บรรยากาศในห้องสมุดก็เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา
จากสถานที่ที่เคยเต็มไปด้วยผู้คนค้นหาหนังสือแล้วมานั่งอ่านก็กลายเป็นการอ่านผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง
ๆ บรรยากาศการเข้าไปค้นหาหนังสือตามซอกชั้นวางต่าง
ๆ แล้วก็นั่งอ่านหรือยืนอ่านตรงชั้นวางหนังสือนั้นหดหายไป
(แต่ก็ยังคงเห็นอยู่ในร้านขายหนังสือหลายแห่ง)
การค้นคว้าข้อมูลจากหนังสือเพื่อมาประกอบการทำรายงานหรือศึกษาเพิ่มเติมก็น้อยลงไป
กลายเป็นการค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต
แต่ที่สำคัญคือข้อมูลเก่า
ๆ นั้นจำนวนไม่น้อยยังอยู่บนหนังสือ
ไม่ได้อยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต
และเป็นเรื่องปรกติที่มักจะพบว่าข้อมูลที่พบบนอินเทอร์เน็ตนั้นจะไม่ปรากฏชื่อผู้เขียนหรือแหล่งที่มาของข้อมูล
ทำให้ดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่เรื่องเล่าที่บอกต่อ
ๆ กันมาที่บอกไม่ได้ว่าต้นเรื่องมาจากไหน
และข้อความที่ปรากฏอยู่นั้นก็พร้อมที่จะถูกเปลี่ยนแปลงหรือหายไปจากหน้าเว็บไซต์เมื่อใดก็ได้
ช่วงปลายเดือนที่แล้วมีโอกาสแวะเข้าไปห้องสมุดเพื่อเดินดูว่ามีหนังสือเก่าใดที่มีเรื่องน่าสนใจบ้าง
วิธีการคัดเลือกก็ไม่ยากใช้วิธีดูที่กระดาษพิมพ์
ถ้าเห็นเป็นกระดาษสีเหลืองเก่า
ๆ ที่แสดงว่าเป็นหนังสือเก่า
ก็จะลองดึงออกมาดูว่าข้างในมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องอะไร
อย่างเล่มที่นำมาเล่าในที่นี้คือเรื่อง
"สิ่งแรกในเมืองไทย"
เขียนโดยคุณ
สงวน อั้นคง
หนังสือนี้ชุดนี้ในการจัดพิมพ์ครั้งแรกในปีพ.ศ.
๒๕๐๒
โดยสำนักพิมพ์แพร่พิทยามีทั้งหมด
๓ เล่ม
เล่มที่นำมาแนะนำให้รู้จักในวันนี้เป็นฉบับพิมพ์แก้ไขเพิ่มเติมของเล่ม
๑ พ.ศ.
๒๕๑๔
และเรื่องที่เลือกมาก็คือเรื่อง
"ทุ่นระเบิด"
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่
๒ นั้นมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในประเทศไทยบ้าง
ดูเหมือนจะยังไม่มีหนังสือที่เป็นการรวบรวมเหตุการณ์ต่าง
ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศเอาไว้
ที่พอเห็นบ้างก็เป็นเฉพาะเหตุการณ์
เช่นการทิ้งระเบิดในกรุงเทพ
การเข้ากำกับดูแลกิจการรถไฟของกองทัพญี่ปุ่น
เป็นต้น เคยคิดเล่น ๆ
อยู่เหมือนกันว่าถ้าเกษียณราชการเมื่อใดอาจจะใช้เวลาหลังเกษียณมารวบรวมข้อมูลเหล่านี้อยู่เหมือนกัน
ดังนั้นตอนนี้พอเจอเรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องก็เลยต้องขอนำมาบันทึกเอาไว้สักหน่อย
จะได้เป็นการเตือนความทรงจำว่า
มีบันทึกใด อยู่ที่ไหนบ้าง
บทความเรื่อง
"ทุ่นระเบิด"
ในหนังสือเล่มนี้แม้ว่าจะเริ่มต้นด้วยการแนะนำให้รู้จักกับทุ่นระเบิดที่ใช้ทำลายเรือ
แต่ก็ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการวางทุ่นระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร
การกวาดทุ่นระเบิด
และความเสียหายที่เกิดขึ้น
เอาไว้ด้วย
แต่ก็พบว่ามีข้อมูลบางจุดที่ขัดแย้งกับข้อมูลที่มีปรากฏทางอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน
จุดหนึ่งที่พบก็คือเหตุการณ์การวางทุ่นระเบิดครั้งแรกในอ่าวไทยในเดือนตุลาคม
พ.ศ.
๒๔๘๕
ที่ในหนังสือดังกล่าวระบุว่าเป็นการโปรยจากเครื่องบิน
(หน้า
๒๕๔ ในหนังสือ)
ในขณะที่ข้อมูลที่ค้นพบทางอินเทอร์เน็ตนั้นระบุว่าเป็นการวางโดยใช้เรือดำน้ำ
ดังนั้นข้อมูลตรงนี้คงต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องกันอีกที
การโปรยทุ่นระเบิดในอ่าวไทยนั้นดูเหมือนว่าจะมีอยู่
๒ ช่วง
ช่วงแรกเป็นช่วงตอนต้นสงครามที่ฝ่ายสัมพันธมิตรยังไม่ถูกทัพญี่ปุ่นตีถอยร่นออกไป
ช่วงที่สองเป็นช่วงในตอนท้ายสงครามที่มีการนำเอาเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะบินไกลมาใช้งาน
และเป็นช่วงที่กองทัพสัมพันธมิตรเตรียมการตีโต้กลับกองทัพญี่ปุ่นในพม่า
ซึ่ง ณ
ขณะนั้นทัพอากาศของกองทัพสัมพันธมิตรยังต้องใช้ฐานปฏิบัติการในอินเดีย
บินอ้อมลงใต้ออกทะเลอันดามันเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกพบเห็น
ก่อนข้ามตัดภาคใต้เข้ามาทางอ่าวไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น