วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เรียนหนังสือที่ตรัง เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๔๓ MO Memoir : Monday 24 December 2561

"อาจารย์ซื้อกระดานชนวน ดินสอหิน ๑ แท่ง ส่วนไม้บรรทัดทำเอากับไม้ไผ่"
 
ยังจำได้ว่าตอนเด็ก ๆ เวลาคุณแม่พาไปเยี่ยมคุณตาคุณยายที่พัทลุง ก็จะไปขึ้นรถไฟชั้น ๓ ที่สถานีรถไฟธนบุรี (ที่ตอนนี้เป็นอาคารของโรงพยาบาลศิริราชไปแล้ว) ขบวนรถเร็วธนบุรี-สุไหลโกลก ออกประมาณทุ่มเศษ ตู้รถไฟชั้น ๓ ตอนนั้นเป็นอย่างไรตอนนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น (เรียกว่าอนุรักษ์ไว้ดีมาก) ถึงพัทลุงก็นั่งรถย้อนขึ้นมายังบ้านทุ่งขึงหนัง ตอนนั้นยังไม่มีการตัดถนนสายเอเชีย (เส้น AH2 ที่บางส่วนใช้แนวถนนเดิม และมีการตัดใหม่บางแนวเพื่อให้เส้นทางมันตรงขึ้น ไม่แวะเข้าตัวอำเภอหรือย่านชุมชม) เส้นทางถนนจากตัวจังหวัดไปยังอำเภอควนขนุนในขณะนั้นก็คือแนวทางหลวงสาย ๔๐๔๘ ในปัจจุบัน ผมไม่ได้ลงไปพัทลุงเป็นเวลาหลายปีแล้ว ครั้งสุดท้ายที่ลงไปจำได้ว่าสภาพเส้นทางสาย ๔๐๔๘ ในอดีตเป็นอย่างไร เวลาเกือบ ๔๐ ปีผ่านไปมันก็ยังคงเป็นเช่นนั้น คือยังเป็นถนนเล็ก ๆ ๒ ช่องทางจราจรเหมือนเดิม ส่วนตอนนี้ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง
 
ที่บ้านคุณตาจะมีเล้าไก่กับเล้าเป็ดอยู่ร่วมกัน ส่วนคอกหมูจะอยู่ห่างออกไปหน่อย คงเป็นเพราะว่ากลิ่นขี้หมูมันแรง งานสนุกสำหรับเด็ก ๆ ตอนเช้า ๆ คือการเข้าไปเก็บไข่ในเล้า เพราะต้องไปควานหาตามกองฟางว่ามันไปออกไข่ไว้ที่ไหนบ้าง อีกงานหนึ่งก็คือการอาบน้ำให้หมู ก็ไม่ได้ทำอะไรมาก นอกจากเอาสายยางฉีดน้ำใส่หมู พร้อมทั้งฉีดล้างคอกหมูไปด้วยในตัว ตกค่ำเคยช่วยคุณยายนั่งเรียงมะม่วงในถัง คือเรียงเอาไว้ตามขอบถัง ตรงกลางว่างเอาไว้ จากนั้นก็จุดธูปปักลงไป แล้วก็ปิดฝาถังเอาไว้ ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าทำไปทำไม มารู้เอาตอนโตว่าเป็นวิธีการบ่มผลไม้แบบชาวบ้าน


ตอนแรกก็ไม่เข้าใจหรอกว่าทำไมต้องเก็บผลไม้ (พวกมะม่วง กล้วย) ตั้งแต่ตอนมันดิบ แล้วนำมาบ่มให้สุก ทำไมไม่ให้มันสุกคาต้นไปเลย พอตัวเองมาปลูกบ้านอยู่เอง ปลูกทั้งกล้วยและไม้ผลก็เลยเข้าใจ เพราะถ้าปล่อยไว้ให้มันสุกคาต้นเมื่อใดเป็นอันไม่ได้กิน กระรอกมันชิงกินเสียก่อน ก็เลยต้องรีบเก็บก่อนที่มันสุกจนกระรอกมากินได้
 
บ้านทุ่งขึงหนังเวลานั้น แม้ว่าจะห่างจากตัวจังหวัดเพียงแค่ ๑๐ กิโลเมตร ถูกจัดว่าเป็น "พื้นที่สีแดง" เพราะอยู่ในการแทรกซึมของคอมนิวนิสต์ ดังนั้นพอตกค่ำก็จะอยู่กันแต่ในบ้าน ถนนผ่านหน้าบ้านนั้นแทบจะไม่มีรถวิ่งผ่านเลย โทรทัศน์ก็มีให้ดูเพียงช่องเดียวคือช่อง ๑๐ หาดใหญ่ (ที่สถานีส่งอยู่ห่างไปร่วม ๑๐๐ กิโลเมตร) ดังนั้นแต่ละบ้านต้องมีเสาโทรทัศน์ที่สูง แถมยังต้องมีบูสเตอร์ช่วยเพิ่มสัญญาณให้อีก จึงจะพอดูกันได้
 
แต่สิ่งหนึ่งที่ยังประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ ท้องฟ้ายามค่ำคืนที่นั่นเวลานั้นมืดมาก มองขึ้นไปทีใดก็จะเห็นดวงดาวเต็มท้องฟ้าไปหมด รวมทั้งทางช้างเผือกด้วย
 
ช่วงเวลาเดียวกันนั้นมีญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เป็นคุณลุง มีตำแหน่งเป็นนายอำเภออยู่ที่ควนขนุน ท่าทางจะดุไม่ใช่เล่น คุณพ่อเคยเล่าให้ฟังว่าคุณลุงท่านนี้ทางฝ่ายผกค. (ย่อมาจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์) ตั้งค่าหัวเอาไว้แพงกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดอีก (จริงเท็จอย่างไรผมก็ไม่รู้เหมือนกัน เพียงแต่ได้ยินผู้ใหญ่เขาเล่าให้ฟัง ก็เลยขอบันทึกเอาไว้เสียหน่อย) ตอนเรียนจบกลับมาทำงานใหม่ ๆ เมื่อ ๒๐ กว่าปีที่แล้ว พบกับนิสิตภาคนอกเวลาราชการคนหนึ่ง เขาเป็นคนพัทลุง เขาเห็นผมมีนามสกุลเดียวกับนายอำเภอคนนั้น ก็เลยถามผมว่าเป็นญาติกันหรือเปล่า ผมก็ตอบว่าใช่ เขาก็เล่าให้ฟังว่าตอนเด็ก ๆ นั้นตอนเรียนหนังสืออยู่โรงเรียน ถ้าเด็ก ๆ ซนกันมากคุณครูก็จะบอกว่า "เดี๋ยวจะให้นายอำเภอ ..(ชื่อคุณลุงผม).. มาจับตัวไป" เท่านั้นเด็ก ๆ ก็จะหยุดซน
 
ก่อนผมแต่งงาน ผมกับแฟนก็นำการ์ดแต่งงานไปมอบให้แกที่บ้าน (ก่อนแกจะเสียไม่นาน) ตอนนั้นแกก็ป่วยอยู่และนั่งพักผ่อนอยู่บนเตียงในห้องนอน พอออกมาแฟนก็บอกว่าคุณลุงคนนี้น่ากลัวจัง ที่แฟนผมคิดเช่นนั้นก็คงเป็นเพราะว่าขนาดนอนป่วยอยู่บนเตียงในบ้านแท้ ๆ ยังวางปืนลูกโม่เอาไว้หัวเตียงแบบแขกไปใครมาก็เห็นกันหมด

คุณตาผมท่านเสียไปด้วยอุบัติเหตุทางรถตั้งแต่ตอนผมยังเป็นเด็ก งานศพท่านก็เป็นงานใหญ่จัดที่วัดทุ่งขึงหนัง คุณแม่เล่าให้ฟังว่าตอนนั้นที่วัดยังไม่มีเมรุ คุณลุงอีกท่านที่เป็นตำรวจก็เป็นผู้ไปเช่าเมรุชั่วคราวมาทำพิธีเผาศพให้ ทำให้นึกถึงอีกงานหนึ่งที่ตอนเด็กก็ได้ไป คุณน้าท่านหนึ่งเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถเช่นกัน ดูเหมือนว่าจะเผากันกลางแจ้งในเมรุชั่วคราว พอทำพิธีเสร็จก่อนจะเผาจริงแขกต่าง ๆ ที่มางานต่างก็กลับกันเลย เพิ่งจะมาเข้าใจตอนโตว่าทำไม
 
คุณตาคุณยายผมแกส่งลูก ๆ มาเรียนหนังสือที่กรุงเทพกันเกือบทุกคน ด้วยความที่แกมีอาชีพเป็นครูแกก็เลยมีจดหมายเขียนถึงลูก ๆ ที่มาเรียนที่กรุงเทพเสมอ ไม่รู้เหมือนกันว่าเขียนถึงใครบ้าง แต่เข้าใจว่าคุณป้าที่เป็นพี่คนโตสุดเป็นคนเก็บรักษาเอาไว้อย่างดี เพราะเวลามีงานทีใด จดหมายที่คุณตาเขียนเอาไว้ที่นำมาพิมพ์ลงหนังสือแจกในงานก็จะได้มาจากแก
 
เรื่องราวที่คุณตาเขียนไว้เป็นดังเสมือนบันทึกชีวิตประจำวันของชาวบ้านธรรมดา ในรูปจดหมายถึงลูกที่เขียนเอาไว้โดยครูโรงเรียนธรรมดาคนหนึ่ง ดังนั้นมุมมองของสิ่งต่าง ๆ จึงย่อมที่จะแตกต่างไปจากบันทึกแบบทางการหรือข้าราชการผู้มีอำนาจปกครอง อย่างเช่นจดหมายฉบับหนึ่งที่นำมาให้ดูในวันนี้ นำมาจากหนังสืองานที่ระลึกงานศพของคุณยายของผม (วันเสาร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๙) ซึ่งคุณป้าของผมที่เป็นลูกคนโตรวบรวมไว้และเคยนำมาจัดพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกตอนคุณยายผมอายุ ๘๐ และ ๙๐ ปี (ในบันทึกท้ายจดหมาย "ดิฉัน" ซึ่งเป็นผู้เขียนบันทึกท้ายจดหมายนั้นคือคุณป้าของผม ท่านเสียไปก่อนคุณยายผมอีก) ที่ผมเห็นว่าจดหมายฉบับนี้น่าสนใจก็คือ การที่คุณตาท่านได้เล่าเรื่องการไปเรียนหนังสือที่จังหวัดตรังเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๖๑ หรือเมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว (ช่วงกลางรัชกาลที่ ๖) เรื่องราวเป็นอย่างไรก็ขอให้อ่านเอาเองก็แล้วกัน


 
ในจดหมายฉบับนี้มีการกล่าวถึง "โรงเรียนเพาะปัญญา" และ "โรงเรียนวิเชียนมาต" (ในจดหมายไม่มีสระอุ) ในหน้าเว็บ http://data.bopp-obec.info/web/index_view_history.php?School_ID=1092140024&page=history ให้รายละเอียดประวัติของของโรงเรียนเพาะปัญญาเอาไว้ว่า
 
"ที่ตั้งโรงเรียนเพาะปัญญา ในพระอุปถัมภ์ฯ เป็นโรงเรียนประถมศึกษา ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม (ตรัง-พัทลุง) หมู่ที่ 5 ตำบลนาโยงใต้ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง รหัสไปรษณีย์ 92170 มีพื้นที่ 13 ไร่ 54.4 ตารางวา มหาอำมาตย์โทพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ต เป็นผู้จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2456
 
"เพาะปัญญา" เป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ชาวตำบลนาโยงใต้ และชาวจังหวัดตรังถือเป็นมงคลนามอย่างยิ่ง เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ (ครั้งที่ 2) เสด็จถึงจังหวัดตรัง ได้พระราชทานนามและทรงเปิดโรงเรียนนี้ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2458"
 
ส่วนโรงเรียนวิเชียรมาตุนั้น ประวัติบนหน้าเว็บ http://data.bopp-obec.info/web/index_view_history.php?School_ID=1092140330&page=history ให้รายละเอียดเอาไว้ว่า
 
"โรงเรียนวิเชียรมาตุ ถือกำเนิดขึ้นจากพระราชประสงค์อันกอปรด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งบรมราชจักกรีวงศ์
 
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พุทธศักราช 2455 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เสด็จประพาสจังหวัดตรังมีพระราชปรารภว่า พื้นภูมิทำเล ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เหมาะสมดีควรมีสถานศึกษา จึงได้พระราชทานนามว่า “โรงเรียนวิเชียรมาตุ” ซึ่งหมายความถึงพระราชชนนีของพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
 
โรงเรียนวิเชียรมาตุ ได้ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2459 เสร็จเรียบร้อย
 
ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2459 และเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2459 ทางจังหวัดได้รับโรงเรียนวิเชียรมาตุเข้าในทะเบียนโรงเรียนของจังหวัดตรัง
 
ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2459 โรงเรียนวิเชียรมาตุเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดแห่งใหม่"
 
แสดงว่าตอนที่คุณตาของผมไปเรียนหนังสือที่สองโรงเรียนนี้ โรงเรียนเหล่านี้เพิ่งจะเปิดได้ไม่กี่ปีเอง

ไม่มีความคิดเห็น: