วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2552

แต่ละจุดควรต่างกันเท่าใด MO Memoir : Friday 16 October 2552

จากประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสอนนิสิตทำการทดลองต่าง ๆ ให้ห้องปฏิบัติการมาเป็นเวลาหลายปี พบว่านิสิตส่วนใหญ่ (หรือเกือบทุกคน) เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งที่ดี แต่อาจจะเรียกว่าดีเกินไปแบบ "เถรตรง" ก็ได้ กล่าวคือถ้ากำหนดวิธีการทำการทดลองต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า นิสิตแต่ละรายก็จะทำการทดลองไปตามนั้น และก็ไม่คิดที่จะสังเกตอะไรถ้าหากว่าคู่มือการทำการทดลองไม่ได้กล่าวไว้ อย่างเช่นถ้าคู่มือการทำการทดลองบอกว่าให้สังเกตการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ นิสิตก็จะคอยเฝ้าดูแต่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิหรือไม่ บางรายก็ดูแค่ว่าอุณหภูมิมันเปลี่ยนจริง ๆ แต่พอถามต่อว่าแล้วมันเปลี่ยนแบบเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ตอบไม่ได้ เพราะคู่มือการทดลองบอกว่าให้ดูว่าเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน ไม่ได้บอกให้ดูว่าเปลี่ยนแบบเพิ่มขึ้นหรือลดลง หรือถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงสีด้วยในระหว่างการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ แต่ถ้าคู่มือไม่ได้บอกให้ดูการเปลี่ยนสี นิสิตก็จะไม่สนใจว่ามีการเปลี่ยนสีด้วยหรือไม่

การทดลองในระดับปริญญาตรีนั้นเป็นการทดลองเพื่อแสดงให้เห็นว่าทฤษฎีต่าง ๆ ที่เรียนกันมาในห้องเรียนนั้นเป็นจริง และการออกแบบการทดลองนั้นก็เพื่อให้ง่ายต่อผู้ที่ต้องทำการจัดเตรียมอุปกรณ์ สารเคมี ฯลฯ และเพื่อให้ง่ายแก่ผู้ที่ทำการตรวจรายงานการทดลอง แต่การทดลองในระดับบัณฑิตศึกษานั้นแตกต่างออกไป

การทดลองในระดับบัณฑิตศึกษาเป็นการทดลองเพื่อศึกษาว่าทฤษฎีที่ตั้งขึ้นมานั้นเป็นจริงหรือไม่ หรือศึกษาในสิ่งที่ยังไม่มีผู้ใดเคยทำการศึกษามาก่อน ระเบียบวิธีการทำการทดลองต้องเขียนขึ้นมากันเอง พารามิเตอร์ต่าง ๆ ที่ต้องทำการควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงก็ต้องกำหนดกันเอง ปัญหาหนึ่งที่ผู้ทำการทดลองมักประสบคือในการศึกษาเพื่อต้องการทราบว่าเมื่อพารามิเตอร์แต่ละตัวเปลี่ยนแปลงไปนั้นผลการทดลองที่ได้จะเป็นอย่างไร คำถามที่สำคัญที่ผู้ทำการทดลองต้องตอบให้ได้ก็คือ เมื่อทำการเปลี่ยนค่าพารามิเตอร์นั้น ค่าแต่ละจุด "ควรจะแตกต่างกันเท่าใด" เพราะถ้าแตกต่างกันน้อยเกินไปก็อาจทำให้ไม่เห็นผล แต่ถ้าแตกต่างกันมากเกินไปก็อาจได้ข้อมูลที่อยู่ต่างกันสุดขั้วเกินไปจนไม่อาจทราบได้ว่าผลการทดลองที่ได้นั้นมีความว่องไว (sensitive) ต่อการเปลี่ยนค่าพารามิเตอร์ดังกล่าวมากน้อยเพียงใด

Memoir ฉบับนี้คงไม่ได้ให้คำตอบแบบฟันธงไปว่า "ค่าแต่ละจุดควรจะแตกต่างกันเท่าใด" แต่จะขอยกตัวอย่างบางตัวอย่างที่เคยประสบมามาเล่าสู่กันฟัง

ตัวอย่างที่ 1 การสร้าง titration curve

ในการสอนวิชาปฏิบัติการเคมีวิเคราะห์เรื่องการหาจุดยุติของการไทเทรตกรด-เบสด้วยการใช้พีเอชมิเตอร์วัดค่าพีเอชของสารละลายเมื่อหยดสารละลายมาตรฐาน (ในที่นี้สมมุติให้เป็นเบส) ลงไปในสารตัวอย่าง (ในที่นี้สมมุติว่าให้เป็นกรด) ในปริมาตรต่าง ๆ กัน แล้วนำปริมาตรสารละลายเบสที่หยด กับค่าพีเอชของสารละลายตัวอย่างที่วัดได้ มาเขียนเป็นกราฟที่เรียกว่า titration curve นั้น ผมจะบอกนิสิตเสมอว่า ในช่วงที่อยู่ห่างจากจุดสมมูล (ไม่ว่าจะก่อนถึงหรือเลยไปแล้ว) มากนั้น คุณอาจเติมเบสลงไปได้ทีละ 10-20 ml โดยที่ค่าพีเอชของสารละลายเปลี่ยนไปเพียงแค่ 0.1-0.3 หน่วย แต่ในช่วงที่เข้าใกล้จุดสมมูลหรือช่วงที่กำลังเคลื่อนที่ผ่านจุดสมมูลนั้น การเติมเบสลงไปเพียงแค่ 0.1 ml ก็สามารถทำให้ค่าพีเอชของสารละลายเปลี่ยนไปได้ถึง 1-3 หน่วย ดังนั้นถ้าทำการทดลองโดยกำหนดให้เติมเบสแต่ละครั้งในปริมาณที่เท่า ๆ กันก็ก่อให้เกิดปัญหาในการทำการทดลองได้ กล่าวคือถ้าเลือกเติมเบสทีละ 0.1 ml ตั้งแต่เริ่มทำการทดลอง ก็ไม่รู้ว่าจะทำการทดลองเสร็จในเวลา 3 ชั่วโมงหรือเปล่า แต่ถ้าเลือกเติมทีละ 0.5 ml ก็จะมองไม่เห็นตำแหน่งของจุดสมมูล จะเห็นเพียงแค่ตำแหน่งก่อนถึงจุดสมมูล และตำแหน่งที่เลยจุดสมมูลไปแล้ว

ดังนั้นเพื่อให้การทดลองเสร็จสิ้นในเวลาที่เหมาะสมและได้ผลการทดลองที่ถูกต้อง ในช่วงที่อยู่ห่างจากจุดสมมูลมากเราก็ควรต้องเติมเบสลงไปทีละมาก ๆ แต่ในช่วงที่เข้าใกล้จุดสมมูลเราต้องค่อย ๆ เติมเบสลงไปทีละน้อย ๆ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับนิสิตก็คือจะรู้ได้อย่างไรว่าขณะนั้นเราอยู่ห่างหรืออยู่ใกล้จุดสมมูล
สิ่งที่ต้องเฝ้าติดตามคือ "อัตราการเปลี่ยนแปลง" ซึ่งในที่นี้ก็คือ "ค่าพีเอชที่เปลี่ยนไป" หารด้วย "ปริมาตรเบสที่เติมเพิ่มเข้าไป" หรือ dpH/dV (ดูแต่ขนาด ไม่คิดเครื่องหมาย) ดังนั้นในระหว่างการทดลองนั้น ไม่ใช่สักแต่เพียงว่าเติมเบสลงไป แล้วก็อ่านค่าพีเอชแล้วก็เติมเบสเพิ่มเข้าไปอีก แล้วก็อ่านค่าพีเอช ..... แต่สิ่งที่ควรต้องทำคือ เติมเบสลงไป อ่านค่าพีเอช แล้วก็คำนวณค่า dpH/dV ว่ามีขนาดเท่าใด จากนั้นจึงใช้ค่า dpH/dV ที่คำนวณได้เป็นตัวตัดสินใจว่าครั้งต่อไปควรเติมเบสลงไปอีกเท่าไร (เท่าเดิม เพิ่มมากขึ้น หรือลดลง)

รูปที่ 1 กราฟการไทเทรตสารละลายกรด H2SO4 ด้วยสารละลายมาตรฐานเบส NaOH 0.1 M

รูปที่ 1 ข้างบนเป็นตัวอย่างที่ได้มาจากการทดลองการไทเทรตสารละลายกรด H2SO4 ด้วยสารละลายมาตรฐานเบส NaOH 0.1 Mที่ทำไว้ตั้งแต่วันพุธที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ในการทดลองนั้นผู้ทำการทดลองเกรงว่าจะพลาดบริเวณที่ค่าพีเอชมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก็เลยค่อย ๆ หยดเบสลงมาทีละน้อย ๆ ผลก็คือกว่าจะเสร็จการทดลองก็ได้จุดสำหรับเขียนกราฟเกือบ 150 จุด

ตัวอย่างที่ 2 การเก็บตัวอย่าง

ในการทดลองหนึ่ง นิสิตผู้หนึ่งต้องทดสอบเสถียรภาพ (stability) และการเสื่อมสภาพ (deactivation) ของตัวเร่งปฏิกิริยา โดยการทำปฏิกิริยาที่อุณหภูมิสูงต่อเนื่องเป็นเวลา 7 วัน การตรวจดูว่าตัวเร่งปฏิกิริยามีการเสื่อมสภาพหรือไม่ อาศัยการเก็บตัวอย่างของแก๊สที่ออกมาจากเครื่องปฏิกรณ์ไปทดสอบ ถ้าตรวจพบการเพิ่มขึ้นของสารตั้งต้นหรือการลดลงของผลิตภัณฑ์ที่เกิดก็แสดงว่าตัวเร่งปฏิกิริยามีการเสื่อมสภาพ ปัญหาก็คือเราไม่อาจทราบได้ว่าตัวเร่งปฏิกิริยาจะเสื่อมสภาพด้วยอัตราเร็วเท่าใด ตลอดเวลา 7 วันนั้นตัวเร่งปฏิกิริยาอาจเสื่อมสภาพในวันแรกจนกระทั่งความว่องไว (activity) ลดลงจนคงที่ หรือตัวเร่งปฏิกิริยาค่อย ๆ เสื่อมสภาพลงตลอด 7 วันที่ทำการทดลอง ซึ่งจะทำให้เราเห็นความว่องไวของตัวเร่งปฏิกิริยาลดลงตลอดเวลา

เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะให้นิสิตผู้นั้นคอยเก็บตัวอย่างให้ถี่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ตลอดระยะเวลา 7 วัน ดังนั้นความถี่ในการเก็บตัวอย่างจะต้องแปรเปลี่ยนตามอัตราการเสื่อมสภาพของตัวเร่งปฏิกิริยา สิ่งที่ต้องตรวจสอบว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่คือตัวเร่งปฏิกิริยาเกิดการเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วในช่วงนาทีหรือชั่วโมงแรก ๆ ของการใช้งานหรือไม่ ดังนั้นถ้าหากเราเก็บตัวอย่างแรกและตัวอย่างที่สองช้าเกินไป เราก็จะตรวจไม่พบการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว (ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ในบางปฏิกิริยานั้นเสื่อมสภาพจนความว่องไวลดลงจนคงที่ภายในเวลาไม่ถึง 15 นาที)

เมื่อเริ่มจับเวลาทำการทดลองนั้น ก็จะทำการเปิดให้แก๊สสารตั้งต้นไหลผ่านตัวเร่งปฏิกิริยา ดังนั้นตัวอย่างแรกที่จะเก็บได้จึงควรเก็บเมื่อประมาณว่าแก๊สสารตั้งต้นได้ไหลผ่านตัวเร่งปฏิกิริยาและระบบการไหลของแก๊สคงที่แล้ว ผลที่ได้จากตัวอย่างนี้จะเป็นตัวบอกความว่องไวเริ่มต้นของตัวเร่งปฏิกิริยาได้ดีที่สุด ส่วนการเก็บตัวอย่างที่สองนั้นควรทำเมื่อใดขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถเก็บตัวอย่างเอาไว้เพื่อรอการวิเคราะห์ได้หรือไม่ ถ้าเราสามารถดึงเอาแก๊สตัวอย่างมาเก็บไว้ในภาชนะบรรจุเพื่อรอฉีด GC เราก็สามารถเก็บตัวอย่างที่สองในเวลาใดก็ได้ แต่ถ้าเป็นระบบที่ต่อตรงเข้ากับเครื่อง GC หรือเราไม่สามารถเก็บแก๊สตัวอย่างมารอการวิเคราะห์ (กล่าวคือเมื่อเก็บมาได้แล้วก็ต้องรีบนำไปฉีดเข้าเครื่อง GC เลย) การเก็บตัวอย่างที่สองจะทำได้ก็ต่อเมื่อเครื่อง GC วิเคราะห์ตัวอย่างแรกเสร็จ ดังนั้นการปรับตั้งเครื่อง GC ให้วิเคราะห์ตัวอย่างได้รวดเร็วจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้เราจะเก็บตัวอย่างที่สองได้ในเวลาไม่นานหลังจากที่ได้เก็บตัวอย่างแรก

รูปที่ 2 การออกซิไดซ์ 1-Propanol ด้วยตัวเร่งปฏิกิริยา Co-Mg oxide บน Al2O3 ที่อุณหภูมิ 500 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 48 ชั่วโมง

รูปที่ 2 เป็นผลการทดลองที่นิสิตปริญญาโทผู้หนึ่งทำไว้ในปีพ.ศ. 2544 จะเห็นว่าค่า conversion (จุดสีแดง) ของสารตั้งต้น (propane) ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 10 ชั่วโมงแรก จากนั้นจึงค่อนข้างคงที่ การเก็บตัวอย่างในช่วงแรกจะเก็บทุก ๆ 30 นาที (เนื่องจาก GC วิเคราะห์ตัวอย่างหนึ่งใช้เวลาเกือบ 30 นาที) จากนั้นเมื่อเห็นค่า conversion มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ จึงยืดเวลาการเก็บตัวอย่างแต่ละตัวอย่างห่างกัน 1 ชั่วโมงจนถึง 6 ชั่วโมงในช่วงท้าย (ในความเป็นจริงนั้นในช่วง 24 ชั่วโมงแรกของการทดลองต้องหาเพื่อนที่ไว้วางใจในฝีมือได้มาช่วยทำการทดลอง เพราะยังต้องเฝ้าเก็บตัวอย่างที่ 1-2 ชั่วโมงอยู่)

ตัวอย่างที่ 3 อุณหภูมิทดสอบ

บ่อยครั้งที่เราทำการทดลองเพื่อศึกษาผลของอุณหภูมิที่มีต่อ ปริมาณสารตั้งต้นที่ทำปฏิกิริยาไป ค่าการเลือกเกิดผลิตภัณฑ์ เสถียรภาพของตัวเร่งปฏิกิริยา ฯลฯ ในกรณีที่เป็นการทดลองในเครื่องปฏิกรณ์แบบเบดนิ่ง (fixed-bed) ที่เราทำกันอยู่ประจำนั้น มักจะเริ่มทำการทดลองโดยเริ่มจากอุณหภูมิต่ำก่อน (เช่น 150 องศาเซลเซียส) เมื่อระบบเข้าที่แล้วจึงเก็บตัวอย่างวิเคราะห์

ก่อนที่จะเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้นนั้นควรที่จะรอดูผลการวิเคราะห์ก่อนว่าใช้ได้หรือไม่ ถ้าตรวจแล้วพบว่าผลการวิเคราะห์นั้นยอมรับได้จึงค่อยเพิ่มอุณหภูมิระบบให้สูงขึ้น แต่ถ้าพบว่ายังใช้ไม่ได้ก็ให้เก็บตัวอย่างใหม่ การที่ต้องทำเช่นนี้เป็นเพราะถ้าเพิ่มอุณหภูมิระบบให้สูงขึ้นไปแล้วมาพบว่าตัวอย่างที่เก็บไว้ก่อนหน้าที่อุณหภูมิต่ำนั้นใช้ไม่ได้ เราจะไม่สามารถลดอุณหภูมิระบบลงมาเพื่อทำการทดลองที่อุณหภูมิต่ำใหม่ได้อีก เพราะเมื่อตัวเร่งปฏิกิริยาได้รับอุณหภูมิสูงแล้วอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ผันกลับได้ แต่สิ่งที่พบอยู่ประจำคือเมื่อเก็บตัวอย่างแล้วผู้ทดลองก็จะเพิ่มอุณหภูมิระบบเลย โดยไม่รอดูผลการวิเคราะห์ก่อน เนื่องจากต้องการให้เสร็จการทดลองเร็ว ๆ จะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่น ผลที่ตามมาคือต้องกลับมาทำการทดลองใหม่อยู่เสมอ

ในกรณีของระบบที่เป็นแบบ batch นั้นแตกต่างออกไป ตัวอย่างเช่นเราต้องการศึกษาผลของอุณหภูมิที่มีต่อการทำปฏิกิริยาในช่วงอุณหภูมิ 70-90 องศาเซลเซียส เราก็ควรทำการทดลองที่อุณหภูมิที่จุดปลาย 2 ข้างก่อน คือที่ 70 องศาเซลเซียสและที่ 90 องศาเซลเซียส ความแตกต่างของผลการทดลองที่ได้จากสองอุณหภูมินี้จะเป็นตัวกำหนดว่าในช่วง 70-90 องศาเซลเซียสนั้นเราควรทำการทดลองที่อุณหภูมิใดบ้าง ถ้าพบว่าแตกต่างกันมากเราก็อาจต้องทำการทดลองที่ 75 80 และ 85 องศาเซลเซียสเพิ่มเติม แต่ถ้าแตกต่างกันไม่มากเราก็อาจทำการทดลองเพียงแค่ที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียสที่เดียวพอ

อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่การศึกษาความคงทนต่ออุณหภูมิ (thermal stability) ของตัวเร่งปฏิกิริยา เช่นในกรณีที่เราคาดว่าตัวเร่งปฏิกิริยานั้นในสภาพใช้งานจริงไม่ควรเจออุณหภูมิสูงเกิน 500 องศาเซลเซียส เวลาที่จะทดสอบความทนต่ออุณหภูมิเราก็อาจนำตัวเร่งปฏิกิริยานั้นมาใช้งานที่ 550 หรือ 600 องศาเซลเซียส (หรือที่อุณหภูมิใด ๆ ที่เหมาะสมที่สูงเกินกว่า 500 องศาเซลเซียส) ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สูงเกินว่าอุณหภูมิการใช้งานปรกติ

ตัวอย่างที่ 4 องค์ประกอบที่เปลี่ยนแปลงไป

ในการทดลองเพื่อหาผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงปริมาณสาร (เช่น ปริมาณโลหะที่มีอยู่ในตัวเร่งปฏิกิริยา ความเข้มข้นของสารปนเปื้อนในสารตั้งต้น ค่าพีเอชของสารละลาย ฯลฯ) เราต้องทำการทดลองโดยการปรับเปลี่ยนปริมาณสารนั้น ๆ เพื่อดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น กรณีนี้ก็คล้ายคลึงกับการเลือกอุณหภูมิทดสอบ คือในสองการทดลองแรกเราควรเลือกจุดที่คิดว่าน่าจะแตกต่างกันจนเห็นผลก่อน จากนั้นจึงค่อยพิจารณาดูว่าจากผลการทดลองที่ได้มาสองผลนั้น ควรทำการเลือกการทดลองที่จุดต่อไปอย่างไร

ตัวอย่างเช่นสมมุติว่าเราต้องการศึกษาผลของพีเอชที่มีต่อการทำปฏิกิริยาในสารละลายในน้ำที่มีปริมาตรรวม 40 ml การทดลองแรกนั้นเราอาจทำการทดลองโดย

(ก) ใช้น้ำเพียงอย่างเดียว 40 ml ก่อนเพื่อใช้เป็นฐานเปรียบเทียบ

(ข) จากนั้นจึงทำการทดลองที่สองโดยอาจทำการผสมน้ำ 39 ml + กรด 1 ml เพื่อดูผลกระทบที่เกิดจากค่าพีเอชที่ลดลง

(ค) ถ้าพบว่าผลการทดลองที่ได้นั้นแตกต่างกันไม่มาก การทดลองครั้งที่สามก็อาจทำโดยการผสมน้ำ 37 ml + กรด 3 ml (ตรงนี้ผมแค่ยกตัวอย่างนะ กรุณาอย่าเถรตรงมากเกินไป เพราะในความเป็นจริงอาจเป็นน้ำ 38 ml + กรด 2 ml หรือน้ำ 35 ml + กรด 5 ml ก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความแตกต่างระหว่างผลการทดลองสองครั้งแรก) หรือ

(ง) ถ้าพบว่ากรดที่เติมเข้าไปส่งผลกระทบอย่างมาก เราก็อาจปรับเป็นน้ำ 39.5 ml + กรด 0.5 ml หรือใช้น้ำ 39 ml + กรด 1 ml เหมือนเดิม แต่ลดความเข้มข้นของสารละลายกรดที่ใช้แทน

ในกรณีของการศึกษาปริมาณโลหะบนตัวเร่งปฏิกิริยาก็เช่นเดียวกัน เราควรเตรียมตัวเร่งปฏิกิริยาสองตัวที่มีปริมาณโลหะแตกต่างกันมากไว้ก่อน จากนั้นจึงนำตัวเร่งปฏิกิริยาสองตัวนี้ไปทำการทดลอง แต่สิ่งที่ต้องระวังคือบ่อยครั้งที่เราพบว่าการเติมโลหะเข้าไปในปริมาณน้อย ๆ (สมมุติว่าเป็น 1 wt%) กับการเติมโลหะเข้าไปในปริมาณมาก ๆ (สมมุติว่าเป็น 10 wt%) ให้ผลการทดลองที่ไม่ได้แตกต่างกันมาก สิ่งนี้ไม่ได้แปลว่าปริมาณโลหะไม่ส่งผลถึงความสามารถในการทำปฏิกิริยา แต่เป็นเพราะปริมาณโลหะที่ทำให้ตัวเร่งปฏิกิริยามีความว่องไวมากที่สุดนั้นต้องมีปริมาณที่เหมาะสม กล่าวคือไม่มากหรือน้อยเกินไป เพราะพอเรามาทำการทดลองโดยปรับปริมาณโลหะให้อยู่ในช่วง 1-10 wt% ก็อาจพบว่าปริมาณโลหะที่เหมาะสมที่ทำให้ตัวเร่งปฏิกิริยาว่องไวมากที่สุดคือ 3 wt% ก็ได้ ถ้าเติมไปน้อยหรือมากกว่านี้ก็จะทำให้ความว่องไวของตัวเร่งปฏิกิริยาลดลง

การทำการทดลองนั้นไม่ใช่สักแต่ว่าทำตามคำสั่งแบบไม่ให้ผิดเพี้ยน เพราะถ้าผมต้องการคนมาทำการทดลองเพื่อให้ทำแบบตามคำสั่งไม่ให้ผิดเพี้ยนแบบนี้ก็ไม่ต้องรับนิสิตป.โท หรือป.เอก หรอก รับใครก็ได้ที่คิดอะไรไม่เป็นมาทำการทดลองก็ได้ผลเหมือนกัน สิ่งสำคัญที่พวกคุณควรจะได้ไปในระหว่างการทำการทดลองคือการหัดสังเกต (ทั้ง ตาดู หูฟัง และจมูกดมกลิ่น) และการตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะเมื่อการทดลองเริ่มแล้วถ้าหยุดเมื่อใดก็ต้องกลับมาเริ่มใหม่หมด ซึ่งหมายถึงเสียเวลาไปทั้งวันโดยที่ไม่ได้อะไรเลย แต่ถ้าในขณะที่เราเจอปัญหาและเราสามารถแก้ปัญหานั้นได้ทัน (ภาวนาเสมอขอให้พวกคุณมีความสามารถเช่นนั้น) เราก็สามารถทำการทดลองต่อไปได้โดยที่อาจยืดเวลาการทดลองในวันนั้นออกไปหน่อย แต่ไม่ต้องมาเริ่มต้นใหม่หมดในอีกวันถัดมา

เรื่องที่ว่าควรต่างกันเท่าใดนั้นก็เป็นเรื่องยากที่จะให้ระบุเป็นตัวเลขลงไป เพราะมันเปรียบเสมือนการขับรถแล้วคุณต้องหยุดรถนั่นแหละ คุณตอบได้ไหมว่าควรจะเหยียบเบรคแรงเท่าใด จะค่อย ๆ เหยียบลงไปช้า ๆ หรือกระทืบลงไปทันที ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับความเร็วรถที่คุณขับและระยะห่างระหว่างรถของคุณกับรถคันข้างหน้า หรือเส้นหยุดรถ หรือบางรายที่ขับรถเกียร์ธรรมดาเข้าก็จะบอกว่าถ้าขับมาเร็ว ๆ ก็ให้ลดเกียร์ลงต่ำก่อน แล้วค่อยเหยียบเบรค จะเห็นว่าการลดความเร็วรถได้อย่าง "ปลอดภัย" ไม่จำเป็นต้องใช้เบรคเพียงอย่างเดียวเสมอไป

ว่าแต่ว่าวันนี้ คุณอยากฝึกใช้ความคิดบ้างหรือยัง

ไม่มีความคิดเห็น: