วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2564

การวินิจฉัยการเข้าข่ายสินค้าที่ใช้ได้สองทาง ตัวอย่างที่ ๙ ซอร์ฟแวร์ควบคุมการทำงานอุปกรณ์ MO Memoir : Sunday 15 August 2564

ผมลองเอาคำ "Linear displacement measuring instruments" ไปค้นใน google ปรากฏว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นพวกแรก ๆ คือ "Linear Variable Differential Transformers (LVDT)" แต่ใน EU List ฉบับปีค.ศ. ๒๐๒๐ นั้น อุปกรณ์ทั้งสองตัวอยู่คนละหมวดกัน โดย "Linear displacement measuring instruments" ปรากฎอยู่ในหมวด 2B006 ส่วน "Linear Variable Differential Transformers (LVDT)" อยู่ในหมวด 2B206

ในตอนที่ ๖ ของบทความชุดนี้ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ Toshiba-Kongsberg Incident ที่เครื่องมือขัดพื้นผิวให้เรียบมากถูกส่งไปยังสหภาพโซเวียต โดยตัวเครื่องจักรถูกผลิตและส่งออกจากประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่ซอร์ฟแวร์ที่ใช้ควบคุมเครื่องจักรดังกล่าวถูกพัฒนาและส่งออกจากประเทศนอร์เวย์

ชิ้นส่วนหนึ่งที่สำคัญสำหรับอุปกรณ์ขึ้นรูปที่มีความเที่ยงตรงสูงก็คืออุปกรณ์วัดระยะ การวัดระยะห่างน้อย ๆ นั้นจะใช้วิธีการวัดแบบไม่สัมผัส (Non-contact type เช่นด้วยการใช้แสงเลเซอร์) อุปกรณ์วัดประเภทนี้สามารถวัดความแตกต่างได้ในระดับ 1 ไมโครเมตรหรือน้อยกว่าได้ อุปกรณ์วัดระยะนี้อาจถูกส่งออกในรูปของอุปกรณ์เดี่ยวเพื่อนำไปติดตั้งกับอุปกรณ์อื่น หรือเป็นชิ้นส่วนหนึ่งที่ติดตั้งอยู่กับอุปกรณ์อื่นก็ได้ (คือถูกส่งออกไปในชื่ออุปกรณ์หลักที่มีอุปกรณ์นี้เป็นส่วนประกอบ)

รูปที่ ๑ ตัวอย่างการวินิจฉัยเซนเซอร์วัดระยะที่ต้องสงสัยว่าเป็นสินค้าควบคุม

ตัวอย่างนี้น่าจะจัดเป็นกรณีที่ผู้ที่ซื้ออุปกรณ์มาจากผู้ผลิตนั้น รู้ว่าผู้ผลิตอุปกรณ์นั้นมีสินค้าอะไรขายบ้าง และสินค้าที่ขายนั้นเป็นสินค้าควบคุมหรือไม่ รูปที่ ๑ เป็นการตรวจสอบว่าเซนเซอร์วัดระยะนั้นเข้าข่ายเป็นสินค้าควบคุมหรือไม่ (ตามหมวด 2B006.b.1) ซึ่งเมื่อตรวจสอบดูแล้วพบว่าไม่เป็นสินค้าควบคุม (เนื่องจากความละเอียดที่วัดได้นั้นมีขนาดใหญ่กว่า 0.2 ไมโครเมตร) แต่ตัวผู้ซื้ออุปกรณ์นั้นทราบว่าผู้ผลิตอุปกรณ์ยังผลิตอุปกรณ์ที่เข้าข่ายเป็นสินค้าควบคุม และอุปกรณ์ตัวนี้ต้องมีซอร์ฟแวร์ควบคุมการทำงาน จึงได้มีการสอบถามกลับไปว่าซอร์ฟแวร์ควบคุมการทำงานอุปกรณ์ดังกล่าวเข้าข่ายเป็นสินค้าควบคุมหรือไม่ (ตามหมวด 2D001.b) ซึ่งก็ได้รับคำตอบจากผู้ผลิตอุปกรณ์ว่า ซอร์ฟแวร์ที่ใช้ควบคุมการทำงานของสินค้าที่เข้าข่ายและไม่เข้าข่ายเป็นสินค้าควบคุม เป็นซอร์ฟแวร์ "ตัวเดียวกัน" (รูปที่ ๒)

รูปที่ ๒ ผลการวินิจฉัยที่พบว่า แม้ว่าอุปกรณ์วัดจะไม่เข้าข่ายเป็นสินค้าควบคุม แต่ซอร์ฟแวร์ที่ใช้ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์วัดเป็นสินค้าควบคุม เพราะมันเป็นตัวเดียวกับที่ใช้กับอุปกรณ์วัดที่เป็นสินค้าควบคุม

ในตอนท้ายของรูปที่ ๑ มีการตั้งประเด็นคำถามทิ้งเอาไว้ว่า ในเมื่ออุปกรณ์วัดเป็นสินค้าไม่ควบคุม ทำไมจึงติดตั้งซอร์ฟแวร์ที่มีความสามารถสูงที่ใช้กับอุปกรณ์วัดที่เป็นสินค้าควบคุม สาเหตุเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะผู้ผลิตอุปกรณ์ต้องการลงทุนเพียงแค่พัฒนาซอร์ฟแวร์เพียงตัวเดียวที่สามารถใช้กับอุปกรณ์ที่ผลิตได้ทุกตัว กล่าวคือบริษัทนี้ไม่มีซอร์ฟแวร์ตัวอื่นที่ใช้ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์วัดระยะอีก แต่ถ้ามีซอร์ฟแวร์ที่ไม่สามารถใช้กับอุปกรณ์วัดที่เป็นสินค้าควบคุม ทำไมจึงติดตั้งซอร์ฟแวร์ที่มีความสามารถสูงเกินความสามารถในการทำงานให้กับอุปกรณ์ที่มีความสามารถต่ำกว่า

ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า การพิจารณาเพียงแค่ตัวฮาร์ดแวร์ที่จะส่งออกนั้นเป็นสินค้าควบคุมหรือไม่คงไม่เพียงพอ แต่ยังต้องรู้ด้วยว่าการทำงานของตัวฮาร์ดแวร์ดังกล่าวต้องมีซอร์ฟแวร์ประกอบด้วยหรือไม่ และตัวผู้ผลิตฮาร์แวร์นั้นผลิตฮาร์ดแวร์ที่เป็นสินค้าควบคุมด้วยหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น: