แต่ก่อนนั้นการเดินทางไปตัวอำเภอเมืองสงขลานั้น
สามารถไปโดยนั่งรถไฟจากสถานีหาดใหญ่ไปยังสถานีสงขลา
หรือไม่ก็ไปตามถนนซึ่งเป็นเส้นทางที่เดินไปตามแนวทางรถไฟ
ถนนเส้นนี้เท่าที่จำได้นั้นมันไม่ได้ตรงเหมือนในปัจจุบัน
(คือเมื่อกว่า
๓๐ ปีที่แล้ว)
เป็นเพียงแค่ถนนลาดยางสองเลนที่มีโค้งหักศอกตัดผ่านทางรถไฟสลับไปมาอยู่ตลอดทาง
สองข้างทางยังไม่มีบ้านคนสักเท่าไร
บางทีรถที่นั่งไปก็วิ่งแข่งกับรถไฟไปสงขลา
กลางทางสายนี้จะมีหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อว่า
"บ้านน้ำน้อย"
และมีสถานีรถไฟน้ำน้อยด้วย
แต่หลังจากที่ยกเลิกการเดินรถไฟสายหาดใหญ่-สงขลาไปแล้ว
ตอนนี้ก็ไม่แน่ใจว่าแม้แต่ซากรางจะหลงเหลืออยู่สักเท่าไร
แต่ในอำเภอเมืองยังเห็นป้ายเก่า
ๆ ที่บ่งบอกว่าที่นั่นเคยมีสถานนีรถไฟอยู่
คืนวันเสาร์ที่ผ่านมาไปเดินหาของกินที่ถนนคนเดินสงขลา
ข้างกำแพงเมืองเก่า เลยได้กิน
"ขนมบอก"
(คิดว่า
"บอก"
น่าจะย่อมาจาก
"กระบอก")
เป็นขนมท้องถิ่นอย่างหนึ่ง
ทำจากข้าวเหนียว (ผสมอะไรบ้างก็ไม่รู้)
จากนั้นจะนำไปยัดลงในกระบอกไม้ไผ่ที่เจาะรูทะลุก้น
(ดูแล้วน่าจะตัดติดปล้อง
แต่เจาะรูให้ไอน้ำผ่านได้)
แล้วนำไปนึ่งดังรูปที่
๑ ไอน้ำก็จะระเหยผ่านขึ้นมาตามลำกระบอกไม้ไผ่
พอได้ที่แล้วก็เอาไม้แยงก้นให้มันออกมาจากกระบอก
(รูปที่
๒)
คลุกมะพร้าว
และโรยน้ำตาล
รูปที่
๒ นึ่งเสร็จก็นำไม้แยงออกจากกระบอกไม้ไผ่
แล้วก็นำมาคลุกมะพร้าว
เวลากินก็โรยน้ำตาลทรายด้วย
รูปที่
๓ ร้านขายขนมบอกที่ถนนคนเดิน
สงขลา ถ่ายรูประหว่างยืนรอขนมอยู่
กินตอนแรกนึกถึงขนมถั่วแปปแบบไม่มีไส้ถั่ว
ที่ใช้ข้าวเหนียวแทนแป้งข้าวเหนียว
ป้ายหน้าร้านเขาบอกว่าเป็นสูตรดั้งเดิม
บ้านน้ำน้อย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าปัจจุบันมันมีกี่สูตร
แต่ทั้งถนนคนเดินนั้นเห็นมีขายอยู่ร้านเดียว
(ก็เลยถ่ายรูปเก็บเอาไว้
เผื่อจะมีเด็ก ๆ
หาข้อมูลขนมไทยโบราณไปทำรายงาน
จะได้มีรูปประกอบ)
ร้านขาย
"ขนมจู้จุน"
(ลูกสาวผมเรียก
"ขนมไข่ดาว"
เพราะพอทอดแล้วมันพองกลม
ๆ แบบไข่ดาว)
ยังมีให้เห็นมากกว่า
จะซื้อกินอยู่เหมือนกัน
แต่ต้องยืนรอนานหน่อย
ก็เลยไม่ได้กิน
ผมยังมองว่าอาหารจะอร่อยน่าทานหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ
"ผู้ปรุง"
เป็นหลัก
ไม่ได้ขึ้นกับ "ชื่อร้าน"
ในขณะที่ในต่างประเทศหลายประเทศนั้นการทำอาหารได้รับการยอมรับเสมือนเป็นศิลปอย่างหนึ่ง
ดังนั้นการโปรโมทร้านจะอาศัยชื่อพ่อครัว
(หรือแม่ครัว)
เป็นหลัก
แต่สำหรับบ้านเราจะเน้นชื่อร้านเป็นสำคัญ
ดังนั้นจึงไม่แปลกถ้าจะพบว่าอาหารหรือขนมที่ซื้อตามตลาดสดที่ผู้ปรุงอาหารนั้นนำมาขายเองโดยตรงจะมีรสชาติที่ดีกว่า
(แถมถูกกว่าด้วย)
และแตกต่างไปจากที่ผลิตโดยใช้เครื่องจักรหรือแรงงานที่จ้างมาทำหน้าที่แทน
แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นร้านนี้เขาอนุรักษ์คือ
คืนวันนั้นได้ขนมบอกห่อมาในใบตอง
และกลัดด้วย "ไม้กลัด"
ซึ่งปัจจุบันหาได้ยากเต็มทน
เพราะเดี๋ยวนี้เห็นใช้ลวดเย็บกระดาษกันเกร่อไปหมด
แถมยังไปได้ขนมใส่ใส้อีกสองห่อจากอีกร้านหนึ่ง
ก็ได้แบบที่ใช้ไม้กลัดห่อขนมมาเหมือนกัน
ว่าแต่พวกคุณรู้ไหม
พวกขนมใส่ใส้ ขนมกล้วย ขนมตาล
ขนมฟักทอง ที่เขาห่อมาในใบตองมิดชิด
คนขายเขารู้ได้อย่างไรว่าห่อไหนเป็นขนมอะไรโดยไม่ต้องแกะดู
ก็ดูตรงปลายใบตองที่เขาใช้มัดห่อขนมไง
เขาจะตัดปลายเอาไว้ไม่เหมือนกัน