ฤดูร้อนปีพ.ศ. ๒๕๓๐ ผมถูกส่งไปฝึกงานที่โรงกลั่นน้ำมันของกรมการพลังงานทหาร ณ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ การเดินทางสมัยนั้นก็คล้ายกับสมัยนี้ คือนั่งรถทัวร์จากกรุงเทพตอนกลางคืนไปถึงเชียงใหม่ในตอนเช้า จากนั้นก็ต่อรถบัสจากท่ารถทัวร์ไปจนถึง อ.ฝาง ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร ก็นั่งรถบัสซะ 4 ชั่วโมง
พวกผมไปฝึกงานกันทั้งหมด 10 คน เป็นจากวิศวเคมีซะ 7 คนและปิโตรเลียม 3 คน ช่วงหนึ่งก็มีพวกสำรวจที่ไปฝึกงานกับเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ที่ทำแผนที่รังวัดด้วยเทคนิค GPS (สมัยนั้นเป็นเรื่องใหม่ทันสมัยเลย เพราะพวกเรียนสำรวจยังต้องเรียนดูดาวกันอยู่เลย ไปอยู่กัน 10 คนก็เหมารถสองแถวได้พอดี 1 คัน พวกผมก็นั่งหลังกันหมด 10 คน ส่วนที่นั่งข้างหน้าที่ว่างอยู่ 2 ที่ (ข้างคนขับ) นั้นก็เป็นที่นั่งของสาวเหนือนิสัยดี 2 คนที่เป็นแม่ค้าขายข้าวแกงอยู่หน้าโรงกลั่น ประเภทว่าต้องออกมากินข้าวเช้าและข้าวเที่ยงร้านนี้ทุกวันทำงาน (เพราะมันไม่มีที่อื่นให้ไป) ก็เลยถือโอกาส "ผูกมิตร" (หรือจะเรียกว่า "จีบ" ก็แล้วแต่) กับแม่ค้าซะเลย พอวันหยุดเสาร์-อาทิตย์คิดจะไปเที่ยวเชียงรายกัน ก็เลยชวนเขาไปด้วยโดยทางเราเป็นคนออกค่าใช้จ่ายให้ (เฉลี่ยกัน) วางแผนแบบไปเช้ากลับเย็น
ทางแยกเข้าโรงกลั่นน้ำมันจะอยู่ก่อนถึงตัว อ.ฝาง ประมาณ 10 กิโลเมตร และต้องแยกออกไปจากถนนหลัก (ทางหลวงแผ่นดินสาย 107) ไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร ถนนช่วงแยกนี้เป็นถนนลาดยาง ก็ลาดยางมาแค่ตัวโรงกลั่น ส่วนที่เลยโรงกลั่นออกไปเป็นถนนลูกรัง เส้นทางบนเขา สมัยนั้นเป็นถนนที่รถวิ่งผ่านได้บางฤดูกาล เป็นระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตรก็จะไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินสาย 109 ที่ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เส้นทางนี้เป็นทางลัดที่สามารถย่นระยะการเดินทางจาก อ.ฝาง ไป จ.เชียงรายได้มาก สามารถออกจากฝางแต่เช้าไปเที่ยวที่ชายแดนแม่สาย แล้วกลับมานอนที่ฝางตอนเย็นได้ แต่คนขับรถนั้นต้องมีฝีมือและใจถึงหน่อย เท่าที่จำได้คือเส้นทางสายนี้บางช่วงรถไม่สามารถสวนทางกันได้ ข้างทางบางช่วงยังเป็นเหว อีกด้านหนึ่งเป็นภูเขา ไม่มีที่ให้หลบหลีก แต่ที่รถวิ่งไปมากันได้ก็เพราะแทบจะไม่มีรถวิ่งกันเลย แทบไม่มีคนอยู่อาศัย แต่ก่อนบริเวณนั้นมีถนนเชื่อมต่อบริเวณไหนบ้าง และเป็นพื้นผิวจราจรแบบไหนก็ดูเอาเองในรูปที่ 1 แต่ในปัจจุบันเส้นทางดังกล่าวคือทางหลวงแผ่นดินสาย 109 เชื่อมระหว่าง อ.ฝาง กับ อ.แม่สรวย และตัดผ่านอุทยานแห่งชาติดอยเวียงผาและมีรีสอร์ทไปเปิดแล้วด้วย
จากแยกเข้าโรงกลั่นเลยไปทาง อ.ฝาง จะต่อไปยัง อ.แม่อาย สมัยนั้นยังเป็นเขตอิทธิพลของจีนฮ่อเชื้อสายของกองพล 93 ที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ตอนที่พรรคคอมมิวนิสต์ชนะการรบและได้ปกครองประเทศจีน ยังเป็นเขตที่มีการค้ายาเสพติดกันอยู่ พวกผมเป็นคนต่างถิ่นพอไปถึงก็มีการเตือนกันไว้ว่าอย่านึกคะนองไปจีบสาวแถวนั่นเล่น เดี๋ยวจะเกิดเรื่องได้ ช่วงจังหวะสิ้นปีพ.ศ. ๒๕๓๐ ถึงขึ้นปีใหม่พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้มีโอกาสไปแข่งกีฬา 8 เกียร์ (ตอนนั้นวิศวมีแค่ 8 สถาบัน) ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ ก็เลยได้กลับไปที่นั่นอีกครั้ง และได้นั่งรถเที่ยวจาก อ.แม่อาย ผ่านเส้นทางถนนลูกรังและทางที่รถเดินได้บางฤดูกาล ไปโผล่ที่ถนนสาย 1089 ใกล้ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ถนนบางช่วงนั้นเป็นทางลงเนินที่ลาดชันชนิดที่เรียกว่าคนขับต้องหยุดรถกระทันหันเพราะมองไม่เห็นพื้นถนนข้างหน้า แบบว่ามองเลยฝากระโปรงหน้าออกไปไม่เห็นพื้นถนน เห็นแต่พื้นดินที่อยู่ต่ำลงไป ขับ ๆ มาดี ๆ เจอแบบนี้เข้าก็ต้องนึกว่าทางขาดเอาไว้ก่อน แต่ตอนนี้เห็นมีรีสอร์ทไปเปิดหลายแหล่งแล้ว ช่วงที่ไปแข่งกีฬานั้นก็ได้ไปเที่ยวดอยอ่างขางด้วย นั่งรถแวน 11 ที่นั่งไปกัน 10 คน จำได้อย่างเดียวว่าไปตามทางลูกรังไปตลอดทาง ไปถึงที่นั่นก็หาที่พักค้างกันคืนหนึ่ง พวกผู้หญิงก็ให้นอนในที่พัก ส่วนพวกผู้ชายส่วนหนึ่งก็อยู่เฝ้าห้องพักให้กับพวกผู้หญิง ส่วนที่เหลืออีก 3 คน (มีผมด้วย) ต้องมานอนในรถเพราะที่พักมีไม่พอ
ช่วงที่ไปแข่งกีฬานั้นก็ได้มีโอกาสไปดูทะเลหมอกที่ห้วยน้ำดังด้วย ตอนนั้นห้วยน้ำดังมันอยู่ไหนก็ไม่รู้หรอก รู้แต่ว่ารุ่นพี่มาชวนและต้องนั่งรถออกจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตอนตีสองหรือตีสาม ก็นั่งหลับรับลมหนาวอยู่ท้ายรถสองแถวไปตลอดทาง ไปตื่นเอาตอนถึงห้วยน้ำดังแล้ว ดูทะเลหมอกเสร็จก็นั่งรถกลับกัน ก็หลับกันอีก ผมได้ขับรถผ่านห้วยน้ำดังอีกครั้งห่างจากครั้งแรกร่วม 20 ปี กลับไปดูแผนที่สมัยนั้น (พ.ศ. ๒๕๓๐) ก็เห็นว่ามีถนนลาดยางไปแค่ อ.ปาย เท่านั้นเอง ถัดจาก อ.ปาย ไป จ.แม่ฮ่องสอน ยังเป็นถนนที่รถเดินได้บางฤดูกาลเท่านั้น แผนที่ทางหลวงฉบับปีพ.ศ.๒๕๓๙ (จัดทำโดย Esso เช่นเดียวกัน) ก็ระบุแล้วว่าเป็นถนนลาดยางหมดทั้งเส้นแล้ว และครั้งหลังสุดที่ไปนั้นเป็นถนนลาดยางอย่างดีเกือบตลอดเส้นทาง มีการขยายไหล่ทางและมีทางโค้งมากกว่า 2,000 โค้ง แต่ความสะดวกในการเดินทางก็แลกกับธรรมชาติที่หายไป ทำให้นึกถึงถนนเพชรเกษมช่วงที่เชื่อมต่อระหว่าง จ.พัทลุง กับ จ.ตรัง ซึ่งในอดีตนั้นเขาเรียกกันว่าถนนสาย "เขาพับผ้า" เพราะถนนคดเคี้ยวมาก แต่ก็เป็นถนนที่สวยมาก จำได้ว่าตอนเด็ก ๆ เคยนั่งรถผ่านถนนเส้นนี้ ไหล่ทางฝั่งหนึ่งลึกชันลงไปมีลำธารน้ำไหลเลียบ อีกฝั่งหนึ่งก็เป็นผนังกำแพงภูเขา ตอนนั้นต้นไม้ตามป่าแถวนั้นยังเยอะ เพราะยังมีการรบพุ่งกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอยู่ และบริเวณนั้นก็เป็นพื้นที่สีชมพูหรือไม่ก็สีแดงซะด้วย (พื้นที่สีชมพูคือเขตแทรกซึมของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ถ้าเป็นพื้นที่สีแดงจะหมายถึงเขตอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์ จะเรียกว่าอยู่นอกเหนืออำนาจรัฐก็ได้) แต่ในปัจจุบันเหลือเป็นแต่เพียงตำนานเล่าขานเท่านั้น
ปัจจุบันเส้นทางการเดินทางในเส้นทางภาคเหนือดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างพวกคุณก็คงค้นดูได้จากแผนที่ต่าง ๆ ทางอินเทอร์เน็ต ผมแนบแผนที่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ และ ๒๕๓๙ มาให้ก็เพื่อให้พวกคุณได้เห็นการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
รูปที่ 1 แผนที่ภาคเหนือบริเวณ อ. ฝาง จ. เชียงใหม่ จากแผนที่ทางหลวงจัดทำโดย Esso ปีพ.ศ. 2530
กลับมายังเรื่องฝึกงานอีกครั้ง ตอนที่ไปถึงนั้นได้ไปเช่าบ้านพักอยู่ร่วมกัน 10 คน บ้านพักนั้นอยู่บนทางหลวงหลักก่อนถึงทางแยกเข้าโรงกลั่นน้ำมัน ด้านหน้านั้นเป็นปั๊มน้ำมัน (ดูเหมือนจะเป็นปั๊มเชลล์) ด้านหลังปั๊มเป็นสวนลิ้นจี่หรือสวนลำไยก็จำไม่ได้แล้ว รู้แต่ว่าใบดกและแม้แต่เวลากลางวันก็ยังร่มรื่นทั้งวัน บ้านพักนั้นจะอยู่ท้ายสวนดังกล่าวและสุดสวนนั้นจะเป็นทุ่งนา ระดับพื้นของทุ่งนานั้นอยู่ต่ำกว่าระดับสวน ดังนั้นเมื่อเข้าบ้านทางด้านสวน ด้านที่อยู่ทางด้านสวนนั้นจะอยู่ระดับพื้นดิน และจะกลายเป็นชั้นสองเมื่อโผล่ออกไปทางด้านทุ่งนา ห้องนอนนั้นอยู่ชั้นบน ส่วนห้องน้ำนั้นอยู่ชั้นล่าง ตัวบ้านครึ่งล่างเป็นคอนกรีตส่วนชั้นบนเป็นไม้ ทั้งไม้ฝาและไม้พื้นนั้นเป็นไม้แผ่นขนาดใหญ่ กว้างสักประมาณ 2 ฟุตได้ แสดงว่าเจ้าของบ้านต้องมีเงินอยู่เหมือนกันถึงหาไม้อย่างนี้มาสร้างบ้านได้ เวลากลับบ้านก็ต้องเข้าทางปั๊มน้ำมัน เดินตัดสวนไปยังท้ายสวน (น่าจะสักเกือบ 100 เมตรเห็นจะได้) ตอนกลางคืนนี่ต้องใช้ไฟฉายช่วยส่องทางเดิน
รูปที่ 2 แผนที่ภาคเหนือบริเวณ อ. ฝาง จ. เชียงใหม่ จากแผนที่ทางหลวงจัดทำโดย Esso ปีพ.ศ. 2539
ชีวิตการฝึกงานช่วงนั้นตื่นเช้าก็นั่งรถไปกินข้าวเช้าที่หน้าโรงกลั่น เสร็จจากฝึกงานก็เอาของเข้าเก็บในบ้าน และไปเตะฟุตบอลกันที่สนามหน้าวัดกับวัยรุ่นแถวนั้น เตะบอลเสร็จก็มากินข้าวกันที่ร้านอาหารตามสั่งอยู่ใกล้กับปั๊มน้ำมัน เรียกว่าผูกท้องไว้กับเจ๊ร้านนี้เลยก็ได้ เลยปั๊มน้ำนันไปหน่อยจะมีบ้านที่มีโทรศัพท์ที่ใช้โทรทางไกลได้ บางวันคิดจะโทรศัพท์กลับบ้านกันก็จะเดินไปที่บ้านหลังนั้นหลังกินข้าวเสร็จ เวลาจะโทรศัพท์กลับบ้านแต่ละทีก็ต้องไปนั่งต่อคิวรอกันที่นั่น ต้องรอเวลาค่ำ ๆ ด้วยเพราะค่าโทรจะถูกกว่าโทรตอนกลางวัน จะมีคนต่อสายและคอยจับเวลา และชำระค่าโทรตามเวลาที่พูด ไม่เหมือนสมัยนี้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือคุยกันได้ทุกที่ติดต่อกันได้ทั้งประเทศ
เนื่องจากไปอยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ และพวกที่ไปฝึกงานด้วยกันนั้นแม้ว่าจะจบมาจากต่างสถาบันกันหรือจะอยู่ต่างภาควิชากัน แต่จากการรับน้องและการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมกันก็เลยทำให้สนิทกันมาก ก็เลยดูเหมือนว่าอยู่อย่างสนุกกันไปวัน ๆ กินข้าวเย็นแต่ละมื้อก็มีเรื่องคุยกันเฮฮาไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง (ก่อนสงกรานต์) เจ๊เจ้าของร้านข้าวแกงที่เราไปฝากกระเพาะกินข้าวเย็นนั้นคงทนไม่ไหว แกก็เลยเดินมาพวกผมที่โต๊ะโดยตรงว่า
"น้อง น้อง พี่ถามตามตรงเถอะ อยู่บ้านนั้นน่ะไม่เคยเจออะไรบ้างเลยหรือไง"
เท่านั้นเองแหละเสียงคุยเฮฮาทั้งโต๊ะก็เงียบกริบทันที และก็มีคนตอบว่าก็ไม่เห็นมีอะไร แล้วเจ๊แกก็เดินจากไป
พวกผมได้แต่มองหน้ากันและถามกันว่ามันมีเรื่องอะไรหรือ (แต่ก็พอจะเดากันได้ในใจแล้ว) แล้วเพื่อนคนหนึ่ง (ตอนนี้ทำงานอยู่สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ) มันก็พูดขึ้นมาว่า
"กูรู้มาตั้งนานแล้ว แต่ไม่อยากบอกพวกมึง กลัวพวกมึงขวัญเสีย"
จากนั้นจึงได้รู้ความจริงว่า บ้านที่พวกผมไปอยู่นั้น เจ้าของที่สร้างบ้านหลังนั้นเขารักบ้านหลังนั้นมาก แต่สร้างเสร็จได้ไม่ถึงปีเขาก็ถูกฆ่าตาย ศพก็นำมาทำพิธีที่บ้านนั้น จากนั้นบ้านนั้นก็เปิดให้คนเช่า คนที่เคยเช่าอยู่ก่อนหน้านั้นก็เคยโดนดีเข้าไปแล้ว (ไม่รู้เหมือนกันว่าโดนอะไรแบบไหน) และหลังจากที่พวกผมฝึกงานเสร็จสิ้นและจากบ้านนั้นมาแล้ว เพื่อนบางคนก็ยังมีการติดต่อกับคนที่นั่นอยู่ ก็ได้ทราบว่าพวกที่เข้าไปพักหลังจากพวกผมก็โดนดีไปเหมือนกัน (ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าโดนอะไรแบบไหน) แต่ช่วงที่พวกผมอยู่ตลอดสองเดือนนั้นไม่พบกับอะไรเลย แต่หลังจากข้าวเย็นมื้อนั้น พวกเราทั้ง 10 คนก็รักกันมาก จะออกจากบ้านไปไหนแต่ละครั้งต้องไปพร้อมกันทุกคน และถ้าจะกลับก็ต้องกลับพร้อมกันทุกคน ไม่มีทิ้งกัน
ตอนวันแรกที่ไปถึงเชียงใหม่นั้น มีเพื่อนคนหนึ่งแวะไปซื้อธูปเทียนก่อนที่จะขึ้นรถต่อไปยัง อ.ฝาง พอคืนแรกก่อนที่เราจะเข้านอนกัน มันก็เรียกทุกคนให้มารวมกันหน้าบ้าน และให้ทุกคนจุดธูปเทียนบอกเจ้าที่เจ้าทางว่าจะมาขออาศัยอยู่ ขอให้ช่วยคุ้มครองด้วย พอเล่าเรื่องนี้ให้อาจารย์ที่ขึ้นไปตรวจนิสิตฝึกงานฟัง แกก็บอกว่านั่นเป็นเพราะสิ่งที่พวกคุณทำในคืนแรกที่เข้าพัก
ช่วงสงกรานต์ก็ยกพวกลงมาเที่ยวกันที่เชียงใหม่ ที่พักก็ไม่ได้มีการจองอะไรกันใช้วิธีเดินถามตามบ้านว่ามีบ้านไหนว่างและเปิดให้พักบ้าง ตอนออกมาเล่นน้ำในตัวเมืองก็มีแค่ขันคนละใบ เห็นคนเขานั่งท้ายรถปิคอัปบรรทุกถังน้ำอยู่ท้ายรถเที่ยวสาดน้ำกันก็อยากเล่นบ้าง แต่ไม่รู้ว่าจะทำยังไงดี บังเอิญมีผ่านมาคันหนึ่งมีผู้หญิงนั่งท้ายมาเพียงคนเดียว เพื่อนในกลุ่มคนหนึ่งก็ใช้ความใจกล้าเข้าไปขอร่วมวงนั่งท้ายรถไปด้วย เขาก็ใจดีนะให้พวกเราผู้ชายร่วม 10 คนเข้าไปอยู่สาดน้ำท้ายรถร่วมกับเขา (คนขับรถเป็นพี่ชายเขา) พอตกเย็นก็มีการขอบคุณและแยกย้ายกันไป
อยู่ได้สองคืนผมชักจะมีอาการจะเป็นไข้ชักอยากจะกลับไปพักผ่อนแล้ว แต่เพื่อนในกลุ่มยังอยากสนุกกันต่อและไปต่อกันที่อื่น งานนี้ก็เลยได้เรื่อง กลายเป็นว่าผมขอตัวกลับมายังบ้านพักที่ฝางก่อนคนเดียว (ตอนนั้นนึกยังไงก็ไม่รู้) กลับมาถึงก็รีบกินข้าวเย็นและจัดการธุระต่าง ๆ ให้เสร็จก่อนค่ำ ปิดหน้าต่างหมดแล้วรีบเข้านอนแต่หัวค่ำเลย กะว่าตื่นอีกทีก็สว่าง ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นก็คงไม่โผล่ออกมาจากผ้าห่ม
เย็นวันถัดมาเพื่อนฝูงก็กลับมาจากเที่ยงตัวจังหวัดเชียงใหม่กัน มันยังชมผมเลยว่ากล้าจริง ๆ ที่มานอนเฝ้าบ้านนี้คนเดียวได้ (ก็มันไม่มีทางเลือกนี่หว่า)
อีกไม่นานพวกคุณบางส่วนก็คงต้องไปฝึกงาน ไปหาที่พักอยู่ใหม่กัน บางส่วนก็คงจบไปทำงาน ต้องไปอยู่ในที่พักแห่งใหม่ ส่วนใครจะเลือกที่พักแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน หวังว่าคงจะได้ที่พักที่สามารถพักผ่อนได้อย่างสงบกันนะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น