วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ในซอกเล็ก ๆ ของลิ้นชักความทรงจำ MO Memoir : Wednesday 20 May 2558

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสวันครู มีคลิปวิดิโอโฆษณาชิ้นหนึ่ง ความยาวตลอดทั้งเรื่องประมาณ ๑๐ นาที ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถที่จะออกอากาศทางโทรทัศน์ได้ในครั้งเดียว คลิปวิดิโอนั้นมีชื่อว่า "อาจารย์ใหญ่ ครูผู้ให้ - The Everlasting Teacher"
   
บ่ายวันวาน ผมได้มีโอกาสได้ชมโฆษณาชิ้นนี้เต็มตลอดทั้งเรื่องอีกครั้ง ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่มีท่อนหนึ่งที่ผมประทับใจมาก คือท่อนที่เป็นข้อความในจดหมายที่กล่าวเอาไว้ว่า

".... ที่แรกที่คนตายจะเดินทางไปถึง คือการได้เข้าไปในความทรงจำของใครสักคน แต่จะเป็นความทรงจำที่ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราปฏิบัติกับคน ๆ นั้น ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ....."
  

-------------------------------

"อาจารย์ อย่าเพิ่งไป ขอพูดอะไรด้วยหน่อย"

เขาเรียกผมเมื่อผมกำลังจะเคลื่อนรถออกไป หลังจากรับบัตรเข้าที่จอดรถจากเขา

"มีอะไรหรือครับ" ผมถามเขา

"ขอบคุณอาจารย์มากเลยค่ะ"

ประโยคนี้ของเขาทำเอาผมงง เขาจำผิดคนหรือเปล่า ก็ผมไม่เคยไปช่วยอะไรเขาเลย เจอหน้ากันก็ตอนรับบัตรเข้าอาคารจอดรถ หรือไม่ก็ตอนคืนบัตรเมื่อออกจากอาคารจอดรถ

"เรื่องที่อาจารย์เปิดกระจกรถลงจนสุด และกล่าวทักทายทุกครั้งที่เจอ"

-------------------------------

เมื่อปี ๒๕๓๗ เมื่อผมกลับมาทำงานใหม่ ๆ ต้องเข้ารับการอบรมบุคคลากรใหม่ อาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เคยทำหน้าที่เป็นผู้บริหารมหาวิยาลัยให้ข้อคิดว่า ทุกคนในหน่วยงานต่างมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ การปฏิบัติหน้าที่ของเขาก็เพื่อให้กิจกรรมต่าง ๆ มันเดินไปตามที่มันควรเป็น เมื่อเขาปฏิบัติหน้าที่ตามที่เขาได้รับมอบหมาย เราก็ต้องเคารพและให้เกียรติต่อการทำหน้าที่ของเขา แม้กระทั่งยามที่ทำหน้าที่แจก-รับบัตรให้กับรถที่วิ่งผ่านเข้า-ออกมหาวิทยาลัย (แต่ก่อนจะมีการแจก-รับบัตรให้กับรถที่ผ่านเข้าออกมหาวิทยาลัย แต่เพิ่งจะเลิกไปหลังการชุมนุมใหญ่ปี ๒๕๕๖) คนจำนวนไม่น้อยที่ขับรถผ่าน ทำเพียงแค่ลดกระจกลงเพียงนิดเดียวเพียงแค่ให้สอดบัตรผ่านได้ ทำเหมือนกับเขาไม่มีตัวตนในสังคม

-------------------------------

"อาจารย์จะไม่ดู portfolio ของผมหน่อยหรือครับ"
   
เป็นคำถามที่ผมได้ยินเป็นประจำเวลาสอบสัมภาษณ์นักเรียนที่สอบผ่านข้อเขียนเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย เขาคงแปลกใจที่กรรมการสอบไม่ได้แสดงความสนใจใน porfolio รวบรวมผลงานของเขาเลย ทั้ง ๆ ที่เขาอุตส่าห์เตรียมมาเป็นอย่างดี (ตามความคิดของเขา)
  
นักเรียนที่ถามคำถามอย่างนี้มักจะโดนกรรมการถามคำถามกลับ และสิ่งที่เขาแสดงออกเมื่อได้ยินคำถามนั้นมันก็บอกอะไรต่อมิอะไรได้หลายอย่าง คำถามนั้นก็คือ
  
"ถามจริง ๆ เถอะ ถ้าทำแล้วไม่ได้ใบประกาศ จะทำไหม"

-------------------------------

"หนูเข้าใจคำพูดที่อาจารย์บอกไว้เมื่อ ๒ ปีที่แล้วแล้วค่ะ" นิสิตหญิงปริญญาโทปีสองกว่าผู้หนึ่งบอกกับผม
  
เมื่อสองปีก่อนหน้านั้น เมื่อเขากำลังจะจบการศึกษาระดับปริญญาตรี และกำลังคิดจะมาเรียนต่อระดับปริญญาโทที่ภาควิชา เขาได้มาคุยกับผมเรื่องเรียนต่อ สิ่งหนึ่งที่ผมบอกเขาไปก็คือ
  
"เรื่องความรู้ความสามารถของพวกคุณ ผมไม่มีข้อสงสัย เพราะปั้นเองมากับมือตั้ง ๓ ปี พวกคุณจะสมัครเรียนกับอาจารย์คนใดเขาก็พร้อมที่จะรับอยู่แล้ว เป็นตัวเลือกอันดับแรก ๆ ของพวกอาจารย์ด้วย แม้แต่ตัวผมเอง เว้นแต่ว่าช่วงที่ผ่านมาคุณจะเคยก่อเรื่องเอาไว้เยอะจนเขาไม่อยากจะรับ แต่การเรียนโทไม่เหมือนเรียนตรีนะ"
  
แล้วผมก็บอกเขาต่อไปว่า
  
"จากประสบการณ์ของผมเองที่ผ่านมา ทำให้บางครั้งที่ผมคิดว่า เราเก็บความทรงจำดี ๆ ที่มีต่อกันตลอดช่วงเวลา ๓ ปีที่ผ่านมาให้มันคงอยู่อย่างนั้นตลอดไปดีไหม ดีกว่าที่จะทำให้ไม่อยากจะเจอหน้ากันตลอดชีวิตเพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก ๒ ปีข้างหน้า"

-------------------------------

ในงานเลี้ยงรุ่นเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว เพื่อนคนหนึ่งร้องทัก
  
"นี่มึงพูด "ครับ" กับนิสิตด้วยเหรอ เด็กที่ไปทำงานด้วยมันเล่าให้ฟัง"
  
"ก็พูดอย่างนี้จนเคยชิน" ผมตอบกลับไป

-------------------------------

"ถึงเขาจะจากไป แต่เขาก็ยังคงอยู่นะอาจารย์" ผู้ที่นั่งข้าง ๆ ผมเอ่ยขึ้นในขณะที่กำลังฟังการสวดศพที่วัดหลักสี่เมื่อหลายปีมาแล้ว
  
"ใช่ครับ" ผมตอบกลับเพียงสั้น ๆ

-------------------------------

เมื่อเกือบ ๒๐ ปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศได้รับการสนับสนุนครุภัณฑ์เพื่อการเรียนการสอนและการวิจัยจากโครงการเงินกู้สองโครงการด้วยกัน ระยะเวลานั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ฝ่ายพัสดุที่ทำหน้าที่ประสานงานทั้งกับหน่วยงานภายนอก หน่วยงานภายใน ติดต่อกรรมการผู้ออกข้อกำหนด ผู้เปิดซอง ผู้ตรวจรับ ให้คำปรึกษาทางเทคนิค ฯลฯ ต้องทำหน้าที่ต่าง ๆ วุ่นวายไปหมด เพราะไม่เพียงแต่งานเอกสารที่มีเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัวอย่างกระทันหัน แต่ยังต้องรองรับอารมณ์ผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ที่พอไม่ได้ดังใจก็มาลงที่งานพัสดุ
  
ผมเองก็ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับงานดังกล่าว ในส่วนการออกข้อกำหนด การตรวจรับ และกรรมการทางเทคนิค ทำให้ได้มีโอกาสติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่หญิงสาวผู้หนึ่งของทางคณะ ที่เวลาไปติดต่อทีไรก็เห็นทำงานวุ่นอยู่ทุกที
  
แต่ไม่ว่างานที่อยู่ตรงหน้าของเธอนั้นจะวุ่นวายสักแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นมีให้กับทุกคนที่ต้องเข้าไปติดต่อด้วยก็คือ "คำพูดที่ไพเราะและรอยยิ้ม"
  
น่าเสียดายที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นต้องจบชีวิตก่อนเวลาอันควรจากอุบัติเหตุ แต่สิ่งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้ทำไว้ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่คือ "การบริจาคอวัยวะ" ให้ผู้อื่นที่ต้องการ เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้มีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ยืนยาวต่อไป

-------------------------------

"วันนั้นนึกไม่ถึงจริง ๆ นะว่าจะวนรถกลับไป" ภรรยาผมพูดถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นบนถนนสุขุมวิทช่วงจากบางแสนไปบางพระ หลังจากเกิดเหตุการณ์นั้นไม่กี่วัน
   
"ก็สิ่งที่ทำลงไปในวันนั้นมันไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี" ผมตอบกลับไป

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อหลายปีมาแล้ว ผมขอไม่เล่าว่ามันเป็นเรื่องอะไร แต่จะขอเก็บเอาไว้ในซอกเล็ก ๆ ของลิ้นชักความทรงจำของตัวเอง ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตก็ได้มีโอกาสทำบางสิ่งบางอย่าง ที่ได้ทำให้ใครสักคนที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยพบปะอะไรกันมาก่อน ยิ้มได้ทั้งรอยยิ้มและแววตา

-------------------------------

วันนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็นวันสุดท้ายของชีวิตการเรียนในระดับปริญญาตรี และอาจเป็นวันสุดท้ายในชีวิตการเรียนของใครต่อใครอีกหลายคน สำหรับนิสิตป.ตรีรหัส ๕๔ ของภาควิชา เชื่อว่าแต่ละคนคงจะมีแผนการณ์ต่าง ๆ อยู่ในใจแล้วว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะทำอะไรต่อไป เป้าหมายในชีวิตของตนนั้นคืออะไร
  
แต่มีสิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้ให้กับทุกคนก็คือ
  
"อย่าลืมหาโอกาสทำอะไรบ้างบางอย่าง ที่มันจะทิ้งความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับตัวคุณเองไว้ในหัวใจผู้อื่น"
  
ขอให้โชคดีทุกคน

ไม่มีความคิดเห็น: