เตาแก๊สที่บ้านจะมีตัวจุดไฟที่ใช้ประกายไฟโดยใช้ไฟฟ้าที่ได้มาจากถ่ายไฟฉาย พอใช้งานไปเรื่อย ๆ มันก็เริ่มจุดไม่ค่อยติด นั่นก็เป็นเพราะความสกปรกที่เกาะมันกันไม่ให้เกิดประกายไฟฟ้า ก่อนหน้านี้ก็แก้ไขด้วยการถอดชิ้นส่วนออกมาทำความสะอาด ขัดกระดาษทราย หรือไม่ก็เอาปลายไขขวงแข็ง ๆ ขูดเอาคราบสกปรกออก มันก็กลับมาทำงานได้ใหม่ แต่รอบนี้ท่าทางคราบจะยึดติดแน่นมาก ขัดกระดาษทรายก็แล้ว เอาปลายไขควงขูดก็แล้ว ก็ยังใช้งานไม่ได้ สุดท้ายก็เลยต้องใช้น้ำยาล้างห้องน้ำเป็นตัวช่วย
น้ำยาล้างห้องน้ำมีหลายสูตร สูตรดั้งเดิมที่ราคาไม่แพงจะใช้กรดเกลือ (hydrochloric acid หรือ HCl) เข้มข้น 10% เป็นส่วนผสมหลัก สูตรนี้จะละลายพวกคราบหินปูนได้ดี แต่เวลาใช้ก็ต้องระวังมันกัดผิวหนัง ตัวที่เอาทำทำความสะอาดหัวเตาก็เป็นน้ำยาล้างห้องน้ำสูตรนี้
ชิ้นส่วนหัวเตาชิ้นเล็กที่ถอดได้นั้นก็ถอดเอามาแช่ในน้ำยาล้างห้องน้ำ (ในถ้วยพลาสติกเล็ก ๆ) ซึ่งมันก็ได้ผลดีคือมีเนื้อโลหะมันวาวปรากฏให้เห็น แต่ที่แปลกใจคือตอนแรกเข้าใจว่าหัวเตาเดิมนั้นเป็นเหล็ก แต่พอล้างคราบสกปรกออกก็เห็นว่ามันเป็นทองเหลือง ส่วนบริเวณตัวหัวจุดระเบิด (ตัวแท่งเซรามิกสีขาว ๆ ตรงกลางซ้ายในรูปที่ ๑) กับบริเวณส่วนฐาน (ของส่วนหัวที่ถอดออกมา) ตรงนี้ก็ใช้ก้านสำลีจุ่มน้ำยาล้างห้องน้ำแล้วเอาไปขัดถูก บริเวณนี้ต้องทำความสะอาดด้วยเพื่อให้ไฟฟ้าไหลได้ครบวงจร (คือประกายไฟมันจะกระโดดจากหัวจุดระเบิดไปยังหัวเตาโลหะกลมที่อยู่ตรงกลาง เนื่องจากตัวหัวเตาโลหะนี้ถอดออกมาทำความสะอาดได้ ก็ต้องทำความสะอาดตรงจุดสัมผัสของตัวเตากับตัวเตาด้วย) เสร็จแล้วก็ลองจุดเตาดู ก็พบว่ามันสามารถกลับมาทำงานได้เหมือนเดิม แต่สีของเปลวไฟตรงส่วนหัวเตาที่ทำความสะอาด มันไม่ได้เป็นสีฟ้าเหมือนเดิม (รูปที่ ๒) มันกลายเป็นสีเขียว
รูปที่ ๑ หัวเตาแก๊สที่ทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำที่เป็นสูตรกรดเกลือ (เฉพาะบริเวณตรงกลาง) คลอไรด์ทำปฏิกิริยากับโลหะทองแดงกลายเป็น CuCl2 ซึ่งเมื่อเผาไฟจะได้เปลวไฟสีเขียว
Beilstein test เป็นวิธีการทดสอบเชิงคุณภาพว่าตัวอย่างนั้นมีสารประกอบ organic halide ปนอยู่หรือไม่ (การทดสอบนี้ใช้ไม่ได้กับกรณีฟลูออไรด์) วิธีการทดสอบจะใช้ลวดทองแดงเส้นเล็ก ๆ มาขดเป็นบ่วงเล็ก ๆ ที่ปลายข้างหนึ่ง จากนั้นก็จะเอาปลายข้างที่เป็นบ่วงนั้นไปเผาไฟเพื่อให้กลายเกิดสารประกอบ CuO จากนั้นจึงนำส่วนที่เป็นบ่วงนั้นไปตักหรือจุ่มลงในตัวอย่างเพื่อให้มีตัวอย่างติดมากับส่วนที่เป็นบ่วงนั้น แล้วนำมาเผาไฟใหม่ ถ้าได้เปลวไฟสีเขียวก็แสดงว่าตัวอย่างนั้นมีสารประกอบเฮไลด์ อย่างเช่นในกรณีของคลอรีนนั้นมันจะทำปฏิกิริยากับ CuO กลายเป็น CuCl2 ซึ่งเมื่อเผาไฟก็จะเกิดเปลวไฟสีเขียว ในกรณีของหัวเตานี้ทองเหลืองก็มีโลหะทองแดงเป็นองค์ประกอบ ก็เลยได้ผลทำนองเดียวกัน
ในเรื่อง "ตรวจสอบน้ำยาแอร์รั่วด้วยตะเกียงแก๊ส" (Memoir ฉบับวันจันทร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒) ที่เป็นการทดสอบแบบเดียวกันนั้น น้ำยาแอร์สำหรับรถยนต์ที่ใช้กันตอนนี้ก็คือ R134a หรือ 1,1,1,2-Tetrafluoroethane ที่มีสูตรเคมีว่า F3CCH2F ซึ่งจะเห็นว่ามันไม่มี Cl เป็นองค์ประกอบแต่การทดสอบก็ให้เปลวไฟสีเขียวได้ ตรงนี้อาจเป็นเพราะว่า R134a นั้นใช้ trichloroethylene (HCl=CCl2) เป็นสารตั้งต้นในการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้งาน (ความเข้มข้นอย่างต่ำ 99.5%) ยังมีสารประกอบคลอรีนปนอยู่เล็กน้อย และตัวสารประกอบคลอรีนที่ปนเปื้อนอยู่ก็เป็นตัวที่ทำให้เกิดเปลวไฟสีเขียว ซึ่งก็แสดงว่าวิธีการทดสอบเชิงคุณภาพวิธีการนี้ ก็มีความว่องไวในการตรวจสูงอยู่เหมือนกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น