วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560

Piping and Instrumentation Diagram (P&ID) ของอุปกรณ์ ตอน Vertical can pump (ปั๊มหอยโข่งแนวตั้ง) MO Memoir : Wednesday 11 January 2560

ปั๊มหอยโข่งที่เราเห็นกันทั่วไปนั้นตัวมอเตอร์จะอยู่ในแนวนอน การวางรูปแบบนี้มีข้อดีคือถ้าต้องการซ่อมปั๊มก็ไม่จำเป็นต้องไปยุ่งอะไรกับมอเตอร์ และเมื่อต้องการซ่อมมอเตอร์ก็ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับปั๊ม แต่ถ้าเป็นปั๊มหลาย stage ก็จะมีข้อเสียหน่อยตรงที่กินพื้นที่ติดตั้งมากขึ้น และในกรณีที่ระดับของเหลวที่ต้องการสูบนั้นอยู่ต่ำจากระดับพื้นดินที่ใช้ติดตั้งปั๊มมาก จะเกิดปัญหา net positive suction head (NPSH) ไม่พอเพียงได้ ตรงนี้เคยตั้งคำถามไหมครับ ถ้าคุณต้องการสูบน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ต่ำกว่าตำแหน่งติดตั้งปั๊ม ปั๊มนั้นจะติดตั้งสูงกว่าแหล่งน้ำนั้นได้ไม่เกินกี่เมตรจึงจะสามารถสูบน้ำขึ้นมาได้ 
  
"ปั๊มจุ่ม" หรือ "ปั๊มแช่" หรือที่บางทีเรียกว่า "ไดโว่" ที่หลายบ้านใช้กันในการสูบน้ำออกจากบ้านเวลาฝนตกหนัก (หรือตอนน้ำท่วม) เป็นปั๊มหอยโข่งขนาดเล็กที่ติดตั้งในแนวดิ่ง (อันที่จริงจะเรียกว่าแขวนหรือห้อยก็น่าได้ เพราะเห็นใช้เชือกแขวนกันเป็นเรื่องปรกติ) ปั๊มชนิดนี้จะแช่อยู่ในน้ำ (หรือของเหลวที่ต้องการสูบ) ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาเรื่อง NPSH ไม่พอ แต่มีข้อควรระวังคือเวลาทำงานควรต้องแช่อยู่ในน้ำ เพราะใช้น้ำเป็นตัวช่วยระบายความร้อนของมอเตอร์ และในขณะที่ปั๊มทำงานอยู่นั้นไม่ควรไปอยู่ในน้ำใกล้กับปั๊ม เพราะอาจโดนไฟฟ้าดูดเสียชีวิตได้ วิศวกรที่ควบคุมงานก่อสร้างมาหลายที่ท่านหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำให้คนงานโดนไฟฟ้าดูดตายมากที่สุดน่าจะเป็นปั๊มไดโว่นี่แหละ
 
ปั๊มหอยโข่งที่มีขั้นตอนการอัดหลายขั้นตอนก็มีแบบที่ใช้การใช้การจัดวางในแนวดิ่ง คือตัวมอเตอร์อยู่ด้านบนโดยมีตัว impeller เรียงซ้อนกันขึ้นมาจากล่างขึ้นบน โดยมีเพียงส่วนของ impeller นั้นแช่อยู่ในน้ำ (หรือของเหลวที่ต้องการสูบ) ตัวมอเตอร์ไม่ได้แช่น้ำเหมือนปั๊มจุ่ม (รูปที่ ๑) การมี impeller หลายชุดทำให้สามารถส่งน้ำขึ้นที่สูงได้มากขึ้น (เช่นการสูบน้ำจากบ่อลึกที่การตั้งปั๊มบนปากบ่อจะมีปัญหาสูบน้ำไม่ขึ้นเนื่องจากมี NPSH ไม่พอ) ปั๊มสูบน้ำขนาดใหญ่ที่ประตูระบายน้ำบางแห่งก็เป็นแบบนี้ (ลองสังเกตดูปั๊มพวกที่มีมอเตอร์คว่ำลงที่มีใช้กันที่ประตูระบายน้ำบางแห่ง) ปั๊มในแนวดิ่งแบบนี้บางแบบก็เป็นแบบที่ตั้งอยู่บนบกไม่ได้ไปแช่อะไรอยู่ในน้ำ แต่ลักษณะการไหลของน้ำที่ไหลเข้ามาจะทำให้น้ำไหลเข้าสู่ใบพัดทางด้านล่างแล้วถูกเหวี่ยงส่งขึ้นไปทางด้านบนตามแนวเพลาหมุน (ดูตัวอย่างได้ใน Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๖๐๑ วันพฤหัสบดีที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๖ เรื่อง "ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปั๊ม ตอนที่ ๔" หรือรูปที่ ๒ ใน Memoir ฉบับนี้) ข้อดีของปั๊มแบบหลังนี้ก็คือมันช่วยเพิ่ม NPSH ให้กับปั๊ม (เกิดจากความสูงของลำของเหลวจากตำแหน่งท่อเข้าถึงตำแหน่งทางเข้าใบพัด - รูปที่ ๒) 
  
พูดถึงเรื่องเพลาแล้วก็คงต้องขอทบทวนเรื่อง "แบริ่ง - bearing" หรือที่แปลเป็นไทยว่า "รองลื่น" กันสักหน่อย ในขณะที่เพลาหมุนอยู่นั้นจะมีแรงกระทำกับตัวมันทั้งในแนวรัศมี (ตั้งฉากกับแกนยาว) และแนวแกน สำหรับเพลาที่วางนอนนั้นแรงหลักที่กระทำในแนวรัศมีก็คือน้ำหนักของเพลา ส่วนแรงที่กระทำในแนวแกนจะเป็นตัวทำให้เพลาเคลื่อนตัวในแนวแกนได้ ดังนั้นในการติดตั้งเพลานั้นจึงจำเป็นต้องมีส่วนที่รองรับแรงทั้งในแนวรัศมีและแนวแกนนั่นก็คือแบริ่ง
 
แบริ่งที่เห็นใช้กันทั่วไปนั้นเห็นมีอยู่ ๒ แบบคือ Journal bearing และ Roller bearing ตัว Journal bearing นั้นก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่ารูกลม ๆ ที่ใหญ่กว่าเพลาเล็กน้อย (อาจเป็นรูที่เจาะขึ้นหรือเป็นชิ้นส่วนครึ่งวงกลมสองชิ้นประกบกัน และมีช่องให้อัดน้ำมันหรือจารบี - ดูรูปที่ ๖) ที่พื้นผิวด้านในของรูนั้นเรียบ ส่วนตัว Roller bearing นั้นก็คือสิ่งที่เราเรียกว่า "ตลับลูกปืน" โดยชิ้นส่วนที่ทำหน้าที่หมุนกลิ้งไปมานั้นอาจมีรูปร่างเป็น ลูกบอลโลหะกลม แท่งโลหะทรงกระบอก หรือกรวยตัดยอด ก็ตามแต่ แบริ่งทั้งสองแบบนี้มีทั้งชนิดที่ใช้สำหรับรองรับแกนในแนวรัศมีของเพลาเพียงอย่างเดียว และรองรับแรงในแนวแกนของเพลาด้วย แบริ่งที่ทำหน้าที่รองรับแรงในแนวแกนของเพลานี้เรียกว่า "thrust bearing" ที่มีผู้แปลเป็นไทยว่า "แบริ่งกันรุน"

รูปที่ ๑ ภาพจาก catalogue ของ Goulds Pumps : Vertical turbine pumps (https://www.gouldspumps.com) เป็นปั๊มที่ส่วนที่เป็น impeller นั้นจะจุ่มลงไปในแหล่งน้ำ (เช่นการสูบน้ำจากบ่อน้ำ) ตัวมอเตอร์อยู่บนบก ข้อดีของปั๊มแบบนี้เทียบกับปั๊มจุ่มก็คือตัวมอเตอร์แยกเป็นชิ้นจากตัวปั๊ม ไม่ได้แช่อยู่ในน้ำ (หรือของเหลวอื่น) หมดปัญหาเรื่องไฟฟ้าดูดและการชำรุดเนื่องจากการซึม/กัดกร่อนของน้ำและสารเคมีที่อยู่ในน้ำ


รูปที่ ๒ ภาพจาก catalogue ของ Goulds Pumps : Vertical turbine pumps (https://www.gouldspumps.com) เช่นกัน แต่เป็นชนิดที่ไม่ได้แช่อยู่ในของเหลว ในรูปนี้ท่อของเหลวเข้าอยู่ทางด้านซ้าย จากนั้นของเหลวจะไหลในท่อชั้นนอกจากบนลงล่างก่อนวกเข้าด้านในที่มี impeller ติดตั้งอยู่ (ความสูงของของเหลวในช่วงนี้เป็นช่วงที่ทำให้ปั๊มได้ NPSH เพิ่มขึ้น) และถูกดูดและส่งขึ้นไปทางด้านบน ออกไปทางท่อด้านขวา


รูปที่ ๓ ตัวอย่าง P&ID ของ vertical pump ที่ตัวมอเตอร์อยู่ด้านบน (อยู่เหนือระดับผิวของเหลว) โดยมี impeller แช่อยู่ในของเหลว การติดตั้งวาล์วกันการไหลย้อนกลับก็เพื่อป้องกันไม่ให้ของเหลวที่สูบออกไปนั้นไหลย้อนกลับลงมาในบ่อใหม่เมื่อปั๊มหยุดการทำงาน blog valve ด้านขาออกในตัวอย่างนี้เขาแสดงเป็น butterfly valve แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นวาล์วชนิดนี้เท่านั้นนะ จะเป็นวาล์วชนิดใดขึ้นอยู่กับการใช้งาน


รูปที่ ๔ ตัวอย่าง P&ID ของ vertical pump แบบเดียวกับในรูปที่ ๓ แต่เป็นกรณีที่เป็นปั๊มทำงานหลักตัวหนึ่ง อีกตัวหนึ่งเป็นตัวสำรอง


รูปที่ ๕ ตัวอย่าง P&ID ของ vertical can pump (น่าจะเป็นปั๊มแบบรูปที่ ๒) ในตัวอย่างนี้แสดงปั๊มหลักที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (M) และปั๊มสำรองที่ขับเคลื่อนด้วยกังหันไอน้ำ (T) จุดหนึ่งที่ผมยังไม่เข้าใจคือท่อย่อยออกจากปั๊มหลัก (ตัวขวา) ที่วกไปเข้าปั๊มสำรอง (ตัวซ้าย) มีเอาไว้ทำไม (เกี่ยวข้องกับการเริ่มเดินเครื่องปั๊มที่ขับเคลื่อนด้วยกังหันไอน้ำหรือเปล่า ?) พึงสังเกตว่าตรง steam trap จะมีวาล์ว by pass อยู่และมักเป็น gate valve เพื่อไว้ระบายสิ่งสกปรก (เช่นสนิมที่หลุดร่อนออกจากผิวท่อ) ไม่ให้เข้าไปใน steam trap
 
เพลาที่วางนอนนั้นสามารถกระจายตำแหน่งติดตั้งแบริ่งได้ตามความยาวเพลาตามตำแหน่งที่เหมาะสม ส่วนแรงที่กระทำในแนวแกนนั้นก็มักจะไม่มากเมื่อเทียบกับน้ำหนักเพลา (ซึ่งรวมเอาอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ติดตั้งอยู่บนตัวเพลา เช่นตัวโรเตอร์ของมอเตอร์ หรือใบพัดของกังหันไอน้ำ) ที่กระทำในแนวตั้งฉากกับแนวแกนของเพลา แต่ถ้าเป็นเพลาที่อยู่ในแนวดิ่ง การรับน้ำหนักตัวเพลาจะย้ายไปที่ตัว thrust bearing ซึ่งอาจจะติดตั้งได้เฉพาะที่ปลายด้านในด้านหนึ่งของเพลาเท่านั้น (เช่นในกรณีของใบพัดกวน) ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าจะพบว่าอุปกรณ์ที่มีเพลาหมุนขนาดใหญ่ (เช่นกังหันไอน้ำ คอมเพรสเซอร์) จะวางนอน ไม่วางตั้งกัน นอกจากนี้สำหรับเพลาที่ยาวแล้วก็ยังต้องมีแบริ่งรองรับแรงในแนวรัศมีของเพลาเพื่อป้องกันไม่ให้เพลาเกิดการส่ายขณะหมุน ตรงนี้ลองดูตัวอย่างในรูปที่ ๒ ก็ได้
 
ส่วนเพลาที่วางเฉียง ๆ ในโรงงานที่ผมก็เคยเห็นแต่ใบพัดกวนที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก พอเป็นถังใหญ่ขึ้นมาถึงระดับหนึ่งก็จะหันไปใช้ใบพัดกวนที่ติดตั้งในแนวดิ่งแทน แต่ที่เห็นได้ง่ายหน่อยน่าจะเป็นเครื่องเรือหางยาว
 
คนไทยเรียกลูกโลหะกลมว่า "ลูกปืน" มานานแล้ว ที่มาของคำนี้มาได้ยังไงผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ถ้าให้เดาก็คงจะขอเดาว่าเป็นเพราะว่าคนไทยรู้จักใช้อาวุธปืนมานานแล้ว นานก่อนมีตลับลูกปืน และลูกกระสุนปืนสมัยก่อนที่ยังใช้การบรรจุกระสุนทางปากลำกล้องก็เป็นเม็ดโลหะกลม การที่มันเป็นลูกกลมทำให้สามารถยัดลงปากลำกล้องได้ง่าย ไม่ต้องเสียเวลาหาว่าควรเอาด้านไหนยัดลงไป พอช่วงหลังมาเจอลูกบอลโลหะกลมที่แม้ว่าไม่ได้ใช้เป็นกระสุนปืน ก็ยังเรียกว่าลูกปืนเหมือนเดิม


รูปที่ ๖ Journal bearing (สีฟ้าในรูป) ที่ทำหน้าที่รองรับเพลาของลูกกลิ้งรีดน้ำจากกากของเสียตัวหนึ่ง มีลักษณะเป็นชิ้นส่วนครึ่งวงกลมสองชิ้น ด้านบนมีรูไว้สำหรับหยอดน้ำมันหล่อลื่น

อีกประเด็นที่คงต้องขออธิบายเพิ่มก็คือวาล์ว bypass ตัว steam trap ในรูปที่ ๕ ที่แสดงชนิด gate valve เอาไว้ steam trap (หรือกับดักไอน้ำ) ทำหน้าที่ระบายน้ำที่เกิดจากการควบแน่นของไอน้ำ (steam condensate) ออกจากระบบไอน้ำ (พวกท่อหรืออุปกรณ์) โดยไม่ให้ไอน้ำรั่วไหลออกมา ท่อไอน้ำปรกติที่ใช้สำหรับให้ความร้อนกันทั่วไปก็มักเป็นท่อเหล็กกล้าที่ขึ้นสนิมได้ (เว้นแต่ในบางอุตสาหกรรมที่ต้องการไอน้ำที่สะอาดเพื่อไปใช้ในกระบวนการผลิตโดยตรง ก็อาจใช้ท่อเหล็กกล้าไร้สนิม) แต่การขึ้นสนิมนั้นจำเป็นต้องมีทั้งออกซิเจนและความชื้น 
  
ท่อไอน้ำที่ทำจากเหล็กกล้าธรรมดาที่ขึ้นสนิมได้ เมื่อสร้างเสร็จใหม่ ๆ หรือหลังจากการหยุดเดินเครื่องซ่อมบำรุง ที่ทำให้มีอากาศเข้าไปในระบบท่อได้ จะเกิดสนิมที่ผิวท่อด้านใน เมื่อผ่านไอน้ำเข้าไปในท่อทำให้ผิวท่อร้อนขึ้น สนิมนี้จะหลุดร่อนออกจากผิวท่อ (สนิมเหล็กและโลหะเหล็ก ขยายตัวเนื่องจากความร้อนไม่เท่ากัน สนิมจึงหลุดร่อนออก) ถูกชะออกมาพร้อมกับไอน้ำที่ควบแน่น (ตอนแรกที่ท่อเย็นอยู่นั้น จะมีไอน้ำควบแน่นมากเป็นพิเศษ) ในช่วงเวลานี้จำเป็นต้องระบายน้ำที่ควบแน่นที่มีสนิมเหล็กติดมาด้วยนี้ออกจากระบบโดยไม่ผ่าน steam trap (เพราะขืนปล่อยให้เข้า steam trap เดี๋ยวก็มีปัญหาอุดตันตัว steam trap กันพอดี) นี่คือที่มาของท่อ bypass ตัว steam trap และเหตุผลที่ว่าทำไมในแบบจึงเลือกใช้ gate valve ก็เพราะด้วยโครงสร้างของ gate valve ที่ปล่อยให้สนิมเหล็กไหลผ่านตัวมันออกไปง่าย ๆ ได้เลย ที่เคยเห็นก็คือพอน้ำที่ไหลออกมานั้นไม่มีสีสนิมเหล็กปนหรือเป็นไอน้ำพ่นออกมา ก็จะทำการปิดวาล์ว bypass นี้แล้วไปใช้เส้นทาง steam trap แทน

ปิดท้ายที่ว่างของหน้าที่เหลืออยู่ด้วยรูปสถานที่ที่เคยเป็นสถานีรถไฟก็แล้วกันครับ ถ่ายไว้เมื่อวันบ่ายวันเสาร์ที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา สถานีนี้ถูกย้ายออกไปเนื่องจากมีการเปลี่ยนแนวเส้นทางรถไฟอันเป็นผลจากการสร้างเขื่อนแห่งหนึ่ง พอจะเดาได้ไหมครับว่าสถานีนี้อยู่ที่ไหน

ไม่มีความคิดเห็น: