วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2561

รถไฟฟ้าติดแอร์หรือเปล่าครับ ? MO Memoir : Wednesday 1 August 2561

"แอร์" ในที่นี้คือภาษาพูดของบ้านเรา จะเรียกให้เป็นทางการก็คือเครื่องปรับอากาศ และถ้าจะระบุให้เจาะจงชัดเจนก็ต้องเป็นเครื่องปรับอากาศที่ใช้ทำความเย็น
 
ส่วนคำถามที่ว่า "รถไฟฟ้าติดแอร์หรือเปล่า" ที่เคยเห็นก็มีทั้งแบบที่ติดแอร์และไม่ติดแอร์ และถ้าเป็นรถที่ติดแอร์ ก็จะมีคำถามตามมาอีกก็คือ "เอาพลังงานจากที่ไหนมาใช้เดินเครื่องปรับอากาศ"




เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ตอนที่ทางมหาวิทยาลัยจัดงาน ก็มีบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้านำรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมาแสดง โดยอ้างว่าชาร์ทไฟหนึ่งครั้งวิ่งได้ ๒๐๐ กิโลเมตร (ไม่มีการเปิดแอร์) ถ้าคิดเป็นเวลาใช้งานก็น่าจะอยู่ที่ราว ๆ ๒ - ๓ ชั่วโมง ผมเองก็แวะเข้าไปดูเพราะอยากรู้ว่ารถยนต์คันนี้มันติดแอร์หรือเปล่า ก็เห็นว่ามันติดแอร์ ก็เลยถามเขาว่าแล้วแอร์ใช้พลังงานจากไหน เขาก็บอกว่าแบตเตอรี่ ผมจึงถามต่อไปว่าแอร์มันกินกำลังแบตเท่าไร เขาก็ตอบว่าประมาณ 40% นั่นก็แสดงว่าถ้าขับไปและเปิดแอร์ไปด้วย ระยะทางที่รถวิ่งได้ก็เหลือเพียงแค่ ๑๒๐ กิโลเมตร แต่นี่เป็นกรณีที่วิ่งโดยไม่มีการหยุดนะครับ
 
ในสภาพความเป็นจริงนั้นสำหรับการเดินทางในเมือง โดยเฉพาะอากาศร้อนแบบบ้านเรา การเปิดแอร์ในรถคงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และในสภาพการจราจรที่ติดขัด แม้ว่ารถจะไม่วิ่ง แต่แอร์ก็ยังต้องดึงกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่อยู่ คำถามที่น่าสนใจหาคำตอบก็คือ ถ้าเปิดแอร์เพียงอย่างเดียว (คือจำลองสภาพรถติดมาก ๆ ที่เป็นเรื่องปรกติในกรุงเทพ) จะอยู่ได้กี่ชั่วโมง (หรือนาที) ก่อนที่แบตจะหมด แต่ประเด็นนี้ดูเหมือนว่าทางผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไม่อยากจะกล่าวถึงเท่าไรนัก (และคงไม่อยากให้มีใครถามถึงด้วย)
 
รถโดยสารไฟฟ้าที่วิ่งภายในมหาวิทยาลัย รายแรกที่นำมาวิ่งนั้นใช้แบตเตอรี่ตะกั่ว-กรดเป็นแหล่งพลังงาน แต่เขาใช้ไฟฟ้าเพื่อการขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว ส่วนเครื่องปรับอากาศนั้นเขาใช้เครื่องยนต์เบนซินที่ใช้แก๊สหุงต้มเป็นเชื้อเพลิง
 
ในตอนนั้น รถที่ต้องวิ่งออกไปนอกมหาวิทยาลัยไปทางสยามสแควร์ จะใช้รถที่มีเครื่องปรับอากาศ เพราะมันต้องไปติดอยู่ท่ามกลางควันไอเสียรถ แต่ถ้าเป็นรถที่วิ่งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเป็นหลัก (สายที่ข้ามฟากไปมาระหว่างสองฝั่งถนนพญาไท) ก็จะมีการนำเอารถที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศที่เป็นแบบตัวถังเปิดโล่งมาวิ่ง รถที่มีเครื่องปรับอากาศนั้นเวลาที่แก๊สหมดทีก็ต้องแวะเข้าไปเปลี่ยนถังแก๊สที่อู่ ส่วนแบตเตอรี่นั้นเห็นมีทั้งเอาเข้าไปจอดชาร์ทไฟ และแบบที่ยกเปลี่ยนโดยถอดเอาแบตเตอรี่ที่หมดไฟแล้วออก แล้วใส่ชุดใหม่ที่ชาร์ทไฟไว้เต็มแล้วเข้าไปแทน
 
ส่วนรถรุ่นปัจจุบันที่เป็นของรายใหม่นั้นเห็นตอนโฆษณาบอกว่าจะใช้แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมฟอสเฟต รถรุ่นนี้ต้องยอมรับว่าอัตราเร่งออกตัวดีกว่าของรายแรก เสียตรงที่ว่าโช็คหลังนั้นส่งเสียงเอี๊ยดอ๊าดดีเหลือเกิน เสียงดังอย่างกับใช้ระบบฝูงหนูถีบจักรในการขับเคลื่อนล้อหลัง รถที่มาใหม่นั้นติดแอร์ทุกคัน โดยใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ในการเดินเครื่องแอร์
 
มีวันหนึ่งผมโบกรถคันหนึ่งที่เขากำลังจะกลับไปที่อู่ ทั้งคันมีผมเป็นผู้โดยสารอยู่คนเดียว ก็เลยได้คุยกับคนขับรถ ผมถามเขาว่าชาร์ทไฟแต่ละครั้งวิ่งได้กี่รอบ เขาก็บอกว่า ๓ - ๕ รอบ ขึ้นอยู่กับว่าต้องจอดรอนานเท่าใด ถ้าเข้าถึงท่าแล้วได้ออกรถเลยก็วิ่งได้ถึง ๕ รอบ แต่ถ้าเป็นช่วงกลางวันที่ ๑๕ นาทีออกคันนึง ก็วิ่งได้เพียงแค่ ๓ รอบ ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไปพอรถต้องจอดรอแล้ววิ่งได้น้อยรอบลง เขาอธิบายว่าเป็นเพราะต้องเปิดรถให้คนไปนั่งรอบนรถ ทำให้ต้องเดินเครื่องปรับอากาศตามไปด้วย นั่นก็คือแม้ว่ารถจะไม่วิ่ง แต่แบตเตอรี่ก็ยังคงต้องจ่ายไฟให้กับเครื่องปรับอากาศอยู่ และไฟที่แบตเตอรี่ใช้นั้นก็มีปริมาณที่มากเสียด้วย
 
ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาของวันนั้นไม่เท่ากัน ช่วงหัวค่ำจะมีความต้องการไฟฟ้ามากที่สุดและต้นทุนการผลิตจะสูงที่สุด ทำให้ค่าไฟฟ้าในช่วงนี้แพงที่สุด (เป็นเพราะความต้องการไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอยู่รวดเร็ว) รองลงไปก็จะเป็นช่วงกลางวัน (สำนักงานเปิดทำงาน มีการใช้เครื่องปรับอากาศและไฟแสงสว่างในอาคารกันมาก) กับรุ่งเช้า (ที่คนตื่นนอนมาทำกิจวัตรประจำวัน) โดยช่วงที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำที่สุดคือช่วงดึกไปจนถึงย่ำรุ่ง (คือคนเข้านอนกันหมด ร้านค้าและสำนักงานต่าง ๆ ปิดทำการ ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะมีปัญหาได้ถ้าหากความต้องการใช้ไฟฟ้านั้นต่ำเกินไป เพราะมันไม่สามารถเบาเครื่องหรือหยุดการทำงานเพื่อรอเริ่มต้นเดินเครื่องใหม่ได้อย่างรวดเร็ว) 
  
โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (ที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำ) นั้นเหมาะสำหรับการเดินเครื่องด้วยโหลดคงที่ ไม่แกว่งไปมามากอย่างรวดเร็ว แต่ความต้องการไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาของวันนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หนึ่งในวิธีการรองรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าดังกล่าวคือพยายามให้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เดินเครื่องคงที่ตลอดทั้งวัน ในช่วงที่ความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็ให้โรงขนาดเล็กที่แม้ว่าต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูงแต่สามารถเดินเครื่องเสริมได้อย่างรวดเร็ว เดินเครื่องเสริม และเมื่อความรต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง ก็ค่อย ๆ หยุดการจ่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ด้วยเหตุนี้การไฟฟ้าจึงมีการคิดค่าไฟฟ้าตามเวลาใช้งานจริง (สำหรับการใช้ในเชิงพาณิชย์) เพื่อจูงใจให้ลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงหัวค่ำ และไปใช้ในช่วงดึกแทน
 
รถไฟฟ้านั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า ควรต้องพิจารณาประเด็นเรื่องจะทำอย่างไรก็แบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งาน (เพราะมันเป็นขยะพิษ และอายุการใช้งานคงอยู่ได้ไม่เกิน ๑๐ ปีดังเช่นเครื่องยนต์อายุการใช้งานนานกว่านั้นมาก) และจะเอาไฟฟ้าจากแหล่งใดมาชาร์ทไฟ ในประเทศที่มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำที่สูง และความสามารถในการผลิตไฟฟ้านั้นเกินกว่าความต้องการใช้ในประเทศ เมื่อไม่มีตลาดให้ส่งไฟฟ้าออกขาย ก็จำเป็นต้องกระตุ้นการใช้งานในประเทศ และวิธีการหนึ่งที่ทำได้ก็คือให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้า
 
แต่ในประเทศที่พึ่งพาพลังงานฟอสซิลเป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า การใช้รถไฟฟ้าก็เป็นเพียงแค่การย้ายแหล่งผลิตมลพิษทางอากาศจากแหล่งเล็ก ๆ จำนวนมากในตัวเมืองไปเป็นแหล่งใหญ่ที่อยู่นอกตัวเมือง (จะเรียกว่าให้คนอยู่นอกเมืองรับเคราะห์แทนคนอยู่ในเมืองก็ไม่น่าจะผิด) แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ตอนนี้มักจะแทบไม่มีใครเอ่ยถึงก็คือ การชาร์ทไฟนั้นควรไปชาร์ทในช่วงดึกไปถึงย่ำรุ่ง (หรือช่วง off peak) เพราะเป็นช่วงที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำสุด ไม่ใช่นึกอยากจะชาร์ทไฟเมื่อไรก็ได้ และเมื่อชาร์ทไฟแต่ละครั้งแล้วก็ควรที่จะใช้ได้ทั้งวัน ไม่ใช่ว่าต้องคอยชาร์ททุก ๆ ที่ที่ขับไปจอด

ไม่มีความคิดเห็น: