วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เมื่อทุเรียนต้องหลีกทางให้มังคุด MO Memoir : Friday 9 August 2556

การเกิดพายุฝนนั้นจะเริ่มจากการเกิดหย่อมความกดอากาศต่ำก่อน และเมื่อพายุฝนนั้นเริ่มก่อตัวเป็นพายุหมุนก็จะเรียกว่าพายุดีเปรสชั่น (depression) และเมื่อความเร็วลมที่ศูนย์กลางของพายุดีเปรสชั่นนี้สูงถึง 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (หรือ ๓๔ นอต) ก็จะเรียกว่าพายุโซนร้อน (tropical storm) และจะมีการกำหนดชื่อเรียกให้กับพายุดังกล่าว และจะใช้ชื่อดังกล่าวไปจนกว่าพายุนั้นจะสลายตัว และถ้าพายุโซนร้อนนี้ทวีกำลังแรงขึ้นอีกจนมีความเร็วลมที่ศูนย์กลางตั้งแต่ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (หรือ ๖๔ นอต) ขึ้นไปก็จะจัดให้เป็นพายุไต้ฝุ่น (typhoon)

เดิมทีนั้นการตั้งชื่อพายุที่เกิดในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตกซีกเหนือ (ระหว่างเส้นแวงที่ 100 ถึง 180 องศาตะวันออกและอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร) จะใช้ชื่อที่กำหนดโดยหน่วยงานของสหรัฐอเมริกา และชื่อดังกล่าวจะเป็นชื่อ "ผู้หญิง" ทั้งหมด (คือเขามองว่าพายุนั้นเปรียบเสมือนอารมณ์ของผู้หญิง คือมีความแปรปรวนเอาแน่เอานอนไม่ได้ และคาดเดาไม่ได้) จนกระทั่งเดือนเมษายนปีค.ศ. ๑๙๗๙ (พ.ศ. ๒๕๒๒) จึงได้มีการปรับปรุงชื่อใหม่โดยมีการรวมเอาชื่อผู้ชายเข้าไปด้วย แต่ถึงกระนั้นชื่อทั้งหมดนั้นก็ยังคงเป็นชื่อแบบภาษาอังกฤษอยู่ดี

จนกระทั่งปีค.ศ. ๒๐๐๐ (พ.ศ. ๒๕๔๓) จึงได้มีการปรับปรุงใหม่อีกครั้ง โดย ๑๔ ประเทศและดินแดนในย่านแปซิฟิกตะวันตกตอนเหนือได้ทำการตั้งชื่อพายุ โดยนำรายชื่อประเทศและดินแดนมาเรียงตามลำดับอักษรภาษาอังกฤษ และให้แต่ละประเทศเสนอชื่อพายุได้ประเทศละ ๑๐ ชื่อ รวมทั้งสิ้น ๑๔๐ ชื่อนำมาจัดหมวดหมู่เป็น ๕ ชุด และจะใช้ชื่อดังกล่าวไล่ตามลำดับไปเรื่อย ๆ จนครบ ๑๔๐ ชื่อและก็จะกลับมาเริ่มต้นวนใหม่ (รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านได้จากลิงค์ตอนท้าย)

ชื่อพายุที่ตั้งขึ้นแล้วนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกติกาที่มีการกำหนดเอาไว้คือ "หากพายุลูกใดมีความรุนแรงและสร้างความหายนะมากเป็นพิเศษ ก็ให้ปลดชื่อพายุลูกนั้นไป แล้วตั้งชื่อใหม่เข้าไปในรายการชื่อแทน"

ชื่อพายุที่ตั้งโดยประเทศไทยนั้นประกอบด้วย พระพิรุณ ทุเรียน วิภา รามสูร เมขลา อัสนี นิดา ชบา กุหลาบ และขนุน

ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายนปีพ.ศ. ๒๕๔๙ (ค.ศ. ๒๐๐๖) พายุโซนร้อนลูกที่ ๒๑ ของปีได้ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก พายุลูกนี้มีเลขรหัสว่า 200321 หรือชื่อ "ทุเรียน (Durina)" ในอีก ๓ วันถัดมาพายุโซนร้อนทุเรียนได้ทวีกำลังแรงเป็นพายุไต้ฝุ่นที่มีความเร็วลมที่ศูนย์กลางสูงสุดถึงประมาณ ๑๙๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมงก่อนขึ้นฝั่งทางภาคตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ ตลอดระยะทางตั้งแต่ก่อนขึ้นฝั่งทางภาคตะวันออกของฟิลิปปินส์ไปจนถึงก่อนโฉบไปบริเวณทางตอนใต้ของแหลมญวน พายุทุเรียนยังคงกำลังแรงในระดับพายุไต้ฝุ่น จากนั้นจึงอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนและพายุดีเปรสชั่นก่อนเคลื่อนตัวเข้าอ่าวไทย และอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงเคลื่อนที่ขึ้นบนทางภาคใต้ของประเทศไทยบริเวณจังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี และข้ามฟากผ่านจังหวัดระนองลงสู่ทะเลอันดามัน และไปสลายตัวในมหาสมุทรอินเดียก่อนจะถึงฝั่งตะวันออกของประเทศอินเดีย (ดูรูปที่ ๑ และ ๒)
พายุทุเรียนทำความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายเกือบสองพันคน การประชุมที่จัดขึ้นที่กรุงมะนิลาประเทศฟิลิปปินส์ในปีค.ศ. ๒๐๐๖ (พ.ศ. ๒๕๔๙) จึงได้มีการเสนอให้ถอดถอนชื่อ "ทุเรียน" ออกจากรายชื่อพายุตามกติกาที่ได้มีการกำหนดไว้ล่วงหน้า และประเทศไทยได้มีการเสนอชื่อ "มังคุด - Mangkhut" แทนในการประชุมในเดือนธันวาคมปีค.ศ. ๒๐๐๗ (พ.ศ. ๒๕๕๐)

รูปที่ ๑ เส้นทางและการพัฒนาการของพายุทุเรียน (200621 - Durian) (จาก www.digital-typhoon.org)

รูปที่ ๒ เส้นทางการเดินทางของพายุทุเรียนจากมหาสมุทรแปซิฟิกไปจนถึงชายฝั่งตะวันออกของอินเดีย (ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/File:Durian_2006_track.png)

ในบรรดารายชื่อพายุทั้งหมด ๑๔๐ ชื่อนั้น กว่าจะวนกลับมาถึงชื่อ "มังคุด" อีกครั้งก็ต้องรอเวลาอีก ๗ ปี
และแล้วในวันอังคารที่ ๖ สิงหาคมปีพ.ศ.. ๒๕๕๖ (ค.ศ. ๒๐๑๓) พายุดีเปรสชั่นในทะเลจีนใต้ก็ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโชนร้อนลูกที่ ๑๐ ของปี และได้รับการขนานนามว่าเป็นพายุเลขที่ 201310 ชื่อ "มังคุด - Mangkhut" โดยมีความเร็วลมที่บริเวณศูนย์กลางพายุสูงสุดประมาณ ๗๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง (หรือประมาณ ๔๐ นอต) พายุลูกนี้มีอายุสั้นประมาณ ๑ วันก่อนขึ้นฝั่งทางตอนเหนือของประเทศเวียดนามและสลายตัวกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทางภาคเหนือของประเทศไทยในวันพฤหัสบดีที่ ๘ สิงหาคมพ.ศ. ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา (เมื่อวานนี้เอง - ดูรูปที่ ๓)

รูปที่ 3 เส้นทางและการพัฒนาการของพายุมังคุด (201310 - Mangkhut) (จาก www.digital-typhoon.org)

ทุเรียนเป็นผลไม้ร้อน มังคุดเป็นผลไม้เย็น ทั้งทุเรียนและมังคุดต่างออกสู่ท้องตลาดในเวลาเดียวกัน ใครกินทุเรียนเยอะ ๆ ก็จะรู้สึกร้อน วิธีแก้คือให้กินมังคุดร่วมกับทุเรียน แต่เวลากินมังคุดเยอะ ๆ กลับไม่รู้สึกเย็น ไม่เห็นต้องกินทุเรียนเข้าไปแก้ คนตั้งชื่อพายุคงจะใช้เหตุผลนี้ พอพายุทุเรียนก่อความเสียหายมากต้องการชื่อใหม่ ก็เลยเสนอชื่อมังคุดเข้าไปแทน นี่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าหากบังเอิญพายุมังคุดลูกต่อไปในอนาคตก่อความเสียหายรุนแรงจนต้องถูกถอดชื่อออก จะเสนอผลไม้อะไรเข้าไปแทน

แหล่งที่มาข้อมูล
http://www.digital-typhoon.org
http://en.wikipedia.org/wiki/Tropical_cyclone_naming
http://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=28
http://th.wikipedia.org/wiki/การตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อน
http://en.wikipedia.org/wiki/Typhoon_Durian

ไม่มีความคิดเห็น: