วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๕ ท่อแก๊สระบบ acetylene hydrogenation MO Memoir : Saturday 17 February 2555


หลายปีที่แล้วตอนที่ผมยังทำหน้าที่ตรวจเอกสารนิสิตขอสั่งซื้อของ (ป้องกันการสั่งซื้อแบบมั่ว ๆ เอามาใช้ส่วนตัวหรือเอามาทิ้งเล่น) มีนิสิตผู้หนึ่งเอาเอกสารขออนุมัติซื้อวาล์วทองเหลือง (swagelok) มาให้ผมลงนามรับทราบก่อนสั่งซื้อ ครั้งนั้นนึกยังไงก็ไม่รู้พอลงลายมือชื่อเสร็จและส่งเอกสารคืนเขา ผมก็ถามเขาขึ้นมาลอย ๆ ว่าจะเอาไปใช้ทำอะไรเหรอ เขาตอบผมกลับมาว่าเอาไปใช้ใน line "acetylene hydrogenation"

ผมตอบเขากลับไปว่ามันใช้ไม่ได้นะ มันอันตราย อะเซทิลีนห้ามเจอกับ "ทองแดง" คุณต้องใช้วาล์วสแตนเลส

-------------------------------------------------------------

ถ้าใครได้ศึกษาเคมีอินทรีย์ ในเรื่องของสารประกอบ aklyne (-C≡C-) จะพบปฏิกิริยาหนึ่งของสารประกอบ alkyne คือปฏิกิริยา "Replacement of acetylene hydrogen"

ในกรณีของสารประกอบ alkyne ที่มีโครงสร้าง -CC-H (พันธะสามอยู่ที่ปลายโซ่) อะตอมไฮโดรเจนของพันธะสามดังกล่าวสามารถทำปฏิกิริยากับโลหะบางชนิด (เช่น Ag และ Cu) กลายเป็นเกลือโลหะ metal acetylide ได้ ดังเช่น

R-CC-H + Ag(NH3)2NO3    R-CC-Ag + NH4NO3 + NH3
R-CC-H + Cu(NH3)2Cl   R-CC-Cu + NH4Cl + NH3

เกลือ acetylide ของสารประกอบโลหะที่ได้ไม่มีความเสถียร ว่องไวต่อแรงกระแทกและเกิดระเบิดได้ง่าย ดังนั้นในระบบท่อที่มีใช้งานกับสารประกอบ alkyne จึงต้องไม่มีชิ้นส่วนที่ทำจากโลหะทองแดงหรือโลหะผสมทองแดงอยู่เพื่อความปลอดภัย (ไม่มีใครนำโลหะเงินมาทำเป็นท่อใช้ในโรงงาน)

alkyneที่พบมากที่สุดในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีก็คืออะเซทิลีน รองลงไปก็คงเป็น methyl acetylene H3C-CC-H หรือที่ในตำราเรียนเขาเรียก propyne แต่ในวงการไม่มีใครเรียก propyne นะ พวกนี้เป็นพวกที่ปนเปื้อนอยู่กับเอทิลีนที่ได้จากโรงโอเลฟินส์ และต้องทำการกำจัดออกก่อนส่งให้ลูกค้า

-------------------------------------------------------------

เขาตอบผมกลับมาว่าอันนี้เป็นระบบเดิมที่รุ่นพี่เขาใช้ เป็นระบบท่อทองแดงทั้งระบบ ก็เห็นรุ่นพี่เขาใช้ได้ ไม่เห็นเป็นอะไรจนเรียนจบไปแล้วด้วย เขาเพียงแค่ซื้อไปเปลี่ยนตัวที่เสียเท่านั้นเอง (หมายเหตุ รุ่นพี่คนนั้นที่เขากล่าวถึงเรียนจบ ป.เอก เรื่องนี้ด้วยนะ)

ผมก็ตอบเขากลับไปว่า ถ้าคุณไปทำการทดลองเองที่บ้านคุณ ไม่มีคนอื่นอยู่ใกล้ ๆ ผมจะแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นก็ได้ เพราะถ้าเกิดเรื่องอะไรคุณก็เดือดร้อนอยู่คนเดียว แต่นี่คุณทำการทดลองให้ห้องแลป ส่วนกลางที่คนอื่นเขาทำงานอยู่ด้วย ถ้าเกิดเรื่องขึ้นมา คนอื่นที่เขาไม่รู้อิโหน่อิเหน่จะเดือดร้อนไปด้วย เรื่องนี้ผมจะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้ คุณต้องรื้อระบบเดิมของคุณและต้องสร้างขึ้นมาใหม่

เขาจากผมไปโดยไม่พูดอะไร

-------------------------------------------------------------

รูปที่ ๑ Material Safety Data Sheet (MSDS) ของอะเซทิลีน ฉบับนี้จัดทำโดยบริษัทแก๊ส BOC มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าให้ระวังโลหะทองแดง (ในกรอบสีเหลือง)

-------------------------------------------------------------

เอทิลีนที่ผลิตได้จาก cracker นั้นนอกจากจะมีอะเซทิลีนและเมทิลอะเซทิลีนแล้ว ยังอาจมี CO O2 และ CO2 รวมอยู่ด้วย สารเหล่านี้ต่างเป็นสารพิษ (catalyst poison) ต่อตัวเร่งปฏิกิริยาพอลิเมอร์ไรซ์โอเลฟินส์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการควบคุมหรือกำจัดออกจากเอทิลีนที่ใช้เป็นสารตั้งต้น 
 
การกำจัด CO นั้นทำได้โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็นโลหะออกไซด์ CuO ซึ่ง CuO จะถูกรีดิวซ์ด้วย CO กลายเป็น Cu และ CO จะกลายเป็น CO2 ส่วนการกำจัด O2 นั้นทำได้โดยการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็นโลหะ Cu ซึ่งโลหะ Cu จะถูกออกซิไดซ์ด้วย O2 กลายเป็น CuO 
 
ดังนั้นเมื่อแก๊สไหลผ่านเบดตัวเร่งปฏิกิริยา Cu และ CuO CO และ O2 จะหมดไปและมี CO2 เพิ่มขึ้น จากนั้นจึงทำการกำจัด CO2 ด้วยการผ่านเบดที่บรรจุเบสเช่น KOH (โดยมีความชื้นอยู่ด้วย) แก๊สที่ผ่านการกำจัด CO2 แล้วจะมีความชื้นอยู่ และต้องเข้าสู่เบดกำจัดความชื้นก่อนที่จะนำไปทำปฏิกิริยา

เนื่องจากการกำจัด CO และ O2 นั้นต้องใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ประกอบด้วยโลหะ Cu ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการกำจัดอะเซทิลีนและเมทิลอะเซทิลีนออกจากเอทิลีนก่อนแก๊สตัวอื่น

-------------------------------------------------------------

เวลาที่ระบบการทดลองมีปัญหาและต้องควรต้องทำการดัดแปลง/แก้ไขให้ดีขึ้นนั้น นิสิตส่วนใหญ่มักจะพยามยามหลีกเลี่ยงที่จะไม่ทำการดัดแปลง/แก้ไข เพราะเกรงว่าจะเสียเวลาทำแลปในสัปดาห์นั้น และถ้าไม่มีผลแลปก็จะโดนอาจารย์ที่ปรึกษาดุเอา เพราะทำวิจัยอยู่กับอาจารย์ที่ปรึกษาที่ต้องการผลแลปทุกสัปดาห์ 
 
อีกอย่างก็คือกลัวว่าจะทำให้ผลการทดลองที่ออกมานั้นไม่เหมือนของรุ่นพี่ จะเปรียบเทียบผลการทดลองกันไม่ได้ (อันที่จริงเรื่องนี้ส่วนหนึ่งมันมีสาเหตุมาจากอาจารย์ที่ปรึกษา ที่ชอบคิดว่าผลการทดลองของรุ่นพี่ที่ออกมาดูดีนั้นมันถูกเสมอ พอรุ่นน้องมาทำซ้ำไม่ได้ก็จะโทษรุ่นน้องว่าไม่มีฝีมือ แต่ในความเป็นจริงคือรุ่นพี่มั่วผลแลป เพราะพอขอให้กลับมาสอนรุ่นน้อง ก็มักจะพบว่าหลีกเลี่ยงการติดต่อ) ดังนั้นจึงมักจะยื้อจะใช้ระบบเดิม จนกว่ามันจะไปต่อไปไม่ได้จริง ๆ จึงจะยอมดัดแปลง

-------------------------------------------------------------

รูปที่ ๒ Acetylene hydrogenation line อะเซทิลีนเข้ามาทางด้านขวา แก๊สตัวอื่นเข้ามาทางด้านบนและด้านซ้าย ก่อนที่จะไหลรวมกันลงทางด้านล่าง ดังนั้นท่อที่มีโอกาสสัมผัสกับอะเซทิลีนจึงควรเปลี่ยนเป็นสแตนเลสทั้งหมด ซึ่งรวมไปถึงวาล์วสองตัวที่ปิดกั้นการไหลของแก๊สที่มาทางด้านบนและด้านซ้ายด้วย วาล์วทั้งสองตัวนี้ต้องเป็นวาล์วสแตนเลสด้วย

-------------------------------------------------------------

ไม่กี่วันถัดมา ผมเห็นเขาทำการทดลองปฏิกิริยา acetylene hydrogenation โดยที่ยังใช้ระบบท่อทองแดงอยู่ ผมก็เตือนให้เขาหยุดการทดลองและทำการแก้ไขระบบท่อก่อน แต่เขาก็ไม่เชื่อ ผมก็เลยไปนำ MSDS ของอะเซทิลีนมาให้ดู เขาก็ดูไปอย่างงั้น แต่ก็ยืนยันที่จะทำการทดลองเหมือนเดิม
ผมก็เลยไปพบอาจารย์ที่ปรึกษาของเขาในระหว่างการประชุมกลุ่มของเขา บอกเขาว่ารู้ไหมว่านิสิตของเขาทำการทดลองโดยเอาสารเคมีที่ไม่ควรมาเจอกันให้มาเจอกัน (อะเซทิลีนกับท่อทองแดง) เดี๋ยวก็เกิดเรื่องหรอก

อาจารย์ที่ปรึกษาของเขาตอบผมกลับมาว่า "ไม่เคยรู้มาก่อน" (ว่าอะเซทิลีนห้ามเจอกับทองแดง)
ผมก็เลยบอกเขาไปว่า ควรให้นิสิตอ่าน MSDS สารเคมีที่ใช้บ้าง ไม่ใช่ให้อ่านแต่ paper แล้วก็เดินออกจากห้องประชุม

-------------------------------------------------------------

เมื่อวานและวันนี้มีคนมาถามผมเรื่องการเรียนปริญญาเอก ผมก็บอกเขาว่าเดี๋ยวนี้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยนั้นสนแต่การจัดอันดับโดยต่างประเทศ ที่ใช้จำนวนบทความเป็นปัจจัยหลักตัวหนึ่ง ดังนั้นเพื่อให้มหาวิทยาลัยมีบทความเยอะ ๆ เวลาที่ประเมินความดีความชอบให้กับอาจารย์สักคน ก็จะเน้นไปที่นว่ามีกี่บทความตีพิมพ์ โดยไม่สนว่าบทความที่ได้มานั้นได้มาโดยวิธีใด ไม่ได้ดูว่าจำนวนบทความที่ผลิตได้ต่อช่วงเวลานั้นมันสมเหตุสมผลกันหรือไม่ (จำนวนวันที่ใช้ต่อการผลิตบทความ ๑ บทความ) 
 
และที่สำคัญคือในการประเมินนั้นเขาไม่ได้สนใจว่าผู้ที่มาเรียนด้วยนั้นจะจบการศึกษาหรือไม่ เช่นอาจารย์อาจตั้งเกณฑ์ตามความพอใจของตนเองว่าผู้มาเรียนด้วยต้องผลิตบทความอย่างน้อย ๖ บทความไม่เช่นนั้นจะไม่ให้จบ (ทั้ง ๆ ที่มหาวิทยาลัยกำหนดแต่บทความเดียวเท่านั้น) ถ้านิสิตผลิตได้เพียงแค่ ๕ บทความก็ต้องออกจากการศึกษา (เช่นรีไทร์หรือทนทำงานต่อไม่ไหว) นิสิตผู้นั้นก็จะไม่ได้อะไรเลย แต่อาจารย์ผู้สอนเองนั้นสามารถเอาบทความทั้ง ๕ บทความนั้นไปขอความดีความชอบได้

-------------------------------------------------------------

ไม่รู้เหมือนกันว่าคนที่มาถามผมเรื่อง variac เสียเมื่อวันก่อน จะมีโอกาสได้แวะเข้ามาอ่าน Memoir นี้หรือไม่