วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554

เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี MO Memoir : Friday 15 April 2554

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๔ หรือที่ใครต่อใครมักเรียกกันว่าถนนบางนา-ตราดนั้น ก็พอจะเข้าใจได้ว่าเป็นเพราะจุดเริ่มต้นของถนน (หลักกม. ๐) อยู่ที่เขตบางนา จังหวัดกรุงเทพมหานคร แต่ที่ผมไม่เข้าใจก็คือสุดถนนนั้นมันไม่ได้อยู่ที่จังหวัดตราด แต่เดิมมันอยู่ก่อนแม่น้ำบางปะกง ดังนั้นถ้าเรียกมันว่าถนนบางนา-บางปะกงก็น่าจะถูกต้องกว่า

ถ้ามุ่งหน้ามาจากทางกรุงเทพ พอถึงประมาณกิโลเมตรที่ ๔๙ ถนนสายนี้ก็จะมาบรรจบกับเส้นสุขุมวิท (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓) ที่บริเวณท่าข้าม ก่อนข้ามแม่น้ำบางปะกง (ด้านที่บรรจบจะอยู่ฝั่งทางด้านขาเข้ากรุงเทพ ตามรูปที่ ๑) ตรงนี้ก็ยังมีซากสะพานข้ามแม่น้ำสะพานเก่าให้เห็นอยู่ เป็นสะพานเล็ก ๆ ขนาดสองช่องทางเดินรถ

พอข้ามแม่น้ำบางปะกงแล้ว ถนนสุขุมวิทก็จะแยกออกทางขวาเข้าสู่ชุมชนท่าข้าม (จังหวัดฉะเชิงเทรา) แล้ววกกลับเข้ามาบรรจบกับถนนบางนา-ตราดใหม่ประมาณกิโลเมตรที่ ๕๔-๕๕ ซึ่งคือตำแหน่งก่อนสุดทางด่วนยกระดับสายบูรพาวิถี

แต่เดิมนั้น ถ้าขับรถออกจากกรุงเทพมุ่งหน้าชลบุรี และนับหลักกม.ของทางหลวงมาเรื่อย ๆ ก็จะเห็นว่า หลักกม.ของถนนบางนา-ตราดจะมีถึงประมาณกม. ๕๖ แล้วจากนั้นก็จะกระโดดขึ้นเป็นกม. ๘๐ กว่า ๆ (จำตัวเลขไม่ได้แล้ว) ซึ่งเป็นหลักกม.ของถนนสุขุมวิท ซึ่งแสดงว่าถนนบางนา-ตราดสิ้นสุดแล้ว และขณะนั้นอยู่บนส่วนที่เป็นถนนสุขุมวิท

แต่หลังจากที่มีการปรับปรุงถนนหลายครั้ง ในที่สุดถนนบางนา-ตราดก็ยึดถนนสุขุมวิทไป หลักกม.บนถนนเป็นการบอกระยะทางของถนนบางนา-ตราด (นับจากกรุงเทพ) ซึ่งไปสิ้นสุดที่แยกต่างระดับหนองไม้แดง ซึ่งถ้ามุ่งตรงไปก็จะเข้าตัวจังหวัดชลบุรี แต่ถ้าแยกซ้ายก็จะเป็นสายเลี่ยงเมือง ซึ่งจะมีทางแยกไปจันทบุรี-ตราด หรือตรงไปทางศรีราชา แหลมฉบับ พัทยา และระยอง


รูปที่ ๑ ถนนบางนา-ตราดและถนนสุขุมวิท บริเวณท่าข้าม (จุดข้ามแม่น้ำบางปะกง) เส้นสีแดงคือแนวถนนสุขุมวิทสายเก่า ในแผนที่นี้ก็ให้ถนนบางนา-ตราดมาสิ้นสุดเมื่อมาบรรจบกับถนนสุขุมวิทตรงประมาณกม. ๔๕ หรือบริเวณสะพานข้ามคลองอ้อม (ภาพนำมาจาก www.thailand-map-guide.com)


หมดไปแล้วหนึ่งหน้า คงมีคนสงสัยแล้วว่าแล้วมันเกี่ยวอะไรกับเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี

ช่วงระหว่างกิโลเมตรที่ ๕๕ และ ๕๖ (ก่อนขึ้นทางด่วนบูรพาวิถี) ฝั่งมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพ ในช่องทางด่วน ถ้าขับรถชิดซ้ายเอาไว้จะสังเกตเห็นป้ายดังรูปที่ ๒


รูปที่ ๒ ป้ายบอกว่าเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีอยู่ห่างไปกี่กิโลเมตร


เท่าที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นสายบางนา-ชลบุรีหรือมอเตอร์เวย์ (ทางหลวงสาย ๗) ผมเห็นมีป้ายบอกทางไปเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเช่นนี้อยู่ป้ายเดียว ซึ่งสงสัยว่าป้ายดังกล่าวคงไม่ได้ทำขึ้นจากเงินในกระเป๋าส่วนตัวของใคร แต่น่าจะเป็นจากเงินภาษีอากรของประชาชน

คนจะไปเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีก็คงต้องทราบอยู่แล้วว่ามันอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ มันไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเราจะพบเห็นป้ายบอกว่าถ้าต้องการไปยังจังหวัดนี้ ให้ใช้เส้นทางนี้ขับไปอีกหลายร้อยกิโลเมตร และเมื่อถึงทางร่วม-ทางแยกก็จะมีป้ายบอกอีกว่าให้มุ่งหน้าไปยังเส้นทางไหน

แต่การทำป้ายบอกว่าสถานที่แห่งหนึ่งในจังหวัดแห่งหนึ่งนั้นอยู่ห่างออกไปอีกหลายร้อยกิโลเมตรนั้น และพอถึงทางร่วม-ทางแยกก็ไม่มีการบอกด้วยว่าให้ไปทางไหน พอจะเดาวัตถุประสงค์ได้หรือไม่ว่าทำไปเพื่ออะไร

การใช้งบประมาณแผ่นดินนั้น ไม่ใช่ว่าต้องใช้อย่างถูกต้องและโปร่งใส แต่ยังควรต้องใช้ในสิ่งที่ควรใช้ด้วย แต่ในปัจจุบัน ระบบราชการของเรานั้นมีแต่การตรวจสอบว่าการใช้งานนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องและโปร่งใสหรือไม่ แต่ไม่มีการตรวจสอบว่าการใช้งานนั้นใช้ไปเพื่อสิ่งที่ควรใช้หรือไม่ ช่องว่างดังกล่าวทำให้เกิดการใช้งานในสิ่งที่ทำให้หลายคนรู้สึกว่ามันไม่เหมาะสม มันยังไม่ควรใช้ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เช่นการตัดต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิมและซื้อต้นไม้ใหม่มาปลูก (เห็นเป็นประจำตามเกาะกลางถนนและในบริเวณที่เป็นสวนหน้าอาคาร) การทุบทางเท้าเดิมและทำทางเท้าใหม่ (ทั้ง ๆ ที่ของเดิมก็ยังใช้การได้ดี และของใหม่ก็ไม่ได้ใช้การได้ดีกว่าของเดิมสักเท่าใด) การเทคอนกรีตทับสนามหญ้าเดิม (เห็นบ่อยมาก) หรือการทุบพื้นคอนกรีตเดิมและเปลี่ยนเป็นสนามหญ้า (ซึ่งมักไม่ค่อยทำกัน) ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเห็นอยู่ทั่วไป ทั้ง ๆ ที่ของเดิมก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร นอกจากในความรู้สึกของผู้มีอำนาจสั่งจ่ายที่บอกว่าต้องการทำให้มันดูดีขึ้น ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าดูดีขึ้นในสายตาของใคร

ที่แน่ ๆ คือในการกระทำเหล่านี้ต้องมีผู้ว่าจ้าง และมีผู้ได้รับค่าจ้าง

ไม่มีความคิดเห็น: