วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

ถ่านแก๊ส หินแก๊ส แก๊สก้อน MO Memoir : Friday 19 April 2556

วันก่อนวันสงกรานต์มีเหตุอันต้องนำรถเข้าเปลี่ยนคอยล์เย็นแอร์ เนื่องจากมันรั่วจนน้ำยาแอร์ไม่เหลือ พอซ่อมแอร์เสร็จก็เลยถือโอกาสเปลี่ยนท่อไอเสียที่มันผุกับร้านที่อยู่ติดกัน ตอนแรกว่าจะเก็บท่อไอเสียเอาไว้ทำทีหลัง แต่พอเห็นรอยรั่วท่ีทำให้แก๊สไอเสียร้อน ๆ ที่พุ่งออกมานั้นพุ่งตรงไปที่ถังน้ำมันใต้ตัวรถ ก็เลยต้องตัดสินใจเปลี่ยนทันที เพราะกำลังจะเอารถไปวิ่งทางไกล
  
ในการเปลี่ยนท่อไอเสียนั้น ช่างจะต้องตัดเอาท่อไอเสียเก่าที่ผุออกมาจากใต้ท้องรถก่อน ถ้าตัวหม้อพักยังดีอยู่ก็จะตัดเอาท่อที่ผุออกจากหม้อพัก จากนั้นจะนำท่อเหล็กใหม่ที่เป็นท่อตรงมาดัดให้เข้ารูปตามท่อไอเสียเดิม แล้วทำการประกอบกลับเข้าไป การตัดท่อเก่าออกก็จะใช้แก๊สตัด และการเชื่อมต่อท่อใหม่ก็จะใช้การเชื่อมแก๊สเช่นเดียวกัน จะไม่ใช้การเชื่อมไฟฟ้า
  
รูปที่ ๑ ถังเก็บแก๊สอะเซทิลีนที่ผลิตจากหินแก๊ส
  
ระบบไฟฟ้าของรถยนต์นั้นจะต่อขั้วลบของแบตเตอรี่ไปยังตัวถังรถ และเดินสายขั้วบวกไปยังอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ในการเชื่อมไฟฟ้า (ไม่ว่าจะกระแสตรงหรือกระแสสลับ) เราจะต้องต่อขั้วไฟฟ้าขั้วหนึ่งเข้ากับชิ้นงาน (ในที่นี้คือท่อไอเสีย) และอีกขั้วหนึ่งเข้ากับลวดเชื่อม ซึ่งการต่อวงจรไฟฟ้าดังกล่าวจะไปก่อปัญหาให้กับระบบไฟฟ้าของรถยนต์ได้ (ไฟฟ้าจากเครื่องเชื่อมมันแรงกว่าไฟแบตเตอรี่) ด้วยเหตุนี้ช่างทำท่อไอเสียจึงใช้การเชื่อมแก๊ส
  
แก๊สที่ช่างทำท่อไอเสียใช้จะเป็นแก๊สอะเซทิลีน ใช้ทั้งเชื่อมและตัด บางร้านเห็นสั่งอะเซทิลีนบรรจุถังมาเรียบร้อย (ละลายมาในอะซีโตน) แต่ก็ยังมีร้านที่ใช้การผลิตอะเซทิลีนเองจากปฏิกิริยาระหว่าง "หินแก๊ส" กับน้ำ หินแก๊สในที่นี้ก็คือแคลเซียมคาร์ไบด์ (calcium carbide - CaC2) ที่เตรียมได้จากการเผา CaO (หรือ CaCO3 ที่จะสลายตัวที่อุณหภูมิสูงกลายเป็น CaO) กับถ่าน coke (ก็คือ carbon นั่นแหละ) บางทีก็เรียกว่า "แก๊สก้อน" หรือ "ถ่านแก๊ส" บ้าง ตัวหินแก๊สนี้พอเจอน้ำก็จะทำปฏิกิริยาเกิดแก๊สอะเซทิลีนออกมา ส่วนตัวหินแก๊สก็จะกลายเป็น Ca(OH)2 ไป
  
รูปที่ ๑ ในหน้าแรกเป็นถังเก็บอะเซทิลีนที่ได้จากปฏิกิริยาระหว่างหินแก๊สกับน้ำ ช่างจะเอาหินแก๊สใส่ถาด (รูปร่างเป็นถาดสี่เหลี่ยมยาวขอบสูง เหมือนขวดน้ำดื่ม 1.5 ลิตรทรงสี่เหลี่ยมที่ผ่าครึ่งตามยาว) แล้วเติมน้ำลงไปในถาด จากนั้นก็จะรีบเอาถาดหินแก๊สที่เติมน้ำแล้วใส่เข้าไปในถังทางช่องใส่ และรีบปิดช่องดังกล่าว แก๊สที่เกิดขึ้นก็จะถูกเก็บอยู่ในถังพร้อมนำไปใช้งาน ถ้าความดันแก๊สลดต่ำลงก็เปิดฝาและเติมน้ำเข้าไป ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนหินแก๊สหมดสภาพ ก็นำออกมาเททิ้ง หน้าตาหินแก๊สที่หมดสภาพแล้วที่ช่างเอามาเททิ้งในถังขยะดูได้ในรูปที่ ๒ ข้างล่าง


รูปที่ ๒ หินแก๊สที่หมดสภาพแล้ว ช่างเอามาเททิ้งในถังขยะ

ช่วงที่น่าหวาดเสียวที่สุดน่าจะเป็นตอนที่ช่างเชื่อมทำการเชื่อมต่อท่อไอเสียตรงบริเวณใกล้ถังน้ำมัน ตอนนั้นช่างต้องใช้วิธีการเอาแผ่นเหล็กมาบังถังน้ำมันเอาไว้ ไม่ให้ความร้อนจากเปลวไฟไปถึงถังน้ำมันได้ เชื่อมแก๊สนี่มันก็ดีอยู่อย่างตรงที่แสงสว่างจากเปลวแก๊สมันไม่แสบตาเหมือนอาร์คจากการเชื่อมไฟฟ้า เชื่อมไฟฟ้าให้แสงสว่างที่น่ารำคาญกว่าเยอะ

ไม่มีความคิดเห็น: