วันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

สถานีรถไฟหนองแก MO Memoir : Saturday 22 July 2566

"มะขามต้นนี้อายุร้อยกว่าปีแล้ว ลูกดกและอร่อยด้วย เสียดายที่ตอนก่อสร้างเขาไม่ได้ล้อมมันเอาไว้ ขนาดตัดกิ่งออกแล้ว มันก็ยังตาย"

เจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ที่สถานีเล่าให้ผมฟัง เรื่องของต้นมะขามต้นใหญ่ที่อยู่ข้างตัวอาคารที่ทำการ

วันนั้นการประชุมเสร็จเร็ว เลยมีเวลาร่วมสองชั่วโมงก่อนถึงอาหารเย็น ก็เลยถือโอกาสแวะไปบันทึกภาพสถานีที่อยู่ในซอยฝั่งตรงข้ามกับโรงงานที่เป็นที่ประชุม ผมจอดรถไว้ทางด้านฝั่งตะวันออก มีบันไดเหล็กพาดให้เดินขึ้นไปยังชานชลาที่สอง พอเดินขึ้นไปก็เห็นตัวอาคารที่ดูใหม่ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ตอนแรกยังคิดว่าเป็นอาคารเดิมที่เขาอนุรักษ์เอาไว้ แต่พอได้สนทนากับเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ เขาก็บอกว่าสร้างใหม่หมด แม้แต่ไม้ก็เป็นไม้ใหม่ เพราะไม้ของเดิมก็มีผุกร่อนไปมากเหมือนกัน แต่สภาพภายนอกและภายในก็ยังคงให้บรรยากาศแบบเดิม ๆ อยู่

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเมืองหัวหินมันขยายตัวออกมามากหรือเปล่า ขบวนรถที่จอดที่สถานีนี้จึงลดลง และการสร้างระบบรางคู่ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีการรอหลีก จึงไม่จำเป็นต้องสร้างตัวอาคารใหม่ให้เป็นหลังใหญ่เหมือนสถานีอื่น แต่สถานีนี้ก็โชคดีตรงที่นอกจากจะไม่ถูกยกเลิก แต่ยังได้รับการสร้างใหม่โดยคงบรรยากาศแบบเดิม ๆ ของตัวอาคารสถานีเอาไว้ บ่ายวันนั้นเมฆค่อนข้างจะเยอะ แดดก็เลยไม่แรงเท่าใดนัก แถมมีอาคารสูงบังแดดทางด้านทิศตะวันตกอีก บรรยากาศที่สถานีก็เลยไม่ค่อยร้อนแดดเท่าใด แต่ร้อนอบอ้าวนิดหน่อยแบบบรรยากาศก่อนฝนตก

ตอนเดินกลับจะไปขึ้นรถ นึกได้ว่าลืมถ่ายรูปป้ายที่บอกว่ามีขบวนรถไหนบ้างจอดที่สถานีนี้ ก็เลยต้องเดินกลับไปใหม่ พอกำลังจะเดินออกมา เจ้าหน้าที่ก็บอกว่ากำลังจะมีรถไฟจากสุราษฎร์ธานีเข้าสถานี ตอนนี้ออกจากสวนสนฯ แล้ว ก็เลยรอถ่ายรูปรถไฟวิ่งผ่านสถานีหน่อยก่อนกลับ

รูปที่ ๑ ขบวนรถไฟที่จอดที่สถานีนี้

รูปที่ ๒ ตอนแรกนึกว่าเก็บรักษาอาคารเดิมเอาไว้ แต่พอได้สนทนากับเจ้าหน้าที่ก็เลยรู้ว่าเป็นการสร้างใหม่หมด แต่ยังคงรูปลักษณ์ของเดิมอยู่

รูปที่ ๓ ของเดิมที่ยังเก็บเอาไว้ดูเหมือนจะเป็นป้ายชื่อสถานีป้ายนี้

รูปที่ ๔ ถึงแม้ตัวอาคารจะสร้างใหม่ แต่ก็ยังมีของเก่าเก็บเอาไว้ เจ้าหน้าที่บอกว่ายังใช้งานได้อยู่

รูปที่ ๕ อีกหนึ่งชิ้นของของเก่าที่ยังเก็บเอาไว้

รูปที่ ๖ ป้ายบอกสถานีข้างเคียง

รูปที่ ๗ มองจากชานชลาฝั่งตะวันออกไปยังเส้นทางล่องใต้

รูปที่ ๘ มองจากชานชลาฝั่งตะวันออกย้อนขึ้นไปทางหัวหิน

รูปที่ ๙ หลักกิโลที่ 217 อยู่ตรงกลางสถานี

รูปที่ ๑๐ ทางเดินข้ามไปอีกฝั่งที่อยู่ทางด้านทิศเหนือของชานชลา มีทางลาดสำหรับรถเข็นด้วย

รูปที่ ๑๑ ทางเดินข้ามไปอีกฝั่งที่อยู่ทางด้านทิศเหนือของชานชลา

รูปที่ ๑๒ รางฝั่งตะวันตกที่ใช้งานอยู่ พร้อมกับรูปแบบการยึดรางกับหมอนรองรางแบบเดิม

รูปที่ ๑๓ รางฝั่งตะวันออกยังไม่เปิดใช้งาน รูปแบบการยึดรางกับหมอนรองรางต่างไปจากเดิม

รูปที่ ๑๔ ต้นมะขามอายุกว่า ๑๐๐ ปีที่ตายลงในระหว่างก่อสร้าง

รูปที่ ๑๕ ป้ายบอกเลขชานชลา

รูปที่ ๑๖ ฝั่งตะวันออกของสถานีเป็นคลองเล็ก ๆ ที่อีกฝั่งยังเลี้ยงวัวกันอยู่


รูปที่ ๑๗ ด้านหน้าสถานี

รูปที่ ๑๘ รถดีเซลรางจากสุราษฎร์ธานีกำลังวิ่งผ่านสถานีเพื่อไปหัวหิน

รูปที่ ๑๙ พอเข้าโค้ง รถไฟก็วิ่งช้าลง เหมือนกับว่าต้องจอดรออะไรสักอย่าง

ไม่มีความคิดเห็น: