วันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เสาสะพานกลางแม่น้ำเจ้าพระยา MO Memoir : Friday 21 July 2560

ข้อความข้างล่างเป็นส่วนหนึ่งของบทความเรื่อง "โครงการสะพานพระราม 8 ถ่ายทอดเทคโนโลยีสะพานขึงแบบอสมมาตรให้วิศวกรไทย วันที่ : 12/2/2003"
(อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่หน้าเว็บ http://www.technologymedia.co.th/column/columnview.asp?id=125 )

พิจารณาหลายด้านทำให้สะพานไม่มีเสา

มานะ นพพันธ์ รองปลัดกรุงเทพฯมหานคร ในฐานะผู้จัดการโครงการสะพานพระราม 8 ชี้แจงถึงการเลือกสร้างสะพานพระราม 8 บริเวณโรงสุราบางยี่ขันและถนนวิสุทธิกษัตริย์ว่า ก่อนหน้านี้ได้พิจารณาสร้างสะพานมาหลายจุดจนพบว่าจุดที่เหมาะสมที่สุด คือบริเวณดังกล่าว เนื่องจากเหมาะกับการแก้ปัญหาจราจร ปัญหาสภาพแวดล้อมและผลกระทบต่อประชาชนในการเวนคืนที่ดิน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง
 
จากนั้นเริ่มออกแบบการก่อสร้าง โดยพิจารณาถึงปัจจัยสำคัญทั้งในเรื่องสภาพแวดล้อมของช่วงแม่น้ำแคบที่เป็นคอขอด ที่ตั้งของตำหนักวังบางขุนพรหม ซึ่งอยู่ใกล้สะพานและเป็นจุดตั้งขบวนเรือพระราชพิธีจากท่าวาสุกรี และนำมาเป็นแนวคิดหลัก (Concept) ในการออกแบบ ซึ่งได้สรุปในการออกแบบสะพานให้ไม่มีเสา เพื่อที่จะได้ไม่ไปรีดช่องแม่น้ำให้แคบและบดบังทัศนียภาพของตำหนักวังบางขุนพรหม ทั้งนี้การสร้างสะพานช่วงยาวให้ไม่มีเสาได้จะต้องขึงแบบอสมมาตร โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษาแนวคิดหลักเบื้องต้นและออกแบบประมาณ 1 ปี
 
"คอนเซ็ปต์ในการออกแบบสะพานพระราม 8 เริ่มต้นมาจาก หนึ่งต้องการรักษาทัศนียภาพของตำหนัก สองเรื่องความปลอดภัยของขบวนเรือพระราชพิธีและการมองเห็น และสามไม่ให้แย่งพื้นที่กระแสน้ำ เนื่องจากปี 2538 เป็นปีที่น้ำท่วมมาก 3 ปัจจัยนี้เป็นตัวหลัก ทำให้เกิดเป็นสะพานที่ไม่มีเสาในแม่น้ำซึ่งมีประเภทเดียวเท่านั้นที่สร้างได้ คือ แบบขึงอสมมาตร"

ข้อความข้างต้นคือแนวความคิดในการออกแบบสะพานพระราม ๘ เมื่อกว่า ๒๐ ปีที่แล้ว ที่อาจเป็นระยะเวลานานเกินไปจนคนรุ่นหลังไม่เคยรู้ว่า (หรือสังเกตเห็นว่า) ทำไมสะพานพระราม ๘ จึงไม่มีเสาสะพานกลางลำน้ำเจ้าพระยา และเหตุผลสำคัญเหตุผลหนึ่งก็คือ "การไม่ต้องการให้มีสิ่งกีดขวางพื้นที่การไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา" และการที่ไม่ทราบว่าวิถีชีวิตหรือสภาพแวดล้อมของบริเวณดังกล่าวนั้นเคยมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง มันก็อาจทำให้สิ่งที่จะก่อสร้างขึ้นมาใหม่นั้นก่อให้เกิดปัญหาถาวรได้
 
การจราจรทางเรือช่วงตั้งแต่ โรงพยาบาลศิริราช-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทางด้านทิศเหนือ ไปจนถึงบริเวณวัดระฆังโฆสิตาราม-ท่าช้าง ทางด้านทิศใต้ น่าจะเป็นบริเวณที่มีการสัญจรทางเรือหนาแน่นที่สุดของลำน้ำเจ้าพระยา เพราะไม่เพียงแต่มีท่าเรือข้ามฟากจำนวนหลายท่าอยู่ในบริเวณนั้น ยังมีเรือบรรทุกสินค้าและเรือนักท่องเที่ยวใช้เส้นทางช่วงดังกล่าวมากด้วย และจะว่าไปแล้วแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงบริเวณดังกล่าวก็ไม่ได้กว้างเท่าใดนัก (อาจจะแคบกว่าบริเวณที่ตั้งของสะพานพระราม ๘ ด้วยซ้ำ เพราะอันที่จริงแม่น้ำช่วงนี้เดิมมันเป็นคลองที่ขุดขึ้นมาเพื่อลดระยะเวลาการเดินทางในลำน้ำ ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมกลายเป็นคลองบางกอกน้อย คลองชักพระ และคลองบางกอกใหญ่ คลองที่ขุดขึ้นมาใหม่นี้กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาแทน) 

(บันทึกจากหน้าเว็บเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ราว ๆ ๑๑ โมงเศษ)

ภาพจากบทความเรื่อง "กทม.แจงสะพานเชื่อศิริราช-ท่าพระจันทร์อยู่ในแผนแม่บท ยืนยันคุ้มค่าลงทุน 18 กรกฎาคม 2560 เวลา 19:36 น. อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ :http://www.posttoday.com/local/bkk/503989 (บันทึกภาพจากหน้าเว็บไว้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ราว ๆ ๑๑ โมงเศษ) จะเห็นแบบสะพานที่มีเสาตอม่ออยู่ทางด้านซ้ายมือในรูป (ฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือท่าพระจันทร์)

ช่วงไม่กี่วันมานี้เห็นมีภาพข่าวแผนการที่จะสร้างสะพานให้คนเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงระหว่างท่าพระจันทร์กับโรงพยาบาลศิริราช (น่าจะเป็นตรงท่าพรานนก) โดยหวังว่าจะเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพิ่มเติม แต่สำหรับการย่นระยะเวลาการเดินทางนั้น จะว่าไปยังสงสัยอยู่ เพราะโดยสภาพบ้านเราที่อากาศร้อนและแดดแรง ทำให้คนไทยไม่ชอบที่จะเดิน (เว้นแต่ว่าเขาจะสร้างหลังคนบังแดดบังฝนให้กับทางคนเดินบนสะพานด้วย) แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ แนวความคิดที่จะสร้างสะพานให้คนเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาดังกล่าว กลับเลือกนำเสนอแบบสะพานที่มีเสากลางลำน้ำเจ้าพระยา และเป็นช่วงที่เป็นคอขวดของลำน้ำเสียด้วย (หวังว่าแบบสะพานนี้คงไม่ใช่แบบที่จะนำมาก่อสร้างจริงนะ)
จะว่าไปสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสะพานแรกที่หลีกเลี่ยงการสร้างเสาสะพานกลางลำน้ำก็คือสะพานพระราม ๙ แต่นั่นก็ด้วยเหตุผลที่ว่าบริเวณนั้นมีเรือขนาดใหญ่สัญจรมายังโกดังสินค้า เป็นช่วงแม่น้ำที่กว้างที่ใช้สำหรับเรือขนาดใหญ่กลับลำ ทำให้ตัวสะพานมีความสูงจากท้องน้ำมากและช่วงกลางสะพานนั้นยาวเป็นพิเศษ

สิ่งก่อสร้างที่แม้ว่าจะก่อประโยชน์การใช้งานใหม่ขึ้นมา ถ้าไปทำลายประโยชน์การใช้งานเดิมที่ยังจำเป็นอยู่ให้สูญเสียไป (แบบถาวรและยากที่จะเยียวยา) ก็ไม่คิดว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างนั้นควรเป็นสิ่งที่ควรสร้างขึ้นมา

ไม่มีความคิดเห็น: