วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เขาฝากผลงานไว้บนแผ่นดินสยาม แต่กลับถูกหย่อนร่างทิ้งลงทะเล ตอน ผาเสด็จ (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๑๑๕) MO Memoir : Monday 7 November 2559

หินลับ
๒๔ ธันวาคม ค.. ๑๘๙๖

.......... แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพอพระราชหฤทัยที่จะทรงดำเนินมากกว่า ดังนั้นเราจึงเดินไปจนถึงที่ยื่นออกมาซึ่งอยู่ไกลออกไปประมาณ ๗๐๐ เมตร ตรงกิโลเมตรที่ ๑๓๖.๕ ณ ที่แห่งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยด้วยชอล์กและทรงตอกหินด้วยพระแสงสิ่วและค้อนทอง ผู้ที่ทรงตอกสิ่วต่อจากพระองค์คือพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายชายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อีก ๒๐ คน ..........

๑๘ กุมภาพันธ์ ปีค.ศ. ๑๘๙๓ ลูอิส ไวเลอร์ วิศวกรชาวเยอรมันได้เดินทางมาถึงกรุงเทพมหานคร และได้เข้าพักในโรงแรมโอเรียนเต็ล เพื่อไปทำหน้าที่เป็นวิศวกรควบคุมการก่อสร้างทางรถไฟช่วงปากเพรียวไปโคราชตั้งแต่กิโลเมตรที่ ๘๐ ถึง ๑๑๒ และ ๑๒ ถึง ๑๓๓ ด้วยความที่เป็นคนชอบเขียนบันทึก ทำให้บันทึกของเขานั้นเต็มไปด้วยการบรรยายสภาพการณ์ของประเทศสยามในช่วงเวลาที่เขาเข้ามาทำงาน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเหตุการณ์บ้านเมืองหรือชีวิตประจำวันของคนทั่วไป และที่สำคัญคือด้วยหน้าที่การงานของเขาที่ต้องเข้าไปบุกเบิกเส้นทางรถไฟที่ตัดผ่านป่า การทำงานร่วมกับชาวบ้านสยามทั่วไป ทำให้บันทึกของเขาให้ภาพการใช้ชีวิตประจำวันของชาวสยามทั่วไปในยุคนั้นซึ่งเป็นสิ่งที่ทางราชการไม่ทำการจดบันทึกกัน
 
บันทึกของไวเลอร์ได้รับการแปลเป็นหนังสือเรื่อง "กำเนิดการรถไฟในประเทศไทย (Anfang der Eisenbahn in Thailand)" โดย ถนอมนวล โอเจิญ และ วิลิตา ศรีอุฬารพงศ์ ในโครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลำดับที่ ๑๔๙ เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๖ ในบันทึกแต่ละวันของเขาจะมีการจดบันทึกสถานที่ที่เขาทำการเขียนบันทึกนั้น "ปากเพรียว" ก็เป็นหนึ่งในสถานที่แรก ๆ ที่เขามาพัก (คิดว่าเป็นบริเวณสถานีรถไฟสระบุรีในปัจจุบัน) และอีกสถานที่หนึ่งที่เขาไปประจำการเพื่อควบคุมการก่อสร้างทางคือที่ "หินลับ" บนเส้นทางระหว่างบ้านมาบกระเบาและบ้านหินลับมีช่วงหนึ่งเป็นหุบเขาแคบ ๆ เป็นตำแหน่งที่เด่นเป็นพิเศษโดยมีหินยื่นออกมา ณ ที่นี้ไวเลอร์ได้ให้คนงานจัดเตรียมสถานที่เพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ที่จะเสด็จพระราชดำเนินมาเพื่อทรงเยี่ยมชมหินลับในวันพุธที่ ๒๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๙๖ นั้นทรงจารึกข้อความ บริเวณนั้นปัจจุบันเรียกว่า "ผาเสด็จ" อยู่เลยไปทางด้านตะวันตกของสถานีรถไฟผาเสด็จในปัจจุบันไม่กี่ร้อยเมตร และข้อความที่นำมาขึ้นต้น Memoir ฉบับนี้คือส่วนหนึ่งของเหตุการณ์การเสร็จพระราชดำเนินครั้งดังกล่าวที่ไวเลอร์ได้บันทึกไว้
 
วันเสาร์ที่ผ่านมาจำเป็นต้องเดินทางไปร่วมงานทอดกฐิน ณ วัดแห่งหนึ่งที่โคราช ก็เลยถือโอกาสแวะเข้าไปเยี่ยมชมบริเวณดังกล่าว เส้นทางเข้าจะอยู่เลยโรงงานปูนซิเมนต์นครหลวงเล็กน้อย (มีป้ายบอก) พอเลี้ยวเข้าไปจะพบป้ายบอกว่าแยกซ้ายไปผาเสด็จ (ประมาณ ๒ กิโลเมตร) และแยกขวาไปหินลับ (๕ กิโลเมตรเศษ) เส้นทางไปผาเสด็จเป็นถนนลาดยางอย่างดี ๒ ช่องทางจราจรเล็ก ๆ พอรถเก๋งวิ่งสวนกันได้ (ทางตัน) ส่วนบรรยากาศข้างในเป็นอย่างไรนั้นก็เชิญชมรูปภาพที่ถ่ายมาฝากก็แล้วกันครับ ถือว่าวันนี้เป็นการเล่าเรื่องด้วยรูป เผื่อจะมีใครอยากได้สถานที่เงียบ ๆ เพื่อนั่งพักผ่อนกินข้าวหรือเปลี่ยนบรรยากาศถ่ายรูปในที่ ๆ คนอื่นเขาไม่ไปกัน


รูปที่ ๑  อนุสาวรีย์รัชกาลที่ ๕ ตรงบริเวณผาเสด็จ ก้อนหินที่ไวเลอร์กล่าวถึงอยู่ติดทางด้านขาวของรูปนี้
 
รูปที่ ๒  จากหน้าอนุสาวรีย์มองกลับไปยังเส้นทางที่มาจากสถานีมาบกระเบา (มาจากสระบุรี)

รูปที่ ๓  จากหน้าอนุสาวรีย์มองไปยังสถานีผาเสด็จ จะเห็นก้อนหินที่โผล่ยื่นออกมา ที่บังศาจเจ้าพ่อหินลับทางด้านขวาของรูป

รูปที่ ๔  ก้อนหินที่โผล่ยื่นออกมาและศาลเจ้าพ่อหินลับ มองไปยังทิศทุ่งไปยังสถานีผาเสด็จ
 
รูปที่ ๕  ถ่ายจากหน้าศาลเจ้าพ่อ พ้นโค้งนี่ไปคือสถานีผาเสด็จ


รูปที่ ๖  สถานีรถไฟผาเสด็จ


รูปที่ ๗  ยืนอยู่หน้าสถานี มองกลับไปทางผาเสด็จ


รูปที่ ๘  จากหน้าสถานีผาเสด็จ มองไปยังเส้นทางที่มุ่งไปยังสถานีหินลับ (เส้นทางไปโคราช)

รูปที่ ๙  ป้ายบอกตำแหน่งที่ตั้งสถานีผาเสด็จ


รูปที่ ๑๐  ถนนที่แยกจากถนนมิตรภาพมายังสถานีผาเสด็จ (สบ. ๑๐๖๒) รูปนี้ถ่ายตอนขับรถออกจากสถานี


รูปที่ ๑๑  แยกจากทางรถไฟ ทางรถไฟจะเลี้ยวโค้งอ้อมเขาไปทางซ้าย ส่วนถนนจะเบี่ยงอ้อมมาทางขวาออกถนนมิตรภาพ

ไม่มีความคิดเห็น: