วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๓๑ รถไฟเล็กลากไม้สายตะวันออก (ศรีราชา) ภาค ๔ MO Memoir : Monday 24 December 2555

"ถนนตรงนี้ก่อนหน้านี้เป็นอะไรหรือครับ"

"เป็นทางรถไฟขนอ้อยน่ะ วิ่งมาจากทางด้านโน้น ออกไปบ้านหัวกุญแจ เดิมมันอยู่ต่ำกว่านี้อีก มิดหัวเลย มองไม่เห็นรถไฟหรอก พอถมไปถมมามันก็เลยสูงจนถึงระดับนี้"

บทสนทนาข้างบนเกิดขึ้นเมื่อเช้าวันอังคารที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา


รูปที่ ๑ แผนที่แนบท้ายราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๘๗ ตอนที่ ๑๐๐ วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๓ เรื่องเปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลอ่าวอุดม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ตัดมาเฉพาะบริเวณเขาเขียว-เขาชมภู่ แนวเส้นสีแดงคือทางรถไฟ

บริเวณบ้านโค้งดารา ถ้าใครขับรถมาจากทางศรีราชาจะไปสวนสันติธรรม (เห็นคนจากกรุงเทพชอบมากันเส้นทางนี้) จากแยกบ้านโค้งดาราขับรถเข้าไปนิดหน่อยด้านขวามือจะมีร้านขายกล้วยทอดมันทอดอยู่ร้านหนึ่ง ผมผ่านไปแถวนั้นทีไรมักจะแวะเข้าไปซื้อกินทุกที จนพี่แม่ค้าที่ขายกล้วยจำผมกับครอบครัวได้ (คงเป็นเพราะไม่ค่อยมีคนขับรถเก๋งต่างถิ่นแวะไปจอดซื้อของจากเขาและแวะคุยเรื่องต่าง ๆ)

ผมสงสัยถนนเส้นดังกล่าวตอนที่ไปได้เห็นแผนที่แสดงเขตสุขาภิบาลหัวกุญแจในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๘๐ ตอนที่ ๒๖ วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๐๖ และแผนที่แนบท้ายราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๘๗ ตอนที่ ๑๐๐ วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๓ เรื่องเปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลอ่าวอุดม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี (ดู Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๑๕ วันจันทร์ที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๕) ที่บ่งบอกถึงเส้นทางรถไฟไปยังอำเภอบ้านบึง และยังพบปรากฏในแผนที่แนบท้ายราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๙๑ ตอนที่ ๑๑๔ วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๑๗ เรื่องประกาศเขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่อีก (รูปที่ ๓) ซึ่งเมื่อเทียบกับแผนที่ปัจจุบันแล้ว (รูปที่ ๒) ทำให้สงสัยว่าปัจจุบันส่วนหนึ่งเส้นทางดังกล่าวน่าจะเป็นถนนสาย ชบ ๑๐๘๐ ที่วิ่งจากบ้านโค้งดาราไปยังบ้านหัวกุญแจ

รูปที่ ๒ ภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ในปัจจุบัน เส้นประสีแดงคือแนวทางรถไฟในอดีต ซึ่งปัจจุบันคือทางหลวงสาย ชบ ๑๐๘๐

ถนนเส้นนี้ผมขับผ่านครั้งแรกเมื่อประมาณกว่า ๑๕ ปีที่แล้ว ตอนนั้นขับรถตามแผนที่หาเส้นทางตัดจากบางพระไปบ้านบึง เห็นในแผนที่มีถนนไม่ระบุชื่ออยู่หนึ่งเส้นทางอยู่ทางด้านหลังเขาเขียว ก็เลยลองลุยเข้าไปดู สภาพตอนนั้นเป็นทางลูกรังลุยผ่านเข้าไปในไร่มันสำปะหลัง ตอนแรกก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าหลงทางหรือเปล่า แต่พบว่ามีป้ายเครื่องหมายจราจร (ที่สนิมเขรอะ) ติดตั้งอยู่ ก็เลยคิดว่ายังไม่หลงทาง

ไปคราวหลังสุดนี้ก็เลยลองแวะถ่ายรูปข้างทางเก็บเอาไว้ นึกสงสัยอยู่เหมือนกันว่าในอดีตสมัยที่บริเวณนี้ยังเป็นป่าอยู่นั้น คนที่ใช้เส้นทางนี้ได้เห็นธรรมชาติข้างทางอย่างไรบ้าง ซึ่งเชื่อว่าคงจะร่มรื่นและอุดมสมบูรณ์กว่าในปัจจุบัน ที่สภาพป่าเปลี่ยนไปเป็นไร่มันสำปะหลังและไร่สับปะรดแทน ตำแหน่งต่าง ๆ ที่แวะถ่ายรูปได้ระบุไว้คร่าว ๆ แล้วในรูปที่ ๒ สภาพข้างทางในปัจจุบันเป็นอย่างไรก็ลองดูตามรูปเอาเองก็แล้วกัน

รูปที่ ๓ แผนที่แนบท้ายราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๙๑ ตอนที่ ๑๑๔ วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๑๗ เรื่องประกาศเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ ในวงแดงคือบริเวณเส้นทางที่แวะถ่ายรูป

รูปที่ ๔ ร้านขายกล้วยทอด (๑) ที่แวะซื้อกินประจำเวลาเดินทางผ่านไปแถวนั้น บางทีก็มีผักสดมาวางขายด้วย รูปนี้เป็นการมองย้อนไปทางเส้นทางที่มุ่งหน้ามาจากบ้านหนองค้อ ผมว่ากล้วยทอดต้องกินร้อน ๆ พึ่งขึ้นมาจากกระทะ ที่เขามาเดินขายอยู่ตามสี่แยกรถติดนั้นไม่เคยคิดจะซื้อกินเลย ป้ายบอกทางในกรอบแดงข้างหลังบอกว่าตรงไปจะไปทางหลวงหมายเลข ๗ ส่วนเลี้ยวซ้ายจะไปวัดโค้งดารา

รูปที่ ๕ ยังอยู่ที่บริเวณหน้าร้านขายกล้วยทอด (๑) รูปนี้มองไปยังเส้นทางไปบ้านหัวกุญแจและ อ.บ้านบึง เดิมทีเป็นทางหินคลุก คนมาจากกรุงเทพเกือบทั้งหมดจะมุ่งหน้าจากบ้านโค้งดาราไปยังสวนสันติธรรม แล้วก็ย้อนกลับทางเดิม ตอนนั้นดูเหมือนจะไม่ค่อยมีใครรู้ว่าเส้นทางดังกล่าวใช้ลัดไปออกบ้านบึงได้ เพราะถนนที่เลยสวนสันติธรรมไปแล้วมันดูแย่ลงไปอีก แต่ตอนนี้พอทำเป็นถนนลาดยาง (แต่ไม่ตลอดทั้งเส้น) ปรากฏว่ามีรถบรรบุกขนาดใหญ่ใช้เป็นเส้นทางสัญจรร่วมด้วย

รูปที่ ๖ จากตำแหน่ง (๑) มายังตำแหน่ง (๒) เส้นทางก่อนถึงสวนสันติธรรม แถวนี้ช่วงหน้าหนาวอากาศดี ลมแรงดี ไม่เย็นมากเกินไป

รูปที่ ๗ บริเวณหน้าสวนสันติธรรม (๒) ที่อยู่ทางขวามือ มุ่งหน้าไปยังบ้านหนองน้ำเขียว ถนนเส้นนี้จะลาดยางไปจนถึงเข้าเขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่า ช่วงที่อยู่ในเขตอนุรักษ์นั้นจะเป็นทางลูกรัง เลยจากจุดนี้ไปสักนิดพอเข้าเขตอนุรักษ์ เส้นทางจะมีปัญหาอยู่นิดหน่อย คือไหล่ทางทรุดพังบริเวณทางน้ำไหลผ่าน รถวิ่งสวนกันไม่ได้ แต่ถนนเส้นนี้ช่วงเลยจากจุดนี้ไปปรกติก็ไม่ค่อยจะมีรถวิ่งอยู่แล้ว 

รูปที่ ๘ ถนนช่วงที่อยู่ในเขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่า ยังคงเป็นถนนหินคลุกอยู่ รูปนี้เป็นการมองย้อนไปยังบ้านโค้งดารา (บริเวณตำแหน่ง ๓) เส้นทางข้างหน้า (ตรงลูกศรสีเหลือง) จะเป็นโค้งที่ออกขวาก่อนเล็กน้อยและวกกลับไปทางซ้ายลงต่ำไปข้างล่าง เป็นจุดที่ไหล่ถนนพังลงไปเพราะโดนน้ำเซาะ

รูปที่ ๙ พอพ้นออกจากเขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่าแล้ว ถนนก็จะมีสภาพเป็นถนนราดยางอย่างดีอีกครั้งหนึ่ง ทางด้านซ้ายจะเป็นเนินเขามีคนทำไร่ข้าวโพด ส่วนทางด้านขวาเป็นทุ่งโล่ง (บริเวณตำแหน่ง ๔) วันนั้นขับรถไปถึงแค่นี้แล้วก็วนกลับ แต่ช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาก็ต้องใช้เส้นทางนี้อีกโดยขับจากบ้านหัวกุญแจไปออกบางพระ

รูปที่ ๑๐ ทีนี้ลองย้อนมาทางอีกฝั่ง จากบ้านโค้งดารามุ่งหน้าไปยังหนองค้อ (ตำแหน่ง ๕) ระดับถนนเส้นนี้ต่ำกว่าระดับถนนของบ้านโค้งดาราอยู่มาก แสดงว่าถนนบ้านโค้งดารานั้นมีการถมให้สูงขึ้นมามาก และก็เป็นไปได้ที่ระดับเดิมนั้นจะต่ำจนเป็นอย่างที่พี่แม่ค้าขายกล้วยทอดบอกว่าระดับเดิมมันต่ำจนมิดหัวรถไฟ (หัวรถจักรรถไฟเล็กนี้ไม่ได้สูงมากนะ ลองไปดูรูปได้ใน Memoir ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๑๕ วันจันทร์ที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๕ ในรูปนั้นตอนนั้นเขาใช้ลากไม้ แต่ต่อมาภายหลังใช้ขนอ้อยไปเข้าโรงงานน้ำตาล)

รูปที่ ๑๑ รูปนี้อยู่ที่บริเวณตำแหน่ง ๖ กำลังมุ่งหน้าไปยังตำแหน่ง ๗ สภาพเส้นทางสายนี้ดูแล้วได้บรรยากาศดี ทางด้านขวาที่เห็นต้นไม้รก ๆ นั้นเป็นต้นไม้ที่โผล่ขึ้นมาจากธารน้ำข้างทาง ที่อยู่ต่ำลงไปขนาดมิดหัวคนได้ ดังนั้นถ้าเจอรถวิ่งสวนหลบกัน ใครอยู่ฝั่งนั้นก็ต้องระวังด้วย ไม่เช่นนั้นมีหวังลงไปล้างรถอยู่ในธารน้ำข้างทางได้

รูปที่ ๑๒ บริเวณตำแหน่งที่ ๖ แต่เป็นการมองย้อนกลับไปยังบ้านโค้งดารา ฝั่งที่เป็นธารน้ำคือด้านซ้ายมือของรูป

รูปที่ ๑๓ ขับมาจนถึงจุดที่เชื่อว่าเป็นทางแยกระหว่างเส้นทางไปบ้านบึงและเส้นทางที่มุ่งไปยังบึงตาต้าเขตอ.ปลวกแดง (ตำแหน่งที่ ๗) รูปนี้เป็นการมองย้อนกลับไปยังบ้านโค้งดารา

รูปที่ ๑๔ ระหว่างเส้นทาง (ตำแหน่ง ๕ ถึง ๗) ถ้าขับมาจากบ้านโค้งดาราจะพบโรงงานบริษัทศรีมหาราชาอยู่ทางด้านซ้ายมือ ปัจจุบันไม่ทราบว่าใช้ทำอะไร รู้แต่ว่าข้าง ๆ โรงงานมีสวนยางพาราขึ้นอยู่ (แต่จะเกี่ยวข้องกันหรือเปล่าก็ไม่รู้) ภายในเห็นมีรูปปั้น เดาว่าคงเป็นรูปปั้นของเจ้าพระยาสุรศักดิ์ผู้ริเริ่มบุกเบิกเส้นทางรถไฟเส้นนี้ (ผมเดาถูกหรือผิดก็ไม่รู้นะ)

ในมุมมองของผมนั้นการอ่านหนังสือนั้นมันแตกต่างจากการอ่านการ์ตูนที่มีภาพ เพราะหนังสือนั้นมันเปิดโอกาสให้เราจินตนาการถึงรูปร่างหน้าตาตัวละครและฉากต่าง ๆ ในเรื่อง ต่างคนก็ต่างคิดไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่คน ๆ เดียวกันเวลาอ่านใหม่ก็มีสิทธิ์ที่จะเห็นภาพแตกต่างไปจากเดิมได้ แต่พอเป็นการ์ตูนแล้วทุกคนก็จะมองเห็นภาพเดียวกันหมด และไม่ว่าจะอ่านกี่ครั้งก็จะเห็นภาพเดิม ๆ แต่การอ่านการ์ตูนก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน (เพราะเด็กยังต้องการเห็นรูปภาพว่าอะไรคืออะไร)

การเดินทางท่องเที่ยวก็เช่นกัน เมื่อเราได้ทราบถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเส้นทางที่เราเดินทางไปนั้น เราก็อาจมองเห็นภาพสองข้างทางนั้นแตกต่างไปจากที่มันปรากฏต่อสายตาของเราในปัจจุบันได้ และเราจะได้พบว่าการท่องเที่ยวนั้นความสำคัญไม่ได้อยู่ที่จุดหมายปลายทาง แต่อยู่ที่เส้นทางที่เราใช้ในการเดินทาง ว่าเราเลือกจะใช้เส้นทางที่จะเปิดโอกาสให้เราได้มองเห็นอะไรบ้าง