วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2562

ชี้และกล่าวขาน (Pointing and Calling) เทคนิคลดความผิดพลาดในการทำงานของรถไฟญี่ปุ่น MO Memoir : Thursday 25 April 2562

ในการสอนวิชา Safe Process Operation and Design ครั้งหนึ่ง ผมเปิดคลิปพนักงานขับรถไฟญี่ปุ่นขณะกำลังขับรถไฟให้นิสิตได้ชมกัน (รูปที่ ๑ - ๓) ในคลิปนั้นจะเห็นพนักงานขับรถไฟมีการชี้นิ้วไปข้างหน้าเป็นระยะ หรือชี้ไปที่แผ่นกระดาษ (ที่คงเป็นรายชื่อสถานี) พร้อมทั้งกล่าวขานออกมาด้วย (ผมฟังภาษาญี่ปุ่นไม่รู้เรื่อง ก็เลยไม่รู้ว่าเขากล่าวขานอะไรออกมา) แล้วก็ถามนิสิตว่ารู้ไหมว่าเขาทำอย่างนั้นทำไม ก็ไม่มีใครตอบผมสักคน (ทั้งนิสิตภาคปรกติและภาคนอกเวลาราชการ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะไม่รู้หรือไม่อยากแสดงออก)

รูปที่ ๑ พนักงานขับรถไฟ JR ชี้ไปยังสัญญาณข้างหน้า (จาก https://www.youtube.com/watch?v=JLfzuANWPmg) ในคลิปนี้ดูเหมือนจะเป็นพนักงานฝึกหัด เพราะมีอีกคนหนึ่งยืนกำกับอยู่ทางด้านขวา

รูปแบบการทำงานแบบนี้ดูเหมือนจะจำกัดเฉพาะกับประเทศญี่ปุ่น แต่มันก็เป็นวิธีการที่ได้ผลดีมาก เพราะเป็นการย้ำเตือนให้รู้ว่ามีคำเตือนอะไร และกำลังจะทำอะไร และสิ่งที่จะลงมือทำนั้นมันถูกต้องหรือไม่ ตอนผมไปอบรมที่ญี่ปุ่นเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วก็เคยได้เรียนรู้วิธีการแบบนี้ เช่นถ้าต้องการไปเปิดวาล์วที่ปั๊มตัวหนึ่ง เราก็ต้องเดินไปที่ปั๊มพร้อมทั้งชี้ไปที่ตัวปั๊มและป้ายและกล่าวขานชื่อปั๊ม เพื่อเป็นการยืนยันว่าเรามาที่ปั๊มถูกตัวแล้ว จากนั้นก็ไล่จากตัวปั๊มไปยังวาล์วที่ต้องการเปิด ชี้และกล่าวว่าวาล์วตัวนั้นปิดอยู่ จากนั้นก็ทำการเปิดวาล์ว เมื่อเปิดวาล์วแล้วก็กระทำแบบเดียวกัน

รูปที่ ๒ พนักงานขับรถไฟ JR ชี้ไปยังสัญญาณข้างหน้า (จาก https://www.youtube.com/watch?v=lk-92gZglYo)

รูปที่ ๓ พนักงานประจำท้ายขบวน (conductor) (จาก https://www.youtube.com/watch?v=kGpg54B258M) ชี้นิ้วเพื่อยืนยันว่าผู้โดยสารเข้าไปในตู้รถและประตูปิดเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะให้สัญญาณออกรถได้

การกระทำเช่นนี้มีส่วนช่วยในการลดความผิดพลาดในการทำงาน อย่างเช่นคำอธิบายที่ยกมาให้ดูในรูปที่ ๔ ที่เล่าไว้ว่าในการทดลองหนึ่งนั้น เมื่อให้พนักงานทำงานง่าย ๆ โดยไม่มีการชี้และกล่าวขาน ปรากฏว่ามีความผิดพลาดในการทำงานร้อยละ ๒.๓๘ แต่พอให้มีการชี้และกล่าวขานปรากฏว่าความผิดพลาดลดเหลือร้อยละ ๐.๓๘ หรือลดลงร้อยละ ๘๕

รูปที่ ๔ เมื่อมีชาวต่างชาติสงสัยเรื่องการชี้และกล่าวขานของพนักงานประจำขบวนรถไฟญี่ปุ่น ก็เลยมีคนอธิบายไว้ชัดเจน (จาก https://www.japantimes.co.jp/news/2008/10/21/reference/jr-gestures/#.XMDkrtjgqic)

ณ เวลาประมาณ ๒๒.๓๐ น. ของวันศุกร์ที่ ๒๓ เมษายน ปีค.ศ. ๒๐๐๔ (พ.ศ. ๒๕๔๗) ได้เกิดการระเบิดที่โรงงาน Formosa Plastic Corp. ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ที่สนใจรายงานการสอบสวนฉบับเต็มหรือชมคลิปวิดิทัศน์สรุปเหตุการณ์สามารถเข้าไปดูได้ที่ https://www.csb.gov/formosa-plastics-vinyl-chloride-explosion/ ซึ่งเรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้ก็นำมาจากรายงานการสอบสวนที่มีเผยแพร่ในเว็บดังกล่าว สิ่งที่น่าสนใจของเหตุการณ์ดังกล่าวคือโอเปอร์เรเตอร์ไปเปิดวาล์วผิดถัง คือแทนที่จะไปเปิดวาล์วระบายน้ำทิ้งจากถังที่กำลังล้าง แต่กลับไปเปิดวาล์วที่ก้นถังที่กำลังทำปฏิกิริยาอยู่ ทำให้เกิดการรั่วไปของ vinyl chloride ตามด้วยการระเบิดตามมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๕ รายและบาดเจ็บอีก ๓ ราย

รูปที่ ๕ โครงสร้างอาคารที่ติดตั้งถังปฏิกรณ์ เป็นอาคารสองชั้น โอเปอร์เรเตอร์คนหนึ่งจะทำงานประจำอยู่บนชั้นบน และอีกคนหนึ่งจะคอยเดิมขึ้นลงเวลาที่ต้องมีการมาเปิดวาล์วที่ก้นถังด้านล่าง

โรงงานดังกล่าวผลิตพอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ในถังปฏิกรณ์แบบกะ (batch reacotr) จำนวน ๒๔ ตัวที่จัดไว้เป็นชุด ชุดละ ๔ ตัว ตั้งอยู่ในอาคาร ๒ ชั้น (รูปที่ ๕) โดยชั้นบนจะเป็นที่ติดตั้งแผงควบคุมและมีฝาเปิดสำหรับการฉีดล้างทำความสะอาดภายในถังหลังเสร็จสิ้นการผลิตแต่ละ batch เมื่อเสร็จสิ้นการผลิตแต่ละ batch และระบายความดันตกค้างในถังเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีโอเปอร์เรเตอร์คนหนึ่งเดินมาเปิดวาล์วเพื่อถ่ายสารในถังไปยังหน่วยแยก จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการล้างที่ต้องมีการเปิด manhole ทางด้านบนเพื่อให้โอเปอร์เรเตอร์คนหนึ่งทำการฉีดล้างภายใน และโอเปอร์เรเตอร์อีกคนหนึ่งจะเดินลงมาข้างล่างเพื่อเปิด drain valve เพื่อระบายน้ำล้างในถังทิ้ง ในรูปที่ ๔ และ ๔ ตัว drain valve คือวาล์วที่อยู่ล่างสุดของแต่ละถัง วาล์วตัวที่ติดอยู่กับก้นถังจะมีระบบป้องกันกล่าวคือ ถ้าในถังมีความดันอยู่จะไม่สามารถเปิดวาล์วตัวนี้ได้ (แต่ยังสามารถเปิด drain valve ได้)
 
ในคืนที่เกิดเหตุนั้นอยู่ระหว่างขั้นตอนการล้างถัง D306 (รูปที่ ๕) ในขณะที่โอเปอร์เรเตอร์คนหนึ่งกำลังฉีดน้ำเพื่อล้างภายในถังจาก manhole ทางด้านบน โอเปอร์เรเตอร์อีกรายหนึ่งก็ต้องเดินลงทางข้างล่างเพื่อเปิดวาล์วเพื่อระบายน้ำทิ้งออกจาก D306 แต่เมื่อเดินลงมาถึงชั้นล่างแล้วปรากฏว่าเขาเลี้ยวผิดด้าน คือแทนที่จะเลี้ยวไปทางด้าน D306 เขากลับเลี้ยวไปทางด้าน D310 แทน (ขณะนั้น D310 อยู่ในขั้นตอนการทำปฏิกิริยาอยู่) หลังจากที่เปิด drain valve ที่ก้นถัง D310 แล้วเขาก็พยายามเปิดวาล์วที่ตัวที่ติดอยู่ใกล้ก้นถัง แต่ไม่สามารถเปิดวาล์วดังกล่าวได้เนื่องจากภายในถังมีความดันอยู่ (คือระบบ safety ทำการป้องกันเอาไว้) ตรงจุดนี้ก็น่าสนใจก็คือทำไมโอเปอร์เรเตอร์จึงไม่เฉลียวใจว่าที่วาล์วมันเปิดไม่ได้เพราะในถังมันมีความดัน ระบบ safety เลยป้องกันไม่ให้เปิดวาล์วได้ แต่กลับไปคิดว่าระบบ safety มันทำงานผิดพลาด (คือระบบ safety มันมีปัญหาประจำหรือเปล่า จนคนทำงานไม่เชื่อใจมัน) โอเปอร์เรเตอร์คนดังกล่าวจึงตัดสิน bypass ระบบ safety ด้วยการปลดท่ออากาศระบบ safety ที่สั่งให้วาล์วปิด และต่อท่ออากาศท่อใหม่เพื่อทำการเปิดวาล์ว และเมื่อวาล์วตัวดังกล่าวเปิดออก ของเหลวภายในถัง (ที่มีแก๊ส vinyl chloride ละลายอยู่) ก็ไหลพุ่งออกมาอย่างแรงและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ก่อนจะเกิดการระเบิด

รูปที่ ๖ ในวันที่เกิดเหตุนั้นโอเปอร์เรเตอร์ควรต้องมาเปิดวาล์วที่ก้นถัง D306 ที่กำลังล้างอยู่ แต่ปรากฏว่าตอนลงมาจากอาคารเขากลับเลี้ยวผิดไปยัง D310 ที่กำลังทำปฏิกิริยาอยู่ และไปเปิดวาล์วที่ก้นถัง D310 แทน ทำให้เกิดการรั่วไหลและตามมาด้วยการระเบิดจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย แม้ว่าระบบวาล์วระบายที่ก้นถังจะมีการป้องกันไม่ให้เปิดวาล์วได้ถ้าหากในถังมีความดัน แต่ระบบดังกล่าวก็ถูก bypass ได้ง่าย

การออกแบบเดิมนั้นไม่มีระบบ manual bypass แต่ต่อมามีการคิดว่าในกรณีฉุกเฉินที่ความดันในถังสูงเกินไปนั้นสามารถลดความดันด้วยการเปิดให้ของเหลวในถังไหลเข้าถังใบอื่นที่ว่างอยู่ แต่ระบบป้องกันเดิมนั้นจะไม่ยอมให้เปิดวาล์วก้นถังเมื่อความดันในถังยังสูงอยู่ ทางบริษัทจึงได้ทำการติดตั้งระบบ manual bypass ด้วยการติดตั้งข้อต่อแบบสวมเร็ว (quick-connect fitting) เข้ากับท่ออากาศที่ต่อเข้ากับตัวควบคุมการปิดวาล์ว เพื่อให้สามารถปลดท่ออากาศดังกล่าวได้ง่าย และสามารถต่อเข้ากับท่ออากาศท่อใหม่เพื่อป้อนอากาศสำหรับเปิดวาล์วได้ง่าย แต่นี้เป็นขั้นตอนที่ทำได้ก็ต่อเมื่อ drain valve นั้นปิดอยู่
 
ในมุมมองทางด้านยุโรปหรือสหรัฐอเมริกานั้น เหตุการณ์นี้สามารถป้องกันได้ด้วยการออกแบบ เช่นติดตั้งอุปกรณ์แสดงค่าความดันในถังเพื่อให้ผู้ที่อยู่ข้างล่างนั้นตรวจสอบได้ว่าในถังนั้นมีความดันหรือไม่ หรือการป้องกันไม่ให้การ bypass ระบบ safety นั้นทำได้ง่าย หรือการใช้ drain valve ที่มีสปริงดันให้ปิดตลอดเวลาและต้องใช้มือดันเอาไว้ตลอดเพื่อเปิดวาล์ว
 
แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง การนำเอาเทคนิคการ "ชี้และกล่าวขาน" (pointing and calling) มาใช้ก็สามารถช่วยลดโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดได้ เพราะโอเปอร์เรเตอร์ผู้ที่ลงมาข้างล่างจำเป็นต้องไปชี้ที่ชื่อถังที่จะเปิดวาล์วและขานชื่อนั้นออกมา ซึ่งก็จะทำให้เห็นได้ว่าเดินเลี้ยวมาผิดถัง แต่ก็คงไม่เป็นการง่ายนั้นในการนำเอารูปแบบนี้มาปรับใช้กับองค์กรที่ไม่เคยมีรูปแบบการทำงานเช่นนี้มาก่อน
 
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วง "ค่ำวันศุกร์" สำหรับคนที่ทำงานกลางวันและมีวันหยุดสุดสัปดาห์ คงนึกภาพออกว่าอารมณ์การทำงานในช่วงบ่ายวันศุกร์นั้นเป็นอย่างไร ไม่เช่นนั้นคงไม่มีคนกล่าวว่าอย่างคาดหวังว่างานที่ต้องการความละเอียดในการทำงานจะไม่มีความผิดพลาดถ้าให้ทำในบ่ายวันศุกร์ แต่กรณีนี้เป็นกรณีของการทำงานเป็นกะที่เวลาทำงานและวันหยุดงานก็ไม่ตรงกับคนทั่วไปอยู่แล้ว ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเขาจะมีความรู้สึกอย่างไรกับการทำงานในช่วงหลังเที่ยงของวันศุกร์

ไม่มีความคิดเห็น: