วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552

นานาสาระเรื่องไฟฟ้ากำลัง : วางเพลิงแลปไม่ใช่เรื่องยาก MO Memoir : วันศุกร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา มีหลายครั้งด้วยกันที่เกือบจะเกิดไฟไหม้ขึ้นในแลป โชคดีที่มีการพบเห็นทันเวลา วันนี้เลยขอยกตัวอย่างสัก 3 ตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างไม่ถูกวิธีที่สามารถทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ ส่วนการกระทำดังกล่าวจะเกิดจากการ จงใจ มักง่าย ไม่ตั้งใจ ไม่สนใจ ไม่รู้ไม่ชี้ ตระหนี่ เห็นแก่ได้ ไม่อ่านวิธีใช้งาน ไม่เคยมีใครสอนหรือเรียนแล้วแต่ไม่จำ เห็นรุ่นพี่เขาทำอย่างนี้ก็เลยต้องทำตาม ไม่เคยใช้อุปกรณ์ไฟฟ้ามาก่อน ฯลฯ ก็ไม่ทราบเหมือนกัน

1. เสียบปลั๊กไม่แน่น

รูปที่ 1 ข้างล่างเป็นตัวอย่างความเสียหายที่เกิดจากการเสียบปลั๊กไม่แน่น เหตุการณ์นี้มักเกิดกับการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่กินกระแสไฟฟ้าสูง (เช่น เตาไฟฟ้า เตาเผา เตารีด เครื่องเป่าลมร้อน ฯลฯ) ถ้าหากปลั๊กหลวมจะทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านไม่สะดวก จะเกิดความร้อนจำนวนมากบริเวณผิวสัมผัสของขาปลั๊กตัวผู้และโลหะของเต้ารับ ส่วนที่เป็นโลหะนำไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นส่วนของปลั๊กตัวผู้หรือเต้ารับจะทนความร้อนที่เกิดขึ้นได้มากกว่าโครงสร้างส่วนที่เป็นพลาสติก (ตัวเต้ารับ ปลั๊กตัวผู้ ฉนวนหุ้มสายไฟ) ถ้าความร้อนที่เกิดขึ้นสูงมากพอก็จะทำให้ชิ้นส่วนที่เป็นพลาสติกเกิดการหลอมหรือไหม้ได้ (ดังเช่นรอยไหม้ 1 ที่แสดงในภาพ)


รูปที่ 1 เต้ารับชนิด 3 ขา (มีสายดิน) (1) รอยไหม้ที่เกิดจากการเสียบปลั๊กไม่แน่น (2) (3) รูสำหรับเสียบปลั๊กชนิดขาแบน พึงสังเกตว่าความยาวของรู 2 และ 3 ไม่เท่ากัน

ไหน ๆ ยกตัวอย่างปลั๊กแบบนี้มาแล้วก็ขอเพิ่มเติมอีกเรื่องคือขนาดของรู ในบ้างเรามีการใช้ปลั๊กชนิด 2 ขาแบนเป็นปรกติ ทีนี้ในบางครั้งอาจพบปัญหาว่าเวลานำปลั๊กสองขาแบนมาเสียบเข้ากับเต้ารับแล้วเสียบไม่ลง แต่พอสลับข้างก็เสียบได้ (หรือบางครั้งก็ไม่ได้อีก) สาเหตุดังกล่าวเป็นเพราะปลั๊กแบบ 2 ขาแบนบางชนิดมีขาสองข้างที่มีขนาดใหญ่ไม่เท่ากัน ให้พิจารณารูปที่ 1 จะเห็นได้ว่ารูแบน 2 จะมีความยาวที่มากกว่ารูแบน 3 ส่วนขาข้างไหนจะเป็นสาย live หรือ neutral ก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะในบ้านเราเห็นต่อกันมั่วไปหมด แม้แต่ในอาคารเดียวกันก็ยังเดินสายไฟไม่เหมือนกันเลย เอาเป็นว่าไม่มีการสลับระหว่างสาย live กับ ground ก็บุญแล้ว (เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว ไว้วันหลังจะเล่าให้ฟัง เอาเป็นว่าโชคดีที่ทันทีที่เสียบปลั๊ก circuit breaker ตัดไฟทันที ไม่เช่นนั้นคนแรกที่ไปสัมผัสอุปกรณ์ก็คงโดนไฟดูดตายไปแล้ว)

2. เก็บสายไฟที่มันยาวเกะกะแบบไม่คิดอะไร

อุปกรณ์ไฟฟ้าบางชิ้นจะมีสายไฟที่คนใช้รู้สึกว่ามันยาวเกะกะ เรื่องนี้มักเกิดกับกรณีที่ตำแหน่งที่ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าและตำแหน่งของเต้ารับอยู่ใกล้กัน ในกรณีที่เป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่กับที่ ไม่ได้มีการยกเคลื่อนย้ายไปไหนเป็นประจำ (เช่นตู้อบ) ก็มักใช้วิธีม้วนทบสายไฟและหาอะไรมามัดไว้ แต่ในกรณีของอุปกรณ์ที่ไม่ได้มีการใช้งานประจำที่ แต่มีการเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนอยู่เป็นประจำ ถ้านำไปใช้ใน ณ จุดที่อยู่ห่างจากเต้ารับ ผู้ใช้ก็คงไม่รู้สึกว่ามีปัญหาอะไรกับสายไฟ แต่ถ้านำมาใช้ในบริเวณที่มีเต้ารับอยู่ใกล้ ๆ ก็มักจะรู้สึกว่าสายไฟมันยาวเกะกะเกินไป เลยต้องหาวิธีเก็บสายไฟไม่ให้มันเกะกะที่ทำงาน

รูปที่ 2 ข้างล่างเป็นรูปจำลองเหตุการณ์ (ในความจริงเจอแบบนี้อยู่หลายครั้งแล้ว) เหตุเกิดกับ Hot plate ชนิดที่ให้ความร้อนได้อย่างเดียวหรือ Hot plate ที่เป็น Magnetic stirrer ด้วย (ทั้งให้ความร้อนและกวนได้ด้วย) กล่าวคือบ่อยครั้งที่อุปกรณ์ประเภทนี้เมื่อไม่ได้ใช้งานมักจะถูกเก็บโดยเอาสายไฟฟ้ามาพันไว้รอบตัวมันเอง เพื่อที่จะได้ไม่เกะกะในการเก็บและสะดวกในการหยิบมาใช้ ทีนี้ปัญหามันเกิดขึ้นเมื่อผู้ใช้ไม่ได้คลี่สายไฟออกจนหมดเพราะเห็นว่ามีเต้ารับอยู่ใกล้ ๆ กับที่ใช้งาน สิ่งที่เกิดขึ้นเวลาที่เปิด heater ใช้งานคือความร้อนจากตัว heater ทำให้ฉนวนสายไฟหลอม และถ้าฉนวนสายไฟเส้นในหลอมเมื่อไรก็จะเกิดไฟฟ้าลัดวงจรทันที (สายไฟฟ้าที่เห็นมีฉนวนอยู่สองชั้น คือฉนวนหุ้มสายทองแดงที่เป็นสาย live สาย neutral และ สาย ground แต่ละเส้น และฉนวนหุ้มด้านนอกที่ห่อหุ้มสาย live สาย neutral และ สาย ground เข้าไว้ด้วยกัน


รูปที่ 2 วิธีเก็บสายไฟที่ยาวเกินไปผิดวิธี

อีกกรณีหนึ่งที่พบก็คือเวลาที่ใช้ hot plate หลาย ๆ ตัวร่วมกัน เวลาใช้งานก็เสียบปลั๊กเลยโดยไม่ดูว่าสายไฟพาดผ่านอะไรบ้าง บางรายเสียบปลั๊กไฟโดยที่สายไฟนั้นไปพาดผ่าน hot plate อีกตัวหนึ่ง (อุตสาห์คลี่สายไฟออกมาหมดแล้ว แต่ยังไม่วายทำพลาดอีก)

บางรายที่ใช้เครื่องที่ทำหน้าที่กวนได้อย่างเดียว หรือใช้เครื่องที่ทำหน้าที่เป็นทั้งให้ความร้อนและกวนได้ แต่ใช้หน้าที่การทำงานเพียงแค่การกวนเท่านั้นโดยไม่ได้เปิดขดลวดความร้อนใช้งาน เวลาใช้งานก็เลยไม่ได้คลี่สายออกมาจนหมด วิธีการนี้จะว่าไปก็ไม่ถูกต้อง เหตุผลแรกจะอธิบายในเรื่องถัดไป ส่วนเหตุผลที่สองคือควรจะฝึกให้เคยชิน เพราะเมื่อต้องไปใช้เครื่องที่ทำได้ทั้งให้ความร้อนและกวนได้เมื่อไรจะได้ไม่เผลอลืม หรือคนที่ใช้ทั้งเครื่องที่ทำได้ทั้งให้ความร้อนและการกวนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีใครมายุ่งกับปุ่มเปิดให้ความร้อน (ถ้าคุณไม่ได้นั่งเฝ้ามันอยู่ตลอดเวลา)

3. มันถูกดี คุ้มค่าเงินที่จ่าย

ปลั๊กต่อพ่วงที่แสดงในรูปที่ 3 เป็นแบบที่มีราคาถูกและหาซื้อได้ง่าย แถมยังเก็บสายไฟได้อย่างเป็นระเบียบไม่เกะกะด้วย สายไฟที่ใช้กับปลั๊กชนิดนี้มักเป็นสายไฟชนิดอ่อนที่ใช้กับเครื่องไฟฟ้าทั่วไป โดยเป็นสายไฟที่ใช้ต่อจากอุปกรณ์ไฟฟ้าไปยังเต้ารับ โดยทั่วไปที่เห็นขายกันอยู่ก็จะบอกว่าใช้กับเครื่องไฟฟ้ารวมกันไม่เกิน 1000 วัตต์ โดยแปะเป็นฉลากติดไว้ทางด้านหลังหรือบางรายก็ทำไว้บนตัวพลาสติกเลย โดยมีข้อแม้ว่า "ต้องคลี่สายออกมาให้หมด" ว่าแต่ว่ามีผู้ใช้รายใดได้อ่านคำเตือนนี้หรือเปล่า หรืออ่านแล้วแต่ไม่สนใจและไม่จำ


รูปที่ 3 เต้ารับที่ไม่เหมาะอย่างยิ่งกับการใช้งานกับอุปกรณ์ที่กินกระแสสูง

ถ้าเราสังเกตดูสายไฟฟ้าที่เราใช้กันนั้น เขาจะระบุความต่างศักย์ที่สายรองรับได้ กับขนาดพื้นที่หน้าตัดของลวดทองแดง (บอกเป็นตารางมิลลิเมตรหรือบอกเป็นเบอร์) แต่เขาจะไม่บอกว่าสายไฟเส้นนี้รับกระแสได้กี่แอมแปร์ เพราะขนาดกระแสที่สายไฟจะรับได้จะขึ้นอยู่กับสภาพการใช้งาน (สายเดินอิสระ หรือร้อยท่อร้อยสายไฟเพียงเส้นเดียว หรือร้อยท่อร้อยสายไฟรวมกันหลายเส้น ฯลฯ) เพราะในขณะที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านสายไฟฟ้านั้นจะเกิดความร้อนเนื่องจากความต้านทานของสายไฟฟ้า ถ้ากระแสไฟฟ้าสูงขึ้น ความร้อนก็จะเกิดขึ้นมากตามไปด้วยโดยจะแปรผันกับกระแสไฟฟ้ายกกำลัง 2 (ตามสมการ I2R เมื่อ I คือกระแส และ R คือความต้านทาน) กล่าวคือถ้ากระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2 เท่าก็จะเกิดความร้อนเพิ่มขึ้น 4 เท่า เอาเป็นว่าถ้าสายไฟระบายความร้อนได้ดีก็จะรับกระแสไฟฟ้าได้สูง (แต่ไม่ได้หมายความว่าควรเอาสายไฟฟ้าไปแช่น้ำนะ)

ในกรณีที่สายไฟถูกวางพาดไปอย่างอิสระในที่โล่งนั้น สายไฟจะระบายความร้อนได้เต็มที่ ทำให้สามารถรับกระแสไฟฟ้าได้มากก่อนที่ฉนวนจะร้อนจนหลอมละลาย แต่ในกรณีของสายไฟที่เดินทับกันหลายเส้นหรือพันทบกันนั้น ความร้อนที่เกิดจากสายไฟที่อยู่ที่แกนในจะไม่สามารถระบายออกมาได้ ทำให้ฉนวนหุ้มสายไฟร้อนจนหลอมและเกิดการลัดวงจรตามมาได้ ครั้งหนึ่งที่พบคือนำสายไฟไปใช้กับ Hot plate ปรากฎว่าตอนที่ไปพบนั้นตัวปลั๊กต่อพ่วงร้อนจนสายไฟที่พันทับกันอยู่ภายในเริ่มหลอมติดกันแล้ว

ปลั๊กต่อพ่วงประเภทนี้มีความยาวสายไฟให้เลือกหลายขนาด เช่น 3 เมตร 5 เมตร และ 10 เมตร ซึ่งราคาไม่ได้แตกต่างกันมาก (ชนิดสายยาว 10 เมตรไม่ได้มีราคาเป็น 2 เท่าของชนิดสายยาว 5 เมตร) ทำให้บางคนเลือกซื้อชนิดที่มีสายต่อพ่วงยาว ๆ เอาไว้ก่อน ทีนี้พอมาใช้ในสถานที่ที่ไม่กว้างขวาง (มีโอกาสสักเท่าไรในห้องแลปที่ตำแหน่งของเต้ารับที่อยู่ใกล้ที่สุดกับจุดที่ต้องการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้ามีระยะห่างกันถึง 10 เมตร) ก็เลยไม่ได้คลี่สายไฟออกมาจนหมดเพราะกลัวว่ามันจะรกรุงรัง พอนำไปใช้กับอุปกรณ์ที่กินกระแสสูงก็ทำให้เกิดปัญหาข้างต้น สายไฟที่ร้อนขนาดนี้แล้วควรทิ้งไปเลยอย่าไปมัวเสียดาย เพราะฉนวนข้างนอกอาจดูดี แต่เราไม่รู้ว่าฉนวนข้างในเสียหายแค่ไหน ณ ตำแหน่งไหน


ไม่มีความคิดเห็น: