วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ปลาหมึก ปลาวาฬ ปลาโลมา MO Memoir : วันพุธที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๒

ใครก็ไม่รู้ คงไปเรียนชีววิทยาที่เมืองนอกมา พอไปเรียนอนุกรมวิธานก็เลยได้รู้ว่า สัตว์ที่คนไทยเรียกกันว่าปลาหมึก ปลาวาฬ และปลาโลมา ต่างก็ไม่ใช่สัตว์จำพวกปลา ปลาหมึกเป็นสัตว์จำพวกหอย ส่วนปลาวาฬและปลาโลมาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พอกลับมาถึงเมืองไทยก็เที่ยวสั่งสอนทั่วไปว่าที่คนไทยเรียกชื่อสัตว์เหล่านี้โดยมีคำว่า "ปลา" ขึ้นต้นนั้นเป็นการเรียกที่ "ผิด" เพื่อให้ถูกต้องกับการจำแนกชนิดสัตว์ (ตามอนุกรมวิธาน) ก็ต้องเปลี่ยนการเรียกชื่อสัตว์เหล่านี้ใหม่โดยตัดคำว่า "ปลา" ออกไป ให้เรียกใหม่ว่าเป็น หมึก วาฬ และโลมา



พอเราถามกลับไปว่า ทีแมวน้ำมันก็ไม่ใช่แมว ม้าน้ำมันก็ไม่ใช่ม้า แมงกระพรุนมันก็ไม่ใช่แมง ทำไมถึงไม่ออกมาโวยวายบ้างล่ะว่ายังมีเรียกผิด ๆ อยู่ ก็มักจะไม่ได้คำตอบจากคนพวกนั้นกลับมาทุกที
งานนี้ลามไปถึงพจนานุกรมและแบบเรียนในเรียน แต่ยังดีนะว่าทางราชบัณฑิตก็ไม่ได้บ้าตามไปด้วยกับความคิดเช่นนั้น ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็ยังคงเรียกชื่อสัตว์เหล่านี้ว่าเป็น "ปลา" อยู่ แต่ในห้องเรียนรู้สึกว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้น คือครูสอนวิทยาศาสตร์สอนให้เด็กนักเรียนเรียกชื่อสัตว์เหล่านี้โดยไม่ให้มีคำว่า "ปลา" อยู่ข้างหน้า ไม่ได้สอนให้เด็กนักเรียนรู้จักว่าสัตว์เหล่านี้ชาวบ้านเรียกขานกันอย่างไร

สัตว์ที่เราเรียกว่าปลาดาวก็มีคนโวยวายเหมือนกันว่ามันไม่ใช่สัตว์พวกปลา และก็มีการเสนอให้เปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ด้วยว่าให้เรียกว่า "ดาวทะเล" แต่ภาษาอังกฤษเองก็เรียกว่า "Star fish" หรือปลาดาวนั่นเอง ก็ไม่เห็นมีคนไปโวยวายว่าพวกฝรั่งเรียกผิดหรือบอกให้เขาเรียกชื่อใหม่ว่า "Sea star" ม้าน้ำก็พยายามเปลี่ยนชื่อให้มันเป็น "ปลาม้าน้ำ" แต่ตัวภาษาอังกฤษเองก็เรียนเหมือนไทยคือ "Sea horse" ไม่เห็นเขาต้องมาเปลี่ยนชื่อให้เป็น "Sea horse fish" ด้วยซ้ำ สัตว์อะไรมี 6 ขาก็ให้เรียกว่าเป็น "แมลง" ส่วนพวกที่มี 8 ขาก็ให้เรียกว่าเป็น "แมง" แล้วแมงกระพรุนล่ะ มันไม่มีขาสักขา ภาษาอังกฤษก็เรียกว่า "่Jelly fish" ทั้ง ๆ ที่เขาก็รู้ว่ามันไม่ใช่สัตว์จำพวกปลา แต่ก็ไม่เห็นนักวิทยาศาสตร์ของเขาออกมาโวยวายอะไรว่าชาวบ้านของเขาเรียกชื่อสัตว์ไม่ถูกต้อง

เรื่องที่เล่ามานั้นผมมองว่าเกิดจากการที่คนเอาแต่เรียนหนักทางวิทยาศาสตร์ ไม่ได้สนใจว่าชาวบ้านเขามีความคิดอย่างไรหรือใช้ภาษากันอย่างไร หลงแต่คิดว่าตัวเองเรียนมาสูง มีความรู้มากกว่าคนอื่น ถ้าอยากให้ประเทศชาติเจริญต้องลอกความรู้ฝรั่งทั้งหมด คนไทย (หรือต่างชาติก็คงเหมือนกัน) นั้นจะเรียกชื่อสัตว์ที่เขาเห็นว่าเป็นสัตว์อะไร เขาไม่ได้มาดูว่าสัตว์เหล่านั้นโดยทางดีเอ็นเอแล้วมันเป็นญาติกับใคร เขาแค่ดูว่ามันหน้าตาหรือรูปร่างเหมือนสัตว์ประเภทไหนที่เขารู้จัก เขาก็ตั้งชื่อเรียกไปตามนั้น ดังนั้นการที่เขาเรียกชื่อสัตว์ว่า ปลาหมึก ปลาวาฬ ปลาโลมา จะไม่แปลกถ้ามองว่าสัตว์เหล่านี้มีลักษณะเหมือนกับปลาที่มีครีบและว่ายน้ำได้ สัตว์ที่คนไทยเราเรียกแมวน้ำก็เพราะเห็นว่าหน้ามันคล้ายแมว ไม่ได้หมายความว่าเป็นสัตว์จำพวกแมว สัตว์ที่คนไทยเรียกว่าหมีขอก็เพราะเห็นว่าหน้าตามันเหมือนหมีและมีหางเกี่ยวกิ่งไม้ได้เหมือนตะขอ

ปัญหาที่เคยประสบมาและยังเจออยู่ก็คือสงสัยว่าเราจะสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มากเกินไป จนนักเรียนตีความภาษาเป็นแบบคณิตศาสตร์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไปทั้งหมด ตัวอย่างเช่นในการสอบสัมภาษณ์ผู้สอบผ่านข้อเขียนเข้าคณะวิศวจุฬา ฯ ได้ จะเจอปัญหาแบบว่า

กรรมการ : คุณมีพี่น้องกี่คน

นักเรียน : 2 คน

กรรมการ : แล้วคุณเป็นลูกคนที่เท่าไร

นักเรียน : คนกลาง

เรื่องข้างบนนี้เล่าให้นิสิตวิศวจุฬา ฯ ฟังเขาก็รู้สึกเฉย ๆ ไม่เห็นว่ามันแปลกอย่างไร แต่พอเล่าให้นิสิตที่อื่นฟังเขาก็หัวเราะกันทุกที

ความหมายในภาษาไทยนั้นเวลาถามว่ามีพี่น้องกี่คนก็หมายความรวมถึงนับตัวเองด้วย แต่คนที่คิดแบบคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์จะตีความคำพูดนั้นตามตัวอักษร คือถามถึงจำนวน "พี่" กับ "น้อง" โดยไม่นับรวมตัวเอง การตีความภาษาดังกล่าวเป็นการตีความภาษาแบบทีละคำ ไม่ได้ตีความภาษาแบบความหมายที่แท้จริงที่ต้องตีความตามภาพรวมว่าผู้ถามต้องการทราบอะไร อีกตัวอย่างได้แก่คำทักทายของคนไทยเช่นถามว่า ไปไหนมา กินข้าวหรือยัง ไม่ได้หมายความว่าคนถามอยากสอดรู้สอดเห็นว่าผู้ถูกถามไปทำอะไรมา เป็นเพียงแค่คำทักทายเท่านั้น เพราะถ้าเจอหน้ากันแล้วไม่ทักอะไรเลยเดี๋ยวก็จะทำให้อีกฝ่ายคิดไปว่า แกล้งทำเป็นมองไม่เห็นบ้าง หรือไม่อยากจะคุยด้วยบ้าง ส่วนฝ่ายถูกถามจะตอบหรือไม่ตอบก็แล้วแต่ จะเพียงแค่ยิ้มให้ พยักหน้าให้ หรือโบกมือให้ก็ไม่เป็นไร

เคยออกข้อสอบวิชาอินทรีย์เคมีอยู่ปีหนึ่งว่า "ชานอ้อย" น่าจะเอาไปใช้ประโยชน์ใดได้บ้าง โดยคาดหวังว่านิสิตน่าจะรู้ว่าชานอ้อยนั้นประกอบด้วยสารอะไร ปรากฏว่านิสิตทำข้อสอบข้อนี้กันไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่า "ชานอ้อย" คืออะไร พอเราถามกลับว่าเคยกินอ้อยไหม เขาก็บอกว่าเคยกิน เราก็ถามต่อไปว่าเวลากินแล้วมันเหลืออะไรไหมหรือว่ากลืนกินหมดเลย เขาก็ตอบว่าเหลือ ก็เลยถามต่อว่าไอ้ที่เหลือคืออะไร เขาก็ตอบว่า "กากอ้อย"

แต่ว่าจะไปโทษนิสิตฝ่ายเดียวก็ไม่ถูก เพราะคนออกข้อสอบเองก็ไม่ได้เติบโตขึ้นมาในสภาพสังคมเดียวกันกับนิสิต คือปัจจุบันนี้มีสักกี่คนที่ยังซื้ออ้อยเป็นท่อน ๆ มากัดกินกัน หรือซื้ออ้อยควั่น (รู้จักเปล่า) มากิน

การเรียกชื่อสารเคมีก็เช่นเดียวกัน ในตำราจะเรียกสารประกอบคาร์บอนไม่อิ่มตัวแบบพันธะคู่ว่า "Alkene" และจะเรียกสารเหล่านี้โดยลงท้ายชื่อด้วย -ene เช่นถ้าเป็น C2 ก็จะเรียกว่า Ethene C3 ก็จะเรียกว่า Propene แต่ในวงการนั้นจะเรียกสารเหล่านี้ว่าเป็นพวก "Olefin" เวลาเรียกชื่อก็จะเรียกแบบเดิม ๆ คือ C2 ก็จะเรียกว่า Ethylene C3 ก็จะเรียกว่า Propylene หรือในกรณีของอะเซทิลีน (Acetylene) ที่ในตำราจะเขียนเป็น Ethyne แต่ในวงการก็ไม่สนใจที่จะเรียกตามตำรา อีกตัวอย่างได้แก่กรณีของสารประกอบเบนซีนที่มีหมู่มาแทนที่สองหมู่ เดิมเราจะดูว่าการแทนที่เกิดที่ตำแหน่งไหนและมีคำว่า ortho- meta- หรือ para- นำหน้าชื่อสารนั้น แต่ตอนนี้ที่พบคือนิสิตเรียนการเรียกชื่อแบบ IUPAC มา เวลาเรียกชื่อเป็น ortho- meta- หรือ para- นิสิตก็จะงง ต้องเรียกเป็น 1,2- 1,3- หรือ 1,4- แทนนิสิตถึงจะเข้าใจ

การสอนให้รู้จักวิธีการเรียกชื่อมาตรฐานเพียงแบบเดียวก็ดูเหมือนว่าจะดีตรงที่ทุกคนจะได้เข้าใจตรงกันหมด ตัวผู้เรียนเองก็จะได้ไม่ต้องจำมาก เวลามีสารใหม่ ๆ เกิดขึ้นก็จะตั้งชื่อได้ง่าย แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคำดังกล่าวยังไม่เป็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายจนติดปาก เพราะถ้าใช้กันติดปากแล้วก็คงเป็นการยากที่จะเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับว่าคนที่เรียกชื่อแบบใหม่เมื่อจบเข้าไปทำงานจะเข้าไปแทนที่คนที่เรียกชื่อแบบเก่า หรือจะโดยกลืนกินโดยคนที่เรียกชื่อแบบเก่าไป ปัจจุบันเวลาสอนนิสิตก็ต้องบอกว่าในวงการเขาเรียกกันอย่างนี้นะ ขืนไปเรียกตามหนังสือเรียนเขาจะว่าเป็นพวกที่ยังคงอยู่ในตำรา ไม่ยอมรับว่าโลกแห่งความเป็นจริงมันเป็นอย่างไร

ตัวอย่างเหตุการณ์อื่นที่เคยประสบคือในระหว่างการสอนในห้องเรียนก็มีการกล่าวถึงการใช้ "บัญญัติไตรยางค์" ในการหาคำตอบ ปรากฏว่านิสิตไม่เข้าใจอีกว่าคืออะไร สอบถามไปมาก็เลยทราบว่าหนังสือเรียนในปัจจุบันเรียกว่า "สัดส่วน" หรือในกรณีที่นิสิตมาขอ "ใบงาน" เราเองก็งงไปเหมือนกันว่าคืออะไร ถามไปถามมาก็เลยทราบว่าสิ่งที่เขาเรียกว่า "ใบงาน" ก็คือสิ่งที่เราเรียกทับศัพท์ว่า "direction lab" หรือคู่มือทำการทดลองนั่นเอง

ไหน ๆ ก็ได้เล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ไปก่อเรื่องให้กับภาษาแล้ว เพื่อความเป็นธรรมก็ขอยกตัวอย่างนักภาษามายุ่งกับวิทยาศาสตร์บ้าง
คำว่า "Polymer" ในภาษาอังกฤษนั้น เดิมในวงการมีการเขียนทับศัพท์ว่า "โพลีเมอร์" ต่อมาก็มีคนบอกว่ามันออกเสียงไม่ตรงกับเสียภาษาอังกฤษ (ว่าแต่คนนั้นรู้หรือเปล่าว่าคำ ๆ เดียวกันในภาษาอังกฤษมันก็มีหลายเสียง หลายสำเนียง แล้วแต่ว่าคุณจะอิงใคร หลัก ๆ ก็คืออังกฤษหรืออเมริกัน) ที่ถูกต้องต้องเขียนเป็น "พอลิเมอร์" พลาสติกที่ขึ้นต้นชื่อด้วย "Poly" ก็ต้องเรียกเป็น "พอลิ" แต่ถ้าคุณไปดูชื่อบริษัทต่าง ๆ แถวมาบตาพุดที่มีคำว่า "Poly" หรือ "Polymer" อยู่ในชื่อ จะเห็นว่าเขาเขียนทับศัพท์ว่า "โพลี" หรือ "โพลีเมอร์" กันทั้งนั้น ไม่มีใครเขาเขียนหรือเรียกตามที่ราชบัณฑิตกำหนดเลยสักราย

คำว่า "Gas" ในภาษาอังกฤษนั้นถูกถอดเสียงออกมาเป็นภาษาไทยว่าเป็น "ก๊าซ" หรือ "แก๊ส" ได้ทั้งสองแบบ แล้วแต่ว่าใครจะใช้แบบไหน แต่ก็มีบางบริษัทเหมือนกันที่เลือกใช้แต่คำว่า "ก๊าซ" เวลาติดต่องานอะไรกับบริษัทนั้นก็ต้องใช้คำว่า "ก๊าซ"

สุดท้ายก็ขอยกตัวอย่างที่การเมืองมายุ่งกับศัพท์ทางเทคนิคบ้าง คำว่า "์NGV" นั้นความหมายสากลที่ทั้งโลกใช้กันคือย่อมาจาก "Natural Gas Vehicle" แปลเป็นไทยคือ "รถยนต์ที่ใช้แก๊สธรรมชาติ" ส่วนแก๊สธรรมชาติที่ใช้กับรถยนต์ประเภทนี้เขาเรียกว่า "CNG" หรือ "Compressed Natural Gas" เรื่องมันเกิดขึ้นตอนที่นักการเมืองผู้หนึ่ง (คนที่คุณก็รู้ว่าเป็นใคร) มาเชิญชวนบอกว่าให้ผู้ขับรถยนต์หันมาใช้ NGV เป็น "เชื้อเพลิง" แทนน้ำมันกัน ถ้าถอดคำกันตามภาษาแล้วก็ต้องถือว่าคนพูดไม่มีความรู้ทางด้านศัพท์เทคนิค เลยเอามาใช้ผิด ๆ เพราะ NGV ตามความหมายสากลหมายถึงตัวรถ จะเอามาเป็นเชื้อเพลิงให้รถวิ่งได้อย่างไร (หรือจะให้นำเอา NGV มาลากรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน) คนที่อยู่ในวงการที่รู้ความหมายของคำย่อดังกล่าวก็คงจะหัวเราะกันว่าคนพูดยังไม่รู้จักเลยว่าสิ่งที่พูดนั้นคืออะไร แล้วจะมาเชิญชวนให้คนไปใช้ในสิ่งที่ตัวเองพูดได้อย่างไร

ทีนี้ในสังคมไทยคนมีอำนาจพูดอะไรก็ต้องให้ถูกไว้ก่อนเสมอ ก็เลยมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นมา "เพื่อใช้เฉพาะกับคนไทยและในประเทศไทยเท่านั้น" คือมีการเปลี่ยนแปลงคำย่อของ NGV ว่าย่อมาจาก "Natural Gas for Vehicle" หรือ "แก๊สธรรมชาติสำหรับรถยนต์" เพื่อที่จะบอกว่าที่นักการเมืองท่านนั้นพูดมาก็ไม่ผิด

เวลาสอนหนังสือนิสิตก็ต้องย้ำอยู่เสมอว่าคำเรียกสากลนั้นคืออะไร เวลาติดต่อต่างประเทศหรือคุยกับคนต่างชาติหรือค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เนตจะได้ไม่มีปัญหา จะได้ไม่ขายหน้าเขา ส่วนคำย่อเฉพาะที่เขาสร้างขึ้นมาให้คนไทยนั้นคืออะไร จะได้คุยกับแท๊กซี่ คนขับรถ หรือชาวบ้านทั่วไปได้เข้าใจกัน

ไม่มีความคิดเห็น: