"อ๋อ
เกี่ยวอย่างนี้ครับ
น้ำที่พระเศียรนี้จะละลายผงฝุ่นที่ทำเลขยันต์พุทธมนต์โดยพระอาจารย์ใหญ่
สวดเจ็ดวันเจ็ดคืนแล้วกวาดผงไว้ละลายน้ำที่ว่านั่นแล้วเขียนอักขระลงที่เล่มพระแสงดาบ
เมื่อทิ้งให้แห้งดีแล้วเอาลงเข้าเตาเผาดาบจนแดง
แล้วจึงลงชุบน้ำเหลืองผีที่ใส่รางยาวไว้
ดาบแดง ๆ นั่นเอานอนลงชุบในรางน้ำเหลืองผี
จะดังฟ้อบ ส่งกลิ่นเหม็นตลบ
พอทิ้งให้เย็นแล้วน่าประหลาดที่ตัวอักขระที่เขียนไว้ด้วยผงจากเกิดเป็นตัวนูนขึ้นได้
ครั้นแล้วจะเอาลงล้างให้สะอาดด้วยน้ำในพระเศียรพระอีกที"
บทความในย่อน้ำข้างบนมาจากเรื่อง
"น้ำมันผีพราย"
บทประพันธ์ของ
เหม เวชกร ครับ
เรื่องที่ผมเห็นว่าน่าสนใจก็คือ
"การนำเหล็กที่ผ่านการเผาไฟร้อนแดงมานอนแช่ในรางที่บรรจุน้ำเหลืองผึเอาไว้"
คำถามก็คือการทำเช่นนี้มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ไหม
หรือเป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์
บ่ายวานซืน
มีสาวน้อยวิศวกรเคมีรายหนึ่งที่กำลังอยู่ระหว่างการหางานทำ
มาเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ที่ไปเจอมาตอนสอบสัมภาษณ์เข้าทำงานเป็น
process
engineer ที่บริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับปิโตรเคมีแห่งหนึ่งที่ระยอง
คำถามหนึ่งที่เขาเจอมาและไม่แน่ใจในคำตอบก็คือ
"ทำไมเวลาตีดาบจึงใช้เตาถ่าน
ไม่ใช้เตาแก๊ส"
ดูเผิน
ๆ คำถามนี้มันไม่น่าจะเกี่ยวกับงานวิศวกรรมเคมีนะครับ
แต่ผมเห็นคำตอบของคำถามดังกล่าวมันอยู่ในวิชาพื้นฐานวิศวกรรมศาสตร์ที่ทุกคนน่าจะได้เรียนมานั่นคือวิชา
"วัสดุทางวิศวกรรม"
สมัยผมเรียนนั้นเรียนวิชานี้กันตอนปี
๑ เป็นวิชาบังคับ
เนื้อหาวิชานี้มีอยู่ด้วยกันสามส่วน
ส่วนที่หนึ่งเกี่ยวกับโลหะอันได้แก่เหล็กและพวกที่ไม่ใช่เหล็ก
ส่วนที่สองเกี่ยวกับคอนกรีตและไม้ซึ่งเป็นวัสดุทางงานโยธา
และส่วนที่สามคือพอลิเมอร์หรือพลาสติกต่าง
ๆ
ส่วนคำตอบของคำถามที่เขาเจอมานั้นมันอยู่ในเรื่องการนำเหล็กไปเข้ากระบวนการทางความร้อนหรือที่เรียกว่าทำ
heat
treatment
เหล็กเป็นโลหะที่มีการใช้งานทางวิศวกรรมมากที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นเหล็กกล้าคาร์บอน
(carbon
steel) ที่ประกอบด้วยเหล็กและคาร์บอนเป็นหลัก
เหล็กกล้าประสมต่ำ (low
alloy steel) ที่มีโลหะชนิดอื่นผสมอยู่ในปริมาณต่ำ
หรือเหล็กกล้าประสมสูง (high
alloy steel) ที่มีโลหะชนิดอื่นผสมอยู่ในปริมาณสูง
เช่นเหล็กกล้าไร้สนิม
(stainless
steel)
ในที่นี้จะขอจำกัดอยู่ที่เหล็กกล้าคาร์บอน
ปริมาณคาร์บอนในเนื้อเหล็กนั้นส่งผลต่อความแข็งและความง่ายในการหลอมเหล็ก
เหล็กที่มีคาร์บอนในปริมาณมากจะมีความแข็งสูง
แต่เปราะ หลอมตัวง่าย
จึงเหมาะแก่การขึ้นรูปด้วยการหล่อขึ้นรูปในแม่แบบ
ส่วนเหล็กกล้าที่มีคาร์บอนในปริมาณต่ำกว่าจะมีความแข็งต่ำกว่า
แต่เหนียว (คือถ้ามีแรงดึงจะไม่แตกหัก
แต่จะยืดตัวออก)
สามารถขึ้นรูปด้วยการทุบ
ตี พับ ตอก รีด ให้เป็นรูปร่างต่าง
ๆ
แต่ชิ้นงานที่ใช้ในงานทางวิศวกรรมจำนวนไม่น้อยต้องการคุณสมบัติพื้นผิวที่แข็งแต่ต้องไม่เปราะ
เช่นเฟืองที่ต้องการให้พื้นผิวฟันเฟืองมีความแข็ง
จะได้ไม่สึกหรอเวลาฟันเฟืองขบกัน
แต่ลำตัวเฟืองเองนั้นต้องมีความเหนียว
จะได้ไม่แตกหักในระหว่างการใช้งาน
วิธีการผลิตเฟืองให้มีคุณสมบัติดังกล่าวทำได้ด้วยการเลือกใช้เหล็กกล้าที่มีปริมาณคาร์บอนที่เหมาะสม
(คือต้องไม่ทำให้เนื้อโลหะเปราะ)
มาทำการขึ้นรูปฟันเฟืองให้ได้ขนาดและรูปร่างตามต้องการ
จากนั้นจึงนำไปเผาหรือให้ความร้อนจนมีอุณหภูมิสูงพอ
(ปรกติก็เผาจนเหล็กร้อนแดง
และจะเผาในเตาไฟฟ้าก็ได้)
จากนั้นก็ทำให้ชิ้นงานที่กำลังร้อนแดงนั้นเย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว
ซึ่งอาจทำได้ด้วยการใช้อากาศเป่า
จุ่มลงในน้ำ น้ำมัน หรือน้ำเกลือ
ตัวกลางระบายความร้อนที่แตกต่างกันนี้ส่งผลให้ชิ้นงานมีอัตราการเย็นตัวที่แตกต่างกัน
ทำให้ได้พื้นผิวชิ้นงานที่มีความแข็งที่แตกต่างกันไปด้วย
วิธีการตามย่อหน้าข้างบนมันไม่ได้ไปเพิ่มจำนวนอะตอมคาร์บอนในเนื้อเหล็ก
มันเพียงแต่ทำให้โครงสร้างอะตอมของเนื้อโลหะมีการจัดเรียงตัวกันใหม่
ทำให้โครงสร้างบริเวณพื้นผิวที่มีการเย็นตัวลงเร็วกว่าเนื้อโลหะที่อยู่ลึกเข้าไป
เนื้อโลหะบริเวณพื้นผิวจึงกลายเป็นโครงสร้างใหม่ที่มีความแข็งขึ้น
(แต่ความเหนียวจะลดลง)
ถ้าว่ากันตามวิธีการข้างบนก็จะเห็นว่าการเอาดาบที่ผ่านการเผาจนร้อนแดงนั้นไปจุ่มให้เย็นลงในน้ำเหลืองผี
มันก็มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับอยู่
ก็คือเป็นการควบคุมอัตราการเย็นตัวของตัวดาบนั่นเอง
แต่การทำเช่นนี้ไม่น่าจะทำเพียงครั้งเดียว
น่าจะทำซ้ำหลายครั้ง
คือหลังจากจุ่มครั้งแรกแล้วก็นำไปเผาไฟใหม่จนร้อนได้ที่
จากนั้นก็นำมาจุ่มใหม่
ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ
จนกว่าช่างตีดาบจะเห็นว่าเพียงพอ
แต่ตรงนี้ผมเห็นว่ามันมีอีกประเด็นเข้ามาร่วมวงคือ
การที่น้ำเหลืองผีนั้นเป็นสารอินทรีย์
ดังนั้นมันจะมีอะตอมคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ
การทำเช่นนี้ซ้ำไปเรื่อย
ๆ จะเป็นการเพิ่มอะตอมคาร์บอนบริเวณพื้นผิวของตัวดาบ
ทำให้พื้นผิวตัวดาบมีความแข็ง
ลับให้คมได้
ในขณะที่ส่วนแกนกลางนั้นยังคงรักษาความเหนียวเอาไว้ได้
ทำให้สามารถรับแรงกระแทกได้
ไม่ต้องกลัวว่าดาบจะหัก
เหล็กที่จะนำมาตีขึ้นรูปดาบจะมีคาร์บอนมากก็คงจะไม่เหมาะ
เพราะจะทำให้ไม่สามารถตีขึ้นรูปให้มันแบนแผ่ออกไปเป็นรูปร่างตามต้องการได้
และตัวดาบเองก็ต้องมีความเหนียว
เพื่อให้ทนต่อแรงกระแทกที่เกิดจากการฟันโดยไม่แตกหัก
แต่พื้นผิวดาบนั้นต้องการความแข็งเพื่อไม่ให้ดาบสึกและรักษาความคมเอาไว้ได้
ดังนั้นจึงต้องหาทางเพิ่มคาร์บอนเข้าไปในเนื้อเหล็กที่อยู่บริเวณพื้นผิว
วิธีการหนึ่งที่ทำได้คือการเผาในเตาถ่าน
(อันที่จริงการตีเหล็กซ้ำไปมา
ก็ทำให้เหล็กแข็งขึ้นได้ในระดับหนึ่งเหมือนกัน
อันเป็นผลจากการเปลี่ยนโครงสร้าง
(work
hardening) เขาถึงบอกว่า
เหล็ก ยิ่งโดนไฟ ยิ่งตี
ยิ่งแข็ง)
ความร้อนจากการเผาจะทำให้อะตอมเหล็กแยกตัวออกห่างจากกัน
อะตอมคาร์บอนจากตัวถ่านที่สัมผัสอยู่กับเนื้อโลหะจะสามารถแพร่ซึมเข้าไปในเนื้อเหล็กได้
และเมื่อเหล็กเย็นตัวลง
อะตอมคาร์บอนก็จะถูกขังเอาไว้ระหว่างอะตอมเหล็กในโครงร่างผลึก
เป็นตัวขวางไม่ให้โครงสร้างผลึกเกิดการขยับตัวเมื่อมีแรงมากระทำ
คาร์บอนที่จะแพร่เข้าไปในเนื้อเหล็กอาจเป็นคาร์บอนที่เป็นของแข็ง
(เช่นถ่าน)
ที่สัมผัสกับเนื้อเหล็กโดยตรง
(อันนี้เป็นวิธีการดั้งเดิมที่มีมาแต่อดีต)
หรือเป็นสารประกอบที่เป็นแก๊สที่สามารถสลายตัวบนผิวเหล็กแล้วกลายเป็นคาร์บอนได้
เช่น คาร์บอนมอนออกไซด์ (CO)
และไฮโดรคาร์บอนต่าง
ๆ (เช่น
มีเทน โพรเพน)
การใช้แก๊สเป็นตัวให้คาร์บอนนี้เป็นวิธีการที่มีการพัฒนาขึ้นภายหลัง
ลองใช้คำค้นหา carburizing
หรือ
gas
carburizing process จาก
google
ดูเพิ่มเติมก็ได้
ในเตาถ่านมีทั้ง
C
จากตัวถ่านเองและ
CO
ที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่าน
แต่ในเตาแก๊สที่ใช้เปลวไฟให้ความร้อนแก่ชิ้นงานโดยตรงเหมือนกันนั้น
แก๊สเชื้อเพลิงจะเผาไหม้สมบูรณ์
ไม่มี CO
เกิดขึ้น
ก็เลยใช้เพิ่ม C
ในเนื้อเหล็กไม่ได้
และอย่าไปคาดหวังว่า
CO2
ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงจะไปเพิ่มคาร์บอนให้กับเนื้อเหล็กได้เหมือนกับการสัมผัสกับคาร์บอนโดยตรงนะครับ
CO2
เป็นโมเลกุลที่มีเสถียรภาพสูง
มันไม่สลายตัวเป็น C
ง่าย
ๆ เขาถึงใช้ CO2
เป็น
shielding
gas ในกระบวนการเชื่อมเหล็กแบบ
gas
shield arc welding
คำตอบของผมสำหรับคำถามสอบสัมภาษณ์งานดังกล่าวก็มีดังที่กล่าวมาข้างต้นนั่นแหละครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น