วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2559

อันตรายจากแก๊สเฉื่อย (ตอนที่ ๓) MO Memoir : Friday 22 April 2559

ยังคงเป็นเรื่องต่อเนื่องจากบทความเรื่อง "Asphyxiatation hazards of inert gas" ที่ปรากฏในวารสาร Loss Prevention Bulleting ฉบับที่ ๙๗ ปีค.ศ. ๑๙๙๑ เหตุการณ์ที่สองนี้เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตจากแก๊สไนโตรเจน

เรื่องที่ ๒ : ช่างอุปกรณ์วัดคุมเสียชีวิตจากแก๊สไนโตรเจนเมื่อเข้าไปปรับแต่งอุปกรณ์ใน vessel

เหตุเกิดในระหว่างที่มีการก่อสร้างส่วนขยายของโรงงานแห่งหนึ่ง สถานที่เกิดเหตุเป็น vessel ทรงกระบอกที่ใช้เป็นถังผสมขนาด 2273 ลิตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน 1.5 m และสูง 1.8 m มี "hinged manhole" ขนาด 20 cm อยู่ทางด้านบน รายละเอียดเนื้อหาส่วนนี้จากบทความต้นฉบับแสดงในรูปที่ ๑ ข้างล่าง
 
รูปที่ ๑ คำบรรยายสถานที่เกิดเหตุ

ถ้าเราคิดว่า vessel ดังกล่าวเป็นภาชนะทรงกระบอก ดังนั้นถ้านำเอาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 m กับความสูง 1.8 m ไปคำนวณปริมาตรก็จะได้ค่าออกมา 3180 ลิตร ซึ่งมากกว่าที่บทความกล่าวไว้คือ 2273 ลิตร ซึ่งความแตกต่างนี้มันกเกิดจากการที่ในความเป็นจริงนั้นส่วนที่เป็นทรงกระบอกของ vessel ดังกล่าวมันไม่ได้สูง 1.8 m ความสูง 1.8 m นี้มันรวมเอาส่วนฝาด้านบนและด้านล่างที่เป็นฝาโค้งเข้าไปด้วย (รูปที่ ๒)
 
manhole คือช่องทางสำหรับให้คนเข้าไปทำงานภายใน vessel ปรกติช่องทางนี้ก็จะมีหน้าแปลนตาบอด (blind flange) ปิดเอาไว้ และถ้าหน้าแปลนหนักมาก (เช่นสำหรับ vessel ความดันสูง หน้าแปลนดังกล่าวจะหนามากขึ้น) เวลาจะเปิดออกก็ต้องมีการใช้รอกช่วย แต่ถ้าเป็นหน้าแปลนที่ไม่หนักมาก็อาจะใช้การติดบานพับช่วยในการเปิด แบบหลังนี้เรียกว่า "hinged manhole" (รูปที่ ๒) แต่ที่น่าสนใจคือบทความบอกว่ามีขนาดเพียงแค่ 20 cm ซึ่งผมว่ามันไม่น่าจะถูก เพราะช่องขนาดนี้คนคงสอดตัวเข้าไปไม่ได้ ขนาดที่ถูกน่าจะเป็น 20 นิ้ว (500 mm) มากกว่า

รูปที่ ๒ รูปนี้ไม่ใช่สถานทีเกิดเหตุ แต่เป็นรูป pressure vessel ที่มีขนาดใกล้เคียงกับที่ปรากฏในบทความ และมี manhole ชนิดมีบานพับอยู่ทางด้านบน (ในกรอบสี่เหลี่ยมสีเหลือง) ตัว vessel นั้นจะมีฝาโค้งปิดด้านบนและด้านล่างของลำตัวทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของ vessel ก็คือขนาดลำตัวทรงกระบอก ส่วนความสูงก็วัดจากจุดต่ำสุดของตัว vessel (จุดต่ำสุดของฝาโค้งด้านล่าง) ไปนจนถึงจุดสูงสุดของตัว vessel (จุดสูงสุดของฝาโค้งด้านบน) รูปนี้นำมาแสดงเพื่อช่วยให้มองเห็นภาพสถานที่เกิดเหตุจริง


รูปที่ ๓ รูปขยาย manhole ในรูปที่ ๒ ในกรอบสีเหลืองคือบานพับสำหรับเปิดหน้าแปลน
 
เช้าวันหนึ่ง ช่างอุปกรณ์วัดคุมหย่อนตัวเข้าไปใน vessel ดังกล่าวเพื่อทำการปรับแต่ง level gauge ในช่วงเวลานั้นเขาไปทำงานเพียงลำพัง แต่ก่อนที่จะได้เริ่มงานเขาก็ล้มทรุดลง คว่ำหน้าลงไป ไม่ถึง ๕ นาทีถัดมาวิศวกรอีกผู้หนึ่งแวะมาตรวจดูการทำงาน ก็พบเห็นช่างอุปกรณ์วัดคุมฟุบอยู่ทางด้านล่างของ veseel โดยคิดว่าช่างอุปกรณ์วัดคุมนั้นคงจะลื่นตกตอนเข้าไปใน veseel และถูกกระแทกจนหมดสติไป วิศวกรคนดังกล่าวจึงรีบเข้าไปช่วยเหลือและล้มฟุบไปอีกคนแทบจะทันทีทันใด อีกประมาร ๑๐ นาทีต่อมาวิศวกรคนที่สามก็มาพบเหตุการณ์ดังกล่าว จึงรีบเข้าไปช่วยเหลือ แต่เมื่อเข้าไปภายในกลับรู้สึกอ่อนแรงอย่างรวดเร็วจึงรีบปีนออกมา
 
ผู้ที่ตกค้างอยู่ภายใน ๒ รายนั้นได้รับการนำออกมาด้วยหน่วยกู้ภัย ซึ่งพบว่าช่างอุปกรณ์วัดคุมนั้นเสียชีวิตแล้ว ในขณะที่วิศวกรคนที่สองที่เข้าไปข้างในนั้นรอดมาได้
 
ผลการสอบสวนพบว่าช่างอุปกรณ์วัดคุมเสียชีวิตเนื่องจากการเข้าไปอยู่ในบรรยากาศที่ขาดออกซิเจน เนื่องจากมีแก๊สไนโตรเจนป้อนเข้ามาทางท่อที่ต่ออยู่กับ vessel การตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่าวาล์วป้อนแก๊สไนโตรเจนเข้า vessel นั้น "ปิด" อยู่ และวาล์วก็ไม่มีการรั่ว ส่วนต้นตอที่ทำให้แก๊สไนโตรเจนเข้าไปอยู่ใน vessel ได้นั้นไม่ได้รับการระบุ

บทความบ่งบอกว่าตอนไปตรวจที่เกิดเหตุพบว่าวาล์วป้อนแก๊สไนโตรเจนเข้า vessel อยู่ในตำแหน่ง "ปิด" แต่การ "ปิด" นี้เกิดขึ้นเมื่อใดก็ไม่สามารถบอกได้ อาจจะมีการเปิดวาล์วดังกล่าว และปิดวาล์วก่อนที่ช่างอุปกรณ์วัดคุมเข้าไปทำงาน หรือวาล์วดังกล่าวเปิดอยู่ในขณะที่ช่างอุปกรณ์วัดคุมเข้าไปทำงาน แต่มีการปิดวาล์วเกิดขึ้นระหว่างการเข้าไปช่วยเหลือ (ซึ่งภายใต้ความสับสนตรงนั้น บางทีมันก็บอกยากเหมือนกันว่ามีใครทำอะไรตรงไหนกันบ้าง) หรือมีการปิดวาล์วหลังการช่วยเหลือแล้ว ตรงนี้คงหาข้อยุติไม่ได้


รูปที่ ๔ รูปนี้ไม่เกี่ยวกับบทความฉบับนี้ แต่เกี่ยวข้องกับฉบับที่แล้ว ในรูปช่างเชื่อมกำลังเชื่อม TIG ต่อข้องอเข้ากับท่อตรง มือขวาจะถือตัว Torch ที่มีขั้วไฟฟ้าทำให้เกิดประกายไฟ ส่วนมือซ้ายจะป้อนลวดเชื่อมเข้าไปยังรอยเชื่อม
 
ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญใน
 
() การ "isolate (แปลเป็นไทยว่าอะไรดีล่ะ ใช้คำว่า "โดดเดี่ยว" ดีไหม)" อุปกรณ์ที่จะมีการส่งคนเข้าไปทำงานภายใน และ
(ข) การตรวจสอบสภาพบรรยากาศภายในก่อนที่คนจะเข้าไปทำงาน

การ isolate ระบบนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือการที่ทำให้ระบบ (ต่อไปขอเรียกว่า vessel ก็แล้วกัน) ไม่มีการเชื่อมต่อทางกายภาพกับหน่วย คือกล่าวคือไม่มีการท่อเชื่อมต่อกับเข้า vessel คือต้องมีการหาตำแหน่งที่สามารถถอดชิ้นส่วนท่อออกได้ แต่วิธีการเช่นนี้บ่อยครั้งมันก็ไม่สะดวกในทางปฏิบัติ จึงมีการใช้วิธีการอื่นที่ให้ผลในทำนองเดียวกัน เช่น
 
- การใช้ slip plate แทรกเข้าตรงหน้าแปลนของท่อที่เชื่อมต่อกับตัว vessel
- การใช้ระบบ double block กับ bleed valve (ต้องมีมาตรการควบคุมการเปิด-ปิดวาล์ว) เป็นต้น
 
แต่ทั้งนี้จะไม่ใช้วาล์วเพียงตัวเดียวในการ isolate ระบบ เพราะวาล์วอาจมีการรั่วได้ นอกจากว่าจะเป็นงานจำเป็นเร่งด่วนจนเห็นว่าถ้าใช้วิธีการมาตรฐานทั่วไปจะทำให้เกิดความเสี่ยงสูงเช่นกัน แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องมีมาตรการอื่นรองรับและมีการพิจารณาเป็นกรณีไป

การตรวจสอบบรรยากาศภายใน vessel ก่อนจะเข้าไปทำงานภายในนั้น และระหว่างการทำงานอยู่ภายในนั้น ก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะกับ vessel ที่ไม่ได้มีการ isolate ออกจากระบบอย่างสมบูรณ์ อย่างเช่นในกรณีของตัวอย่างนี้อาจเป็นไปได้ว่าในวันก่อนหน้านี้อาจมีการใช้อากาศไล่ไนโตรเจนออกจาก vessel แล้ว ทำให้วันรุ่งขึ้นเมื่อช่างอุปกรณ์วัดคุมมาทำงาน จึงคิดว่าบรรยากาศภายในปลอดภัย และวิศวกรรายอื่นที่มาพบภายหลังก็มีความคิดแบบเดียวกัน แต่บังเอิญว่าในช่วงข้ามคืนที่ผ่านมาเกิดมีแก๊สไนโตรเจนไหลเข้าไปแทนที่อากาศใน vessel (ด้วยวิธีการที่ไม่สามารถบอกได้) และเมื่อไม่มีการตรวจสภาพอากาศภายในก่อนจะเข้าไปทำงานจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุที่นำไปสู่การสูญเสีย


รูปที่ ๕ ความเห็นของบรรณาธิการที่ปรากฏในตอนท้ายบทความ อ่านข้อ a) แล้วรู้สึกแปลก ๆ ไหมครับ โดยเฉพาะตรงที่ขีดเส้นใต้เอาไว้
 
เหตุการณ์ที่มีการประสบพบเห็นใครสักคนล้มฟุบอยู่ในบริเวณอับอากาศหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก (ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า confined space) แล้วคนที่มาพบเห็นนั้นรีบลงไปช่วยจนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า ๑ รายนั้น บ้านเราก็มีข่าวให้เห็นเป็นประจำเวลา โดยเฉพาะเวลาที่มีการขุดบ่อหรือลงไปทำงานในบ่อ (อาจเป็นบ่อน้ำหรือบ่อในโรงงานต่าง ๆ) การเข้าไปทำงานในพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าช่องทางเข้า ผู้ที่เข้าไปทำงานนั้นอาจต้องมีการใช้สายรัดที่พาดออกมาทางด้านนอก เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา ผู้ที่อยู่ภายนอกจะได้สามารถช่วยเหลือด้วยการดึงตัวออกมาได้โดยไม่ต้องเข้าไปข้างใน และจำเป็นต้องมีผู้เฝ้าทางปากทางเข้าเผื่อเวลาเกิดอุบัติเหตุขึ้นภายใน จะได้แจ้งให้ผู้อื่นมาช่วยเหลือได้

ท้ายบทความนี้มีข้อความที่เป็นความเห็นของบรรณาธิการเพิ่มเติมเข้ามาที่ผมเอามาให้ดูในรูปที่ ๕ ผมอ่านดูแล้วแปลกใจตรงข้อ a) ที่เขาบอกว่า "ห้ามการช่วยเหลือด้วยการใช้ .... อย่างเข้มงวด" ซึ่งผมเห็นว่ามันแปลกนะ มันน่าจะทำตรงกันข้ามกันมากกว่านะ

รูปข้างล่างไม่เกี่ยวกับบทความ แต่เห็นหน้ากระดาษมันว่างอยู่ก็เลยเพิ่มเข้ามา

ไม่มีความคิดเห็น: