วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

ภาพบันทึกความทรงจำ กว่าจะเป็นวิศวกรเคมี ๔๑-๕๐ MO Memoir : Monday 19 January 2558

ชุดที่ ๔ ของอีก ๑๐ ภาพที่นำลงในกล่อง "กว่าจะเป็นวิศวกรเคมี" บนหน้า blog และอย่างเช่นเคยก็คือวันที่ที่ปรากฏเหนือรูปคือวันที่นำรูปลง blog ส่วนรายละเอียดของแต่ละรูปนั้นอยู่ข้างใต้รูปแต่ละรูป ภาพชุดนี้ภาพต้นฉบับเป็นภาพสีที่ถ่ายจากกล้องฟิล์มแล้วนำมาสแกน (ภาพที่ไม่มีวันที่กำกับ) หรือไม่ก็ถ่ายจากกล้องโทรศัพท์มือถือ (ภาพที่มีวันที่กำกับ)

วันเสาร์ที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๗
ค่ำวันอังคารที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ แลปเคมีวิเคราะห์แลปแรก (Gravimetic analysis) เรียนในสัปดาห์ที่สองของเทอมแรก เป็นแลป Gravimetric determination ทำการตกตะกอน Cl- ด้วยสารละลาย AgNO3 และหาปริมาณ SO42- ด้วยการตกตะกอนด้วยสารละลาย BaCl2 เลิกแลปช้าตรงการล้างตกตะกอน BaSO4 ที่ค้างอยู่บนกระดาษกรอง (หวังว่าคนที่ได้เรียนแลปเคมีวิเคราะห์ยังคงจำกันได้) วันนั้นแลปเลิกแล้วยังมาติดฝนที่ตกหนักกันอยู่ที่ชั้นล่างสุดของอาคารเรียนอีกทั้งคนเรียนและคนสอน (อาคารที่เรียนแลปแต่ก่อนเรียกอาคาร ๓ ภาควิชา เพราะเป็นที่ตั้งของภาควิชาวิศวกรรมเคมี โลหการและ นิวเคลียร์ แต่หลังจากการสร้างตึกวิศวกรรมศาตร์หลังที่ ๔ และ ๕ ก็มีการเปลี่ยนแปลง เลยมีชื่อใหม่เป็น “อาคารปฏิบัติการรวม” เพราะเป็นที่ตั้งแลปของภาควิชาวิศวกรรมเคมี โลหการ สิ่งแวดล้อมและเหมืองแร่)

วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๗
วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ สอบไล่วิชา 2105-360 App Math ChE I ห้อง ๓๑๙ ตึก ๓ วิชานี้เป็นวิชาเรียนของนิสิตปริญญาตรีชั้นปีที่ ๓ นิสิตในภาพจึงเป็นนิสิตรหัส ๔๘ ภาพบรรยากาศในห้องสอบของนิสิตมักเป็นภาพที่ไม่ได้มีปรากฏในหนังสือรุ่นของนิสิตรุ่นใด เพราะนิสิตไม่สามารถถ่ายภาพตัวเองและเพื่อนฝูงได้ในขณะที่ทำการสอบ ห้องเรียนตึกวิศว ๓ นี้เดิมด้านหน้าของห้องคือด้านที่มีกระดานดำ แต่หลังจากเปลี่ยนมาใช้ไวท์บอร์ดแทนทุกห้อง ก็เลยมีการกลับด้านห้องเรียน

วันอาทิตย์ที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๗
วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๑ ช่วงเที่ยง บรรยากาศงานไหว้ครูของนิสิตปริญญาตรีของภาควิชา ครั้งนั้นจัดที่ห้องประชุมใหญ่ชั้น ๒ อาคารวิศว ๔ นิสิตที่เห็นในภาพเป็นกลุ่มนิสิตปี ๒ รหัส ๕๐ ที่เพิ่งจะเข้าภาควิชา

วันพุธที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๗
วันพุธที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ แลปเคมีวิเคราะห์ตอนเรียนเย็นวันพุธของนิสิตปริญญาตรีปี ๒ รหัส ๕๑ ในภาพนิสิตกำลังตรวจสอบว่ามีการเกิดตะกอนเพิ่มขึ้นหรือไม่เมื่อหยดสารละลายจากบิวเรตลงในสารตัวอย่างที่อยู่ในบีกเกอร์ โต๊ะทำงานกลุ่มนี้อยู่ทางด้านประตูทางเข้าด้านหน้าของห้องแลปเคมีปัจจุบัน ซึ่งเดิมบริเวณนี้เป็นห้องเรียนบรรยาย ก่อนที่จะมีการย้ายห้องเรียนออกไปและขยายห้องปฏิบัติการเคมีพื้นฐาน (พื้นที่เดิมคือส่วนด้านหลังของห้องเรียนปัจจุบัน) ในปีพ.ศ. ๒๕๔๐

วันจันทร์ที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๗
ศุกร์ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ แลปเคมีอินทรีย์เรื่องสารประกอบอะโรมาติกของนิสิตปริญญาตรีปี ๒ รหัส ๕๑ ในรูปเป็นการเปรียบเทียบเปลวไฟและเขม่าที่เกิดจากการเผาไหม้สารประกอบอะโรมาติกด้วยตะเกียงแอลกอฮอล์ในตู้ควัน การทดลองทำโดยการนำสารอินทรีย์ที่ต้องการเผา (ที่เป็นของเหลว) ใส่ลงในตะเกียง ส่วนแนฟทาลีนเผาในฝากระเบื้อง แล้วจุดไฟเผาในตู้ควันให้ลุกไหม้พร้อม ๆ กัน เพื่อความสะดวกในการเปรียบเทียบ

วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๗
ศุกร์ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ แลปเคมีอินทรีย์เรื่องแอลกอฮอล์ของนิสิตปริญญาตรีปี ๒ รหัส ๕๑

วันอาทิตย์ที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๗
 
ศุกร์ ๕ มีนาคม ๒๕๔๗ นำเสนอบอร์ดซีเนียร์โปรเจค ลานเกียร์ หน้าตึกวิศว ๓ ของนิสิตปริญญาตรีรหัส ๔๓ ก่อนสำเร็จการศึกษา

วันศุกร์ที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๘
การนำเสนอผลงานซีเนียร์โปรเจคก่อนสำเร็จการศึกษา ในวันอังคารที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๙ ที่ห้องเรียน ๑๑๗ อาคารวิศว ๑ ของนิสิตปริญญาตรีรหัส ๔๕

วันจันทร์ที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๘
อีกมุมหนึ่งของบรรยากาศการนำเสนอบอร์ดซ๊เนียร์โปรเจค ของนิสิตวิศวกรรมเคมีรหัส ๔๓ ก่อนสำเร็จการศึกษา ณ ลานหน้าตึกวิศว ๓ ที่เรียกว่าลานเกียร์ ในวันศุกร์ที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๗

วันพฤหัสบดีที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๘
วันศุกร์ที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๘ การนำเสนอบอร์ดซ๊เนียร์โปรเจค นิสิตวิศวกรรมเคมีรหัส ๔๔ ก่อนสำเร็จการศึกษา ณ ลานหน้าตึกวิศว ๓ ที่เรียกว่าลานเกียร์
 
เท่าที่ทราบ หลายต่อหลายคนหลังสำเร็จการศึกษาแล้วต่างก็กระจายไปยังที่ต่าง ๆ บ้างก็ทำงานอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล บ้างก็ทำงานอยู่ต่างจังหวัดตามนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ บ้างก็ไปปักหลักตั้งถิ่นฐานยังต่างประเทศ บ้างก็ทำงานในสถาบันการศึกษา ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น: