วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2560

ตกค้างเพราะเปียกพื้นผิว MO Memoir : Thursday 9 March 2560

เรื่องน้ำเปียกผิวแก้วนี่เป็นเรื่องปรกติที่เชื่อว่าเป็นที่รู้กันทั่วไป เวลาที่เรารินน้ำจากแก้วใบหนึ่งใส่แก้วอีกใบหนึ่งจน "หมด" (คือไม่มีหยดน้ำไหลออกแล้ว) เราจะพบว่าแก้วที่รินน้ำออกนั้นจะมีน้ำบางส่วนเปียกพื้นผิวอยู่ ดังนั้นน้ำที่สามารถรินใส่แก้วอีกใบหนึ่งได้นั้นจะน้อยกว่าน้ำที่อยู่ในแก้วใบเดิมเล็กน้อย เรื่องนี้ในชีวิตประจำวันไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาอะไร แต่สำหรับงานทางเคมีที่ต้องการความละเอียดสูง เป็นเรื่องที่ควรคำนึง เพื่อให้เห็นภาพ ขอเริ่มจากการทดลองง่าย ๆ ด้วยการรินน้ำจากกระบอกตวงใบหนึ่งใส่กระบอกตวงอีกใบหนึ่งดังรูปที่ ๑ ข้างล่าง


รูปที่ ๑ รินน้ำจากกระบอกตวงขนาด 25 ml ใบซ้ายใส่กระบอกตวงขนาด 25 ml ใบขวา จะเห็นว่าปริมาตรน้ำที่รินได้นั้นจะลดลงเล็กน้อย (กระบอกตวงแต่ละใบมีการสอบเทียบความถูกต้องและมีเอกสารรับรองประจำแต่ละใบ)
 
จากรูปที่ ๑ จะเห็นว่าปริมาตรที่หายไปนั้นแม้ว่าจะน้อย แต่ก็สังเกตด้วยตาเปล่าเห็น สำหรับงานที่ไม่ได้ต้องการความถูกต้องสูงมาก การใช้กระบอกตวงตวงของเหลวก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ที่มันเป็นปัญหาก็คือ เคยเห็นนิสิตบางคนเวลาทำแลปจะเตรียม "สาระลายมาตรฐานปฐมภูมิ (primary standard)" ด้วยการชั่งของแข็งที่ต้องการละลาย (เช่น AgNO3) ใส่ในบีกเกอร์ จากนั้นก็ใช้กระบอกตวงตวงน้ำให้ได้ปริมาตรที่ต้องการแล้วเทใส่บีกเกอร์ (ถ้าเป็นสารละลายมาตรฐานทุติยภูมิ หรือ secondary standard ก็ยังพอว่า เพราะยังไงท้ายสุดแล้วพอได้สารละลายแล้วก็ต้องนำสารละลายที่ได้ไปหาความเข้มข้นที่แน่นอนอีกที) วิธีการที่ดีกว่าคือการใช้ขวดวัดปริมาตร (volumetric flask) แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา (รูปที่ ๒)
 
รูปที่ ๒ การเติมน้ำใส่ขวดวัดปริมาตร ควรระวังอย่าให้น้ำเปียกผิวแก้วบริเวณที่อยู่สูงกว่าขีดวัดปริมาตร เพราะถ้าเติมจนพอดีขีดวัดปริมาตร น้ำส่วนที่เปียกผิวแก้วนั้นจะเป็นน้ำส่วนเกิน ในทางกลับกันพอเราเติมน้ำได้พอดีแล้วทำการพลิกขวดเพื่อให้สารละลายในขวดเป็นเนิ้อเดียวกัน พอวางขวดตั้งใหม่จะเห็นระดับน้ำลดต่ำลงเล็กน้อย เพราะบางส่วนไปเปียกผิวแก้วอยู่ข้างบน ไม่ต้องทำการเติมน้ำเข้าไปชดเชย 
  
อุปกรณ์วัดปริมาตรของเหลวนั้น เราจะเติมของเหลวจนถึงระดับขีดปริมาตรที่ต้องการ ความถูกต้องในการอ่านนั้นขึ้นอยู่กับพื้นที่หน้าตัดของบริเวณที่แสดงขีดวัดปริมาตร ถ้าบริเวณดังกล่าวมีพื้นที่หน้าตัดเล็ก ปริมาตรของเหลวที่เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยจะทำให้เห็นการเปลี่ยนระดับความสูงที่ชัดเจน อุปกรณ์พวก transfer pipette จึงวัดปริมาตรได้ถูกต้องกว่ากระบอกตวง (เพราะพื้นที่หน้าตัดตรงบริเวณขีดบอกปริมาตรของ transfer pipette นั้นเล็กกว่าของกระบอกตวงมาก) ส่วนบีกเกอร์นั้นเป็นอุปกรณ์วัดปริมาตรแบบคร่าว ๆ (งานที่ไม่ได้ต้องการความถูกต้องสูง) ไม่เหมาะสำหรับการใช้วัดปริมาตรของเหลวเพื่อเตรียมสารละลายมาตรฐานใด ๆ รูปที่ ๓ ข้างล่างได้มาจากการเติมน้ำใส่ volumetric flask ขนาด 100 ml ก่อน จากนั้นจึงเทน้ำดังกล่าวใส่บีกเกอร์ขนาด 600 ml จะเห็นความแตกต่างของระดับอยู่ (แต่อย่าเพิ่งรีบสรุปนะครับว่าขีดบอกปริมาตรข้างบีกเกอร์มันบอกปริมาตรสูงเกินจริง บางใบที่เคยเห็นมันก็บอกต่ำกว่าความเป็นจริง) นอกจากนี้ด้วยการที่บีกเกอร์มีพื้นที่หน้าตัดกว้าง ทำให้ยากที่จะสังเกตเห็นหรือไม่สามารถมองเห็นระดับความสูงของของเหลวที่เปลี่ยนแปลงเมื่อปริมาตรของเหลวมีความแตกต่างกันในระดับ "หยด" ในขณะที่ความแตกต่างดังกล่าวจะเห็นได้ชัดกับอุปกรณ์วัดปริมาตรพวก ปิเปต บิวเรต และขวดวัดปริมาตร
 
ที่หนักกว่าตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นคือ ตอนสอนแลปเคมีได้มีโอกาสเห็นนิสิตบางรายเตรียมสารละลายมาตรฐานด้วยการใช้ขีดบอกปริมาตรข้างบีกเกอร์นี่แหละเป็นตัวบอกปริมาตรน้ำ (คือใช้บีกเกอร์แทนขวดวัดปริมาตร เพราะการกวนของแข็งให้ละลายในบีกเกอร์มันง่ายกว่าการเขย่าให้มันละลายในขวดวัดปริมาตร)
 
รูปที่ ๓ ปริมาตรน้ำที่ขอบบีกเกอร์ 600 ml

ทิ้งท้ายด้วยคำถามที่คิดเราน่าจะพิจารณาทบทวนกันก็คือ เรื่องพื้นฐานเช่นนี้ ควรสอนกันในระดับโรงเรียน (ที่เห็นมีนักเรียนไปแข่งโอลิมปิควิชาการ ได้เหรียญต่าง ๆ กลับมากันมากมาย) หรือต้องมาสอนกันในระดับมหาวิทยาลัย

ไม่มีความคิดเห็น: