วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

เหตุผลที่ไทยต้องประกาศสงคราม (ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๓๓) MO Memoir : Tuesday 8 January 2556

 
ประวัติศาสตร์มักจะเขียนโดยผู้ชนะ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของตนเอง

ในช่วงเช้ามืดของวันจันทร์ที่ ๘ ธันวาคมพ.ศ. ๒๔๘๔ กองทัพที่ ๒๕ ของจักรวรรดิ์ญี่ปุ่น นำโดยนายพล Yamashita ได้ยกพลขึ้นบกทางภาคใต้ของประเทศไทยและภาคเหนือของมลายู (ขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ) โดยมีกำลังพลรวมทั้งสิ้นประมาณ ๑๑๐,๐๐๐ นาย (รวมทหารแนวหน้าและส่วนสนับสนุน) กองพลหลักที่ใช้คือ Imperial Guards, กองพลที่ ๕ และกองพลที่ ๑๘ ทั้งสามกองพลนี้จัดว่าอยู่ในกลุ่มกองพลที่ดีที่สุดของกองทัพบกญี่ปุ่น (จากหนังสือ "History of the second world war" โดย B.H. Liddell Hart หน้า ๒๘๔ ฉบับพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Pan Books ในปีค.ศ. ๒๐๑๑)
  
เหตุการณ์ในช่วงนี้ถ้าประวัติศาสตร์ของชาติตะวันตกจะกล่าวถึงประเทศไทย ก็มักจะเอ่ยเพียงแค่การยกพลขึ้นบกที่สงขลา (ภาษาอังกฤษในขณะนั้นจะใช้ชื่อ Singora) และปัตตานี เพราะกองทัพที่ยกพลขึ้นบกที่สองจังหวัดนี้เป็นกลุ่มที่ลงไปยึดคาบสมุทรมาลายาและสิงค์โปร์ ในขณะที่ส่วนที่ยกพลเหนือขึ้นมานั้นจะเข้าไปตัดเส้นทางการเชื่อมต่อระหว่างกองทัพอังกฤษที่อยู่ทางภาคใต้ของพม่ากับคาบสมุทรมลายา
  
พันเอก Simpson ผู้เป็นผู้ช่วยฑูตทหารของอังกฤษประจำโตเกียวในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับกองทัพญี่ปุ่นเอาไว้ว่าเป็น "The toughest war machine in the world" แต่ดูเหมือนว่าภาพนี้ไม่ได้รับการยอมรับกันในกองทัพอังกฤษเท่าใดนัก แม้แต่เมื่อเริ่มทำการรบ ทหารอังกฤษก็ยังคงดูถูกทหารญี่ปุ่นว่าเป็นทหารตัวเล็ก ๆ ที่ก่อความรำคาญได้เพียงเล็กน้อย แต่เมื่อผ่านไปเพียงสัปดาห์เดียว ภาพมุมมองต่าง ๆ ของทหารอังกฤษก็เปลี่ยนไป โดยเฉพาะผู้ที่ได้เผชิญหน้ากับทหาร Imperial Guards ลองอ่านดูในย่อหน้าข้างล่างที่ผมคัดมาจากหนังสือดูเอาเองก็แล้วกัน

รูปที่ ๑ จากหนังสือ We gave our today : Burma 1941-1945 โดย William Fowler หน้า ๒๕ ฉบับพิมพ์ปีค.ศ. ๒๐๑๐ โดยสำนักพิมพ์ Phoenix
  
  
PRIME MINISTER WINSTON CHURCHILL'S BROADCAST ON WAR WITH JAPAN
December 8, 1941 (http://www.ibiblio.org/pha/timeline/411208ewp.html)

"I don't know yet what part Siam will be called upon to play in this fresh war, but we have reports that Japanese troops have landed at Singora near the Kra Isthmus, which is in Siamese territory on the frontier of Malaya, very close to where the landing was made in our own territory. Just before Japan went to war-on the day before-I had sent the Siamese Prime Minister, or Thailand Prime Minister, the following message: "There is a possibility of imminent Japanese invasion of your country. If you are attacked, defend yourselves. The preservation of the true independence and sovereignty of Thailand is a British interest, and we shall regard an attack on you as an attack upon ourselves."
 
ข้อความข้างต้นเป็นข้อความส่วนหนึ่งของคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีอังกฤษในการประกาศสงครามกับญี่ปุ่น จะเห็นว่ามีการกล่าวถึงประเทศไทยด้วย จะเห็นว่านายกอังกฤษพยายามกล่าวว่าอังกฤษให้ความสำคัญต่อการเป็นเอกราชและคงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยของประเทศไทย และการโจมตีประเทศไทยก็ถือว่าเป็นการโจมตีอังกฤษด้วย แต่ประโยคก่อนหน้านั้นก็บอกเอาไว้ชัดเจนว่าให้ประเทศไทย "ช่วยเหลือตัวเอง" แต่ลองไปอ่านดูสิ่งที่ทำกับไทยเอาไว้ในกรณีพิพาทอินโดจีน (ในราชกิจจานุเบกษาที่แนบท้ายมาหน้า ๒๔๘) ก็จะเห็นพฤติกรรมอังกฤษกับอเมริกาว่าเป็นอย่างไร
  
เหตุการณ์นับตั้งแต่การยกพลขึ้นบกของกองทัพญี่ปุ่นไปจนถึงวันที่ทางรัฐบาลไทยตัดสินใจประกาศสงครามกับทางอังกฤษและสหรัฐอเมริกานั้นดูเหมือนจะไม่มีการกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ไทย และเมื่อได้อ่านสิ่งที่กองทหารญี่ปุ่นได้กระทำกับทหารและประชาชน (โดยเฉพาะกับผู้หญิง) ของประเทศที่เป็นศัตรูแล้ว ผมคิดว่าผู้นำประเทศไทยในช่วงเวลานั้นได้ทำการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้วในการลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทยด้วยการไม่ขัดขวางการเดินทัพผ่านของกองทัพญี่ปุ่น (อย่าคิดว่าถ้าไทยอยู่ข้างเดียวกับอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกา ไทยจะไม่โดนทิ้งระเบิด)
  
สรุปก็คืออังกฤษหวังจะให้ไทยตายก่อน เพื่อกองทัพญี่ปุ่นจะได้อ่อนแอลง และอังกฤษจะได้มีเวลาเตรียมตัวหาทางหนีทีไล่นานขึ้น แต่บังเอิญรัฐบาลไทยในยุคสมัยนั้นไม่เล่นด้วย อังกฤษก็เลยเสร็จญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว การเดินทัพผ่านประเทศที่เข้าไปยึดครองนั้นจำเป็นต้องวางกองทัพเอาไว้ส่วนหนึ่งเพื่อระวังหลัง ในกรณีนี้ถ้าไทยไม่เป็นมิตรกับญี่ปุ่น กองทัพญี่ปุ่นก็ต้องวางกำลังเอาไว้ส่วนหนึ่งเพื่อปกครองประเทศไทย กองกำลังที่สามารถต้องส่งเข้าไปรบในคาบสมุทรมลายูและพม่าก็จะลดลง แต่พอไทยอำนวยความสะดวกในการให้ทหารญี่ปุ่นไปคุยกับทหารอังกฤษกันเองโดยตรง ญี่ปุ่นก็สามารถส่งทหารเข้าไปรบกับกองทัพอังกฤษได้เต็มที่
  
ในส่วนถัดไปผมนำมาจากราชกิจจานุเบกษาว่าด้วยการประกาศสงครามและคำแถลงการณ์ประกาศสงครามของรัฐบาลไทยต่อสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ลองอ่านดูเอาเองแล้วกันว่าก่อนหน้านั้นเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยบ้าง ดูเหมือนจะเป็นเรื่องราวที่พวกเสรีไทยไม่กล่าวถึงกัน
  
จะว่าไปแล้วสงครามโลกครั้งที่สองเป็นสงครามของชาติมหาอำนาจที่ขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ในการล่าอาณานิคม ผลที่เกิดขึ้นคือการได้เป็นเอกราชของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะพวกที่เป็นเมืองขึ้นอังกฤษและสหรัฐอเมริกา (สมัยนั้นมีการกล่าวว่า ฮิตเลอร์ต้องการปกครองเพียงแค่ยุโรป แต่อังกฤษต้องการปกครองทั้งโลก ใครกันแน่ที่เป็นเผด็จการ) เพราะดูเหมือนว่าถ้าไม่มีการเกิดสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว โอกาสที่ประเทศเมืองขึ้นเหล่านั้นจะได้เป็นเอกราชก็คงจะริบหรี่เต็มที

-------------------------------------------------------------------
 
"Occupation" - การเข้าไปยึดครอง
  
"Liberation" - การปลดปล่อยให้เป็นอิสระ
  
"Reoccupation" - การเข้าไปยึดครองใหม่อีกครั้งหนึ่ง

B.H. Liddell Hart เป็นคนอังกฤษผู้ที่ได้เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ก่อนลาออกจากราชการทหารมาเป็นนักเขียนและนักคิดทางการทหาร ผลงานของเขาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ และก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นที่รู้จักกันในหมู่บรรดานายพลของประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี หรือแม้แต่เยอรมัน หนังสือ "History of the second world war" จัดพิมพ์ครั้งแรกในปีค.ศ. ๑๙๗๐ (พ.ศ. ๒๕๑๓) หลังจากที่เขาเสียชีวิตไม่นาน
  
แม้ว่าบันทึกในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทหารของเขานั้นจะตรงไปตรงมา (เขาได้มีโอกาสสนทนากับนายพลเยอรมันหลายคนที่ถูกจับเป็นเชลยหลังสงครามสงบ และได้เขียนหนังสือบทสนทนาดังกล่าวเอาไว้ด้วย เอาไว้ว่าง ๆ จะเอามาเล่าให้ฟัง) แต่ในบางจุดนั้นผมก็เห็นว่าเขาก็ยังมีมุมมองแบบจักรวรรดินิยมอยู่ ตัวอย่างเช่นในบทเรื่อง "The liberation of Russia" และบทเรื่อง "The liberation of the south-west pacific and burma" ในหนังสือ "History of the second world war"
  
คำว่า "Liberation หรือ การปลดปล่อย" นั้นใช้ได้กับประเทศที่เป็นเอกราช แต่ถูกชาติอื่นเข้าไปยึดครอง และเมื่อได้รับความช่วยเหลือจนกลับมามีเอกราชเหมือนเดิมแล้วจึงถือว่าได้รับการปลดปล่อย ซึ่งคำนี้คงใช้ได้เฉพาะสงครามสมรภูมิในยุโรปตะวันตก
  
คำว่า "Reoccupation หรือ การเข้าไปยึดครองใหม่" ใช้กับประเทศที่ถูกปกครองโดยประเทศอื่น ต่อมาถูกอีกประเทศหนึ่งเข้ามาไล่ผู้ปกครองเดิมออกไปและเข้าปกครองแทน และเมื่อผู้ปกครองที่ถูกไล่ออกไปนั้นกลับเข้ามากุมอำนาจได้ใหม่ ประชาชนของประเทศนั้นก็ยังคงถูกปกครองโดยผู้คนจากประเทศอื่นเหมือนเดิม ตรงนี้จึงเป็นการเข้าไปยึดครองใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคำนื้ควรเป็นคำที่ถูกต้องทางประวัติศาสตร์เมื่อกล่าวถึงสมรภูมิการรบในยุโรปตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิค
  
ดังนั้นการที่นักประวัติศาสตร์อย่าง Liddell Hart ใช้คำว่า "liberation" กับดินแดนในยุโรปตะวันออก (เช่นยูเครน เบลาลุส เอสทัวเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย ฯลฯ เดิมเป็นประเทศที่ถูกรัสเซียเข้าไปยึดครอง ก่อนที่ได้แยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตเป็นประเทศเอกราชในปัจจุบัน) พม่า คาบสมุทรมาลายู (ที่อังกฤษปกครอง) ฟิลิปปินส์ (ที่สหรัฐอเมริกาปกครอง) และหมู่เกาะในแปซิฟิคด้านตะวันตกเฉียงใต้ (เช่นอินโดนีเซียที่เนเธอร์แลนด์ปกครอง) ผมจึงเห็นว่าเป็นการใช้คำที่บิดเบือน คำที่ถูกต้องกว่าจึงควรเป็น "reoccupaton"

-------------------------------------------------------------------

๒๕ มกราคม เคยเป็นวันกองทัพไทย (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นวันที่ ๑๘ มกราคม)
และเคยเป็นวันที่ประเทศไทยประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา