วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2557

จากหน้าห้าง Harrods ถึง Imperial College (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๘๑) MO Memoir : Friday 19 September 2557

เรื่องทำอะไรแปลก ๆ หรือประหลาด ๆ เพื่อหาเงินช่วยเหลือการกุศล ผมเห็นครั้งแรกเมื่อไปเรียนที่ Imperial College เมื่อกว่ายี่สิบปีที่แล้ว ช่วงที่ผมเรียนอยู่นั้นนิสิตของ College เขาก็จัดงานเพื่อหาเงินช่วยเหลือมูลนิธิต่าง ๆ เป็นประจำทุกปี ตอนนี้ไม่รู้ว่ายังจัดกันอยู่หรือเปล่า

มหาวิทยาลัยอังกฤษมันก็มีรูปแบบแปลก ๆ ของมัน คือรูปแบบที่มันเป็นตัวมหาวิทยาลัยที่มันมีตัวตนชัดเจนแบบที่บ้านเราเป็นมันก็มี และแบบที่ไม่มีตัวตนชัดเจนมันก็คือ ที่ผมเรียกว่าไม่มีตัวตนชัดเจนคือแม้ว่าใบปริญญาจะบอกว่าจบจากมหาวิทยาลัยใด แต่ตอนสมัครเข้าไปเรียนนั้นต้องสมัครไปที่ College หรือ School ต่าง ๆ ที่สังกัดมหาวิทยาลัยนั้น มหาวิทยาลัยเช่น Cambridge, Oxford และ University of London ก็เป็นแบบที่ผมอยากเรียนว่าไม่มีตัวตนชัดเจน
  
University of London ประกอบด้วย College และ School หลายแห่งรวมกันเป็น Univeristy of London การสมัครเรียนนั้นเราอยากเรียนสาขาวิชาใดก็ต้องไปดูว่ามี College หรือ School ไหนของ University of London เปิดสอนสาขาวิชานั้นบ้าง (บางสาขาวิชาก็เปิดสอนกันในหลาย College) แล้วก็สมัครตรงไปที่ College หรือ School นั้น Imperial College ที่ผมไปเรียนก็เป็น College หนึ่งของ University of London 
  
Imperial College ยังประกอบด้วย College และ School ต่าง ๆ อีกหลาย Shcool รวมกัน เช่น City & Guilds College ก็เป็นส่วนที่สอนทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ Royal College of Science ก็เป็นส่วนที่เน้นการสอนด้านวิทยาศาสตร์ Royal School of Mines (เหมืองแร่นะ ไม่ใช่กับระเบิด) ก็เน้นไปทางด้านธรณีวิทยาและวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งวัสดุศาสตร์
  
ในแต่ละปีนั้นแต่ละ College, School และชมรมต่าง ๆ ของ Imperial College ก็มีการจัดงานเพื่อหาเงินช่วยเหลือการกุศล วิธีการหาเงินนั้นมีทั้งรูปแบบการจัดงานที่มีการเก็บค่าเข้าร่วมงาน ไปจนถึงการรับบริจาคเงินโดยมีสัญญาว่าถ้าเขาสามารถรวบรวมเงินได้ถึงเป้าหมายที่กำหนด เขาก็จะทำกิจกรรมอะไรบางอย่างขึ้นมา
  
Felix เป็นหนังสือพิมพ์ที่จัดทำโดยสโมสรนิสิตของ College ที่เขาเรียกว่า Union รูปที่ ๑ ในหน้าที่ ๒ นั้นเป็นปกหน้าของฉบับที่ ๙๗๗ ประจำเดือนตุลาคมปีค.ศ. ๑๙๙๓ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ในใบแทรกของ Felix ฉบับนี้จะมีตารางกิจกรรมจัดหาเพื่อหาเงินช่วยเหลือมูลนิธิ โดยช่วงเวลาที่จัดงานนี้เขาเรียกว่า Rag week โดยจัดอยู่ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ส่วนกิจกรรมมีอะไรบ้างนั้นก็ดูรายละเอียดได้ในรูปที่ ๒ ในหน้าที่ ๓
  
ในปี ๑๙๙๓ นั้น งานแรกที่จัดคือ Beer Festival สถานที่จัดงานคือ Junior Common Room หรือเรียกย่อ ๆ ว่า JCR ห้องนี้ก็อยู่ทางเดินฝั่งตรงข้ามภาควิชาที่ผมไปเรียนพอดี ในงานก็ไม่มีอะไรมากนอกจากขายเบียร์จากหลากหลายผู้ผลิต (เกือบ ๖๐ ราย) ให้เลือกดื่มกันตั้งแต่เช้าจนกว่าเบียร์ที่นำมาจะหมด (เรียกว่าใช้แก้วใบเดียวกินเบียร์ได้ทั้งวัน ก็ถือว่าเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการลดขยะ) กิจกรรมนี้ฟ้ายังไม่ทันจะมืดเท่าไรเบียร์ก็หมดแล้ว (ตอนนั้นก็เข้าหน้าหนาวแล้ว มืดค่อนข้างเร็ว ที่สำคัญคืออากาศเย็นแล้ว คงเหมาะแก่การดื่มเบียร์แก้หนาว) งานนี้เรียกได้ว่าเป็นงานหนึ่งที่สามารถรวบรวมนิสิตจำนวนมากเข้ามาร่วมงานได้ (ที่นั่นเขากินเบียร์กันเป็นเรื่องปรกติ) รายละเอียดคำโฆษณาเชิญชวนไปร่วมงานนั้นมีอย่างไรบ้างก็ลองอ่านภาพขยายในรูปที่ ๓ ดูเอาเองก็แล้วกัน

รูปที่ ๑ ปกหน้าของ Felix ฉบับที่ ๙๗๗ เดือนตุลาคมปีค.ศ. ๑๙๙๓ (พ.ศ. ๒๕๓๖) หรือเมื่อ ๒๑ ปีที่แล้ว ฉบับเต็มและฉบับย้อนหลังสามารถไปอ่านได้ที่ www.felixonline.co.uk แล้วไปคลิกต่อที่มุมบนด้านซ้ายตรงคำว่า Issuse Archive

รูปที่ ๒  ตารางการจัดงาน

รูปที่ ๓ รายละเอียดการจัดงาน Beer Festival โดย Royal College of Science

งานหนึ่งที่จัดได้ว่าเป็นสีสรรของ Rag Week คือ Mines' Dirty Disco จัดโดย Royal School of Mines ชื่อของงานก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นงาน Disco แต่เขาจัดภายใต้เงื่อนไขที่ว่า "The less you dress, the less you pay" หรือถ้าคุณแต่งน้อยชิ้น คุณก็จะจ่ายค่าเข้าร่วมงานน้อยลง สถานที่จัดงานคือบริเวณ Union Building
และในช่วงที่ผมเรียนอยู่นั้น Felix ก็รายงานว่ามีคนที่ได้เข้าร่วมงานฟรีด้วย โดยผู้เข้าร่วมงานฟรีนั้นเป็น "ผู้ชาย" ที่เข้าร่วมงานด้วยการใส่เพียง "ถุงเท้าข้างเดียว" ข่าวไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าใส่ตรงไหน แต่กล่าวเพียงว่า "strategically placed" (คิดต่อเอาเองก็แล้วกัน)


รูปที่ ๔ รายละเอียดการจัดงาน Mines' Dirty Disco

แผนที่สถานที่ตั้งของ Imperial College และบริเวณรอบ ๆ นั้นผมเอามาแสดงไว้ในรูปที่ ๕ College นี้ผมว่ามีทำเลที่ดีคือใกล้ห้างสรรพสินค้าที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกคือห้าง Harrods ตอนที่ผมไปอยู่ปีแรกก็ได้ไปอยู่ที่หอพักของ College ที่อยู่ใกล้กับห้าง Harrods เรียกว่าแค่เดินพ้นมุมตึกก็ถึงห้างแล้ว (แต่เข้าไปเดินห้างนี้ไม่กี่ครั้งเอง) ด้านทิศเหนือของ College เป็น Kensington Garden ที่มีรูปปั้น Peter Pan เพราะสวนนี้เป็นที่มาของนิยายเรื่อง Peter Pan และมี Kensington palace ที่เป็นที่ประทับของ Princess Diana (ในขณะนั้น) ติด ๆ กันก็เป็น Hyde park ที่เป็นสวนสาธารณะกลางกรุงขนาดใหญ่ แถมยังมีสถานฑูตไทยอยู่ที่ถนนฝั่งตรงข้ามด้านทิศตะวันตก และสำนักงานกพ. (ที่ทำหน้าที่ดูแลนักเรียนไทยที่ไปเรียนด้วยทุนของรัฐบาลไทย) อยู่อีกทางฟากหนึ่งทางด้านเหนือ นอกจากนี้บริเวณรอบข้างยังมีพิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งที่เปิดให้เข้าชมฟรีหรือนิสิตของ Imperial College สามารถเข้าชมฟรีด้วยการแสดงบัตรประจำตัว
 
รูปที่ ๕ แผนที่ลอนดอนย่าน Imperial College และห้าง Harrods ในแผนที่นี้ (1) ห้าง Harrods (2) ตึกภาควิชาที่ผมไปเรียน (3) Junior Common Roon หรือ JCR ที่เป็นสถานที่จัด Beer Festival (4) บริเวณ Union Building สถานที่จัดงาน Mines' Dirty Disco (5) หอพักของทางมหาวิทยาลัยที่ผมได้ไปอาศัยอยู่ในปีแรก (6) สถานฑูตไทย และ (7) สำนักงาน กพ.

และกิจกรรมที่อาจเรียกได้ว่าเป็นสีสันของ Rag Week เห็นจะได้แก่การ "กระโดดร่ม" ในกิจกรรมที่มีชื่อย่อว่า S.N.K.P.J. ที่ย่อมาจากชื่อเต็มว่า "Sponsored Nude Kamikaze Parachute Jump" แต่การ "กระโดดร่ม" นี้ก็ไม่ได้เป็นการกระโดดจากเครื่องบิน เป็นเพียงแค่การกระโดดจากท้ายรถตู้จากหน้าห้าง Harrods แล้ววิ่งกลับมายัง College โดยมีเงื่อนไขว่าใครกลับถึง College "ช้าที่สุด" จะเป็นผู้ชนะ


รูปที่ ๖ รายละเอียดการจัดงาน S.N.K.P.J. ที่ย่อมาจากชื่อเต็มว่า "Sponsored Nude Kamikaze Parachute Jump"
  
ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าผู้เข้าร่วมแข่งนั้นจะต้อง "แก้ผ้า" วิ่งแข่งกันกลับมายัง College
  
งานนี้ผู้เข้าร่วมนั้นจะตั้งเป้ารับบริจาคเอาไว้ว่า ถ้าเขารวบรวมเงินได้ถึงเป้านั้นเขาจะลงมือปฏิบัติตามสัญญา
  
แล้วเขาทำกันจริงไหม ก็ลองดูรูปที่ผมนำมาจาก Felix ข้างล่างเอาเองก็แล้วกันครับ
 
รูปที่ ๗ บรรยากาศ "Sponsored Nude Kamikaze Parachute Jump" นำมาจาก Felix ฉบับที่ ๙๑๕ เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๑ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ทางด้านขวามือที่มีรถบัสและรถตู้จอดอยู่คือห้าง Harrods

วันก่อนเพิ่งจะแซวคนที่เพิ่งจะไปเรียนอังกฤษว่า สมัยที่ผมไปเรียนเมื่อกว่ายี่สิบปีที่แล้วมีคนเขาเปรียบเปรยว่า

"ถ้าชอบบรรยากาศบ้านนอก ใส่ครุย จิบไวน์ ก็ให้ไปที่ Cambridge
แต่ถ้าชอบแสงสีเมืองหลวง สวมยีนส์ ดื่มเบียร์ ก็ต้องมา Imperial Collge"

ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่ายังเป็นอย่างนั้นอยู่หรือเปล่าครับ เพราะตั้งแต่จบกลับมาเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วก็ไม่ได้กลับไปอีกเลย
  
นี่แหละครับ บรรยากาศของสถาบันที่ได้ชื่อว่าเป็นอันดับ ๑ ของยุโรปทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ (ในช่วงที่ผมไปเรียน) และเพิ่งจะได้ชื่อว่าเป็นอันดับ ๒ ร่วมกับ Cambridge โดยเป็นรองเพียงแค่ MIT ในปีนี้ เรียนกันหนักมาก ๆ มันก็มีการทำอะไรที่แผลง ๆ เป็นการปลดปล่อยบ้างเหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น: