วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2563

รถไฟสายปากน้ำ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๕๑) MO Memoir : Friday 31 January 2563

ช่วงปลายปี ๒๕๖๑ ทางชมรมคนรักศรีราชาเคยมาสัมภาษณ์ผมเรื่องเกี่ยวกับเส้นทางรถไฟลากไม้ของบริษัทศรีมหาราชา ซึ่งตอนนั้นผมก็ได้ถามเขากลับไปว่าได้ลองติดต่อทางกรมแผนที่ทหารหรือยัง ว่ามีแผนที่เก่า ๆ ของประเทศไทยเก็บเอาไว้ไหม ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่าเขาได้ติดต่อไปแล้ว และได้คำตอบว่าจากทางกรมกลับมาว่าแผนที่เก่า ๆ นั้นไม่ได้มีการเก็บเอาไว้ ถูกทำลายไปหมดแล้ว
  
จะว่าไป "แผนที่" ก็จัดได้ว่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ว่าเดิมนั้นท้องถิ่นนั้นเคยมีสภาพอย่างไร เคยมีสถานที่ใดอยู่มาก่อน และเคยอยู่ตรงไหน หลากหลายเรื่องราวของท้องถิ่นนั้นเป็นเรื่องที่บอกเล่าสืบต่อกันมา หรือไม่ก็มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรบ้าง แต่ก็อยู่ในเอกสารที่ไม่แพร่หลาย ไม่สามารถหาอ่านย้อนหลังได้ อันหนึ่งที่เห็นว่ามีการเก็บเอาไว้เป็นระเบียบ ก็เห็นจะได้แก่ราชกิจจานุเบกษา แต่ก็มักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางราชการ
  
บันทึกฉบับนี้เป็นการนำเอาแผนที่เก่า ๆ ที่รวบรวมเอาไว้ที่เกี่ยวข้องกับทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย คือเส้นทางรถไฟจากบริเวณหน้าสถานีรถไฟหัวลำโพงในปัจจุบัน ไปสิ้นสุดที่สมุทรปราการ หรือ "ทางรถไฟสายปากน้ำ" เส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางที่สร้างและบริหารงานโดยเอกชน ปัจจุบันเส้นทางสายนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ ถนนพระราม ๔ ถนนทางรถไฟสายเก่า และถนนสุขุมวิท สถานที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟนั้นก็คงไม่เหลือเค้าให้เห็นแล้วในปัจจุบัน แต่ยังพอระบุได้จากแผนที่ที่มีการทำเอาไว้ แต่ถ้าเทียบกับเส้นทางรถไฟสายอื่น ๆ ที่ปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว เส้นทางสายนี้ดูท่าว่าจะเป็นเส้นทางที่มีเรื่องราวบันทึกเอาไว้มากที่สุด อาจเป็นเพราะว่ามันอยู่ในเมืองใหญ่และอยู่เป็นเวลานาน
  
ในหนังสือ "The Railways of Thailand" โดย R. Ramaer กล่าวว่าเส้นทางรถไฟสายนี้มีสถานนีรถไฟอยู่ระหว่างต้นทางและปลายทางด้วยกัน ๑๐ สถานี โดยมีสถานีที่ให้รถไฟสับหลีกกันได้ ๓ สถานีคือ คลองเตย บางจาก และสำโรง การเดินทางตลอดเส้นทางระยะทาง ๒๑ กิโลเมตรกินเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง หัวรถจักรที่ใช้เป็นหัวรถจักรไอน้ำ มีอยู่ด้วยกัน ๔ หัวที่มีชื่อว่า "บางกอก" (อันนี้อ่านตามชื่อที่ปรากฏในหนังสือภาษาอังกฤษที่ใช้คำว่า "Bangkok" ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าผู้เขียนนั้นเขียนทับศัพท์การออกเสียง หรือแปลคำว่า "กรุงเทพ" เป็นภาษาอังกฤษว่า "Bangkok") "ปากน้ำ" "บางจาก" และ "สำโรง"
ทางรถไฟสายนี้เป็นสายที่เอกชนลงทุนสร้างและดำเนินกิจการ โดยได้รับสัมปทานนาน ๕๐ ปี หลังจากที่สัมปทานสิ้นสุดในปีพ.ศ. ๒๔๗๙ (ค.ศ. ๑๙๓๖) ทางเอกชนก็ได้ขายกิจการให้การรถไฟรับช่วงดำเนินการต่อ รถไฟสายนี้มาปิดตัวลงในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ (ด้วยคำสั่งของรัฐบาล) รางทั้งหมดถูกรื้อในเวลาไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมง และในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๓ การเดินทางบนเส้นทางสายนี้ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นรถประจำทาง

นับถึงต้นเดือนนี้ก็นับได้ว่าเส้นทางรถไฟสายนี้ได้ปิดตัวลงเป็นเวลา ๖๐ ปีพอดี

รูปที่ ๑ แผนที่กรุงเทพมหานครฉบับปีค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘) จัดทำโดยกองทัพอังกฤษ ทางรถไฟด้านบนคือสายตะวันออกที่มีแยกลงมาที่ท่าเรือคลองเตย ส่วนรถไฟสายปากน้ำคือเส้นล่าง
   
รูปที่ ๒ ส่วนต่อจากรูปที่ ๑
  
รูปที่ ๓ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งเทศบาลเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ พุทธศักราช ๒๔๗๘ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ หน้า ๑๗๓๕ - ๑๗๓๙ วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๘

รูปที่ ๔ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตต์ที่ดินซึ่งจะต้องเวนคืน อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร พุทธศักราช ๒๔๗๙ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ หน้า ๖๘๑ - ๖๘๓ วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๗๙ เส้นใต้สีแดงที่ขีดเอาไว้คือบริเวณที่ตั้งของสถานีรถไฟ ถนนกรุงเทพ-สมุทรปราการ เทียบกับปัจจุบันแล้วก็คือถนนสุขุมวิท

รูปที่ ๕ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตต์ที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงสายดาวคะนอง - ราษฎรร์บุณะ - พระประแดง - ป้อมพระจุลจอมเกล้า และสายสถานีบ้านนางเกรง - ปากคลองบางโปรง พุทธศักราช ๒๔๘๒ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๖ หน้า ๕๙๙ - ๖๐๑ วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๔๘๒ ภาพต้นฉบับไม่ค่อยชัดเท่าใดนัก
  
รูปที่ ๖ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณเขตต์ปลอดภัยในราชการทหาร แห่งกรมสรรพวุธทหารเรือ ในท้องที่อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร พุทธศักราช ๒๔๘๔ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๘ หน้า ๓๗๙ - ๓๘๑ วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๔๘๔ ฉบับนี้เป็นฉบับก่อนเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา จะเห็นว่าบริเวณรอบบริเวณดังกล่าวยังทำนากันอยู่
  
รูปที่ ๗ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตต์ที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางนา อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร และตำบลสำโรง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๘ หน้า ๙๒๒ - ๙๒๔ วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๘๔ 
   
รูปที่ ๘ แผนที่แนบท้ายพระราชกริสดีกา กำหนดบริเวนเขตปลอดภัยไนราชการทหานแห่งกรมสรรพาวุธทหานเรือ ไนท้องที่อำเพอพระโขนงและอำเพอพระประแดง จังหวัดพระนคร พุทธสักราช ๒๔๘๗ ประกาศในราชกิจจานุเบกสา เล่ม ๖๑ ตอนที่ ๖๖ หน้า ๑๐๑๖ - ๑๐๑๘ วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๘๗ ตรงนี้การสะกดอาจจะดูแปลก ๆ แต่เป็นการสะกดตามเอกสารต้นฉบับ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่อยู่ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา
   
รูปที่ ๙ แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ ตำบลคลองเตย ตำบลคลองตัน และตำบลพระโขนง อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร พ.ศ. ๒๔๙๖ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๒๗ วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๖ หน้า ๕๓๕ - ๕๓๘ 
   

รูปที่ ๑๐ เป็นส่วนต่อจากรูปที่ ๙
  
รูปที่ ๑๑ แผนที่ทหาร L509 จัดทำในปีค.ศ. ๑๙๕๕ หรือพ.ศ. ๒๔๙๘ แต่ใช้ข้อมูลย้อนหลังไปถึงปีค.ศ. ๑๙๕๑ หรือพ.ศ. ๒๔๙๕ น่าจะเป็นแผนที่ช่วงท้าย ๆ แล้วที่ยังมีการบันทึกเส้นทางรถไฟสายปากน้ำเอาไว้ เพราะหลังจากนั้นไม่กี่ปี ทางรถไฟสายนี้ก็ถูกยกเลิกและรื้อทิ้ง และกลายเป็นถนนไป
   
รูปที่ ๑๒ รูปหัวรถจักรชื่อ "ปากน้ำ" ภาพนี้นำมาจากหนังสือ "The Railways of Thailand" โดย R. Ramaer

ไม่มีความคิดเห็น: