วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เก็บตกจากโรงเบียร์ MO Memoir : Saturday 22 December 2555

เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อนฝูงร่วมรุ่นได้จัดงานเยี่ยมชมโรงงานของบริษัทปทุมธานีบริวเวอรี่จำกัด (อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับสะพานสะพานปทุมธานี แต่เขามักจะเรียกว่าสะพาน "นวลฉวี" มากกว่า) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตและบรรจุน้ำดื่มและน้ำมังสวิรัติ ก็เลยถือโอกาสเข้าร่วมงานเพื่อไปหาเรื่องราวต่าง ๆ มาเล่าให้ฟัง แต่คงจะไม่เอาเรื่องราวที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตมาเล่า อยากนำเสนอมุมอื่นให้ได้เห็นกัน รูปที่เอามาแสดงนั้นได้รับอนุญาตให้ถ่ายได้ทุกรูป

ลองดูตามรูปแต่ละรูปเอาเองก็แล้วกัน


 รูปที่ ๑ ออกจากห้องรับรองก่อนเข้าอาคารบรรจุผลิตภัณฑ์ก็เจอท่อแก๊สเหล่านี้วางเรียงราย สอบถามได้ความว่าเป็นแก๊สไนโตรเจนใช้สำหรับดับเพลิงในห้องคอมพิวเตอร์และห้องเก็บเอกสารต่าง ๆ ตัวนี้เป็นระบบเก่า ตอนติดตั้งนั้นคงเป็นช่วงที่เขารณรงค์เลิกใช้ฮาลอน (Halon) กันเนื่องจากมันทำลายโอโซน ผมถามเขาว่าทำไมถึงไม่เลือกใช้ CO2 เขาให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าทางผู้ติดตั้งระบบบอกว่า N2 จะปลอดภัยกว่า CO2 ตรงที่ใช้ปริมาณน้อยกว่าในการดับเพลิง (โดยปรกติปริมาณ CO2 ที่ใช้ในการดับเพลิงไหม้ได้นั้นจะสูงมากพอที่จะทำให้คนในห้องปิดนั้นขาดอากาศเสียชีวิตได้ แต่ถ้าใช้ในที่โล่งก็ไม่เป็นไร) แต่ตอนนี้เห็นมีตัวใหม่ที่เข้ามาขายแทนฮาลอนคือ Halonite ที่แลปเคมีพื้นฐานก็มีอยู่หลายถัง


รูปที่ ๒ หลังจากเยี่ยมชมส่วนบรรจุผลิตภัณฑ์แล้วก็มายังห้องควบคุมกระบวนการหมักและบ่ม บรรยากาศดีมากไม่เหมือนห้องควบคุมพวกโรงกลั่นน้ำมันหรือปิโตรเคมี (พวกนี้เป็นห้องผนังคอนกรีตเสริมเหล็กรับแรงระเบิด ไม่มีหน้าต่าง เห็นโลกภายนอกผ่านทางทีวีวงจรปิด) เพราะด้านหน้าห้องเป็นผนังกระจกมองออกไปเห็นถังหมักและแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีเรือวิ่งไปมาอยู่ข้างหน้า ตอนเช้าตรู่คงได้เห็นพระอาทิตย์โผล่ขึ้นจากอีกฟากแม่น้ำด้วย แม้ว่าโรงงานจะเอาระบบคอมพิวเตอร์สมัยใหม่มาใช้ในการควบคุมแล้ว (ทุกอย่างเรียกดูได้บนหน้าจอคอม) แต่ก็ยังอนุรักษ์แผงควบคุม (mimic panel) และอุปกรณ์ควบคุมแบบเดิมเอาไว้ ซึ่งก็เหมาะแก่การมองเห็นภาพกระบวนการผลิตทั้งหมดของโรงงานได้ในที่เดียวและใช้ในการอธิบายผู้เข้าเยี่ยมชม รูปบนเป็นตัวอย่างอุปกรณ์ควบคุมและแสดงผลที่ใช้กันในอดีต (ตอนนี้ไม่ใช้ ตัวเข็มชี้สีดำ (ที่ลูกศรสีแดงชี้) ก็เลยอยู่ล่างสุด) ส่วนรูปล่างเป็นส่วนหนึ่งของแผงควบคุมเดิมของโรงงาน

รูปที่ ๓ บริเวณนี้ปี ๒๕๕๔ น้ำท่วมหนัก แต่ทางโรงงานสามารถป้องกันเอาไว้ได้ เห็นบอกว่าจ่ายไปตั้ง ๓๐ ล้าน พี่ที่นำชมโรงงานบอกว่าที่ป้องกันได้เป็นเพราะมีกำลังคนและกำลังเงิน ใช้กระสอบทรายกันน้ำอย่างเดียว ตอนแรกก็ระวังน้ำที่จะเอ่อขึ้นมาจากทางฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งก็เคยมีแต่ก็ไม่มาก แต่ปี ๒๕๕๔ นั้นเป็นน้ำมาทางทุ่งตีตลบหลัง ระหว่างนั้นบริเวณโรงงานก็ใช้เป็นสถานที่หลบภัยของชาวบ้านรอบ ๆ ตอนนี้ทางโรงงานสร้างกำแพงกันน้ำท่วมเสร็จแล้ว ต้องลึกลงไปในดินประมาณ ๒๐ เมตรเพื่อกันน้ำซึมผ่านเข้าทางใต้ดิน บริเวณไหนสามารถลงกำแพงคอนกรีตได้ก็ลงกำแพงคนกรีต (เช่นที่เห็นในภาพ) ส่วนบริเวณส่วนที่ลงไม่ได้ก็ใช้ metal sheet pile ตอกอัดลงไป รูปนี้เป็นเครื่องสูบน้ำที่เขาใช้ในการสูบน้ำออก ผมก็แหย่เขาเล่นว่าลงทุนเหลือเกิน ขนาดท่อสูบน้ำทิ้งยังใช้ท่อสแตนเลสทั้งด้านดูดและด้านจ่าย (อันที่จริงคิดว่าเป็นเพราะเขาเป็นโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ก็เลยต้องมีท่อสแตนเลสสำรองเอาไว้เป็นเรื่องปรกติ)

รูปที่ ๔ ถัดจากกำแพงกันน้ำท่วมก็เป็นระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย มีวิศวกรสิ่งแวดล้อมนำชม พอเดินผ่านห้องควบคุมก็พบห่วงชูชีพแขวนไว้หน้าประตูก่อนเข้าส่วนบ่อบำบัด คิดว่าคงมีเอาไว้ช่วยผู้ที่ว่ายน้ำไม่เป็นและตกลงไปในบ่อบำบัดที่มีน้ำ เพราะถ้าตกลงไปในบ่อบำบัดที่ไม่มีน้ำก็มีสิทธิคอหักตายได้ เพราะมันลึกประมาณ ๔-๕ เมตรได้

รูปที่ ๕ ภาพทั่วไปของระบบบ่อบำบัด มีการวัดทิศทางลมเพื่อเอาไว้เปิดระบบฉีดน้ำเพื่อลดกลิ่น ในกรณีที่ลมพัดไปยังที่อยู่อาศัยของชาวบ้านรอบ ๆ

รูปที่ ๖ โรงงานนี้ผลิตแก๊สเชื้อเพลิงจากการหมักสารอินทรีย์ในน้ำทิ้งแบบไม่มีอากาศในบ่อบำบัด แต่เนื่องจากแก๊สที่ผลิตได้นั้นสูงเกินความต้องการของหม้อไอน้ำในบางช่วง จึงต้องมีระบบเผาแก๊สทิ้งแบบต้องจุดติดเองด้วยมือ ปล่องที่เห็นคือปล่องสำหรับเผา เปลวไฟจะลุกไหม้อยู่ข้างใน (คงต่ำกว่าบริเวณที่สีโลหะโดนเผาจนคล้ำ)

รูปที่ ๗ Compressor สำหรับอัดแก๊สที่ได้จากการย่อยสลายสารอินทรีย์ในบ่อย่อยสลายที่ไม่ใช้อากาศ (anaerobic) ระบบนี้เห็นเขาเดินเป็นท่อสแตนเลสทั้งระบบจากบ่อเก็บไปยัง compressor และต่อไปยังหม้อไอน้ำ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะในโรงงานมีท่อสแตนเลสอยู่แล้วหรือเป็นเพราะกลัวการกัดกร่อนจากแก๊สที่ได้จากการหมัก (เพราะนอกจาก CH4 ก็คงมี H2S และความชื้นที่ติดมากับแก๊ส ส่วนมุมขวาล่างของรูปในกรอบสีเหลืองคือวาล์วปีกผีเสื้อหรือ butterfly valve ที่เปิด-ปิดด้วยการใช้เฟืองทด

รูปที่ ๘ ก่อนหน้านี้เคยเล่าเรื่องการเชื่อมสแตนเลส คราวนี้ได้ไปเยี่ยมชมโรงงานที่ใช้ท่อสแตนเลสเต็มโรงงาน ก็เลยถือโอกาสถ่ายรูปรอยเชื่อมมาให้ดู (รูปซ้าย) จะเห็นว่าสีโลหะจะไม่มีรอยไหม้เหมือนกับที่แสดงไว้ใน Memoir ฉบับวันที่ ๑๘ ธันวาคมที่ผ่านมา ส่วนรูปขวาเป็นท่อเหล็กธรรมดาทาสีเขียวต่อด้วยหน้าแปลน แต่ใช้นอตสแตนเลสยึดหน้าแปลน โดยปรกติถ้าโลหะต่างชนิดกันสองชนิดสัมผัสกัน จะเกิดปฏิกิริยาเซลล์ไฟฟ้าเคมี โลหะที่มีค่า E0 ต่ำกว่าจะผุกร่อน ในกรณีของเหล็กสแตนเลส กับเหล็กกล้าธรรมดา เหล็กกล้าธรรมดาจะเป็นตัวผุกร่อน แต่ในรูปนี้คงเป็นเพราะมีการทาสีเอาไว้ก่อน และไม่ได้ใช้แหวนชนิดที่กัดทะลุเนื้อสีไปถึงเนื้อโลหะ (tooth washer) สีที่ทาจึงเป็นฉนวนไฟฟ้าไม่ให้ปฏิกิริยาเซลล์ไฟฟ้าเคมีครบวงจร

ท้ายสุดต้องขอขอบคุณพี่งู้ (กรรมการผู้จัดการ) ที่เป็นเจ้าภาพในการอนุญาตให้เข้าเยี่ยมชม เจ้าหน้าที่ของบริษัทที่ให้การต้อนรับโดยเฉพาะทางบลูมาสเตอร์ของบริษัทที่ให้คำอธิบายที่กระจ่างชัด หลังการเยี่ยมชมยังมีของชำร่วยติดมือกลับบ้าน แถมยังมีเครื่องดื่มเย็น ๆ ให้ดื่มแก้กระหายคลายร้อนจากการตระเวณโรงงาน (ดังรูป) และปิดท้ายด้วยอาหารมื้อเที่ยง (โต๊ะจีน) ที่แสนอร่อยก่อนเดินทางกลับด้วยครับ