บ้านคุณตาคุณยายของผมนั้นตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินสายหลักที่เชื่อมจังหวัดต่าง
ๆ เข้าด้วยกัน
ถนนเส้นนี้เดิมเป็นถนนลาดยางสองช่องจราจร
ไหล่ทางยังเป็นหิน
ตัดคดไปคดมาแวะเข้าไปตามหมู่บ้านต่าง
ๆ
ผู้หลักผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่าคนสมัยนั้นเวลาเขาอยากให้ถนนผ่านหน้าบ้านตัวเองเขาก็จะบริจาคที่ให้ทางการ
ต่อมาภายหลังได้มีการเวนคืนที่วางแนวถนนใหม่เพื่อให้เส้นทางมันตรงมากขึ้น
และยกฐานะขึ้นเป็นถนนสายเอเซียด้วย
ถนนเส้นเดิมก็เลยกลายเป็นทางหลวงย่อย
ๆ มีเลข ๔ ตัวกำกับแทน
ตอนเด็ก
ๆ ปิดเทอมหน้าร้อนถึงจะมีโอกาสไปเยี่ยม
นั่งรถไฟชั้น ๓ ไปถึงสถานีในตัวจังหวัด
แล้วก็นั่งรถต่อไปยังบ้านคุณตาคุณยายที่อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปเพียงแค่
๑๐ กิโลเมตรเท่านั้นเอง
แต่สมัยนั้นระยะ ๑๐
กิโลเมตรจากตัวจังหวัดก็เรียกว่าห่างไกลความเจริญแล้ว
ถนนตรงจุดผ่านเข้าออกตัวจังหวัดจะมีป้อมทหารตั้งอยู่
อาวุธพร้อมใช้
ตอนเช้าก็ช่วยคุณตาคุณยายเก็บไข่ไก่ไข่เป็ดในเล้า
สนุกตอนที่ต้องไปรื้อกองฟางดูว่ามันไปออกไข่ซุกเอาไว้แถวไหน
หรือไม่ก็ไปอาบน้ำให้หมูในคอก
(อันที่จริงก็คือการฉีดน้ำให้หมูและล้างขี้หมูออกจากคอก)
ตอนกลางวันก็วิ่งเล่นกันระหว่างหมู่ญาติ
ๆ ที่เป็นเด็ก ๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน
ปั่นจักรยานสองล้อเป็นก็ที่นั่น
พอตกกลางคืนหลังกินข้าวเย็นเสร็จก็ไม่มีอะไรทำ
บางคืนคุณยายเก็บมะม่วงมาบ่มเพื่อจะเอาไปขายในตลาด
ก็จะช่วยคุณยายเอามะม่วงไปวางเรียงเป็นวงในถัง
โดยจะวางเอาไว้ริมขอบถัง
เว้นตรงกลางไว้
พอใส่มะม่วงจนเต็มคุณยายก็จะปักธูปเอาไว้ตรงกลาง
และก็ปิดฝาถัง
ตอนเช้าคุณยายก็เอามะม่วงไปขายที่ตลาด
(ตลาดไหนผมก็ไม่รู้เหมือนกัน)
โทรทัศน์ตอนนั้นก็มีอยู่ช่องเดียวคือช่อง
๘ หาดใหญ่ มีดูเฉพาะตอนกลางคืน
บ้านใครจะดูได้ก็ต้องตั้งเสาอากาศซะสูง
(ก็อยู่ห่างจากสถานีส่งกว่าร้อยกิโลเมตร)
แล้วก็ต้องติดอุปกรณ์ที่เรียกว่า
"บูสเตอร์"
เป็นตัวเพิ่มความแรงสัญญาณ
ซึ่งก็พอที่จะทำให้ดูโทรทัศน์ได้
แม้ว่าจะไม่คมชัดเท่ากับการดูในกรุงเทพ
แต่ก็ดีกว่าไม่มีอะไรดู
สมัยนั้นหลังพระอาทิตย์ตกแล้ว
ถนนหน้าบ้านแทบจะไม่มีรถวิ่งเลย
นาน ๆ ทีจะมีวิ่งผ่านมาสักคัน
ยิ่งคนเดินบนท้องถนนก็ยิ่งไม่มีใหญ่
ท้องฟ้าก็มืดมิดมาก
มองเห็นทางช้างเผือกได้อย่างสบาย
พื้นที่ในเขตจังหวัดที่บ้านคุณตาคุณยายผมอยู่นั้นถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
ส่วนจะเป็นพื้นที่ "สีแดง
(ความรุนแรงมาก)"
หรือ
"สีชมพู
(ความรุนแรงรองลงมา)"
นั้นผมก็ไม่รู้อะไร
พึ่งจะมาเข้าใจกันตอนโตขึ้นว่าทำไมพอตกเย็นเขาถึงรีบให้กลับบ้านและปิดบ้านกัน
แต่เด็ก ๆ เราก็ไม่รู้สึกอะไร
เพราะเห็นมันมืดไปหมดก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะออกไปเล่นอะไรอีก
ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามบ้านคุณตาคุณยายเป็นวัด
และถัดจากวัดไปหน่อยถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนว่าเดิมจะเป็นสถานีตำรวจ
มีอยู่คืนหนึ่งสถานีตำรวจดังกล่าวถูกปิดล้อมโจมตีด้วยกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
(พคท.)
(ตอนนั้นผมไม่ได้อยู่ที่นั่น
แต่อยู่กรุงเทพ)
ผู้ใหญ่ที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าให้ฟังว่าต้องเก็บตัวอยู่ในบ้าน
ไม่กล้าออกมา พอยึดสถานีตำรวจได้
ทางกองกำลังฝ่ายพคท.
ก็พาเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บออกมานอกสถานี
ยึดอาวุธ และเผาสถานีตำรวจนั้นทิ้งก่อนจะถอนกำลังหายไป
(น่าจะมีฐานอยู่ทางด้านเทือกเขาบรรทัด)
ซึ่งหลังเหตุการณ์ในวันนั้นที่นั่นก็ไม่เคยมีสถานีตำรวจอีกเลย
นั่นเป็นเรื่องเกือบ
๔๐ ปีแล้ว
"วันเสียงปืนแตก"
เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
โดยเป็นการปะทะกันโดยใช้อาวุธเป็นครั้งแรกระหว่างกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
(พคท.)
และเจ้าหน้าที่รัฐ
(ตำรวจ)
สถานที่เกิดเหตุคือ
บ้านนาบัว ต.โคกหินแฮ่
อ.เรณูนคร
จ.นครพนม(๑)
วันดังกล่าวส่วนใหญ่บอกว่าเป็นวันที่
๗ สิงหาคม พ.ศ.
๒๕๐๘
แต่บางรายก็บอกว่าที่ถูกต้องคือวันที่
๘ สิงหาคม พ.ศ.
๒๕๐๘
ซึ่งตรงนี้คงต้องให้คนศึกษาประวัติศาสตร์ไปค้นรายละเอียดจากหนังสือพิมพ์เก่า
ๆ ว่ามีการปะทะกันจริงวันไหนกันแน่
เท่าที่เคยได้ฟังจากผู้ใหญ่
สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์นั้นพอจะแบ่งออกได้เป็น
๒ กลุ่มใหญ่
พวกแรกคือผู้ที่เลื่อมใสในการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์
และต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศให้เป็นระบอบคอมมิวนิสต์
พวกที่สองคือผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ
เมื่อหันไปพึ่งใครไม่ได้ก็เลยต้องหันไปพึ่ง
พคท.
ซึ่งจะว่าไปแล้วกลุ่มนี้ดูเหมือนเป็นคนกลุ่มใหญ่ด้วยซ้ำ
ในพื้นที่ที่บ้านคุณตาคุณยายของผมอยู่
เหตุการณ์ที่คิดว่าน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อชาวบ้านคือกรณี
"ถังแดง"
ซึ่งเป็นกรณีของการเผาผู้ต้องสงสัยโดยจับยัดใส่ถังน้ำมัน
๒๐๐ ลิตร ก่อนราดน้ำมันและจุดไฟเผา
เรื่องนี้มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์
ใครอยากรู้มากกว่านี้ก็ลองหาใน
google
ดูก็ได้
นอกจากนี้ที่เคยได้ยินก็ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการพาขึ้นเฮลิคอปเตอร์
แล้วถีบให้ตกลงมา
ในช่วงแรกทางรัฐใช้แนวทางปฏิบัติการโดยใช้
"การทหารนำหน้าการเมือง"
ซึ่งส่งผลให้เกิดการผลักดันมวลชนจำนวนมากไปเข้าร่วมกับพคท.
ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยถูกประกาศเป็นเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
(ดูรูปที่
๑)
พื้นที่หลายแห่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในปัจจุบัน
(เช่นเขาค้อ
ภูหินล่องกล้า ภูชีฟ้า)
เมื่อราว
ๆ ๓๐
ปีที่แล้วยังเป็นพื้นที่ที่มีการรบพุ่งกันอย่างดุเดือดระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและพคท.
ต่อมาภายหลังเมื่อฝ่ายรัฐได้มีการทบทวนสิ่งที่ได้กระทำลงไป
จึงได้มีการเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติการเป็น
"การเมืองนำหน้าการทหาร"
ด้วยนโยบาย
66/23
และ
66/25
(คำสั่งนายกรัฐมนตรีฉบับที่
๖๖ ปีพ.ศ.
๒๕๒๓
และคำสั่งที่ ๖๖ ปีพ.ศ.
๒๕๒๕)
ดึงมวลชนของพคท.กลับมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
ทำให้ฐานกำลังของพคท.ลดลงเป็นอย่างมาก
จนกระทั่งสามารถยุติสถานการณ์ความรุนแรงได้ในช่วงปีพ.ศ.
๒๕๒๙-๒๕๓๐
หลังจากสถานการณ์สงบไปเกือบ
๒๐ ปี
วันหนึ่งระหว่างที่นั่งรถกับคุณน้าคนหนึ่งที่เติบโตในพื้นที่จังหวัดนั้นมาตลอด
ในระหว่างการพาผมเดินทางไปท่องเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดซึ่งแต่เดิมพื้นที่นั้นเป็นเขตที่อำนาจรัฐเข้าไปไม่ถึง
ท่านก็ได้เล่าเหตุการณ์ในอดีตให้ฟัง
ช่วงบทสนทนาหนึ่งท่านก็พูดว่า
"คอมมิวนิสต์มันไม่มีหรอก
ไปรังแกพวกเขา พวกเขาจึงต้องหนึเข้าป่าไป"
หมายเหตุ
(๑)
นำข้อมูลมาจาก
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=302886
ในอินเทอร์เน็ตมีบอกตำบลและอำเภอที่แตกต่างกัน
แต่เมื่อตรวจสอบจากการแบ่งเขตการปกครองแล้วคิดว่าข้อมูลจากบล็อคนี้น่าจะถูกต้อง
(๒)
รูปจากหนังสือ
"การใช้กฎหมายป้องกันคอมมิวนิสต์"
เขียนโดย
นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
พิมพ์ครั้งที่ ๔
โดยสำนักงานปฏิบัติการจิตวิทยาแห่งชาติ
พ.ศ.
๒๕๑๖
หนังสือฉบับนี้พิมพ์ครั้งแรกในปีพ.ศ.
๒๕๐๔
รูปที่
๑
พื้นที่ที่เคยถูกประกาศเป็นเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
(จังหวัดที่แรเงาเอาไว้)(๒)