วันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

การถอดหน้าแปลน (๒) MO Memoir : Tuesday 13 February 2567

เมื่อประมาณเกือบสองปีที่แล้ว ได้นั่งคุยกับพี่ที่เป็นช่างเทคนิคด้านไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ท่านหนึ่ง พี่เขาบอกว่าเกษียณแล้วอยากจะเขียนสิ่งที่ได้เรียนรู้มาทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้อ่าน แต่ไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรดี ผมก็เลยเสนอพี่เขาไปว่า ให้ลองเขียนเรื่องง่าย ๆ ที่เป็นเทคนิคในการทำงาน ที่พี่รู้ว่ามันควรต้องทำและคิดว่าคนอื่นเขาก็รู้เหมือนกัน แต่เอาเข้าจริงมันอาจไม่มีการเขียนเอาไว้ (หรือมีเขียนไว้แต่แพร่หลายในวงจำกัด)

แล้วผมก็ยกตัวอย่างเรื่องการใช้มัลติมิเตอร์ ที่ก่อนอื่นต้องตรวจสอบว่ามันทำงานได้ปรกติหรือไม่ (คือมันจะมีถ่านไฟฉาย 9V อยู่ข้างใน) ด้วยการตั้งให้มันวัดค่าความต้านทาน แล้วเอาขาทั้งสองข้างของมัลติมิเตอร์มาแตะกัน เพื่อดูว่ามันวัดได้ 0 โอห์ม (หรือเกือบ 0) หรือไม่ ผมก็บอกว่าเรื่องแบบนี้แหละ ที่คนทำงานนั้นรู้กันด้วยการบอกต่อ ๆ กันมา แต่การสอนแบบนี้มันจะมีปัญหาได้ในระยะยาวถ้าไม่มีบันทึกเอาไว้ เพราะมันอาจสูญหายไปได้เมื่อไม่มีคนเรียนต่อ หรือคนรู้ลืมสอนและย้ำให้ผู้เรียนต้องปฏิบัติให้เป็นนิสัย

รูปที่ ๑ อุบัติเหตุช่างซ่อมบำรุงสองรายเสียชีวิตเนื่องจากแก๊สรั่วออกจากท่อและลุกติดไฟ เนื่องจากไม่ได้มีการระบายสิ่งที่ตกค้างอยู่ในท่อก่อนที่จะทำการถอด bolt ออกจากหน้าแปลนเกือบทุกตัว ทำให้ความดันข้างในดันให้หน้าแปลนแยกออกกว้างและสารข้างในรั่วไหลออกมาในปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว คำว่า LPG-type material นี้ไม่ได้จำกัดที่แก๊สหุงต้ม แต่เป็นสารใด ๆ ก็ได้ที่เป็นของเหลวภายใต้ความดัน (เช่นของเหลวจุดเดือดสูงกว่าอุณหภูมิห้อง แต่เป็นของเหลวที่อุณหภูมิสูงกว่าจุดเดือดปรกติได้เนื่องจากในระบบมีความดันที่สูง) เมื่อรั่วไหลออกสู่ความดันบรรยากาศก็จะระเหยกลายเป็นไอเหมิอนแก๊สหุงต้มรั่วไหลออกมา

เรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้นำมาจากเอกสาร BP Process Safety เรื่อง "Hazards of Trapped Pressure and Vacuum" ที่เป็นเอกสารในชุด A collection of booklets describing hazards and how to manage them ที่จัดพิมพ์โดย Institution of Chemical Engineers (ICheE) ประเทศอังกฤษ เป็นเรื่องเกี่ยวกับอันตรายจากความดันที่ค้างอยู่ในระบบและสุญญากาศที่เกิดในระบบ เอกสารฉบับนี้ยาวเกือบ ๑๐๐ หน้า แต่วันนี้ขอเลือกมาเฉพาะการถอดหน้าแปลน

เรื่องการถอดหน้าแปลนนี้เคยเล่าไว้เมื่อเกือบ ๑๐ ปีที่แล้ว (MO Memoir ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๗ เรื่อง "การถอดหน้าแปลน") แต่ตอนนั้นเป็นการเล่าให้ฟังว่ารุ่นพี่นั้นเล่าอะไรให้ฟัง แต่สำหรับวันนี้มีเอกสารอ้างอิงที่บริษัท BP (British Petroleum) ของอังกฤษจัดทำและทางสมาคมวิชาชีพวิศวกรรมเคมีเห็นชอบและพิมพ์เผยแพร่

สิ่งที่ในส่วนบทนำของเอกสารนี้กล่าวไว้พอสรุปได้ว่า วิธีการที่นำเสนอนั้นเป็นเพียงแค่หลักการและ/หรือข้อเสนอแนะ ที่ควรต้องมีการปรับให้เข้ากับสภาพการทำงานจริงของแต่ละกระบวนการ

รูปที่ ๒ รูปแนะนำวิธีการถอดหน้าแปลนที่ถูกต้อง

รูปที่ ๒ เป็นคำแนะนำวิธีการถอดหน้าแปลนที่ถูกต้องโดยนำมาจากหน้าที่ ๑๗ ของเอกสารที่นำมาเล่าให้ฟัง แต่ก่อนอื่นลองมาทำความเข้าใจคำศัพท์บางคำดูก่อน

คำว่า "Break" ถ้าเป็นคำนามที่คนไทยออกเสียงว่า "เบรค" ก็หมายถึงห้ามล้อรถ ถ้าเป็นคำกิริยาเราก็มักจะชินกับความหมายว่า "หยุด" หรือ "ทำให้เสียหาย" แต่คำว่า "breaking a flange" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการทำให้หน้าแปลนเสียหาย แต่หมายถึงการถอดหน้าแปลน ทำนองเดียวกันคำว่า "Crack" ที่เราจะชินกับความหมายว่าแตก แต่คำว่า "cracking a valve" ไม่ได้หมายความว่าทำให้วาล์วแตกเสียหาย แต่หมายถึงการเปิดวาล์ว "เพียงเล็กน้อย" ทีนี้ก็ต้องไปตีความให้เป็นรูปธรรมกันอีกว่าเปิด "เพียงเล็กน้อย" คือเปิดแค่ไหน จากประสบการณ์ที่เคยมีกับท่อไอน้ำที่ต้องเปิดไอน้ำเข้าระบบท่อที่เย็น จะเปิดวาล์วเพียงแค่รู้สึกว่ามีไอน้ำไหลผ่านวาล์วแล้ว (มีเสียงดังจากตัววาล์ว) ก็จะหยุดการเปิด รอให้ท่ออุ่นขึ้นจนไม่มีเสียง water hammer ก็ค่อยเปิดเพิ่มขึ้นทีละน้อยเป็นขั้น ๆ

คำว่า "Slacken" คือการคลายหรือทำให้หลวม มีความหมายเดียวกับ "Loosen" คำว่า "slacken a bolt" ก็คือการคลายน็อตนั่นเอง

คำว่า "Bolt" ก็คือน็อตตัวผู้ ส่วนน็อตตัวเมียก็คือ "Nut" (ที่แปลว่าถั่วก็ได้) แต่คนไทยจะเรียกรวมว่า "น็อต" ยกเว้นเวลาต้องการระบุว่าเป็นชิ้นส่วนไหน ก็จะบอกว่าเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย

คำว่า "Fox wedge" ก็คือลิ่ม คือชิ้นส่วนที่มีลักษณะเป็นแท่งสามเหลี่ยมยาว ใช้สำหรับอัดแทรกเข้าไประหว่างพื้นผิวสองพื้นผิวที่ประกบกันอยู่ เพื่อให้สองพื้นผิวนั้นแยกออกจากกัน

ที่นี้ก็มาดูคำบรรยายในรูปที่ ๒ แม้ว่าในรูปนี้จะเป็นหน้าแปลนที่มีน็อตยึดเพียง 4 ตัว แต่ก็แสดงให้เห็นหลักการทำงานที่สามารถนำไปใช้กับหน้าแปลนที่มีขนาดใหญ่กว่านี้ได้

ขอเริ่มจากการเตรียมตัวก่อน

A - สวมเสื้อผ้าและอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม

B - มีภาชนะรองรับของเหลวที่อาจมีการรั่วไหลออกมา (แม้ว่าเป็นท่อแก๊สก็ควรต้องระวังเช่นกัน เพราะอาจมีของเหลวค้างอยู่ในท่อก็ได้)

C - จุดที่จะทำการถอดหน้าแปลนนั้นต้องมีการรองรับที่เหมาะสม คือต้องรองรับน้ำหนักของท่อที่จะถอดได้

ต่อไปเป็นขั้นตอนการถอดหน้าแปลน

1 - ให้คลายน็อตตัวที่อยู่ห่างทีสุดก่อน จากรูปคือการคลายน็อตตัวที่อยู่ฟากตรงข้าม ซึ่งถ้าเป็นท่อขนาดเล็กก็คงจะพอทำได้อยู่ แต่ถ้าเป็นท่อขนาดใหญ่มากก็คงจะทำแบบนี้ไม่ได้ เหตุผลที่ให้ทำอย่างนี้ก็คือถ้ามีการรั่วไหลพุ่งออกมา จะได้พุ่งออกไปจากตัวผู้ทำงาน

2 - คลายน็อตตัวที่สองที่อยู่ข้างตัวแรกทางด้านบน ในกรณีของหน้าแปลนในรูปที่มีน็อตแค่ 4 ตัว การคลายน็อตสองตัวที่อยู่เคียงกันก็เรียกว่าคลายน็อตไปถึง 50% ของจำนวนน็อตทั้งหมดที่ยึดหน้าแปลนอยู่ แต่ถ้าหน้าแปลนใช้น็อตมากกว่านี้ก็คงต้องมีการคลายน็อตเพิ่มขึ้น (แต่ก็ยังคงอยู่ในอีกฝั่งของผู้ทำงาน) เพื่อที่จะทำการง้างหน้าแปลนได้

3 - สอดลิ่มเข้าไปเพื่อง้างหน้าแปลน นี่คงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องคลายน็อตทางด้านครึ่งบนก่อน เพื่อที่จะได้ทำการสอดลิ่มและตอกอัดเพื่อง้างหน้าแปลนได้ง่าย และถ้าในท่อนั้นมีทั้งแก๊สและของเหลวค้างอยู่ ก็จะมีแต่แก๊สรั่วออกมาโดยไม่มีของเหลวฉีดพ่นออกมา

4 - คลายน็อตตัวที่สามที่อยู่ทางด้านล่างเพื่อระบายของเหลวที่อาจตกค้างอยู่ บทความไม่ได้กล่าวเพิ่มเติมอะไรไว้อีก แต่ดูแล้วน่าจะกระทำก็ต่อเมื่อในท่อไม่มีความดันแก๊สเหลืออยู่แล้ว เพราะไม่เช่นนั้นจะแทนที่ของเหลวจะไหลหยดออกมาก็จะกลายเป็นฉีดพุ่งออกมาแทน

5 - ไม่ควรทำการคลายน็อตตัวสุดท้ายก่อนที่จะทำการใช้ลิ่มง้างหน้าแปลนและทำการระบายของเหลวและแก๊สในท่อออกหมดแล้ว

การ "คลายน็อต" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงให้ถอดน็อตตัวเมืยออกมาเลย แค่หมุนให้มันเลื่อนถอยหลังออกมา ที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพราะถ้าพบว่าในท่อยังมีความดันสูงอยู่ (เช่นมีปัญหาเรื่องการปิดแยกระบบ) ก็จะได้ขันกลับคืนเข้าไปได้ และในกรณีของหน้าแปลนตาบอดหรือ blind flange จะช่วยป้องกันไม่ให้ตัวหน้าแปลนปลิวออกมาเนื่องจากความดันของแก๊ส (เพราะยังมีน็อตคอยรับแรงอยู่ครบทุกตัว) ที่สามารถทำให้ผู้โดยกระแทกเสียชีวิตได้

ผมเขียนเรื่องการถอดหน้าแปลนที่มีน็อตยึดเพียงแค่ 4 ตัวไปแล้ว ทีนี้ก็ได้แต่รอว่าเมื่อใดจะมีผู้ที่มีประสบการณ์การถอดหน้าแปลนท่อขนาดใหญ่ (เช่น 20 นิ้วขึ้นไป) มาแบ่งปันประสบการณ์ให้ฟังบ้างว่าควรต้องทำอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น: