วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2559

ห้วยโก๋น น่าน (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๐๒) MO Memoir : Saturday 9 April 2559

"อย่าออกไปนอกเขตนะครับ ยังกู้กับระเบิดไม่หมด"
 
นั่นเป็นคำเตือนที่เจ้าหน้าที่ประจำฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋น (เก่า) เตือนไว้ก่อนผมจะเดินเข้าไปเยี่ยมชมภายใน


รูปที่ ๑ รายชื่อทหารผู้เสียชีวิตในการรบที่ฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋น

พฤษภาคม ๒๕๕๒ ผมพาครอบครัวไปเที่ยวยังภาคเหนือด้านตะวันตก เราโดยสารเครื่องบินไปลงที่สนามบินเชียงราย จากนั้นก็ขับรถเช่าที่จองไว้ล่วงหน้าออกจากสนามบินไปพักค้างคืนที่ จ. พะเยา ๑ คืน เช้าวันรุ่งขึ้นก็ขับรถออกจากพะเยาเพื่อตรงไปยังเป้าหมายหลักคือ อ. บ่อเกลือ จ. น่าน
 
จาก อ. เมือง น่าน ตรงไปยัง อ. ปัว แวะเติมน้ำมันรถให้เต็มถัง พร้อมทั้งสอบถามเส้นทางว่าที่ อ. บ่อเกลือ มีปั๊มน้ำมันหรือเปล่า ก็ได้คำตอบว่ามีแต่ปั๊มหลอด จากนั้นก็เดินทางโดยใช้เส้นทางผ่านอุทยานแห่งชาติดอยภูคา แวะพักถ่ายรูปนิดนึงแล้วก็เดินทางต่อไปยัง อ. บ่อเกลือ โดยใช้ทางหลวงแผ่นดินสาย ๑๒๕๖ ช่วงที่ไปนั้นถนนบางช่วงเหลือความกว้างเพียงแค่เลนครึ่ง คืออีกครึ่งเลนมันทรุดตัวลงไปในหุบเขาข้างล่าง นับว่าเป็นทางที่สวยงามและให้ความสนุกในการขับรถเส้นหนึ่ง หวังว่าในอนาคตมันยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป คงไม่ถูกขยายให้กว้างด้วยการตัดเขาหรือขยายจนเป็นเส้นทางสี่เลน

รูปที่ ๒ แผนที่ท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๒๑๗ (พ.ศ. ๒๕๓๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตราส่วน 1:500,000 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๑๐๕ ตอนที่ ๒๙ วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ กำหนดเขตป่าสงวนแห่งชาติในท้องที่ จ. น่าน เส้นทางขับรถคือตามแนวเส้นประสีส้ม บ้านห้วยโก๋นและบ้านสบปืน อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมข้างบน

รูปที่ ๓ บนเส้นทางสาย ๑๐๘๑ ช่วงบ้านเวร มุ่งหน้าไปยัง อ. เฉลิมพรเกียรติ ถ่ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒

ไปถึงบ้านบ่อเกลือก็บ่ายแล้ว วันนั้นได้คุยกับคนที่นั่นถึงเส้นทางการเดินทางจากบ้านบ่อเกลือ เลียบชายแดนไทย-ลาวและแม่น้ำน่าน ไปยังบ้านห้วยโก๋น ที่ปัจจุบันอยู่ใน อ. เฉลิมพระเกียรติ ทราบมาว่าเป็นเส้นทางที่แทบไม่มีผู้คนเดินทาง แต่รถยนต์สามารถผ่านได้ ถนนรถสวนกันได้เกือบตลอดเส้นทาง (ถ้าไม่มีเหตุไหลทางทรุดตัวลงเหว)
 
เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากเที่ยวชมบ้านบ่อเกลือเล็กน้อยก็ออกเดินทางต่อไปยัง อ. เฉลิมพระเกียรติ ไปตามเส้นทางสาย ๑๐๘๑ ขับรถไปเรื่อย ๆ ไม่ได้รีบร้อนอะไร ตอนนั้นที่ไป สภาพเส้นทางยังพอเป็นถนนลาดยางสภาพใช้ได้ไปจนถึงอุทยานแห่งชาติที่เป็นต้นแม่น้ำน่าน ถัดออกไปเส้นทางมันกลายเป็นแบบชมธรรมชาติจริง ๆ คือแทบไม่มีป้ายบอกทางเลยว่าข้างหน้าทางจะเป็นอย่างไร แถมยังไม่มีอะไรบอกด้วยว่าไหลทางอยู่ตรงไหน ขืนออกนอกถนนก็มีสิทธิลงไปยังหุบเหวข้างล่างได้ง่าย ระหว่างการเดินทางก็เจอแต่รถมอเตอร์ไซค์ชาวบ้านเพียงไม่กี่คัน และรถปิ๊คอัพสักสองหรือสามคันเท่านั้น ส่วนตัวแล้วชอบขับรถตามเส้นทางแบบนี้ เพราะชอบที่จะชมวิวทิวทัศน์สองข้างทางตลอดการเดินทาง ได้เห็นอะไรต่อมิอะไรหลายหลาย ไม่ได้เป็นพวกประเภทต้องรีบ ๆ เร่งไปให้ถึงปลายทางโดยเร็ว ระหว่างการเดินทางยังได้แวะทักทายกับเจ้าหน้าที่ทหารและทหารพราน ที่มีฐานปฏิบัติการอยู่บนเส้นทางดังกล่าวด้วย 
  
ดู ๆ แล้วถนนเส้นนี้น่าจะเป็นเส้นทางสายยุทธศาสตร์เพื่อใช้ในการส่งกำลังบำรุงและการป้องกันประเภท ในช่วงที่ยังมีภัยคุกคามจากพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะชายแดนไทย-ลาวตรงบริเวณจังหวัดน่านนี้มันไม่ได้มีแม่น้ำโขงขวางกั้นเหมือนทางภาคอีสาน มันเป็นเพียงแค่ทิวเขากับลำน้ำเล็ก ๆ ดังนั้นในอดีตที่บริเวณนี้ยังเป็นป่าอยู่ การข้ามแดนจากฝั่งตรงข้ามโดยหลุดรอดการตรวจจับจึงกระทำได้ง่าย และจะว่าไปแล้วถ้าสังเกตการตัดถนนตามแนวชายแดนของเรากับประเทศเพื่อนบ้านทางภาคเหนือและภาคอีสาน ก็มักจะพบว่ามีเส้นทางเลียบชายแดนเกือบตลอดแนวพรมแดน 

รูปที่ ๔ บนเส้นทางสาย ๑๐๘๑ ช่วงบ้านเวร มุ่งหน้าไปยัง อ. เฉลิมพรเกียรติ ถ่ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒

จุดหมายปลายทางหลักของการเดินทางท่องเที่ยวในครั้งนั้นคือการไปยังฐานปฏิบัติการบ้านห้วยโก๋น ที่ปัจจุบันอยู่ในเขตของ อ. เฉลิมพระเกียรติ (แยกออกมาจาก อ. ทุ่งช้าง) จำได้ว่าสมัยเด็ก ๆ นั้นข่าวการรบที่ จ. น่าน นี้รุนแรงมาก และหนึ่งในการรบที่รุนแรงครั้งหนึ่งเห็นจะได้แก่การรบในเช้ามืดวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๑๘ ที่ในครั้งนั้นต้องมีการร้องขอให้ฐานปืนใหญ่ที่บ้านสบปืนยิงลงฐานพวกเดียวกันเอง

ตรงเวลาเกิดเหตุนั้นข้อมูลหลายแหล่งมีความขัดแย้งกันอยู่ โปสเตอร์ที่ติดไว้หน้าฐานที่เป็นบทสัมภาษณ์ทหารที่ประจำฐานปฏิบัติการดังกล่าวในเหตุการณ์ก่อนวันปะทะและวันปะทะระบุว่าเป็นช่วงวันที่ -๙ ตุลาคม ๒๕๑๗ (เหตุผลที่เชื่อว่าเป็นการเล่าเหตุการณ์ในวันนั้นก็เพราะมีการเอ่ยถึงชื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว - ดูรูปโปสเตอร์ด้านท้าย) แต่บทสัมภาษณ์ดังกล่าวก็มีความขัดแย้งเรื่องเวลาอยู่ตรงโปสเตอร์บทสัมภาษณ์ของ พลฯ ดาว เภตรา ที่กล่าวว่าได้รับบาดเจ็บ ไปนอนพักรักษาตัว ได้หยุดพัก ๑ เดือน และกลับมาประจำการที่ฐานดังกล่าวใหม่อีกครั้งในเดือน "ตุลาคม ๒๕๑๗" และปลดประจำการในเดือนนั้น
 
ข้อมูลที่ให้รายละเอียดเหตุการณ์ในวันดังกล่าวมากเป็นพิเศษเห็นจะเป็นข้อมูลที่มีการนำเผยแพร่ในเว็บ http://www.iseehistory.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538711211 ที่มีการสแกนสิ่งตีพิมพ์วารสารทางทหารต้นฉบับที่เล่าเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมีการระบุการสู้รบว่าเป็นวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๑๘

ถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ ๙ เมษายน ดังนั้นวันนี้ก็เป็นวันครบรอบ ๔๑ ปีของเหตุการณ์ดังกล่าว

รูปที่ ๕ สาย ๑๐๘๑ ช่วงบ้านบ่อหยวก-บ้านนาส้ม ที่เห็นต่ำลงไปข้างล่างคือลำน้ำน่าน ถ่ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ภูเขาแถวนี้ที่อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติ ไม่มีต้นไม้ใหญ่เหลือแล้ว

ไม่ได้มีแต่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่เป็นเป้าหมายในการโจมตีของฝ่ายตรงข้าม บรรดาเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงที่ทำหน้าที่บุกเบิกเส้นทางก็ต้องสูญเสียชีวิตไปเป็นจำนวนไม่น้อย บทความหนี่งที่น่าสนใจเป็นบทความสัมภาษณ์วิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้างเส้นทางสาย น่าน-ปัว-ทุ่งช้าง-ปอน-ห้วยโก๋น คุณเสถียร ชาติพงษ์ ที่เผยแพร่ในเว็บวารสารทางหลวง http://www.dohjournal.com/index.php?option=com_content&view=article&id=365:-4-2555&catid=56:2012-06-09-18-03-34&Itemid=91 (เส้นทางสายนี้คงเป็นสาย ๑๐๑ ในปัจจุบัน)
แม้ว่าการรบในบริเวณดังกล่าวจะสงบมากว่า ๒๐ ปีแล้ว แต่บริเวณรอบ ๆ ก็ยังมีกับระเบิดที่กู้ออกไม่หมด (ดูเหมือนว่าพื้นที่ป่าใน จ. น่าน ปัจจุบันยังคงมีปัญหานี้อยู่) การเยี่ยมชมจึงต้องอยู่ในบริเวณที่เจ้าหน้าที่กำหนด วันนั้นออกจากห้วยโก๋น ก็บ่ายกว่าแล้ว ตั้งเป้าว่าจะไปหาที่พักนอนตอนเย็นในอำเภอใดอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ระหว่างทางก็ได้แวะไปทำความเคารพอนุสรณ์สถาน พลเรือน ตำรวจ ทหาร (เรียกย่อว่า พ.ต.ท.) ณ อ. ทุ่งช้าง จ. น่าน ที่อยู่ริมทางหลวงสาย ๑๐๑
 
แม้ว่าปัจจุบันบริเวณนี้จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนเมืองเริ่มเดินทางไปมากขึ้น แต่สงสัยอยู่เหมือนกันว่าในปัจจุบันจะมีสักกี่คนที่จะสนใจว่ากว่าเส้นทางเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีผู้เสียสละชีวิตไปเป็นจำนวนเท่าใด ส่วนที่ฐานปฏิบัติการห้วยโก๋น (เก่านั้น)


รูปที่ ๖  สาย ๑๐๘๑ ช่วงบ้านบ่อหยวก-บ้านนาส้ม บริเวณเดียวกับในรูปที่ ๕ ที่เห็นต่ำลงไปข้างล่างคือลำน้ำน่าน ถ่ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒ แทบจะไม่เห็นไม้ใหญ่บนเขาต่าง ๆ เลย ส่วนสภาพเส้นทางด้านหนึ่งจะเป็นเนินเขา ส่วนอีกด้านก็จะต่ำลงไปยังทางน้ำไหลข้างล่าง


(บน) คลังเก็บกระสุนเครื่องยิงลูกระเบิด ๖๐ มิลลิเมตร
















ไม่มีความคิดเห็น: