วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559

เดินป่าหาหมุดโลกบนยอดเขาสะแกกรัง MO Memoir : Thurday 14 January 2559

"รวมถึงกำหนดให้หมุดสามเหลี่ยมชั้นที่ ๑ หมายเลข ๙๑ “เขาสะแกกรัง” จังหวัดอุทัยธานี เป็นหมุดหลักฐานค่าพิกัดคงที่ และเป็นจุดศูนย์กำเนิดของพื้นหลักฐาน ซึ่งผลจากการคำนวณปรับแก้ครั้งนี้ ให้ถือว่าอยู่บนพื้นหลักฐานอินเดียน ๑๙๗๕ (๒๕๑๘) โดยองค์ประกอบของพื้นหลักฐานนี้ ใช้อิลลิปซอยด์ที่ชื่อเอเวอร์เรส มีจุดศูนย์กำเนิดอยู่ที่หมุดสามเหลี่ยม เขาสะแกกรัง (๙๑) จังหวัดอุทัยธานี พิกัดละติจูดที่ ๑๕ องศา ๒๒ ลิบดา ๕๖.๐๔๘๗ ฟิลิบดา เหนือ ลองจิจูดที่ ๑๐๐ องศา ๐๐ ลิบดา ๕๙.๑๙๐๖ ฟิลิบดา ตะวันออก และความสูงยีออยด์ (N) มีค่า –๒๒.๔๖ เมตร"
 

หมุดอ้างอิงนี้ตั้งอยู่บนเขาสะแกกรัง อ. เมือง จ. อุทัยธานี ห่างจากวัดสังกัสรัตนคีรีประมาณ 500 เมตร (วัดอยู่บนยอดเขา มีบันไดเดินขึ้นไปได้ หรือจะขับรถขึ้นไปจอดข้างบนก็ได้ ทางไม่ลาดชัดไม่คดเคี้ยวด้วย) ตอนแรกที่เขาบอกให้ผมขึ้นไปดู (ถ้าหากคิดว่าทางมันไม่รกเกินไป) ผมก็สงสัยว่ามันแตกต่างไปจากหมุดอ้างอิงที่เขาใช้ทำแผนที่ที่เห็นวางไว้ตามที่ต่าง ๆ อย่างไร ก็เลยลองค้นข้อมูลดู ทำให้รู้ว่ามันมีความสำคัญกว่าหมุดอ้างอิงหมุดอื่น ๆ ในประเทศไทย เพราะ (ตามที่ผมเข้าใจ) ดูเหมือนว่าหมุดอื่น ๆ ในประเทศไทย ต้องอ้างอิงตำแหน่งที่ตั้งย้อนกลับมายังหมุดที่อยู่บนยอดเขาสะแกกรังหมุดนี้
 
ที่แปลกก็คือมันไม่มีป้ายบอกเชื้อเชิญให้ใครต่อใครขึ้นไปดู มีแต่บอกต่อ ๆ กันด้วยปากว่าถ้ามีเวลา ไหน ๆ ก็ขึ้นไปถึงวัดแล้วก็ให้ลองเดิยไปดู "หมุดโลก" ที่อยู่บนยอดเขาด้วย แต่พอขึ้นไปถึงวัดแล้วก็ไม่ยักมีป้ายบอกซะด้วยว่ามันตั้งอยู่ที่ไหน อาศัยเล็งดูว่ามีคนเดินลุยป่าไปในทิศทางไหนบ้างกันเยอะ ๆ แล้วก็เลือกเดินตามเส้นทางนั้นไป (สรุปว่ามันอยู่อีกฟากหนึ่งตรงข้ามกับวัด อยู่ทางด้านอนุสาวรีย์พระชนกจักรี)
 
หมุดนี้ในข้อมูลจากเว็บกรมแผนที่ทหาร (www.rtsd.mi.th/MapInformatic) ระบุว่าเป็นหมุดหลักฐานแผนที่หมายเลข 3001 ชื่อหมุด OTRI91 (โอทีอาร์ไอเก้าหนึ่ง) อยู่ ณ บนเขาสะแกกรัง อ. เมือง จ. อุทัยธานี ความสำคัญของมันคงจะเป็นเพราะใช้เป็นจุดอ้างอิงพิกัดบนพื้นโลก หมุดประเภทเดียวกันนี้ที่อยู่ใกล้ประเทศไทยทางทิศตะวันตกก็อยู่ในประเทศอินเดีย ทางทิศตะวันออกก็อยู่ในประเทศเวียดนาม

วันนี้ก็ไม่มีอะไร เพียงแค่อยากบันทึกภาพความทรงจำเอาไว้หน่อยว่า ที่หายหน้าหายตาไปหลายวันนั้น ไปโผล่อยู่ในสภาพภูมิประเทศเช่นใดมาบ้างก็แค่นั้นเอง
 
รูปที่ ๑ เส้นทางเดินไปยังที่ตั้งหมุดโลก เดินผ่านอนุสาวรีย์พระชนกจักรีมา ความเจริญมีมาถึงเพียงแค่ขั้นบันได ๔ ขั้นที่เห็นในรูป จะเดินลุยต่อไปก็ทำใจไว้นิดนึง 
 
รูปที่ ๒ ตามเส้นทางที่เดิน อาศัยดูรอยทางที่มีใบไม้อยู่ไม่มาก
 
รูปที่ ๓ เดินไปเรื่อย ๆ จากรูปที่ ๒
 
 รูปที่ ๔ เดินไปเรื่อย ๆ จากรูปที่ ๓ รู้สึกเส้นทางจะรกมากขึ้น

รูปที่ ๕ เดินไปเรื่อย ๆ จากรูปที่ ๔ เริ่มไม่แน่ใจว่าเดินมาถูกทางหรือเปล่า

รูปที่ ๖ เส้นรกแบบนี้ไม่ค่อยชอบ กลัวจะเจองูมาซุ่มอยู่ในพงหญ้าข้างทาง และก็เจอจริง ๆ เป็นงูเขียวพระอินทร์เลื้อยตัดหน้า ตัวยาวกว่า ๒ ฟุตเล็กน้อย แถมวันนั้นลากรองเท้าแตะกับกางเกงขาสั้นไปเดินซะด้วย

รูปที่ ๗ ในที่สุดก็มาถึงแล้ว
 
รูปที่ ๘ ตำแหน่งของหมุดโลกอยู่ตรงกลาง มีเสาสี่เหลี่ยมสองต้นตั้งป้องกันเอาไว้และใช้เป็นจุดสังเกต


รูปที่ ๙ แต่ถ้าจะเอาแบบพิกัดละเอียดต้องดูที่ศูนย์กลางของหมุดทองเหลืองตัวบน มีแต่คนมาเขียนอะไรก็ไม่รู้เอาไว้เต็มไปหมด วันนั้นเดินลุยเข้าไปกันสองคนกับลูกสาวคนเล็ก (รับหน้าที่เป็นตากล้องไปด้วยในตัว)
 
รูปที่ ๑๐  แสดงรายละเอียดของการวางตำแหน่ง วัน-เวลา และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ (ต่อมาได้เป็นเจ้ากรมแผนที่ทหาร)

ไม่มีความคิดเห็น: