วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2559

การทิ้งระเบิดประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๐๓) MO Memoir : Tuesday 14 June 2559

อาจถือได้ว่าการรบที่เมือง Kohima และ Imphal ที่เป็นเมืองชายแดนรอยต่อระหว่างอินเดียที่อังกฤษยังคงปกครองและพม่าที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุน ที่เริ่มต้นการรบในช่วงต้นปีค.ศ. ๑๙๔๔ ไปจนถึงกลางปีเดียวกันที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น เป็นจุดเริ่มต้นของการล่าถอยครั้งใหญ่ของกองทัพญี่ปุ่นในพม่าที่เคยควบคุมไปจนประชิดชายแดนอินเดียด้านตะวันตกและชายแดนจีนด้านทิศเหนือ การล่าถอยครั้งนั้นไม่เพียงแต่ทำให้อังกฤษสามารถส่งกำลังทางบกเข้ามายึดดินแดนประเทศพม่าคืนจากกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น แต่ยังทำให้สามารถย้ายฐานปฏิบัติการของกองทัพอากาศเข้ามาใกล้ภูมิภาคอินโดจีนมากขึ้น ทำให้สามารถย่นระยะการบินโจมตีที่แต่เดิมที่ต้องใช้วิธีการบินจากอินเดียออกสู่ทะเลเพื่อตัดเข้าสู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย มาเป็นการโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนตอนเหนือและตอนกลางของประเทศไทยได้มากขึ้น
 
รูปที่นำมาแสดงเป็นรูปที่เก็บเอาไว้นานหลายปีแล้ว นำมาจาก fold3.com และ www.iwm.org.uk
 
ภาพการโจมตีที่เส้นทางรถไฟที่กบินทร์บุรี (จ. ปราจีนบุรี) น่าจะเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ส่วนภาพการโจมตีที่สนามบินลำปางดูเหมือนจะเป็นช่วงเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ ส่วนภาพการโจมตีที่สถานีรถไฟโคราชและเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพ-เชียงใหม่ไม่มีข้อมูลระบุว่าเป็นช่วงเวลาไหน แต่เดาว่าน่าจะเป็นช่วงกลางปีค.ศ. ๑๙๔๔ ไปจนถึงช่วงสงครามสิ้นสุด
 
ญี่ปุ่นนั้นยกกองทัพเข้ามาตั้งมั่นอยู่ในอินโดจีนฝรั่งเศส (French Indochina) หลังจากการเจรจาหยุดยิงระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในกรณีพิพาทอินโดจีน โดยทางฝ่ายไทยได้ดินแดนบางส่วนกลับคืนมา ส่วนฝรั่งเศสนั้นอยู่ในช่วงที่เพิ่งจะแพ้สงครามกับเยอรมันในยุโรป ก็เลยยอมให้ญี่ปุ่นมาตั้งฐานทัพ ทำนองว่ากันฝ่ายไทยไม่ให้บุกเข้าไป และคงกันไม่ให้ดินแดนดังกล่าวประกาศตัวเป็นเอกราช ก็เลยฝากญี่ปุ่นให้ช่วยดูแลเอาไว้ก่อน
 
วัตถุประสงค์หลักของการโจมตีประเทศไทยในครั้งนั้นคือการตัดการส่งกำลังบำรุงให้กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในพม่าที่มีทั้งจากอินโดจีนฝรั่งเศส และมาขึ้นบนที่ไทย ก่อนส่งต่อทางรถไฟไปยังประเทศพม่า และใช้การทิ้งระเบิดเป็นเครื่องมือกดดันให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นถอนตัวจากการเป็นพันธมิตรร่วมกับญี่ปุ่น
 
แต่พอเอาเข้าจริง ๆ เมื่อสงครามสิ้นสุด กองทัพอังกฤษทำเพียงแค่ปลดอาวุธกองทัพญี่ปุ่นในดินแดนที่อังกฤษเคยปกครองเป็นเมืองขึ้น ส่วนดินแดนส่วนที่เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ อังกฤษกลับยังคงให้กองทัพญี่ปุ่นช่วยดูแลรักษาความสงบ เพื่อรอเจ้าของอาณานิคมเดิมกลับมาปกครอง ป้องกันไม่ให้ประชาชนเจ้าของประเทศเดิมได้รับเอกราช 
  
ประเด็นนี้แหละครับที่ทำให้สหรัฐอเมริกาไม่ทุ่มกำลังช่วยอังกฤษเต็มที่ในการรบกับกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น เพราะสิ่งที่ญี่ปุ่นทำอยู่ในขณะนั้นก็ไม่ได้ต่างอะไรกับสิ่งที่อังกฤษทำอยู่ก่อนหน้านั้น สหรัฐอเมริกาเองไม่เห็นเหตุผลที่ทำไมต้องให้คนของเขามาตายเพื่อให้อังกฤษได้เมืองขึ้นของตนเองกลับมา เขาช่วยเพียงแค่สนับสนุนให้ทางอังกฤษและจีนสามารถรบยันกองทัพญี่ปุ่นได้ เพื่อให้ทางญี่ปุ่นต้องคงกำลังทหารบกจำนวนมากไว้ในแนวรบด้านนี้ ส่วนตัวเองก็ไปเปิดศึกทางด้านมหาสมุทรแทน
 
Memoir ฉบับนี้ก็ถือว่าดูภาพเก่า ๆ กันเล่น ๆ ก็แล้วกันครับ

รูปที่ ๑ ภาพความเสียหายจากการทิ้งระเบิดเส้นทางรถไฟกรุงเทพ-อรัญประเทศ ที่กบินทร์บุรี เพื่อตัดการส่งกำลังบำรุงของกองทัพญี่ปุ่นจาก French-Indochina รูปนี้นำมาจาก fold3.com โดยที่ตัวรูปถ่ายระบุว่าเป็น Krabinburi (กบินทร์บุรี) แต่ที่ตัวเว็บเองนั้นกลับบอกว่าเป็น Kraburi (กระบุรี) ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟอีกสายที่กองทัพญี่ปุ่นสร้างขึ้นจากชุมพรไประนอง ตรงนี้คงเป็นเพราะความเข้าใจผิดของคนทำเว็บที่ไม่ชินกับชื่อภาษาไทย พอเห็นชื่อคล้าย ๆ กันเลยคิดว่าเป็นสถานที่เดียวกัน


รูปที่ ๒ คำบรรยายรูปที่อยู่ทางด้านหลังของรูปที่ ๑ (รูปจาก fold3.com)


รูปที่ ๓ ภาพถ่ายทางอากาศของสนามบินลำปาง ในสีขาวคือเป้าหมายที่กำหนดให้แต่ละฝูงบินเข้าโจมตี มีทั้งสิ่งปลูกสร้าง ลานจอดเครื่องบิน และรันเวย์ ลูกศรที่ชี้ลงทางด้านล่างของรูปบอกตำแหน่งทิศเหนือของภาพ (ภาพจาก fold3.com)


รูปที่ ๔ ภาพการทิ้งระเบิด พึงสังเกตตำแหน่งที่ระเบิดตกกับตำแหน่งที่มีการวงไว้ในรูปที่ ๓ (รูปจาก fold3.com)


รูปที่ ๕ การทิ้งระเบิดสถานีรถไฟโคราช แหล่งที่มาของรูปให้คำบรรยายรูปไว้ดังนี้
Vertical aerial photograph taken during a daylight attack on the railway yards at Korat, Thailand, by Consolidated Liberators of No. 231 Group, showing sticks of bombs exploding among railway installations and buildings.
รูปที่ ๖ การทิ้งระเบิดเส้นทางรถไฟกรุงเทพ-เชียงใหม่ แหล่งที่มาของรูปให้คำบรรยายรูปไว้ดังนี้
A bomb explodes on the Bangkok-Chiengmai railway line in Thailand, during a low-level attack by Consolidated Liberators of No. 159 Squadron RAF. Photograph taken from the port side gun hatch of one of the attacking aircraft.

ไม่มีความคิดเห็น: