วันเสาร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2560

เพื่อไม่ให้น้ำเค็มไหลย้อน MO Memoir : Saturday 2 September 2560

แม่น้ำเจ้าพระยาที่เริ่มจาก จ.นครสวรรค์ นั้น เมื่อไหลลงสู่ที่ราบลุ่มภาคกลางเป็นลำน้ำที่มีความคดเคี้ยวมาก (ที่เรียกว่าเป็นรูปโค้งเกือกม้าหรือตัวยู) ทำให้เสียเวลาในการเดินทางทางน้ำ เพื่อที่จะย่นระยะทางให้สั้นลงจึงได้มีการขุดคลองลัดเป็นระยะมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ครั้นเวลาผ่านไป คลองขุดเล็ก ๆ โดยลำน้ำที่ไหลผ่านโดยตรงเซาะสองฟากฝั่งก็ขยายตัวกว้างขึ้น กลายเป็นลำน้ำเจ้าพระยาแทนที่ลำน้ำเดิมที่ตื้นเขินแคบลงและลดบทบาทกลายเป็นคลองไป
 
รูปที่ ๑-๓ เป็นแผนที่แสดงลำน้ำเจ้าพระยาสายเดิมและตำแหน่งที่ขุดคลองลัด รูปนี้นำมาจากหนังสือเรื่อง "กรุงเทพฯ มาจากไหน" โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ ของสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๘ รูปนี้อยู่ในหน้า ๓๘ โดยมีคำบรรยายรูปว่า "แผนที่แม่น้ำ (เจ้าพระยา) สมัยกรุงศรีอยุธยา แสดงบริเวณที่ขุดคลอดลัดแล้วกลายเป็นแม่น้ำสายใหม่ (อาจารย์มานิต วัลลิโภดม ทำขึ้นจากการค้นคว้าเอกสารเก่า พิมพ์ครั้งแรกใน กำสรวลศรีปราชญ์-นิราศนรินทร์ พ.ณ. ประมวญมารค. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยาม 2502.) รูปต้นฉบับนั้นเป็นรูปยาว ๆ รูปเดียว แต่ผมตัดแยกเป็น ๓ ส่วนเพื่อที่จะขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น
 
แต่มีโค้งเกือกม้าอยู่แห่งหนึ่งที่ไม่มีการขุดคลองลัด นั่นคือโค้งเกือกม้าสุดท้ายก่อนถึงปากอ่าวไทย ที่เป็นบริเวณที่ตั้งของ อ. พระประแดง จ. สมุทรปราการ (ดูรูปที่ ๓)
 

รูปที่ ๑ แผนที่ลำน้ำเจ้าพระยาตรงบริเวณ จ. อยุธยา

รูปที่ ๒ แผนที่ลำน้ำเจ้าพระยาส่วนล่างของรูปที่ ๑ เป็นช่วงบริเวณ จ. ปทุมธานี และนนทบุรี

รูปที่ ๓ แผนที่ลำน้ำเจ้าพระยาช่วงต่อจากรูปที่ ๒ เป็นช่วง จ. นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ สังเกตตรงโค้งเกือกม้าสุดท้ายก่อนไหลลงอ่าวไทย ไม่ได้มีการขุดคลองลัด
เหตุผลที่ในอดีตไม่ทำการขุดคลองลัด ณ ตำแหน่งนี้พอจะมองได้ว่ามีอยู่ ๒ เหตุผลด้วยกัน เหตุผลแรกเป็นเหตุผลทางด้านทางทหาร เพราะถ้าหากข้าศึกยกพลมาทางเรือก็ต้องเดินเรืออ้อมไกล เสียเวลาเพิ่มขึ้นก่อนจะล่องไปถึงเมืองหลวง และถ้าตั้งป้อมปราการตรงตำแหน่งพื้นดินช่วงที่แคบที่สุด ก็จะสามารถโจมตีข้าศึกที่ล่องมาตามลำน้ำได้ง่าย กล่าวคือกองเรือข้าศึกที่ล่องไปตามลำน้ำต้องผ่านป้อมที่ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งนั้นสองครั้ง
 
ส่วนเหตุผลที่สองนั้นเป็นเหตุผลทางด้านระบบนิเวศ คือป้องกันไม่ให้น้ำเค็มไหลย้อนเข้าลึกเกินไปในช่วงน้ำขึ้นโดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง (แม้ในปัจจุบัน ในบางปีที่แล้งมาก น้ำเค็มจากอ่าวไทยสามารถไหลย้อนขึ้นไปจนถึงท่าน้ำนนทบุรี)
 
รูปที่ ๔ เป็นแผนที่แสดงระดับความสูงของพื้นดินช่วงจากแม่น้ำท่าจีนไปจนถึงแม่น้ำบางปะกง จะเห็นว่าระดับความสูงเฉลี่ยของพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (พื้นที่ระหว่างแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำเจ้าพระยา) มีระดับความสูงที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง ในขณะที่พื้นที่ทางด้านฝั่งตะวันออก (พื้นที่ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง) มีระดับความสูงที่ต่ำกว่าฝั่งตะวันตก และยังต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางเสียด้วย
  
รูปที่ ๔ แผนที่ระดับความสูงของพื้นดินบริเวณจากแม่น้ำท่าจีนทางตะวันตก ไปจนถึงแม่น้ำบางปะกงทางตะวันออก จะเห็นว่าพื้นที่ทางด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งท่าจีน-เจ้าพระยา) มีระดับความสูงเฉลี่ยมากกว่าพื้นที่ทางด้านฝั่งตะวันออก (ฝั่งเจ้าพระยา-บางปะกง)
ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ ทำให้ฝั่งตะวันตกนั้นเป็นพื้นที่ทำสวน (ไม้ยืนต้นมันแช่น้ำท่วมขังนาน ๆ ไม่ได้) สวนผลไม้ต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงขึ้นชื่อลือชาในอดีตนั้นต่างอยู่ทางฝั่งตะวันตกทั้งนั้น ในขณะที่ฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่ทำนา และเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ไม้ยืนต้นเจอกับน้ำท่วมโคนต้นนานเกินไป การทำสวนในบริเวณฝั่งตะวันตกจึงมีการขุดท้องร่องเพื่อเอาดินขึ้นมาถมเป็นคันดิน แล้วปลูกต้นไม้บนคันดินนั้น ทำให้ได้ทั้งระดับพื้นดินสำหรับการปลูกต้นไม้ที่สูงขึ้น และท้องร่องที่นำน้ำไปเลี้ยงต้นไม้ถึงที่ (ลักษณะที่ไม่เห็นในจังหวัดอื่นที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำมากเช่นนี้ในฤดูน้ำหลาก)
 
ลักษณะลำน้ำที่เป็นโค้งเกือกม้านี้ แม้ว่าจะช่วยป้องกันไม่ให้น้ำเค็มไหลย้อนเข้าไปได้ลึกจนอาจทำความเสียหายให้กับเกษตรกรทำสวนได้ แต่ก็ทำให้น้ำไหลลงทะเลได้ช้าในช่วงน้ำหลาก แนวทางแก้ปัญหาแนวทางหนึ่งก็คือการขุดคลองแนวเหนือ-ใต้ เพื่อให้น้ำที่ไหลหลากลงมาในช่วงหน้าน้ำนั้นไหลผ่านไปได้เร็ว แต่คลองเหล่านี้ก็ไม่ได้ออกสู่ทะเลโดยตรง แต่ไหลลงสู่คลองหลักอีกคลองหนึ่งที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง แต่วิ่งเลียบขนานไปกับชายฝั่ง (ลองดูแผนที่ในรูปที่ ๔) เรียกว่าเป็นการประนีประนอมกันระหว่างการระบายน้ำลงสู่ทะเล กับการป้องกันน้ำเค็มไหลย้อนก็ได้
และเมื่อมีการขุดขยายคลองลัดโพธิ์ให้ใหญ่ขึ้น เพื่อเร่งการระบายน้ำที่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาลงสูทะเลในฤดูน้ำหลาก จึงจำเป็นต้องมีการสร้างประตูระบายน้ำคอยปิดกั้นเวลาน้ำขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะเลใช้เป็นเส้นทางลัดในการไหลย้อนเข้ามาได้เร็ว
 
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการโพสรูปสะพานระบายน้ำข้ามถนนสุขุมวิทช่วงที่เลียบชายฝั่งทะเล (รูปที่ ๕) และมีคำถามขึ้นมาว่าทำไปจึงไม่ใช้การขุดคลองเพื่อให้น้ำไหลลงทะเลไปเลย แต่กลับสร้างสะพานแล้วใช้ปั๊มสูบน้ำจากคลองลำเลียงน้ำที่มาจากพื้นที่บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ให้ไหลขึ้นสะพานระบายน้ำเพื่อระบายลงทะเล อันที่จริงคำตอบนี้มันอยู่ในรูปที่ ๔ แล้วว่าทำไมจึงต้องใช้ปั๊มสูบน้ำระบายออกสู่ทะเล นั่นก็เป็นเพราะพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และถ้าจะให้คลองตัดกันโดยไม่ให้น้ำไหลผสมกัน ก็ต้องใช้วิธีการให้คลองเส้นหนึ่งมุดท่อลอดใต้คลองอีกเส้นหนึ่ง (วิธีนี้มันก็ดีตรงที่ไม่จำเป็นต้องใช้ปั๊มช่วย) แต่คลองเส้นที่มุดท่อลอดนั้นก็จะมีปัญหาไม่สามารถเดินเรือผ่านได้ หรือใช้การสร้างสะพานน้ำแล้วสูบน้ำขึ้นบนสะพานเพื่อให้ไหลลงไปยังอีกฟากหนึ่ง วิธีนี้น้ำมันไหลขึ้นสะพานเองไม่ได้ ต้องใช้ปั๊มช่วย
 
ในกรณีนี้ผมเดาเหตุผลว่าเป็นเพราะคลองเส้นเดิมที่ทอดขนานไปตามแนวถนนเลียบทะเลนั้น เป็นคลองที่รับน้ำมาจากคลองต่าง ๆ ที่ไหลมาในแนวเหนือ-ใต้ก่อนลงทะเล ส่วนคลองที่มีสะพานระบายน้ำนั้นเป็นคลองที่ขุดขึ้นใหม่ ใช้เพื่อการระบายน้ำท่วมขังเป็นหลัก ไม่ได้ใช้เป็นเส้นทางสัญจร การใช้สะพานระบายน้ำก็มีข้อดีตรงที่ไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาน้ำทะเลไหลย้อนและน้ำขึ้นน้ำลง เพราะสะพานมันอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลแม้เวลาที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุด ทำให้สามารถสูบน้ำลงสู่ทะเลได้ตลอดเวลาแม้ว่าจะเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงก็ตาม



รูปที่ ๕ แผ่นที่จาก google earth ในกรอบสี่เหลี่ยมสีเหลืองคือประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์กับสะพานระบายน้ำที่สูบน้ำจากคลองระบายน้ำจากบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ลงสู่ทะเลโดยข้ามถนนสุขุมวิทและคลองที่คู่ขนานไปกับถนนสุขุมวิท

ไม่มีความคิดเห็น: