วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วิภา นารี และ ไพลิน MO Memoir : Sunday 13 October 2556

สาวน้อย "ไพลิน" เกิดทางภาคตะวันออกของประเทศไทยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา (๔ ตุลาคม) เมื่อแรกเกิดนั้นก็เป็นที่จับตามองของแมวมองจากประเทศญี่ปุ่น (Japan Meteorological Agency) และจากประเทศไทย (กรมอุตุนิยมวิทยา) ว่าจะส่งชื่อเข้าประกวดในเวทีเอเชีย-แปซิฟิกหรือไม่ แต่ไพลินก็คงยังทำตัว low profile (เป็นเพียงแค่หย่อมความกดอากาศต่ำ) เดินทางข้ามอ่าวไทยเพื่อเข้าประกวดเวทีแรกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่นั่นผลงานของไพลินก็ยังไม่โดดเด่นนัก แต่ก็พอทำให้ชาวหัวหินปั่นป่วนไปชั่วขณะด้วยการทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นเวลาสั้น ๆ
  
จากนั้นไพลินก็ได้เดินทางออกจากประเทศไทย ผ่านประเทศพม่าเข้าสู่ทะเลอันดามัน แมวมองของทางญี่ปุ่นก็เลยหมดความสนใจ แต่เริ่มเป็นที่จับตามองของแมวมองจากประเทศอินเดีย (India Meteorological Department) แทน ณ ที่นี้ไพลินเริ่มเข้าประกวดในเวทีแรกแถวหมู่เกาะนิโคบาร์ด้วยรหัส "BOB 04" (พายุดีเปรสชั่น) ในวันที่ ๘ ตุลาคม ก่อนกระโจนเข้าสู่เวทีเรียลิตี้โชว์อย่างเป็นทางการในวันถัดมาด้วยการสนับสนุนของแมวมองจากสหรัฐอเมริกา (Joint Typhoon Warning Center) ด้วยชื่อ TC "02B" (ในเขตมหาสมุทรอินเดียเรียก tropical cyclone (TC) แต่ในเขตมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้เรียก tropical storm (TS))
 
จากการสนับสนุนของแมวมองจากประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ (สหรัฐอเมริกา) ทำให้เพียงชั่วข้ามคืน (วันที่ ๑๐ ตุลาคม) จาก TC "02B" ก็ได้เข้าสู่วงการ Bollywood ของอินเดียอย่างเต็มตัวด้วยชื่อ "ไพลิน (PHAILIN)" ที่มาจากการตั้งของประเทศไทย (หรือ TC "PHAILIN" (02B)) กลายเป็นที่จับตามองของคนในประเทศอินเดียและบังคลาเทศ ความแรงของไพลินทวีกำลังอย่างรวดเร็ว (จากความเร็วลม 65 knot หรือ 120 km/hr เป็น 130 knot หรือ 240 km/hr) ภายในเวลาเพียงแค่สองวัน กลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ระดับ 5 ดาว (ความแรงระดับ category 5 ตามมาตรวัดความแรงพายุ ซึ่งเป็นความแรงสูงสุด) จนทางการอินเดียต้องประกาศให้ประชาชนกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คนเตรียมต้อนรับการมาเยือนของไพลินที่เดินทางถึงฝั่งอินเดียเมื่อคืนวันวาน (๑๒ ตุลาคม เวลาท้องถิ่น) ที่ผ่านมา (อันที่จริงคือเผ่นหนี) ซึ่งเป็นการเตรียมการต้อนรับครั้งใหญ่สุดหลังจากครั้งสุดท้ายเมื่อ ๑๔ ปีก่อนหน้านั้น

ส่วน "นารี" นั้นแม้ชื่อจะฟังดูคล้ายภาษาไทย แต่อันที่จริงเป็นสาวเกาหลีใต้ นารีนั้นเกิดไล่เลี่ยกับไพลินแต่ไปเกิดอยู่บริเวณหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือเส้นศูนย์สูตรเล็กน้อย นารีนั้นเปิดตัวที่ประเทศฟิลิปปินส์ก่อนหน้าการเปิดตัวของนารีที่อินเดียเพียงวันเดียว (ขึ้นฝั่งที่ฟิลิปปินส์ในวันที่ ๑๑ ตุลาคม เวลาท้องถิ่น) แต่ด้วยกระแสความดังที่มีเพียงครึ่งเดียวของนารี (ความเร็วลมเพียงแค่ 65 knot หรือ 120 km/hr) ทำให้ไม่มีข่าวการเปิดตัวที่หวือหวาเท่าใดนั้น
  
ในขณะที่ไพลินมีการเปิดตัวครั้งใหญ่เพียงครั้งเดียว แต่นารียังมีโอกาสแก้ตัว โดยจะมีการแสดงครั้งที่ ๒ ณ ประเทศเวียดนาม กำหนดการยังไม่แน่นอน แต่คาดว่าน่าจะเป็นวันที่ ๑๕ หรือ ๑๖ ตุลาคมนี้ ถ้าประสบความสำเร็จก็อาจจะเลยมาให้พี่น้องประชาชนทางภาคอีสานของไทยได้ชื่นชมผลงานได้ ผมเองก็มีกำหนดการจะเดินทางไปทางภาคอีสานในช่วงเวลาดังกล่าว ก็เลยต้องติดตามข่าวคราวนารีเอาไว้บ้าง จะได้วางแผนเส้นทางการเดินทางได้ถูกต้อง

น้องใหม่ล่าสุดในวงการขณะนี้คือ "วิภา" เพิ่งจะเปิดตัวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานี้เอง แม้ว่าวิภาจะดูเหมือนว่าเดินตามหลังนารี แต่คาดว่าวิภาคงจะไม่เดินรอยตามรุ่นพี่ คาดว่าจะได้รับเชิญให้ไปเปิดตัวที่ญี่ปุ่นหรือเกาหลีมากกว่า ขึ้นอยู่กับว่าที่ใดให้ข้อเสนอดีกว่ากัน แต่ทั้งนี้ก็อาจโดนจีนตัดหน้าดึงตัวไปได้เช่นกัน
  
"ไพลิน (PHAILIN)" เป็นชื่ออัญมณี ตั้งโดยประเทศไทย อยู่ในบัญชีรายชื่อพายุสำหรับพายุที่ก่อตัวในมหาสมุทรอินเดีย
  
"นารี (NARI)" แปลว่าดอกลิลี่ ตั้งโดยประเทศเกาหลีใต้ อยู่ในบัญชีรายชื่อพายุสำหรับพายุที่ก่อตัวในมหาแปซิฟิกและทะเลจีนใต้
  
"วิภา (WIPHA) เป็นชื่อผู้หญิง" ตั้งโดยประเทศไทย อยู่ในบัญชีรายชื่อพายุสำหรับพายุที่ก่อตัวในมหาแปซิฟิกและทะเลจีนใต้

ภาพถ่ายดาวเทียมและแผนที่อากาศที่เอามาแสดงนั้นนำมาจากหน้าเว็บของกรมอุตินิยมวิทยา www.tmd.go.th วันที่ต่าง ๆ ปรากฏในแต่ละภาพแล้ว แต่เวลาที่ปรากฏในแต่ละภาพนั้นเป็นเวลา GMT (หรือ UTC) ซึ่งต้องบวกอีก ๗ ชั่วโมงจึงจะเป็นเวลาท้องถิ่นประเทศไทย

ดูเหมือนว่าช่วงนี้ภูมิภาคแถวนี้จะตกอยู่ในช่วงดวง "นารีพิฆาต"


รูปที่ ๑ ลูกซ้ายคือพายุไพลินขณะมีกำลังแรงสูงสุด กำลังขึ้นสู่ฝั่งประเทศอินเดีย ลูกกลางคือพายุนารีหลังจากเคลื่อนผ่านประเทศฟิลิปปินส์และกำลังมุ่งหน้าสู่เวียดนาม ส่วนลูกขวาสุดคือพายุวิภาขณะกำลังทวีความแรงขึ้นเรื่อย ๆ









ไม่มีความคิดเห็น: