วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558

ภาพบันทึกชีวิตบัณฑิตศึกษา ๓๑-๔๐ MO Memoir : Tuesday 1 September 2558

ชีวิตนิสิตบัณฑิตศึกษามันมีอยู่หลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การนำเสนอผลงาน การสอบ การทำกิจกรรม การใช้ชีวิต ฯลฯ ก็เลยพยายามคัดเลือกภาพในมุมต่าง ๆ กันมาให้ชมกัน โดยให้ภาพนั้นเป็นตัวบอกเล่าเรื่องราวของมันเอง ผมทำเพียงแค่บอกว่าภาพนี้ถ่ายเอาไว้เมื่อใดในเหตุการณ์ใดเท่านั้น บางภาพก็มีภาพตัวผมปรากฏอยู่ บางภาพก็เป็นภาพของนิสิตในที่ปรึกษา บางภาพก็เป็นภาพของนิสิตที่ทำงานอยู่ในห้องปฏิบัติการวิจัยเดียวกัน

ภาพชุดนี้ก็เป็นภาพอีกชุดหนึ่งที่เก็บสะสมไว้ โดยเลือกเอาภาพตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ (อันที่จริงก็มีไม่กี่ภาพ) ลงสลับกับภาพที่ถ่ายเมื่อไม่นานนี้ และเช่นเดิม วันที่ปรากฏเหนือภาพคือวันที่เอาภาพดังกล่าวลง blog และที่อยู่ข้างใต้คือวันที่ได้ทำการบันทึกภาพและคำบรรยาย บรรยากาศชีวิตนิสิตบัณฑิตศึกษาเป็นอย่างไรกันบ้างก็เชิญชมกันเองก็แล้วกันครับ

วันเสาร์ที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘
กรกฎาคม ๒๕๔๑ นิสิตปริญญาโทของภาควิชาวิศวกรรมเคมี ถ่ายรูปร่วมกับอาจารย์ก่อนเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร
  
วันอังคารที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘
วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๓ สมาชิกกลุ่มวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยาโลหะออกไซด์ ขณะแวะพักผ่อนบนดอยอินทนนท์ ภายหลังจากเสร็จสิ้นการนำเสนอผลงานที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่
  
วันอาทิตย์ที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๘
วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ นิสิตปริญญาโทห้องปฏิบัติการวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยา ระหว่างทำการทดลอง
  
วันพุธที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๘
วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๕ บรรยากาศการสอบของนิสิตปริญญาโทระหว่างการสอบกลางภาคในภาคการศึกษาปลาย ที่ห้องเรียนอาคารเรียน วิศว ๓
  
วันอาทิตย์ที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๘
วันอังคารที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๘ นิสิตปริญญาโทกลุ่มวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยาโลหะออกไซด์ระหว่างหลบมานั่งเตรียมตัวอย่างอยู่คนเดียวเงียบ ๆ
  
วันพฤหัสบดีที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๘
วันอังคารที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ นิสิตปริญญาโท (สองคนกลาง) ขณะรับฟังการใช้เครื่องมือวัดค่าการนำความร้อนจากครูปฏิบัติการ เพื่อเตรียมตัวเป็นผู้ช่วยสอนในวิชา Lab Unit Operation ของนิสิตปริญญาตรี 
   
วันจันทร์ที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๘
วันศุกร์ที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๕ นิสิตป.โท กลุ่มวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยาโลหะออกไซด์ ร่วมกิจกรรมยิงปืนของกลุ่ม ณ สนามยิงปืนกรมการรักษาดินแดน สวนเจ้าเชษฐ์
  
วันอาทิตย์ที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๘
วันพุธที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๔ Electron Capture Detector (ECD) (ตัวที่อยู่ข้างหน้าทางขวา) ที่ใช้ในการตรวจวัด NO และ Pulse Discharge Detector (PDD) (ตัวที่อยู่ข้างหลัง ECD) ที่ใช้ในการตรวจวัด NH3 ของเครื่อง Shimadzu GC-2014 ทางด้านล่างซ้ายคือ Injector port แต่ไม่ได้ต่อตรงอยู่กับคอลัมน์ (ใช้การฉีดตัวอย่างผ่าน sampling valve) เรื่องราวของการ set up ระบบนี้อยู่ในบทความชุด GC-2014 ECD & PDD
  
วันจันทร์ที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๘
วันพุธที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๕ นิสิตป.โท ของกลุ่มวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยาโลหะออกไซด์ ขณะนั่งรับฟังเพื่อนร่วมรุ่นสอบห้วข้อวิทยานิพนธ์ในช่วงเช้า ที่ห้องประชุมของภาควิศว อาคารวิศวกรรมศาสตร์ ๔ ชั้น ๑๐
  
วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๘
วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ เลขานุการประจำแลปขณะปฏิบัติหน้าที่

พักหลัง ๆ เวลาที่คุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนิสิตบัณฑิตศึกษาหลายรายเกี่ยวกับการค้นบทความวิชาการ (ที่เรียกว่า paper) ว่าควรจะค้นย้อนหลังไปไกลเท่าไรดี มักจะพบว่าเขาจะเน้นไปที่บทความใหม่ ๆ หรือไม่ก็ย้อนหลังไปไม่เกิน ๑๐ ปี จะได้รู้ว่าขณะนี้มีความก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว
   
ส่วนตัวผมเองนั้นตอนที่ไปเรียนหนังสือต่างประเทศ คำถามหนึ่งที่อาจารย์ที่ปรึกษาถามก็คือ "เคยไปอ่านบทความต้นฉบับที่เขาเป็นผู้เสนอทฤษฎีหรือยัง" ผมเห็นว่าประเด็นการสืบค้นย้อนหลังไปจนถึงต้นตอของแนวความคิดนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจและควรนำไปปฏิบัติ เพราะผมเองก็ได้ประโยชน์จากตรงนี้มามาก เวลาสอนหนังสือก็มักจะแนะนำผู้เรียนให้ทำดังกล่าวด้วย เพราะมันทำให้เรามองเห็นภาพว่าเดิมทีนี้ความคิดดั้งเดิมเขาต้องการบรรลุวัตถุประสงค์อะไร และการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้นั้นมันมีแนวทางอะไรทำได้บ้าง ในกรณีที่มันมีหลายแนวทาง มันมีเงื่อนไขอะไรบ้างที่ทำให้แนวทางใดแนวทางหนึ่งโดดเด่นกว่าแนวทางอื่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป

และด้วยการศึกษาเช่นนี้ก็ทำให้หลายครั้งเหมือนกันที่ทำให้สามารถทำนายผลล่วงหน้าได้ว่าสุดท้ายงานวิจัยนั้นที่กำลังฮิตทำกันนั้นคงไปได้ไม่ไกลเท่าใดนักหรอก

ไม่มีความคิดเห็น: