทางสำนักพิมพ์วิริยะระบุไว้ปกหน้าว่าเป็นต้นฉบับที่เพิ่งค้นพบใหม่ และตอนท้ายของเรื่องก็ระบุด้วยว่าเรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน แถบทอง ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ ปักษ์หลัง ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๑

จากนิยายดังกล่าวทำให้เรารู้ว่าในอดีตนั้นทะเลแถวศรีราชามีปลาฉลามชุม ไม่เหมาะแก่การเล่นน้ำ (ส่วนที่พัทยากับบางแสนที่อยู่ใกล้ ๆ กันไม่รู้ว่าเป็นยังไงบ้าง) และมี "รถยนต์ราง" ของบริษัททำไม้วิ่งเข้าไปในป่า

รูปที่ ๑ เล่มซ้ายคือหนังสือรวมเรื่องผีของ เหม เวชกร (เล่มที่ ๕) ส่วนสองเล่มขวาเป็นหนังสือที่ชาวต่างชาติเขียนไว้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเดินรถไฟในประเทศไทย โดยเล่มสีน้ำเงินนั้นครอบคลุมไปถึงในเขตประเทศลาวและกัมพูชา สองเล่มหลังนี้ได้มาจากศูนย์หนังสือจุฬาฯ ที่ศาลาพระเกี้ยว (เล่มละพันกว่าบาท)

"รถยนต์ราง" ที่กล่าวในนิยายดังกล่าวก็คือ "รถไฟเล็กลากไม้" ของบริษัทศรีมหาราชา ซึ่งได้รับสัมปทานทำป่าไม้ในภาคตะวันออก โดยนำไม้ในป่ามายังโรงเลื่อยที่ อ. ศรีราชา และมีการส่งลงเรือโดยนำไม้ไปลงเรือที่ท่าเรือเกาะลอย ซึ่งเรื่องนี้เคยเอามาเล่าไว้ครั้งหนึ่งใน Memoir ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๓๖ วันศุกร์ที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เรื่อง "ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๒ รถไฟเล็กลากไม้สายตะวันออก (ศรีราชา)"

เมื่อเดือนสิงหาคมไปได้หนังสือเกี่ยวกับประวัติการเดินรถไฟในประเทศไทยมา ๒ เล่ม ทั้งสองเล่มเขียนโดยชาวต่างชาติ เล่มแรกคือ "The Railway Atlas of Thailand, Laos and Cambodia" เขียนโดย B.R. Whyte (ปีค.ศ. 2010) ส่วนเล่มที่สองคือ "The Railways of Thailand" เขียนโดย R. Ramaer (ปีค.ศ. 2009) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ White Lotus หนังสือสองเล่มดังกล่าวผมไปเห็นวางขายในหมวดเอเซียศึกษาซึ่งเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ ลองพลิกดูเห็นว่ามีเรื่องราวที่น่าสนใจก็เลยซื้อมาเก็บเอาไว้ โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับทางรถไฟของบ้านเราที่เคยมีในอดีต แต่ในปัจจุบันหลายสายอาจจะไม่เหลือร่องรอยอะไรเอาไว้แล้ว อาจเหลือเพียงเอกสารที่เคยกล่าวถึงในอดีตที่อาจไปซุกอยู่ ณ ซอกตู้แห่งใดแห่งหนึ่งที่รอคนไปขุดคุ้ยเอาออกมา

รูปหนึ่งที่น่าสนใจมากในหนังสือดังกล่าวคือรูปรถไฟเล็กลากไม้ศรีราชาขณะปฏิบัติงานที่เอามาแสดงให้ดูในรูปที่ ๒ ที่น่าเสียดายก็คือไม่มีข้อมูลที่จะระบุได้ว่ารูปดังกล่าวถ่ายโดยใคร เมื่อไร และสถานที่แห่งใด ในภาพจะเห็นหัวรถจักรกำลังลากไม้ท่อนที่ตัดเอาไว้แล้วทางรางด้านขวา ส่วนรางทางด้านซ้ายก็เป็นไม้ท่อนที่วางบนตัวรถพร้อมรอการลากจูง

รูปที่ ๒ รถไฟเล็กลากไม้ศรีราชาขณะปฏิบัติหน้าที่ จากหนังสือ The Railway Atlas of Thailand, Laos and Cambodia โดย B.R. Whyte สำนักพิมพ์ Whits Lotus ปีค.ศ. 2010

อีกรูปคือรูปแผนที่เส้นทางรถไฟ (รูปที่ ๓) รูปนี้แสดงเส้นทางรถไฟเฉพาะด้าน อ. ศรีราชา ทำให้ไม่รู้ว่าปลายทางด้านตะวันตกนั้นไปสิ้นสุดที่ใด แต่ก็แสดงให้เห็นว่ามีการแยกเส้นทางไปสองทาง เส้นทางที่ขึ้นเหนือนั้นดูเหมือนว่าจะโฉบไปทางด้านทิศตะวันออกของอ่างเก็บน้ำบางพระในปัจจุบัน และในตำแหน่งที่เป็นอ่างเก็บน้ำบางพระในปัจจุบันนั้น สมัยก่อนจะเป็นบ่อน้ำร้อนและบ่อน้ำเย็น ซึ่งในขณะนี้ทั้งสองบ่อจมอยู่ใต้น้ำของอ่างเก็บน้ำบางพระแล้ว (ในกรอบสี่เหลี่ยมเหลือง)

รูปที่ ๓ แผนที่เส้นทางรถไฟเล็กลากไม้สายตะวันออก จากหนังสือ จากหนังสือ The Railway Atlas of Thailand, Laos and Cambodia โดย B.R. Whyte สำนักพิมพ์ Whits Lotus ปีค.ศ. 2010 ในแผนที่ดังกล่าวยังปรากฏบ่อน้ำร้อนและบ่อน้ำเย็น ซึ่งปัจจุบันจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำบางพระ คำบรรยายภาพบอกว่าแผนที่นี้เป็นสมัยปีค.ศ. 1929-30 (พ.ศ. 2472-2473) พิมพ์ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484)

ในแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พ.ศ. ๒๔๙๗ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๑ ตอนที่ ๗๑ วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ (รูปที่ ๔) ยังปรากฏเส้นทางรถไฟดังกล่าวจากศรีราชา ไปยังบ้านหนองอีบู่ และบ้านหนองค้อ แต่ทางรถไฟที่แยกจากบ้านหนองอีบู่ไปยังบ้านวังหินนั้นหายไปแล้ว แสดงว่าเส้นทางสายนี้ถูกรื้อถอนไปก่อนสิ้นปีพ.ศ. ๒๔๙๗

รูปที่ ๔ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๔๙๗ จะเห็นว่าเส้นทางรถไฟที่แยกจากบ้านหนองอีบู่ไปทางบ้านวังหินและบ่อน้ำร้อน (ที่ตั้งอ่างเก็บน้ำบางพระในปัจจุบัน) ได้หายไปแล้ว

เส้นทางรถไฟลากไม้สายดังกล่าวที่หลงเหลืออยู่ ในภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นเส้นทางรถไฟสำหรับขนอ้อยจากไร่เข้าสู่โรงงานน้ำตาล ความทรงจำที่ภรรยาผมเคยเห็นก็คือรถไฟสายดังกล่าวเป็นรถไฟบรรทุกอ้อย (ภรรยาผมเกิดไม่ทันสมัยที่เขายังทำป่าไม้กันอยู่) ในแผนที่แนบท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลหัวกุญแจ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ในปีพ.ศ. ๒๕๐๖ ก็แสดงให้เห็นเส้นทางรถไฟของบริษัทน้ำตาลชลบุรี (รูปที่ ๕) ซึ่งในปัจจุบันเส้นทางดังกล่าวก็ได้กลายเป็นถนนไปแล้ว (ดูแผนที่ปัจจุบันในรูปที่ ๖) เส้นทางสายนี้น่าจะเป็นเส้นทางที่ภรรยาของผมเล่าให้ฟังว่าเคยเห็นเมื่อตอนยังเป็นเด็กอยู่ และน่าจะถูกรื้อถอนไปหลังปีพ.ศ. ๒๕๑๓

รูปที่ ๕ แผนที่แสดงเขตสุขาภิบาลหัวกุญแจ จากประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลหัวกุญแจ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ประกาศ ณ วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๐๖ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๘๐ ตอนที่ ๒๖ วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๐๖ ยังปรากฏแนวเส้นทางรถไฟบริษัทน้ำตาลชลบุรี

เส้นทางรถไฟที่ไปยังบ้านหัวกุญแจนี้เป็นเส้นทางที่แยกออกมาจากตลาดหนองค้อ (น่าจะเป็นบริเวณบ้านหนองค้อที่กลายเป็นอ่างเก็บน้ำในปัจจุบัน) พิจารณาจากแผนที่ในรูปที่ ๗ ดูแล้วเข้าใจว่าเส้นทางที่แยกจากบ้านหนองอีบู่เป็นเส้นที่อยู่ทางด้านตะวันตกของเขาเขียว (เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาเขียว) ซึ่งไม่ปรากฏในแผนที่ในรูปที่ ๗ แล้ว ส่วนเส้นทางที่แยกจากตลาดหนองค้อนั้นเป็นเส้นทางที่อยู่ทางด้านตะวันออกของเขาเขียว เส้นทางไปบ้านหัวกุญแจนี้ในแผนที่แสดงให้เห็นว่าผ่านบริเวณวัดโค้งดารา (บ้านโค้งดาราในปัจจุบัน) แล้วโฉบขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (น่าจะเป็นแนวถนน ชบ ๑๐๘๐ ในปัจจุบัน)

รูปที่ ๖ แผนที่บริเวณบ้านหัวกุญแจในปัจจุบัน เส้นทางรถไฟเดิมกลายเป็นถนนทางรถไฟเก่า

บ้านโค้งดารานี้ผมมีโอกาสแวะไปหลายครั้ง ปัจจุบันที่นั่นมีคนจากกรุงเทพและหลายจังหวัดแวะเวียนไป ที่เขาไปกันคือไปสถานปฏิบัติธรรมชื่อ "สวนสันติธรรม" ผมเองก็เคยแวะไปที่นั่น แต่ไม่ได้แวะไปฟังธรรมหรอก ไปดูคนที่เขาไปฟังธรรมมากกว่า (ไปดูพฤติกรรมประหลาด ๆ หลายอย่าง เรื่องหนึ่งเคยเล่าเอาไว้ใน Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๙๕ วันศุกร์ที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๓ เรื่อง "ไปวัดแล้วได้อะไร") แต่เหตุผลหลักคือแม่ค้าขายกล้วยทอดที่อยู่ที่ปากทางแยกจากบ้านโค้งดาราไปสวนสันติธรรมนั้น (ถ้าขับรถเข้าไปจะอยู่ทางขวามือ) ทอดกล้วยได้อร่อย ชอบกันทั้งครอบครัว ผ่านไปแถวนั้นทีไรต้องแวะซื้อกินกันก่อนแล้วค่อยขับรถกลับ 
 
แนวทางรถไฟที่ปรากฏในแผนที่ในรูปที่ ๗ นั้นน่าจะผ่านไปทางด้านหน้าที่ตั้งสวนสันติธรรมในปัจจุบัน ซึ่งเป็นถนนที่ตัดผ่านด้านหลังเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาเขียวออกไป และเป็นบริเวณที่อยู่ระหว่างเนินเขาสองลูก ซึ่งเหมาะต่อการตัดเส้นทางมากกว่า ถนนเส้นนี้ปรกติผมก็ใช้เป็นเส้นทางเลี่ยงในการขับรถจากบางพระไปบ้านบึง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง ขับมาตั้งแต่ยังเป็นถนนลูกรัง/หินคลุกตัดผ่านไร่มัน จนตอนนี้มีการทำเป็นทางลาดยางเกือบทั้งเส้น เว้นแต่เฉพาะช่วงที่ตัดผ่านเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาเขียว ซึ่งยังคงเป็นถนนลูกรังผสมหินคลุกอยู่

รูปที่ ๗ ในหน้าสุดท้ายนำมาจาก ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลอ่าวอุดม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ประกาศ ณ วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๓ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๘๗ ตอนที่ ๑๐๐ วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๒ นั่นแสดงว่าในปีพ.ศ. ๒๕๑๓ นั้นทางรถไฟสายดังกล่าวยังมีอยู่ และยังทอดยาวไปถึงเขตรอยต่อกับจังหวัดระยองด้วย แผนที่นี้ผมนำมาจากไฟล์ต้นฉบับที่เป็น .pdf รูปต้นฉบับตัวจริงใหญ่กว่าหน้ากระดาษ A4 และชัดเจนกว่า ถ้าอยากเห็นภาพที่ชัดกว่านี้ก็ต้องไปดาวน์โหลดไฟล์จากเว็บของราชกิจจานุเบกษา แล้วเปิดขยายดูบนคอมพิวเตอร์ หรือไม่ก็ลองอ่านไฟล์ที่ส่งให้นี้บนคอมพิวเตอร์แล้วก็ขยายภาพดูเอาเอง

ในประเทศไทยนั้น ทางรถไฟและลำคลองที่เคยมีชื่อปรากฏในอดีต ค่อย ๆ ทยอยหายไป ถูกแทนที่ด้วยถนนและท่อระบายน้ำ แต่ก็ยังดีที่หลายแห่งยังมีการอนุรักษ์ชื่อเดิมเอาไว้ เพื่อให้คนรุ่นหลังรู้ว่าก่อนที่จะมาเป็นถนนในปัจจุบันนั้น เส้นทางดังกล่าวเคยเป็นอะไรมาก่อน ในกรุงเทพนั้นชื่อถนนชื่อสี่แยกยังคงมีอยู่ (เช่น "ถนนทางรถไฟสายปากน้ำ" ที่ทางรถไฟหายไปแล้ว "แยกสะพานเหลือง" ที่ตอนนี้ไม่มีสะพานหลงเหลือให้ดู) แต่ในต่างจังหวัดนั้นมักจะตั้งชื่อถนนโดยใช้รหัสตัวเลขแทน (ถ้าเป็นของจังหวัดก็จะมีรหัสจังหวัดนำหน้า) ซึ่งจะทำให้ความทรงจำของสิ่งเดิมที่เคยมีอยู่ตรงที่เหล่านั้นหายไป