วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ปลาหมึก ปลาวาฬ ปลาโลมา (อีกครั้ง) MO Memoir : Sunday 19 August 2555

ผมเป็นนักเรียนรุ่นแรกที่พวกที่เข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยสายวิทย์ (ไม่ว่าจะเป็นหมอ วิศว วิทยาศาสตร์) ต้องสอบวิชาสังคมและภาษาไทย (ตอนนั้นเรียกชื่อว่า "สามัญ ๑") ในการสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย

ตอนนั้นก็พูดกันว่าทำไมต้องสอบวิชาพวกนี้ สอบไปทำไม ไม่เห็นจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรในการเรียน
แต่ตอนนี้กลับพบว่าพวกเรียนสายวิทย์ควรจะที่จะเรียนรู้เรื่องภาษาและการสื่อสารให้มากขึ้น เพราะหลัง ๆ เห็นคนพวกนี้ใช้ภาษาประเภทที่หลงคิดว่าตัวเอง "ถูก" และคนส่วนใหญ่ "ผิด" นั้น มากขึ้นทุกที
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการเรียกชื่อสัตว์

ผมเคยพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับการเรียกชื่อ ปลาหมึก ปลาวาฬ ปลาโลมา เอาไว้ใน Memoir ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๔๘ วันพุธที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๒ เรื่อง "ปลาหมึก ปลาวาฬ ปลาโลมา" ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในเรื่องภาษาของนักวิทยาศาสตร์ ที่นำเอาภาษาที่ชาวบ้านชาวช่องเขาพูดกันด้วยความหมายหนึ่ง แต่ตัวนักวิทยาศาสตร์เองนำเอาภาษาของชาวบ้านไปตีความหมายเป็นอย่างอื่น แล้วเที่ยวไปบอกว่าชาวบ้านพูดผิด

เมื่อเช้าวันอังคารที่ ๑๔ สิงหาคมที่ผ่านมา ขณะฟังข่าวทางวิทยุก็ได้ยินรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" จัดโดยราชบัณฑิตยสถาน พูดเรื่อง "ควรเรียก ปลาวาฬ หรือ วาฬ"

แม้ว่าจะมีบางเรื่องที่ผมไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับราชบัณฑิต แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ผมเห็นว่าราชบัณฑิตควรที่จะกล่าวย้ำอยู่บ่อย ๆ ให้คนทั่วไปรู้กัน และควรนำไปอบรมครู-อาจารย์ที่สอนหนังสือในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัยด้วย โดยเฉพาะผู้ที่สอนทางด้านวิทยาศาสตร์ จะได้ไม่เอาไปสอนเด็กแบบผิด ๆ

เนื้อเรื่องเป็นอย่างไรลองอ่านดูเอาเองก็แล้วกัน ผมนำเอาบทความเรื่องเกี่ยวกันนี้อีก ๒ บทความที่เขาเคยนำมาออกอากาศก่อนหน้ามาลงให้ดูพร้อมกับหน้าเว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสถานด้วย


ปลาวาฬ (๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๒)

คำว่า ปลาวาฬ คำนี้มาจากภาษาดัชต์สมัยกลางว่า walvisc (อ่านว่า วาล-วิส). คำว่า visc นั้นตรงกับคำว่า fish ในภาษาอังกฤษซึ่งแปลว่า ปลา. walvisc (อ่านว่า วาล-วิส) คือ ปลาวาฬ

หลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่พบคำนี้ในภาษาไทย คือ วรรณคดีเรื่องสมุทโฆษคำฉันท์ ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ว่า "ปลาวาฬไล่หลังครวญคราง". ปัจจุบัน คนไทยหลายคนมักเรียกสัตว์ชนิดนี้ว่า วาฬ เพราะคิดว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ใช่ปลา แต่ที่จริงควรใช้ว่า ปลาวาฬ เพราะ ปลาวาฬ เป็นคำเก่า ซึ่งสะท้อนการมองโลกของคนไทยว่า สัตว์ประเภทนี้เป็นปลา รูปร่างเป็นปลา มีครีบมีหางเหมือนปลา และอาศัยอยู่แต่ในน้ำอย่างปลา

ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.

รูปที่ ๑ เรื่องคำ "ปลาวาฬ" จาก http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=3330


ปลาโลมา (๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕)

ปลาโลมา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในน้ำ มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกับ ปลาวาฬ แต่ตัวเล็กกว่าปลาวาฬ ส่วนใหญ่พบในทะเลและมหาสมุทร ที่พบในแม่น้ำก็มี เช่น ในแม่น้ำคงคาที่ประเทศอินเดีย และในแม่น้ำโขงบริเวณประเทศไทยและประเทศลาว. ปลาโลมาส่วนใหญ่มีสีผิวเป็นสีเทา ซึ่งบางทีเข้มมากจนเกือบดำ และบางทีก็อ่อนลงจนเกือบขาว. ปลาโลมาส่วนใหญ่มีสีผิวสองสี คือด้านหลังเป็นสีเทาเข้ม ด้านท้องเป็นสีเกือบขาว การมีสีผิวสองสี ช่วยในการพรางตัวในทะเลไม่ให้ศัตรูเห็น คือเมื่อมองจากด้านบน สีเข้มจะกลืนกับสีน้ำทะเล และถ้ามองจากด้านล่างขึ้นไป สีขาวก็จะกลืนกับแสงแดดเหนือผิวน้ำ เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าปลาโลมาเป็นสัตว์ที่ฉลาด ทั้งนี้เพราะสมองของปลาโลมามีขนาดใหญ่มาก เมื่อเทียบกับลำตัว อีกทั้งภายในสมองยังซับซ้อนอีกด้วย.

คำว่า โลมา น่าจะมาจากภาษามาเลย์ว่า ลุมบา (lumba) ในภาษามาเลย์ อินโดนีเซีย และชวา เรียก ปลาโลมา อย่างเดียวกัน ว่า ikan lumba-lumba (อ่านว่า อิกัน ลุมบา-ลุมบา) ikan แปลว่า ปลา. การเรียกสัตว์ประเภทนี้ว่า ปลา สะท้อนว่าชาวบ้านทั่วไปที่พูดภาษาไทย มาเลย์ อินโดนีเซีย และชวา เห็นว่า โลมา เป็นปลาชนิดหนึ่ง

ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.

รูปที่ ๒ เรื่องคำ "ปลาโลมา" จาก http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=4848


ควรเรียก ปลาวาฬ หรือ วาฬ (๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๕)

คำนามเรียกชื่อสัตว์ พืช หรือสิ่งของเครื่องใช้ ในภาษาไทยมักจะมีคำบ่งบอกประเภทหรือชนิดของคำนามนั้นนำหน้า เช่นบอกว่าชื่อนั้นเป็นชื่อของ นก หนู งู ปลา ต้น ดอก

นก เช่น นกกระจอก นกกระจาบ นกแก้ว นกนางนวล นกเป็ดน้ำ ฯลฯ
งู เช่น งูเขียว งูเห่า งูดิน งูสามเหลี่ยม
ปลา เช่น ปลาทู ปลาเข็ม ปลาทับทิม ปลาวาฬ ปลาหมึก ฯลฯ

คำเรียกสิ่งต่าง ๆ ในแต่ละภาษาเป็นไปตามความคิดและมโนทัศน์ของเจ้าของภาษา เช่น ชาวยุโรปคิดถึงขนมปังว่าเป็นอาหาร แต่คนไทยอาจมองว่าขนมปังเป็นขนม และเรียกว่า ขนมปัง จะตัดเรียกเฉพาะ ปัง เท่านั้นไม่ได้. ในมโนทัศน์ของคนไทย สัตว์น้ำถ้าไม่ใช่กุ้ง ปู หอย ก็มักจะเรียก ปลา รวมทั้ง ปลาวาฬ ปลาหมึก ปลาพะยูน ปลาดาว และปลาโลมา แต่นักวิทยาศาสตร์ศึกษาว่า ปลาวาฬ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ใช่สายพันธุ์เดียวกับปลา จึงเรียก ปลาวาฬ ว่า วาฬ ถือเป็นศัพท์เฉพาะทางวิทยาศาสตร์

ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.

รูปที่ ๓ เรื่องคำ "ปลาวาฬ" จาก http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=5015