วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ผี MO Memoir : วันจันทร์ที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒

เคยได้กล่าวไว้ใน MO Memoir : June 22 Mon สัมมนา - มันคืออะไร ว่าในการสัมนานั้นต้องการให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาทุกคนมีส่วนร่วมในหัวข้อที่เข้าร่วมกันได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือในเมื่อผู้เรียนมาจากต่างสาขาวิชา และมีพื้นภูมิหลังและความสนใจที่แตกต่างกัน จะมีหัวข้อใดบ้างที่ผู้เข้าร่วมเรียนทุกคน (หรือเกือบทุกคน) มีความสนใจร่วมกันและสามารถให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวได้ และเรื่องนั้นไม่ควรเป็นเรื่องที่มีคำตอบที่ตายตัวอยู่แล้ว แต่ควรเป็นลักษณะของหัวข้อที่ยังเปิดกว้างและไม่มีข้อยุติ ทั้งนี้เพื่อที่ผู้ที่แสดงความคิดเห็นจะไม่รู้สึกอับอายถ้าความคิดเห็นของตัวเองนั้นผิดไปจากคำตอบที่เป็นที่ยอมรับกันอยู่ทั่วไป ในที่สุดก็พบว่าเรื่องที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวมากที่สุดคือเรื่อง "ผี"



เรื่องมันเกิดขึ้นระหว่างงานเลี้ยงที่บ้านผมในคืนวันหนึ่ง วันนั้นมีลูกน้องของน้องชายผมมานั่งกินเหล้าอยู่ที่บ้านด้วยหลายคน ลูกน้องคนหนึ่งเขามีอาชีพเป็นตำรวจประจำอยู่หน่วยมวลชนสัมพันธ์ ดูเหมือนว่าก่อนหน้าที่ผมจะเข้าไปร่วมวงนั้นเขาจะคุยกันเรื่องไสยศาสตร์และเครื่องรางของขลังกันอยู่ก่อนแล้ว พอผมเข้าไปนั่งร่วมวงได้สักพักเขาก็ถามขึ้นมาว่า "พี่จบดอกเตอร์มา พี่เชื่อเรื่องอย่างนี้ไหม ตัวผมเชื่อนะ เพราะมีประสบการณ์มากับตัวเอง"


ก่อนที่จะอ่านต่อไป ถ้าคุณเจอคำถามแบบนี้เข้า คุณจะตอบอย่างไร


เนื้อหาต่อไปเป็นความคิดเห็นส่วนตัว ในอนาคตสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถือว่าส่งมาให้พวกคุณอ่านกันเล่น ๆ สนุก ๆ เท่านั้นเอง ไม่ต้องคล้อยตามหรือเสียเวลาคิดตามหรอก


สิ่งที่ผมตอบเขาไปคือในบางเรื่องนั้นวิทยาศาสตร์สามารถวัดได้โดยใช้เครื่องมือวัดออกมาเป็นตัวเลขให้เห็น เช่น ของสิ่งนี้ร้อนมากหรือร้อนน้อย คนคนนี้มีแรงมากหรือมีแรงน้อย แต่ในบางเรื่องต้องยอมรับว่าวิทยาศาสตร์ไม่สามารถวัดได้ และไม่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ เว้นแต่ว่าคนคนนั้นจะมีประสบการณ์โดยตรงกับตนเอง เช่นการบอกว่าน้ำตาลมีรสหวาน น้ำตาลชนิดนี้หวานมากกว่าน้ำตาลอีกชนิด วิทยาศาสตร์ไม่สามารถอธิบายได้ว่ารสหวานเป็นอย่างไร ต้องลองกินเอง และการบอกว่าหวานมากกว่ากันกี่เท่า (ระบุเป็นตัวเลขออกมานั้น) ไม่สามารถทำได้ (ถ้าทำได้ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าบอกได้อย่างไร) หรือการที่จะบอกว่าอาหารชนิดใดอร่อยหรือไม่อร่อยนั้น คนที่ไม่เคยกินก็ไม่ควรที่จะให้คำตอบได้ ดังนั้นเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของเครื่องรางของขลังนั้น ผมมองว่าเป็นเรื่องที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถวัดได้ ดังนั้นผมไม่ได้มองคนที่เชื่อว่าไร้สาระ แต่ก็ไม่ได้มองคนที่ไม่เชื่อว่าเป็นพวกที่ถูกต้อง


ผมเองตั้งคำถามกลับถึงเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของเครื่องรางของขลังนั้นขึ้นอยู่กับวัตถุ อาจารย์ หรือตัวผู้ที่ครอบครอง โดยคำถามผมเริ่มจากการที่ว่า ถ้าเราบอกว่าผีกลัวพระ ถ้าเรามีพระ (พุทธรูป) ห้อยคออยู่ ผีก็จะทำอะไรไม่ได้ แต่จะว่าไปแล้วพระพุทธรูปไม่ได้เกิดมาพร้อมกับศาสนาพุทธ แต่เกิดทีหลังหลายร้อยปีหรือกว่าพันปี (จำตัวเลขไม่ได้) นอกจากนี้พระภิกษุก็ไม่จำเป็นต้องห้อยพระ ก็สามารถปราบผีได้ (มีใครเคยเห็นหนังผีเรื่องไหนที่พระภิกษุต้องมีพระพุทธรูปเพื่อใช้ในการปราบผีไหม)


สิ่งที่ผมตั้งสมมุติฐานคือ จริง ๆ แล้วสิ่งสำคัญคือ "จิต" ไม่ใช่วัตถุ วัตถุเป็นเพียงแค่เครื่องฝึกจิตเท่านั้นใช่ไหม


ผมเสนอแนวความคิดจากมุมมองของผมว่า ในบรรดาเครื่องรางของขลังต่าง ๆ นั้นไม่ใช่พอได้รับมาแล้วก็จะได้รับความคุ้มครองตามนั้น แต่จะต้องมีคาถากำกับและต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เกจิอาจารย์ต่าง ๆ กำหนด (ซึ่งน้องคนนั้นก็ยอมรับตามมุมมองนี้) ผมตั้งคำถามถามขึ้นมาว่า เป็นไปได้ไหมที่การที่กำหนดให้ต้องท่องคาถาและปฏิบัติตามข้อกำหนดต่าง ๆ นั้น แท้จริงแล้วเป็นการฝึกจิตของผู้ที่ได้เครื่องรางไปครอบครอง คาถาเป็นเพียงแค่กลอุบายเพื่อให้ผู้ครอบครองเครื่องรางของขลังนั้นสามารถตั้งจิตได้มั่นคง ทำให้มี "สติ" ในการทำงานต่าง ๆ เช่นเดียวกับการไปนั่งสมาธิ ที่บางสำนักกำหนดให้เพ่งลมหายใจบ้าง กำหนดให้นึกถึงลูกแก้วในตัวบ้าง ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเพียงกลอุบายในการควบคุมไม่ให้ความคิดวิ่งวุ่นไปยังเรื่องต่าง ๆ เท่านั้น แต่ไอ้ประเภทที่สอนให้ต้องคิดว่าต้องเอาเงินมาให้วัดเยอะ ๆ ยิ่งให้มาก็ยิ่งขึ้นสวรรค์ชั้นสูงมากขึ้นเนี่ย ผมมองกี่ครั้งก็เป็นเรื่องหลอกลวงเอาเงินซะมากกว่า


ทีนี้ก็กลับมาที่เรื่อง "ผี" บ้าง ผมเริ่มต้นโดยตั้งคำถามขึ้นมาว่าผีเป็น


1. ปรากฏการณ์ธรรมชาติ หรือ

2. เรื่องของ "จิต"


ตัวผมเองชอบอ่านหนังสือเรื่องผี ไม่ว่าจะเป็นของไทยหรือของฝรั่ง พออ่านไปเยอะ ๆ ก็พบว่ามันมีบางส่วนหายไป คือไม่เคยอ่านเรื่องเกี่ยวกับผีที่เขียนโดยผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม อาจมีเรื่องผีแขกผ่านตามาบ้าง แต่ก็เป็นนักเขียนที่เป็นศาสนาอื่นที่ไม่ใช่อิสลาม วันหนึ่งได้โอกาสถามผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามผู้หนึ่ง (ก็คือชาวมุสลิมนั่นแหละ) ว่าในคำสอนของศาสนาเขาเมื่อคนตายแล้วไปอยู่ไหน เขาตอบว่าวิญญาณก็ไปอยู่กลับพระผู้เป็นเจ้า ผมก็เลยถามต่อไปว่าดังนั้นตามความเชื่อของทางศาสนาของคุณแล้ว ก็ไม่ควรมีผีอยู่ในโลกนี้ซิ ซึ่งทำให้ผมได้คำตอบว่าทำไมจึงไม่เคยเห็นเรื่องผีที่เขียนโดยนักเขียนที่เป็นชาวมุสลิม แต่พอถามต่อไปว่าคุณกลัวผีไหม เขากลับตอบว่ากลัว (???)


ถ้าผีเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ดังนั้นไม่ว่าที่ใด ๆ ในโลกน่าจะมีเหมือนกันหมดโดยไม่ขึ้นกับความเชื่อของบุคคล แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นกันคือผีจะ "ไม่อาละวาดข้ามเขต" กล่าวคือผีไทยจะอยู่ในเฉพาะพื้นที่ที่นับถือศาสนาพุทธ ใช้พระพุทธรูปหรือพระภิกษุปราบได้ ผีฝรั่งก็จะอยู่ในดินแดนที่มีบาทหลวงอยู่ ใช้ไม้กางเขนปราบได้ ผีจีนก็มีผ้ายันต์แปะที่หน้าผาก ส่วนผีญี่ปุ่นไม่รู้เหมือนกันว่าใช้อะไรปราบได้ ถ้ามองในแง่นี้ก็ดูเหมือนว่าผีน่าจะไม่มีจริง เป็นเรื่องที่คนบางคนสร้างภาพขึ้นมาเอง แต่ก็มีข้อโต้แย้งได้ว่า เป็นไปได้ไหมที่เรื่องผีเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่เฉพาะผู้ที่มีจิตบางรูปแบบเท่านั้นที่จะสามารถรับรู้ถึงการมีอยู่ของปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้ได้ ทำนองว่าใครที่เคยโดนผีหลอกก็จะโดนผีหลอกอยู่เป็นประจำ ส่วนผู้ไม่เคยโดยผีหลอกก็จะไม่เคยโดน


แต่ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งหรือไทยดูเหมือนว่าในการปราบผีนั้นไม่ใช่มีแต่เพียงแค่วัตถุมงคลก็ทำได้ แต่ผู้ที่ใช้วัตถุมงคลนั้นต้องมีจิตที่เข้มแข็งด้วย เราก็เลยได้เห็นหนังที่สร้างให้ พระ หมอผี หรือบาทหลวง ที่ยังมีจิตไม่เข้มแข็งไม่สามารถปราบผีหรือปิศาจต่าง ๆ ได้ จำเป็นต้องใช้นักบวชหรือผู้ที่มีจิตเข้มแข็งเท่านั้นจึงจะกระทำได้


จากการที่ได้อ่านหนังสือต่าง ๆ ทางด้านสังคมและความเชื่อ ทำให้ดูเหมือนว่าแล้วเรื่องผีนั้นเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับมนุษย์มานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ในส่วนใดของโลก เป็นคำอธิบายที่มนุษย์ยุคก่อนใช้อธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติหรือสิ่งที่ตนเองประสบว่าเกิดจากผู้มีอำนาจที่สูงส่งกว่าตัวมนุษย์เอง ถ้าผู้มีอำนาจนั้นเป็นผู้ที่ให้คุณ ทำให้เกิดแต่สิ่งที่ดีก็จะเรียกว่าเป็นพวกเทวดาหรือนางฟ้า ฯลฯ แต่ถ้าเป็นพวกที่ให้โทษก็จะเรียกว่าเป็นพวกปิศาจหรือผีไป (แต่ในบางท้องถิ่น สิ่งที่จัดว่าเป็น "ผี" ก็ไม่ใช่สิ่งที่ให้โทษ แต่ถือว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจในสิ่งที่มนุษย์ไม่มี) ในแต่ละท้องถิ่นก็จะมีเรื่องเล่าที่เป็นเฉพาะของตัวเอง ขึ้นอยู่กับธรรมชาติและภูมิประเทศของแต่ละท้องถิ่นนั้น


ความเชื่อเรื่องผีถูกลดบทบาทหรือพยายามทำลายเมื่อมีแนวความคิดเรื่องศาสนาเข้ามา แนวความคิดเรื่องศาสนานั้นพยายามเปลี่ยนคนที่เชื่อเรื่องต่าง ๆ ให้มานับถือความเชื่อใหม่ มุมมองของผมคือในอดีตที่ผ่านมาความพยายามที่จะโน้มน้าวให้คนเปลี่ยนจากความเชื่อเดิมมาเป็นความเชื่อใหม่นั้นมีการกระทำอยู่สองแนวทางด้วยกัน แนวทางแรกคือการนำความเชื่อใหม่ไปอยู่เหนือความเชื่อเดิม และการบอกว่าความเชื่อเดิมนั้นเป็นสิ่งที่ผิด

แนวทางการนำความเชื่อใหม่ไปอยู่เหนือความเชื่อเดิมที่เห็นได้ชัดคือการนำเอาศาสนาพุทธไปอยู่เหนือความเชื่อเรื่องผีสาง เทวดา ต่าง ๆ ในบ้านเรา (พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ถือว่าเป็นผู้ที่สูงส่งกว่าพวกเหล่านี้) การใช้วิธีการเช่นนี้เหมาะสมก็ต่อเมื่อความเชื่อในสิ่งเดิมนั้นดีอยู่แล้ว หรือไม่ขัดกับคำสอนของศาสนาที่นำเข้าไปเผยแพร่ ทำให้การเผยแพร่นั้นไม่ถูกต่อต้านจากผู้ที่นับถือความเชื่อเดิมอยู่ เช่นในไทยที่นำเอาพระพุทธเจ้าหรือศาสนาพุทธไปอยู่เหนือภูติ ผี ปิศาจ ต่าง ๆ (ลองอ่านเพชรพระอุมาดูก็ได้) ในจีนก็มีการนำเอาพระยูไลไปอยู่เหนือเง็กเซียนฮ่องเต้ (ในเรื่องไซอิ๋ว ตอนที่ซึงหงอคงไปอาละวาดบนสวรรค์ แม้แต่เง็กเซียนฮ่องเต้ก็ยังไม่สามารถปราบได้ ต้องไปอัญเชิญพระยูไลมาปราบ) แต่ในบางท้องที่ก็มีการโต้กลับจากผู้นำของกลุ่มความเชื่อเดิม ที่เห็นได้ชัดคือความขัดแย้งระหว่างพุทธกับพราหมณ์ ถ้าเราศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ให้ดีจะเห็นว่ามีการสอนที่ขัดแย้งกันอยู่ คือในบางเรื่องนั้นจะเล่าว่าเทวดาต้องมาเข้าเฝ้าหรือฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงว่าพระอรหันต์เหล่านี้มีศักดิ์สูงกว่าเทวดา แต่ในบางเรื่องบอกว่าพระพุทธเจ้าเป็นเพียงแค่เทวดา (ของศาสนาพราหมณ์) อวตารลงมาเกิด ทำให้ดูเหมือนว่าพระพุทธเจ้าเป็นเพียงเทวดาองค์หนึ่งของศาสนาพราหมณ์เท่านั้น หรือในบางเรื่องที่ผมเห็นว่าเป็นคำสอนให้ประพฤติในแนวทางที่สุดขั้ว เช่นพระเวสสันดรชาดกที่ต้องสละทุกสิ่งโดยไม่สนว่าลูกเมียจะเป็นอย่างไร (ตอนเด็ก ๆ ได้ยินเรื่องนี้ก็ยังไม่คิดอะไร เพราะการเรียนบ้านเราเขาห้ามคิด ให้จำและทำตามอย่างเดียว แต่พอโตขึ้นก็เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมจึงสอนกันกว่าการที่พ่อแจกจ่ายลูกเมียให้ไปเป็นทาสคนอื่น ถือว่าเป็นการทำบุญสูงสุด คือพ่อได้บุญ ส่วนลูกเมียจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน) ทั้ง ๆ ที่ในทางศาสนาพุทธเองก็มีคำสอนว่าให้เดินทางสายกลาง ไม่ตึงไปหรือหย่อนไป

ส่วนการบอกว่าความเชื่อเดิมนั้นเป็นความเชื่อที่ผิดเป็นวิธีการที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งเห็นได้จากการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในช่วงหนึ่งที่นักล่าอาณานิคมบางประเทศใช้เป็นข้ออ้างในการเข้าไปยึดครองดินแดนต่าง ๆ และใช้เป็นเหตุผลในการเข่นฆ่าผู้คนในดินแดนเหล่านั้น หรือแม้แต่ในประเทศตัวเองก็ตาม เรื่องฆ่ากันเพราะเชื่อในนิกายต่างกันทั้ง ๆ ที่นับถือศาสนาเดียวกันเนี่ย ประวัติศาสตร์ยุโรปมีตัวอย่างให้เห็นเยอะแยะ

คำถามอีกคำถามหนึ่งที่ผมถามในเรื่องนี้คือการที่ใครสักคนหนึ่งหรือสิ่งมีชีวิตสักสิ่งหนึ่ง (เช่นสัตว์ต่าง ๆ) จะกลายเป็นผี (หรือปิศาจ) ได้นั้น จำเป็นต้อง "ตาย" ก่อนหรือเปล่า

จะว่าไปแล้วตามความเชื่อของบ้านเรานั้น คนเราเป็นผีได้โดยที่ไม่ต้องตายก่อน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการกลายเป็น "ผีกระสือ" สำหรับผู้หญิงหรือ "ผีกระหัง" สำหรับผู้ชาย ส่วนความเชื่อของฝรั่งก็มีพวกที่กลายร่างเป็นมนุษย์หมาป่าหรือพวกค้างคาวดูดเลือดต่าง ๆ ดังนั้นน่าจะสรุปได้ว่าการกลายเป็นผีได้นั้นไม่จำเป็นต้องมีการตายเกิดขึ้นก่อน ส่วนพวก "ผีขนุน" ผีต้นไม้ต่าง ๆ ที่สิ่งอยู่ตามโคนต้นไม้ริมถนนหรือในสวนสาธารณะต่าง ๆ ในเวลากลางคืนไม่เกี่ยวนะ


ปิดท้ายเรื่องผีด้วยโปสเตอร์โฆษณาหนังผีเรื่องหนึ่งที่ผ่านไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ไม่รู้ว่ากบว. ปล่อยให้ตั้งชื่ออย่างนี้ได้อย่างไร ดูชื่อในโปสเตอร์แล้วก็คิดเองเองก็แล้วกัน แต่ดูเหมือนว่าตอนหลังเข้าจะเปลี่ยนชื่อโดยตัดคำว่า "ผี" ออกไป



ไม่มีความคิดเห็น: