พฤษภาคมปีพ.ศ.
๒๕๓๑
ผมได้มีโอกาสไปฝึกงานที่โรงงานปิโตรเคมีแห่งหนึ่งที่เมือง
Chiba
ประเทศญี่ปุ่น
เพื่อไปเรียนรู้การเดินเครื่องโรงงานและได้มีโอกาสเข้าไปใช้ชีวิตทำงานเป็นกะเป็นครั้งแรก
ที่บริษัทแห่งนั้นเขาจะจัดห้องให้พนักงานเปลี่ยนเครื่องแบบทำงานก่อนเข้าทำงาน
คือพนักงานจะแต่งตัวอย่างไรก็ได้มายังบริษัท
แต่พอมาถึงก็จะต้องเปลี่ยนเป็นชุดพนักงานของเขา
และพอจะกลับก็ต้องเปลี่ยนคืน
(ก็ดีตรงที่พนักงานไม่ต้องรับผิดชอบภาระการซักชุดทำงาน)
ชุดทำงานของเขานั้นเป็นเสื้อแขนยาวทำนองเดียวกับเสื้อแจ็กเก็ตที่เราใส่กันหนาว
แต่จะรัดรูปมากกว่า
โดยเฉพาะตรงชายเสื้อที่จะยาวพอแค่เอว
และเป็นชายเสื้อแบบพอดีเอว
ไม่ได้รุ่ยร่ายเหมือนเสื้อชอปที่นิสิตนักศึกษาบ้านเราชอบใส่กัน
แต่ชุดของเขามีลักษณะพิเศษก็คือ
ที่เสื้อนั้นจะไม่มีกระเป๋าเสื้อ
ไม่มีที่ให้เหน็บปากกาหรือเหน็บป้ายชื่อ
(ถ้าเป็นป้ายแบบเย็บติดก็ไม่เป็นไร)
กางเกงจะไม่มีกระเป๋าหลัง
กระเป๋ากางเกงจะอยู่ต่ำลงไปที่ประเกือบระดับหัวเข่า
เรียกว่าถ้าจะหยิบของในกระเป๋าก็ต้องก้มตัวลงไป
ไม่สามารถที่จะเดินเอามือล้วงกระเป๋ากางเกงได้
(รูปที่
๑)
รูปที่ ๑ ฝ่ายเทคนิค ทีมโอเปอเรชัน และฝ่าย Instrument HDPE Plant เมื่อเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการเดินเครื่องโรงงาน HDPE ณ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อพฤษภาคม ๒๕๓๑ รูปนี้สแกนจากภาพที่ถ่ายด้วยกล้องโพราลอยด์ที่เก็บเอาไว้กว่า ๓๐ ปีแล้ว สองแถวแรกคือทีมที่เดินทางไปจากประเทศไทย แถวหลังสุดคือวิทยากรของฝ่ายญี่ปุ่นที่มาให้การอบรม ช่วงที่ยังไม่ได้เข้าโรงงาน เข้าให้ติดป้ายชื่อเอาไว้ก่อน เขาจะได้เรียกถูกว่าใครเป็นใคร
เหตุผลที่เขาออกแบบเสื้อไม่ให้มีกระเป๋าหรือให้เหน็บกลัดอะไรได้นั้นเนื่องจากเขาเคยมีปัญหาเรื่อง
ของที่โอเปอร์เรเตอร์ใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อหรือเหน็บติดไว้ที่เสื้อนั้น
หลุดเขาไปในไซโลเก็บเม็ดพลาสติก
ทำให้เม็ดพลาสติกในไซโลนั้นกลายเป็นผลิตภัณฑ์
off
spec หรือปนเปื้อนทั้งไซโลทันที
ตรงนี้คงมีคนสงสัยว่าทำไมมันจึงสำคัญขนาดนั้น
นั่นเป็นเพราะว่าถ้านำเอาเม็ดพลาสติกดังกล่าวไปจำหน่ายให้ลูกค้า
เวลาที่ลูกค้าเอาเม็ดพลาสติกนั้นไปหลอมในเครื่องขึ้นรูปเพื่อฉีดขึ้นรูป
โลหะที่ติดเข้าไปกับเม็ดพลาสติกนั้น
(เช่นส่วนหัวของปากกาลูกลื่น)
จะไปทำให้อุปกรณ์ขึ้นรูปของลูกค้าเสียหายได้
และชิ้นส่วนโลหะชิ้นเล็ก
ๆ
นั้นก็ยากต่อการตรวจจับด้วยแม้ว่าจะมีเครื่องตรวจจับในขณะที่ทำการบรรจุเม็ดพลาสติกจากไซโลลงถุง
ถ้ายังไม่เห็นภาพก็ลองนึกภาพว่าถ้าคุณซื้อข้าวสารมาหุง
แล้วในข้าวนั้นมีเม็ดทรายหรือกรวดก้อนเล็ก
ๆ ปนอยู่
แล้วคุณเคี้ยวข้าวที่มีเม็ดทรายหรือกรวดนั้นปนอยู่
อะไรจะเกิดขึ้นกับฟันของคุณ
เพราะมันอาจทำให้ฟันของคุณนั้นแตกหักได้
แต่การที่เขาเอากระเป๋ากางเกงไปติดไว้ต่ำจนไม่สามารถเดินเอามือล้วงกระเป๋าได้
ก็ด้วยเหตุผลที่ว่ามือจะได้ว่าง
เวลาที่ลื่นล้มหรือสะดุดอะไรจะได้คว้าราวจับได้ทัน
ตอนนั้นก็คิดว่าคงเป็นเพราะเวลาที่อากาศเย็น
ๆ มีหิมะตก
พื้นโรงงานคงจะลื่นเนื่องจากมีน้ำแข็งเกาะ
พนักงานของเขาคงเดินเอามือล้วงกระเป๋ากางเกงกันหนาว
เลยไม่เอามือจับราวบันไดเวลาเดินขึ้นลง
แต่บังเอิญไปได้อ่านกรณีที่มีรายงานไว้ใน
ICI
Safety Newsletter (รูปที่
๒)
ที่ได้รายงานเหตุการณ์ที่พนักงานลื่นตกจากบันได
ก็พบว่ามันยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้พนักงานไม่เอามือจับราวบันไดเวลาเดินขึ้นลงอีก
นั่นก็คือการเกิดไฟฟ้าสถิตย์
รูปที่ ๒ รายงานอุบัติเหตุจากพนักงานลื่นตกบันไดจนทำให้ต้องขาดงานไป ๑๗ กะ (จาก ICI Safety Newsletter ฉบับที่ ๘๑ เดือนพฤศจิกายน ๑๙๗๕ (พ.ศ. ๒๕๑๘))
เหตุการณ์ในรูปที่
๒ คือพนักคนหนึ่งลื่นล้มที่บันได
ได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่าจนต้องพักงานไป
๑๗ กะ อุบัติเหตุแบบนี้ถ้าดูเผิน
ๆ ก็คงจะสรุปว่าพนักงานเดิมไม่ระวัง
เพราะทั้งบันไดและรองเท้าที่เขาใส่ก็อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี
ดังนั้นถ้าเขาจับราวบันไดก็คงจะไม่เกิดอุบัติเหตุดังกล่าว
แต่สิ่งที่ทีมสอบสวนตั้งคำถามก็คือ
"ทำไมเขาจึงไม่จับราวบันได"
คำตอบของคำถามดังกล่าวทำให้เห็นปัญหา
ในช่วงเวลาที่อากาศแห้ง
(เช่นในหน้าหนาว)
ไฟฟ้าสถิตย์จะสะสมอยู่บนตัวของผู้คนได้
โดยเฉพาะถ้าเขาใส่เสื้อผ้าที่เป็นฉนวนไฟฟ้า
สวมรองเท้าที่พื้นเป็นฉนวนไฟฟ้า
การเสียดสีระหว่างเสื้อผ้ากับผิวหนังและพื้นรองเท้ากับทางเดินนั้น
ทำให้ไฟฟ้าสถิตย์สะสมอยู่บนตัวคนได้
และเมื่อใดที่เอื้อมมือไปยังตัวทำ
ก็จะมีประกายไฟฟ้ากระโดด
ทำให้รู้สึกสะดุ้ง
ดังนั้นใครก็ตามที่ใช้เส้นทางดังกล่าวก็มักจะไม่จับราวบันไดกันทั้งนั้น
ในบ้านเราปัญหาเรื่องไฟฟ้าสถิตย์นี้ถ้าเป็นอากาศภายนอกอาคารก็ไม่มีปัญหาเท่าใด
เพราะบ้านเราอากาศมีความชื้นสูง
มันก็เลยช่วยนำเอาไฟฟ้าสถิตย์ออกไปจากตัว
เว้นแต่ผู้ที่ทำงานในห้องปรับอากาศเป็นเวลานาน
ก็อาจพบกับปัญหาแบบเดียวกันได้
ตอนที่ผมอบรมอยู่ที่ญี่ปุ่นนั้น
สิ่งหนึ่งที่เขาสอนให้ทำอยู่เสมอก็คือการถ่ายประจุไฟฟ้าจากตัวเราลงดิน
คือเขาจะมีแท่งเหล็กที่ต่อสายดินเอาไว้สำหรับให้พนักงานเอามือไปจับก่อนที่จะเข้าสู่พื้นที่การผลิตหรือการเก็บตัวอย่าง
และภาชนะโลหะที่ใช้เก็บตัวอย่างไฮโดรคาร์บอนก็จะมีการต่อสายดินเอาไว้ในขณะเก็บตัวอย่าง
เพราะประกายไฟที่เกิดขึ้นจากการถ่ายเทประจุไฟฟ้าสถิตย์ที่สะสมอยู่นั้นสามารถจุดระเบิดไอระเหยของเชื้อเพลิงได้
รูปที่ ๓ อุบัติเหตุที่เกิดจากการออกแรงขันนอตจนนอตขาด (จาก ICI Safety Newsletter ฉบับที่ ๘๑ เดือนเมษายน ๑๙๗๓ (พ.ศ. ๒๕๑๖))
เรื่องที่สองเป็นเรื่องเกี่ยวกับการขันนอต
(ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้หรือตัวเมียก็ตาม)
ที่ดูเผิน
ๆ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรแต่พอเอาเข้าจริง
ๆ มันก็อาจมีปัญหาอะไรซ่อนอยู่เหมือนกัน
อย่างเช่นที่ผมเคยเจอในแลปก็คือนิสิตถอดนอตไม่ได้
ออกแรงขันจนหัวนอตเยินแล้วก็ถอดไม่ออก
มาถามผมว่าทำอย่างไรดี
ผมก็บอกว่าให้เปลี่ยนไปใช้ประแจแหวน
(ที่มันจับที่มุมหัวนอตทั้ง
๖ มุม)
แทนการใช้ประแจปากตาย
(ที่มันจับมุมหัวนอตแค่
๒ มุม)
แล้วเขาก็ขันออกได้
อีกเรื่องหนึ่งที่เคยเจอก็คือนิสิตขันนอตเพื่อที่จะถอด
แต่นอตไม่คลายตัว
ก็เลยออกแรงขันจนหัวนอตขาด
เหตุการณ์นี้พอเข้าไปตรวจสอบก็พบว่าเขาขันนอตผิดทาง
ที่แทนที่จะเป็นการขันเพื่อคลาย
แต่ทิศทางหมุนของเขานั้นเป็นการขันอัดให้แน่น
กรณีในรูปที่
๒ นั้นเป็นนอตตัวใหญ่ (3/4
นิ้ว)
ซึ่งก็แน่นอนว่าต้องใช้แรงมาก
ดังนั้นพอนอตขาด
แรงต้านการหมุนก็หายไปทันที
คนที่กำลังออกแรงเต็มที่เพื่อขันคลายนอตตัวนั้นก็เลยได้รับบาดเจ็บ
อุบัติเหตุแบบนี้ส่วนใหญ่ก็คงจะสรุปว่าคนขันนอตไม่ระมัดระวัง
แต่รายการนี้พอเขาตรวจสอบลึกลงไปก็พบว่ามีเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง
(เพียงแต่อาจไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ)
เลยทำให้เกิดสอบสวนต่อไปว่าแรงที่ใช้ในการขันตึงนอตนั้นเหมาะสมหรือไม่
รวมทั้งชนิดวัสดุที่ใช้ทำตัวนอตว่าเหมาะสมกับแรงขันตึงด้วยหรือไม่
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือคนทำงานเมื่อพบปัญหานอตขาด
ก็ไม่ได้รายงานขึ้นมา
คงทำเพียงแค่ว่าไปเอานอตตัวใหม่มาใช้
ปัญหาก็เลยไม่เป็นที่รับรู้ในระดับสูงขึ้น
จนกระทั่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บ
การสรุปว่าเพราะคนไม่ทำอย่างนั้นก็เลยเกิดอุบัติเหตุนั้น
มันทำให้การสอบสวนมันจบง่ายกว่าการหาว่าทำไมเขาจึงไม่ทำอย่างนั้น
แต่การทำแบบหลังนั้นมันจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุแบบเดิมซ้ำอีกได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น