วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เชื้อเพลิงและการเผาไหม้ (2) : การเผาไหม้และการระเบิด MO Memoir : วันอังคารที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๑

กระบวนการเผาไหม้ (Combustion) คือการที่เชื้อเพลิงทำปฏิกิริยาเคมีกับตัวออกซิไดซ์และปลดปล่อยพลังงานความร้อนออกมา (โดยอาจมีแสงสว่างร่วมด้วย) ความร้อนที่ปลดปล่อยออกมาจากปฏิกิริยาเคมีส่วนหนึ่งจะสูญเสียไปให้กับสิ่งแวดล้อม และอีกส่วนหนึ่งจะป้อนกลับมายังเชื้อเพลิง ในกรณีที่เชื้อเพลิงเป็นของแข็งหรือของเหลว ความร้อนที่ป้อนกลับมายังเชื้อเพลิงจะทำให้เชื้อเพลิงมีอุณหภูมิสูงขึ้นและระเหยกลายเป็นไอออกมาชดเชยส่วนที่สูญเสียไปกับการเผาไหม้ ทำให้เกิดการลุกไหม้ได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนการระเบิด
(Explosion) คือการที่พลังงานที่ถูกกักเก็บไว้ถูกปลดปล่อยออกมาอย่างกระทันหัน พลังงานที่ถูกกักเก็บไว้อาจอยู่ในรูปของพลังงานภายในเช่นความดัน หรือพลังงานเคมีก็ได้ ถ้าเราใช้รูปแบบพลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมาเป็นเกณฑ์แบ่งประเภทการระเบิด เราก็พอจัดรูปแบบการระเบิดออกเป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ

1.
การระเบิดที่เกิดจากการปลดปล่อยแรงดันที่ถูกกักเก็บไว้ออกมาอย่ากระทันหัน เช่นในกรณีของถังแก๊สหรือหม้อไอน้ำระเบิด ในกรณีที่สสารที่ถูกปลดปล่อยออกมาไม่ติดไฟ ความเสียหายส่วนใหญ่ก็จะเกิดจากสะเก็ดชิ้นส่วนภาชนะบรรจุปลิวไปกระทบสิ่งต่าง ๆ แต่ถ้าสสารที่ถูกปลดปล่อยออกมาสามารถลุกติดไฟได้ ก็อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายจากเพลิงไหม้ตามมาด้วย ตัวอย่างของการระเบิดประเภทนี้ที่เป็นข่าวมาเมื่อไม่นานนี้คือกรณีการระเบิดของถังแก๊สของรถหัวลากรถพ่วงและรถเมล์ที่ใช้ CNG (Compressed Natural Gas ซึ่งก็คือมีเทนนั่นเอง) เป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากในการเติมแก๊สแต่ละครั้งจะเติมให้ได้ความดันถึง 200 bar ถ้าหากถังไม่แข็งแรงพอหรือหัวจ่ายแก๊สไม่ตัดแก๊สเมื่อความดันในถังบรรจุของรถสูงถึงขีดจำกัด ถังแก๊สก็จะเกิดการระเบิดได้

2.
การระเบิดที่เกิดจากการสลายตัวของสารเคมีหรือปฏิกิริยาเคมีคายความร้อนที่มีการคายพลังงานทั้งหมดออกมาในเวลาอันสั้น การระเบิดประเภทนี้มักจะเกี่ยวข้องกับสารที่ ไม่เสถียร มีพลังงานในตัวสูง หรือเป็นส่วนผสมระหว่างเชื้อเพลิงกับสารออกซิไดซ์ที่มีการผสมเข้าด้วยกันเป็นอย่างดี รอเพียงแต่โอกาสที่พอเหมาะเท่านั้น

สารที่ไม่เสถียรและมีพลังงานในตัวสูงได้แก่พวกที่มีค่าเอนทาลปีของการเกิดมีค่าเป็น
(+) ที่สูงมาก เช่นแก๊ส acetylene (C2H2) ethylene oxide (C2H4O) เป็นต้น (ethylene (C2H4) ก็จัดว่าเป็นหนึ่งในสารกลุ่มนี้ได้ แต่ต้องจัดว่าเป็นพวกที่มีความว่องไวต่ำเมื่อเทียบกับตัวอื่น ๆ ในกลุ่ม) สารพวกที่สามารถที่จะสลายตัวกลายเป็นธาตุ (ธาตุจะมีค่าเอนทาลปีของการเกิดเป็นศูนย์) และคายพลังงานความร้อนออกมา ดังนั้นสารพวกนี้จึงสามารถระเบิดได้แม้ว่าจะไม่มีออกซิเจนหรือสารออกซิไดซ์อื่นเข้าไปเกี่ยวข้อง

สารอีกพวกหนึ่งที่ต้องระวังคือสารที่มีสูตรเคมีหรือส่วนผสมที่เมื่อคำนวณดูแล้วพบว่าปริมาณออกซิเจนในสารเคมีหรือส่วนผสมนั้นมากเพียงพอที่จะเปลี่ยน
C ให้กลายเป็น CO2 เปลี่ยน H ให้กลายเป็น H2O ได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาออกซิเจนจากแหล่งภายนอก สารเหล่านี้จัดว่าเป็นวัตถุระเบิด (ตอนนี้นึกออกหรือยังว่าทำไมปฏิกิริยาระหว่างกลีเซอรีนหรือโทลูอีนกับกรดไนตริก ที่ได้เป็นสารประกอบไนเทรตจึงกลายเป็นวัตถุระเบิด หรือสารผสมระหว่างสารอินทรีย์กับ เกลือคลอเรต เกลือเปอร์แมงกาเนต หรือเกลือไนเทรต จึงกลายเป็นวัตถุระเบิดได้

การเผาไหม้ที่เราลุกเห็นเป็นเปลวเพลิงในชีวิตประจำวันนั้น จะเป็นการเผาไหม้ตรงบริเวณรอยต่อระหว่างเชื้อเพลิงกับอากาศ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีสัดส่วนระหว่างเชื้อเพลิงกับอากาศพอเหมาะ โดยปรกติเมื่อเราจุดเทียน ตะเกียง หรือเตาแก๊สหุงต้มนั้น ตัวเชื้อเพลิงที่เผาไหม้จริงจะอยู่ในรูปของเฟสแก๊ส
(ดูรูปที่ 1 ประกอบ) ถ้าเป็นเทียนหรือตะเกียง บริเวณไส้เทียน/ไส้ตะเกียงจะมีน้ำมันระเหยออกมาผสมกับอากาศที่อยู่รอบ ๆ การเผาไหม้จะเกิดขึ้นที่บริเวณรอยต่อระหว่างไอน้ำมันกับอากาศซึ่งเป็นบริเวณที่มีความเข้มข้นของเชื้อเพลิงเหมาะสม ถ้าเป็นเตาแก๊สหุงต้ม บริเวณที่เกิดการเผาไหม้ก็คือรอยต่อระหว่างแก๊สหุงต้มที่พ่นออกมาจากหัวเตากับอากาศที่อยู่รอบ ๆ ถ้าเราลองตัดแก๊สที่หัวถังเราจะเห็นว่าเปลวไฟจะค่อย ๆ ลดต่ำลงเข้าไปในรูที่พ่นแก๊สแล้วก็จะดับไป เพราะในรูหัวเตามีอากาศไม่เพียงพอกับการเผาไหม้ แต่ก็มีเตาแก๊สบางแบบที่ออกแบบให้มีการผสมอากาศกับแก๊สหุงต้มก่อนที่จะฉีดพ่นแก๊สผสมออกไปทางรูหัวเตา ในกรณีหลังนี้เปลวไฟจะไม่วิ่งย้อนเข้ามาในรูเตาตราบเท่าที่ความเร็วแก๊สที่ฉีดพ่นออกมาสูงกว่าความเร็วในการเคลื่อนที่ของเปลวไฟ





รูปที่ 1 การเผาไหม้บริเวณรอยต่อระหว่างเชื้อเพลิงกับอากาศ

ในการเรียนวิชาปฏิบัติการเคมีอินทรีย์เรื่องสารประกอบไฮโดรคาร์บอนนั้น มักจะมีการทดลองอยู่การทดลองหนึ่งที่ให้ทดลองจุดไฟเผาสารประกอบไฮโดรคาร์บอน
(อัลเคน อัลคีน และแอโรแมติก) แล้วให้สังเกตดูลักษณะของควันและเขม่าที่เกิดขึ้น ข้อสรุปที่ได้จากการทดลองดังกล่าวคือสารประกอบที่มีสัดส่วนไฮโดรเจนในโมเลกุลต่ำจะให้ควันและเขม่ามากกว่าสารประกอบที่มีสัดส่วนไฮโดรเจนในโมเลกุลสูงกว่า (กล่าวคือที่จำนวนอะตอมคาร์บอนเท่ากัน ปริมาณควันดำที่เกิดจากสารประกอบ แอโรแมติก > อัลคีน > อัลเคน) แต่ข้อสรุปนี้ถูกต้องก็ต่อเมื่อเราทำการเผาสารประกอบไฮโดรคาร์บอนนั้น "ด้วยวิธีการเผาแบบจุดตะเกียงหรือจุดไฟให้ลุกไหม้บนผิวหน้าของเหลว

น้ำมันเบนซินนั้นจะมีสารประกอบแอโรแมติกสูงกว่าน้ำมันดีเซล
(สารแอโรแมติกเป็นตัวเพิ่มเลขออกเทนให้น้ำมันเบนซินสูงขึ้นได้โดยไม่ต้องพึ่งสารตะกั่วหรือสารออกซีจีเนต(1)) ตามมาตรฐานนั้นยอมให้มีสารแอโรแมติกในน้ำมันเบนซินได้สูงถึงร้อยละ 30 (ประมาณ 1 ใน 3) แต่ในขณะที่น้ำมันดีเซลนั้นประกอบด้วยสารประกอบอัลเคนเป็นหลัก (สารประกอบแอโรแมติกจะทำใหค่าซีเทนของน้ำมันดีเซลลดลง) แต่เราพบว่าเครื่องยนต์ดีเซลมีปัญหาเรื่องการเกิดควันดำเป็นเรื่องปรกติในขณะที่ปัญหานี้ไม่ค่อยพบในเครื่องยนต์เบนซิน

สาเหตุที่การเผาไหม้สารประกอบแอโรแมติก
(ที่มีสัดส่วนอะตอมไฮโดรเจนต่ออะตอมคาร์บอนต่ำ) ในเครื่องยนต์เบนซินไม่เกิดควันดำ (หรือเกิดน้อยกว่า) การเผาไหม้สารประกอบอัลเคนในเครื่องยนต์ดีเซลเป็นเพราะเครื่องยนต์ทั้งสองมีรูปแบบการเผาไหม้ที่แตกต่างกัน ในเครื่องยนต์เบนซินนั้นจะทำการผสมไอน้ำมันกับอากาศให้อยู่ในรูปของแก๊สก่อน ทำให้ออกซิเจนในอากาศผสมเข้ากับไอน้ำมันอย่างทั่วถึง จากนั้นจึงค่อยทำการจุดระเบิดให้เกิดการเผาไหม้ แต่ในเครื่องยนต์ดีเซลนั้นใช้วิธีฉีดน้ำมันให้กลายเป็นหยดของเหลวเล็ก ๆ เข้าไปสัมผัสกับอากาศร้อน การเผาไหม้จะอยู่ที่รอยต่อผิวสัมผัสระหว่างหยดน้ำมันกับอากาศ (เหมือนกับการจุดเทียนในรูปที่ 1) น้ำมันจะเผาไหม้ได้หมดหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าหยดน้ำมันนั้นมีขนาดเท่าใด และหยดน้ำมันมีเวลาอยู่ในห้องเผาไหม้นานเท่าใด หยดน้ำมันที่มีขนาดเล็กจะเผาไหม้ได้หมดจดกว่าหยดน้ำมันที่มีขนาดใหญ่ และถ้าหยดน้ำมันมีเวลาอยู่ในห้องเผาไหม้นาน (เมื่อเครื่องยนต์ทำงานรอบต่ำ) ก็จะทำให้เผาไหม้ได้สมบูรณ์กว่าการที่หยดน้ำมันมีเวลาอยู่ในห้องเผาไหม้สั้น (เมื่อเครื่องยนต์ทำงานรอบสูง

ที่นี้ลองสมมุติว่าถ้าเรานำเอาแก๊สหุงต้มมาผสมกับอากาศในสัดส่วนที่พอเหมาะที่สามารถลุกติดไฟได้มาบรรจุไว้ในท่อแก้ว
(ดูรูปที่ 2 ประกอบ) จากนั้นจึงทำการจุดไฟที่ปลายท่อด้านซ้ายและสังเกตุการเผาไหม้ที่เกิดขึ้นในท่อ




รูปที่ 2 การเผาไหม้ของแก๊สหุงต้มกับอากาศในท่อ

สิ่งที่เราจะเห็นคือเปลวไฟที่เกิดขึ้นจะเคลื่อนที่จากซ้ายไปขวา โดยมีผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการเผาไหม้อยู่ทางด้านหลังของเปลวไฟ (ด้านซ้ายในรูป) และเชื้อเพลิงที่ยังไม่เผาไหม้อยู่ทางด้านหน้าของเปลวไฟ (ด้านขวาในรูป) และในขณะที่เปลวไฟเคลื่อนที่ไปข้างหน้านั้นจะมีความเร็วการเคลื่อนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การที่ความเร็วการเคลื่อนที่ของเปลวไฟเพิ่มขึ้นเป็นเพราะความร้อนที่เกิดจากปฏิกิิยาไปทำให้แก๊สที่อยู่ทางด้านหน้ามีอุณหภูมิและความดันเพิ่มสูงขึ้น การเผาไหม้ในรูปแบบนี้ยังจำแนกได้เป็น 2 ประเภทตามความเร็วการเคลื่อนที่ของเปลวไฟคือ delflagration และ detonation

Deflagration คือกระบวนการเผาไหม้ที่หน้าคลื่นของการเผาไหม้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่
"ต่ำกว่า" ความเร็วเสียง (subsonic combustion) ซึ่งหน้าคลื่นการเผาไหม้เคลื่อนที่ไปด้วยการนำความร้อน (thermal conduction) ปรากฎการณ์เผาไหม้ส่วนใหญ่ที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน เช่นเปลวไฟทั่วหรือหรือการเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์สันดาปภายใน (internal combustion engine) เช่นเครื่องยนต์แก๊สโซลีนหรือเครื่องยนต์ดีเซลต่างเป็นแบบ deflagration การควบคุมการเผาไหม้แบบ deflagration สามารถควบคุมได้ดี และโดยทั่วไปมักจะใช้เพื่อการขับเคลื่อน เช่นขับเคลื่อนลูกสูบในเครื่องยนต์ หรือหัวกระสุนปืนในการยิงปืน อีกตัวอย่างของการการเผาไหม้แบบ deflagration ได้แก่การลุกวาบเป็นเปลวไฟของน้ำมันในระหว่างการทอดอาหาร โดยไอน้ำมันทอดอาหารที่ระเหยผสมกับอากาศได้รับอุณหภูมิสูงจนถึง autoignition temperature ของน้ำมัน จึงเกิดการลุกวาบเป็นเปลวไฟ ปรากฏการณ์เช่นนี้บางทีเรียกว่า flash fire ซึ่งเป็นลุกไหม้ของเชื้อเพลิงที่เป็นไอที่ผสมกับอากาศ อำนาจการทำลายล้างของการเผาไหม้แบบ deflagration จะขึ้นอยู่กับการแผ่รังสีความร้อนของเหลวไฟที่เกิดจากการเผาไหม้มากว่าจะเป็นความดันที่เกิดขึ้น

Detonation คือกระบวนการเผาไหม้ที่หน้าคลื่นการเผาไหม้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่สูงกว่าความเร็วเสียง (supersonic combustion) เกิดเป็นคลื่นกระแทก
(shock wave) แผ่นขยายออกไปโดยมีบริเวณที่เกิดการเผาไหม้เคลื่อนที่ตามหลัง คลื่นกระแทกที่เกิดขึ้นจะทำการอัดเชื้อเพลิงที่ยังไม่ลุกไหม้ที่อยู่บริเวณหน้าคลื่นกระแทกให้มีความดันสูงขึ้น ซึ่งทำให้เชื้อเพลิงนั้นมีอุณหภูมิสูงขึ้นตามไปด้วยจนกระทั่งเชื้อเพลิงนั้นติดไฟได้เอง บริเวณรอยต่อระหว่างหน้าคลื่นกระแทกกับเชื้อเพลิงที่ยังไม่เผาไหม้ที่อยู่หน้าคลื่นกระแทกจะมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและความดันอย่างกระทันหัน (ถ้าเป็นภาษาคณิตศาสตร์ก็ต้องเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบ step change) การเผาไหม้แบบ detonation นั้นยากที่จะควบคุมและอำนาจการทำลายล้างจะเกิดจากความดันมากกว่าความร้อนที่เกิดจึงมักนำปรากฏการณ์การเผาไหม้แบบ detonation ไปใช้ในการทำลาย เช่นใช้เป็นวัตถุระเบิดสำหรับใช้กับอาวุธสงคราม และการทำขุดเจาะทำเหมืองต่าง ๆ อาการน๊อค (knock) ที่เกิดจากการใช้เชื้อเพลิงที่ไม่เหมาะสมกับเครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซล ก็คือการเกิดที่เชื้อเพลิงที่ป้อนเข้าไปในกระบอกสูบเกิดการเผาไหม้แบบ detonation แทนที่จะเป็น deflagration แรงกระแทกที่เกิดจากการน๊อคนั้นสามารถทำให้ชิ้นส่วนเครื่องยนต์เกิดความเสียหายได้

เมื่อเทียบพลังงานต่อหน่วยน้ำหนักของวัตถุระเบิด
(เช่น TNT) และเชื้อเพลิง (เช่นน้ำมันเบนซิน) แล้วจะเห็นว่าพลังงานของวัตถุระเบิดจะต่ำกว่าพลังงานของเชื้อเพลิงมาก ทั้งนี้เป็นเพราะน้ำหนักวัตถุระเบิดต้องรวมเอาน้ำหนักของออกซิเจนเข้าไปด้วย แต่การที่วัตถุระเบิดมีอำนาจการทำลายล้างมากกว่าเป็นเพราะวัตถุระเบิดสามารถปลดปล่อยพลังงานทั้งหมดออกมาได้ในเวลาอันสั้น ในขณะที่เชื้อเพลิงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ความเร็วการเผาไหม้ของวัตถุระเบิดที่ใช้กันอยู่ทั่วไปส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 2,000-9,000 m/s ในขณะที่ความเร็วในการเผาไหม้เชื้อเพลิงแข็ง (ที่ใช้ในการขับดันจรวดต่าง ๆ) จะมีค่าประมาณ 0.01 m/s

การระเบิดที่เกิดจากเชื้อเพลิงรั่วไหลออกมาผสมกับอากาศแล้วเกิดการติดไฟนั้นเป็นที่พบเห็นและทราบกันมานานแล้วในอุตสาหกรรม และในปัจจุบันได้มีการนำเอาความรู้ดังกล่าวไปใช้ในทางทหาร กล่าวคือนำไปทำหัวรบแบบ
Fuel Air Explosive ซึ่งแทนที่จะให้หัวรบบรรจุวัตถุระเบิด (ที่ต้องแบบน้ำหนักออกซิเจนในสูตรโมเลกุลไปด้วย) ก็ให้หัวรบแบกน้ำหนักเชื้อเพลิงเป็นหลัก (ดังนั้นพลังงานต่อหน่วยน้ำหนักที่แบกจึงเพิ่มมากขึ้น) และเมื่อหัวรบกระทบเป้าหมายก็ให้หัวรบระเบิดเพื่อกระจายเชื้อเพลิงออกไปให้ผสมกับอากาศก่อน แล้วจึงค่อยจุดระเบิดเชื้อเพลิงผสมนั้น มีรายงานว่ามีการนำไปใช้ในอัฟกานิสถานและในอิรักโดยกองทัพสหรัฐฯ และใช้กับสงครามใน chechnya โดยกองทัพรัสเซีย

วัตถุระเบิดที่ใช้ในทางทหารนั้นจะประกอบด้วยธาตุ
C H O และ N เป็นหลัก เมื่อเกิดการเผาไหม้แล้วจะได้แก๊สร้อนที่ประกอบด้วย COx H2O และ NOx ปลดปล่อยออกมา ตัวที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาคือไอน้ำที่เกิดจากการเผาไหม้ เพราะเมื่อไอน้ำที่ปลดปล่อยออกมากระทบกับอากาศข้างนอกที่เย็นกว่าก็จะควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำหรือหมอกควันขาวที่สังเกตเห็นได้ง่าย ควันขาวที่ถูกปลดปล่อยออกมาในขณะที่ยิงอาวุธโจมตีฝ่ายตรงข้ามนั้นทำให้ฝ่ายที่ถูกโจมตีทราบว่าฝ่ายซุ่มโจมตียิงอาวุธออกมาจากบริเวณไหนและสามารถโต้ตอบกลับไปได้ จึงทำให้เกิดแนวความคิดที่ว่าถ้าสามารถเตรียมวัตถุระเบิดที่มีแต่ธาตุ C O และ N โดยไม่มี H เป็นองค์ประกอบเลยก็น่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ และก็มีการทำสำเร็จซะด้วย สารดังกล่าวคือ Octanitrocubane ที่เตรียมได้จากไฮโดรคาร์บอนชื่อ Cubane โครงสร้างโมเลกุลของสารทั้งสองแสดงในรูปที่ 3

โดยทั่วไปมุมของพันธะเดี่ยวระหว่างอะตอมคาร์บอนที่มีความเครียด
(stress) ต่ำสุดคือ 109.5 องศา ในกรณีที่มุมของพันธะมีค่าน้อยกว่านี้ (เช่นในกรณีของสารประกอบไซโคลบิวเทนหรือไซโคลโพรเพนดังแสดงในรูปที่ 4) พลังงานภายในของพันธะจะมีค่าสูงเพิ่มขึ้น เมื่อพันธะเหล่านี้แตกออกก็จะปลดปล่อยพลังงานจำนวนมากออกมา ดังนั้นสารประกอบใดก็ตามที่มีพันธะทางเคมีที่มีความเครียดสูง เมื่อสารนั้นเกิดการสลายตัวก็จะปลดปล่อยพลังงานจำนวนมากออกมาด้วย

รูปที่ 3 โครงสร้างโมเลกุลของ Cyclopropane และ Cyclobutane

ในคืนวันพุธที่ 6 กรกฎาคม ปีพ.. 2531 เกิดเพลิงไหม้และเกิดการระเบิดที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน Piper Alpha ในทะเลเหนือนอกชายฝั่งสกอตแลนด์ จากผู้ที่ทำงานบนแท่นในเวลานั้นจำนวน 227 คน เสียชีวิต 165 คน (หรือเกือบ 3 ใน 4) และอีก 2 รายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากเรือช่วยชีวิต ผลจากการเผาไหม้ทำให้ส่วนใหญ่ของแท่นขุดเจาะจมลงไปในทะเลเหนือ

บังเอิญว่าในระหว่างที่เริ่มเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้บันทึกภาพเหตุการณ์นั้นไว้
(ลองไปหาดูได้ใน Youtube นะ มีการทำเป็นสารคดีด้วย) และคณะกรรมการสอบสวนหาสาเหตุก็ได้นำภาพดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานหาสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้นและเมื่อใด กล่าวโดยคร่าว ๆ คือเชื้อเพลิงที่อยู่บนแท่นเจาะมี น้ำมันดีเซลสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เมทานอลสำหรับฉีดผสมเข้าไปในแก๊สเพื่อป้องกันไม่ให้แก๊สแข็งตัว แก๊สธรรมชาติและน้ำมันดิบที่ได้จากการขุดเจาะ เชื้อเพลิงเหล่านี้อยู่ในระบบท่อหรือถังเก็บที่ตำแหน่งต่าง ๆ กันของแท่นขุดเจาะและภายใต้ความดันที่แตกต่างกัน ดังนั้นจากตำแหน่งที่เกิดการลุกติดไฟและรูปแบบของเปลวไฟที่เกิด (ถ้าเกิดจากการรั่วจากท่อแรงดันสูงก็จะเป็นเพลวไฟฉีดพุ่งออกมาเหมือนไฟเตาแก๊ส หรือจากถังเก็บที่ไม่มีแรงดันซึ่งจะลุกไหม้ตรงที่รั่วออกมา ถ้าเป็นแก๊สหรือเมทานอลก็จะให้ควันดำน้อยกว่าน้ำมันดิบหรือน้ำมันดีเซล) ก็ทำให้เจ้าหน้าที่สืบสวนสามารถตีกรอบได้ว่าลำดับการเกิดเหตุการณ์น่าจะเป็นอย่างไร

(1) เบนซีน โทลูอีน และไซลีน มีเลขออกเทนเกิน
100 ทั้งนั้น

แก้ไข วันศุกร์ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๒

ไม่มีความคิดเห็น: