วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2561

รู้ทันนักวิจัย (๑๒) พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการใช้ตัวเลขสัดส่วน MO Memoir : Wednesday 27 June 2561

มีหลายหน่วยปฏิบัติการในโรงงาน ที่เมื่อแรกเริ่มเดินเครื่องนั้นจะมีประสิทธิภาพที่สูง แต่พอใช้งานไปเรื่อย ๆ ประสิทธิภาพการทำงานก็จะลดต่ำลง ในกรณีที่การลดลงนั้นเป็นไปอย่างช้า ๆ อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ก็อาจจะทำการออกแบบเผื่อเอาไว้ให้ระบบสามารถทำงานได้ไปจนถึงกำหนดเวลาหยุดเดินเครื่องโรงงาน แล้วจึงค่อยทำการเปลี่ยน แต่ถ้าการลดลงนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว (เอาเป็นว่าในระดับชั่วโมงหรือไม่กี่วัน) ก็ต้องพิจารณาการติดตั้งหน่วยสำรอง (โดยเฉพาะกรณีที่ไม่สามารถหยุดการทำงานของกระบวนการทั้งหมดได้) หรือหยุดเดินเครื่องกระบวนการ (ถ้าทำได้) เพื่อที่จะการฟื้นคืนสภาพการทำงานของหน่วยนั้นเป็นระยะ ตัวอย่างของหน่วยผลิตเหล่านี้ได้แก่ หน่วยผลิตที่มีการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีการเสื่อมสภาพ (แบบผันกลับได้ หรือ reversible deactivation) อย่างรวดเร็ว หอดูดซับ (Adsorber) ที่ใช้ตัวดูดซับที่เป็นของแข็งทำการดูดซับสิ่งปนเปื้อนออกจากของเหลวหรือแก๊สที่ไหลผ่านเบดสารดูดซับ หรือเครื่องกรอง (filter) ที่ใช้ในการแยกอนุภาคของแข็งออกจากของเหลวหรือแก๊ส
 
ในที่นี้ขอยกตัวอย่างโดยสมมุติว่าหน่วยปฏิบัติการนี้เป็น catalytic fixed-bed reactor ที่ใช้ในการทำปฏิกิริยาหนึ่ง ในระหว่างการใช้งานนั้นตัวเร่งปฏิกิริยาจะมีการเสื่อมสภาพ (deactivation) จึงจำเป็นต้องมีการฟื้นฟูสภาพ (regeneration) เป็นระยะเพื่อให้ได้ความว่องไวกลับคืนมา รูปที่ ๑ ข้างล่างเป็นข้อมูลสมมุติความว่องไวในการทำปฏิกิริยา (แกน y) ของตัวเร่งปฏิกิริยา ๓ ชนิดเมื่อเวลา (แกน x) ผ่านไป และความว่องไวที่ได้กลับคืนมาเมื่อทำการฟื้นคืนสภาพที่ระยะเวลาต่าง ๆ


รูปที่ ๑ การเปลี่ยนแปลงความว่องไวในการทำปฏิกิริยาของตัวเร่งปฏิกิริยา ๓ ตัวเมื่อเวลาผ่านไป
 
ตารางที่ ๑ ข้อมูลของกราฟในรูปที่ ๑
จากรูปที่ ๑ จะเห็นได้ว่าลำตัวความว่องไวของตัวเร่งปฏิกิริยาเรียงตามลำดับ A > B > C แต่ถ้าพิจารณาอัตราเร็วของการเสื่อมสภาพก็พบว่าอัตราเร็วในการเสื่อมสภาพของตัวเร่งปฏิกิริยานั้นเรียงตามลำดับ A > B > C เช่นกัน และแม้จะทำการฟื้นคืนสภาพก็พบว่าไม่สามารถกลับคืนไปยังสภาพเริ่มต้นของการใช้งานก่อนหน้าได้ แต่ถึงกระนั้นก็ตามจะเห็นว่าไม่ว่าที่เวลาใด ๆ ความว่องไวของตัวเร่งปฏิกิริยาก็ยังคงเรียงตามลำดับ A > B > C เสมอ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือสำหรับเครื่องปฏิกรณ์ที่มีขนาดและใช้น้ำหนักตัวเร่งปฏิกิริยาเท่ากัน และทำการเปรียบเทียบด้วยสภาวะการทำปฏิกิริยาเดียวกัน ตัวเร่งปฏิกิริยา A จะให้ "ปริมาณ" ผลิตภัณฑ์ได้มากที่สุด ในขณะที่ตัวเร่งปฏิกิริยา C จะให้ "ปริมาณ" ผลิตภัณฑ์ต่ำสุด
 
แต่ถ้าเปลี่ยนข้อมูลการนำเสนอเป็นในแง่ "เสถียรภาพ" (stability) หรือ "ความสามารถในการฟื้นคืนสภาพเดิม" แทน กล่าวคือแทนที่แกน y ของกราฟจะเป็นข้อมูลความสามารถที่แท้จริงในการทำปฏิกิริยา ก็แสดงในรูปของ "สัดส่วนความสามารถในการทำปฏิกิริยา" เมื่อเทียบกับความสามารถในการทำปฏิกิริยาเมื่อแรกใช้ หรือ y/y0 เมื่อ y คือค่าความว่องไวในการทำปฏิกิริยาที่เวลา t ใด ๆ และ y0 คือค่าความว่องไวในการทำปฏิกิริยาที่เวลา t = 0 แล้วนำมาเขียนกราฟใหม่ เราก็จะได้กราฟดังรูปที่ ๒
 
เห็นการเปลี่ยนแปลงไหมครับ
 
ถ้าว่ากันตามรูปที่ ๒ แล้วยกเอาคำว่า "เสถียรภาพ" มาเป็นตัวเปรียบเทียบก็จะเห็นว่าการลดลงของค่าความว่องไวเมื่อเทียบกับค่าที่เวลา "t = 0" เรียงตามลำดับ C < B < A หรือตัวเร่งปฏิกิริยา C นั้นมีเสถียรภาพสูงกว่าตัวเร่งปฏิกิริยา B และตัวเร่งปฏิกิริยา B มีเสถียรภาพสูงกว่าตัวเร่งปฏิกิริยา A
หรือถ้ายกเอาคำว่า "ความสามารถในการฟื้นคืนสภาพเดิม" โดยเทียบกับค่าที่เวลา "t = 0" ก็จะได้ข้อสรุปแบบเดียวกันคือตัวเร่งปฏิกิริยา C นั้นสามารถฟื้นกลับคืนสภาพเดิมได้ดีกว่าตัวเร่งปฏิกิริยา B และตัวเร่งปฏิกิริยา B สามารถพื้นคืนสภาพเดิมได้ดีกว่าตัวเร่งปฏิกิริยา A

คำถามก็คือ ถ้าคุณต้องเป็นผู้ตัดสินใจสิ่งที่จะเลือก "เอาไปใช้งานจริง" คุณควรที่จะพิจารณาข้อมูลตัวไหน ระหว่าง ประสิทธิภาพในการทำงานจริง (ที่เป็นข้อมูลดิบ) ความสามารถในการฟื้นคืนสภาพเสถียรภาพ หรือเสถียรภาพในระหว่างการใช้งาน (ที่สองพารามิเตอร์หลังใช้ข้อมูลที่ผ่านการปรับแต่งด้วยกระบวนการทางคณิตศาสตร์


รูปที่ ๒ กราฟการเปลี่ยนแปลงความว่องไว เมื่อแสดงในรูปของสัดส่วนความสามารถในการทำปฏิกิริยาที่เวลา t ใด ๆ เทียบกับเมื่อเริ่มใช้งานครั้งแรก

ตารางที่ ๒ ข้อมูลตัวเลขของรูปที่ ๒ ได้ได้จากการปรับค่าข้อมูลในตารางที่ ๑ ใหม่ โดยให้ค่าที่เวลา 0 มีค่าเป็น 1.000 (หรือเป็น 100%) แล้วเทียบค่าที่เวลาต่าง ๆ ว่าเป็นสัดส่วน (หรือกี่ %) กับค่าที่เวลา 0

ไม่มีความคิดเห็น: