วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

โน๊ตเพลง "พรปีใหม่" และ "สายฝน" MO Memoir : Sunday 27 November 2559

เคยอ่านพบบทความที่ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับทำนองเพลง "มหาจุฬาลงกรณ์" ที่เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เอาไว้ว่า เป็นทำนองที่มีลักษณะแตกต่างเป็นพิเศษไปจากเพลงอื่นตรงที่ในเพลง "มหาจุฬาลงกรณ์" นี้ไม่มี "โน๊ตหลุดบันไดเสียง" สักตัว ทั้ง ๆ ที่มักจะพบเห็นโน๊ตหลุดบันไดเสียงนี้เป็นเรื่องปรกติในเพลงพระราชนิพนธ์เพลงอื่น
 
คำว่า "โน๊ตหลุดบันไดเสียง" นี้ผมไม่ได้บัญญัติขึ้นเองหรอกครับ เป็นคำที่ปรากฏอยู่ในบทความนั้น (ต้องขออภัยด้วยที่จำไม่ได้ว่าใครเขียน เห็นแต่ส่งต่อกันมาทาง facebook) ที่เจ้าของบทความนำมาใช้เพื่อให้คนทั่วไปที่ไม่ได้มีความรู้ทางดนตรีอะไรดีนักสามารถมองเห็นภาพได้ง่ายและชัดเจน และเมื่อผมลองกลับไปดูโน๊ตเพลงพระราชนิพนธ์เพลงอื่นก็พบว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง
 
ก่อนอื่นก็คงต้องขออธิบาย (ด้วยความรู้ระดับ งู ๆ ปลา ๆ ที่ผมมี) ให้กับผู้ที่ไม่ค่อยจะถูกโรคกับโน๊ตสากลให้พอจะมีความเข้าใจเรื่องบันไดเสียงก่อนบ้าง คือบันไดเสียงเป็นการกำหนดกลุ่มของตัวโน๊ตและระยะห่างระหว่างเสียงของโน๊ตแต่ละตัวในกลุ่มตัวโน๊ตนั้น เช่นบันไดเสียง C Major ประกอบด้วยโน๊ต โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โดยโน๊ต โด กับ เร เร กับ มี ฟา กับ ซอล ซอล กับ ลา และ ลา กับ ที ห่างกัน "หนึ่ง" ช่วงเสียง ส่วน มี กับ ฟา และ ที กับ โด นี้ห่างกัน "ครึ่ง" ช่วงเสียง โน๊ตที่ห่างกันหนึ่งช่วงเสียงนี้เราสามารถแบ่งครึ่งให้มีเสียงที่อยู่ระหว่างกลางได้ เช่นถ้าอยากให้มีเสียงสูงขึ้นอีกครึ่งเสียง ก็จะใช้เครื่องหมาย "ชาร์ป sharp หรือ #" ไว้หน้าโน๊ตตัวนั้น ถ้าอยากให้มีเสียงต่ำลงครึ่งเสียงก็จะใส่เครื่องหมาย "แฟล็ท flat หรือ b" ไว้หน้าโน๊ตตัวนั้น แต่ถ้าอยากจะให้โน๊ตตัวนั้นมีเสียงชาร์ปหรือแฟล็ทตลอดทั้งเพลง ก็จะไปใส่เครื่องหมายดังกล่าวไว้ที่หลังเครื่องหมายกุญแจเสียงเลย เช่นบันไดเสียง G Major (รูปที่ ๑) ที่มีเครื่องหมายชาร์ปกำกับไว้ที่ตำแหน่ง ฟา โน๊ตตัว ฟา ทุกตัวถ้าปรากฏขึ้นลอย ๆ โดยไม่มีเครื่องหมายอื่นกำกับ จะต้องเล่นเป็นเสียง ฟาชาร์ป ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ฟาสูง หรือ ฟาต่ำ และในทำนองเดียวกัน โน๊ตตัว ที ในบันไดเสียง F Major ก็ต้องเล่นเป็นเสียง ทีแฟล็ท ทั้งหมด


รูป ๑ ชื่อบันไดเสียงต่าง ๆ (รูปนี้เซฟเก็บเอาไว้นานแล้ว จำไม่ได้แล้วว่านำมาจากไหน)
 
เครื่องหมายชาร์ปหรือแฟล็ทที่เอาไปใส่ไว้หลังเครื่องหมายกุญแจเสียงนี้เรียกว่าเป็นเครื่องหมายตั้งบันไดเสียง ซึ่งอาจประกอบด้วยกลุ่มของเครื่องหมายชาร์ปหลายตัว (แถวบนในรูปที่ ๑) หรือเครื่องหมายแฟล็ทหลายตัวรวมกัน (แถวล่างในรูปที่ ๑) ส่วนจะมีการใช้ชาร์ปกับแฟล็ทปนกันได้หรือไม่นั้น ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน ในกรณีของโน๊ตที่มีการใช้เครื่องหมายตั้งบันไดเสียงกำหนดให้เป็นเสียงชาร์ปหรือแฟล็ท แต่ถ้าเราอยากให้โน๊ตตัวนั้นกลับมาเล่นเป็นเสียงปรกติ ก็จะมีการใช้เครื่องหมาย "เนเชอรัล natural" มาเป็นตัวกำกับ เช่นถ้าเพลงนั้นใช้บันไดเสียง F Major ที่กำหนดให้เสียง ที ทุกตัวต้องเล่นเป็น ทีแฟล็ท (ต่ำกว่าเสียง ที ปรกติครึ่งเสียง) แต่ถ้ามีตำแหน่งไหนต้องการให้เล่นเป็นเสียง ที ปรกติก็จะต้องเอาเครื่องหมายเนเชอรัลไปใส่กำกับไว้หน้าตัวโน๊ตตัวนั้น (ผมหาเครื่องหมาย natural บนแป้นพิมพ์ไม่เจอ)
 
ทีนี้ถ้าลองกลับไปดูโน๊ตเพลง "มหาจุฬาลงกรณ์" ที่ใช้บันไดเสียง F Major หรือเพลง "พรปีใหม่" ที่ใช้บันไดเสียง C Major ในรูปแนบท้าย Memoir ฉบับนี้ จะเห็นว่าไม่มีเครื่องหมายชาร์ปหรือแฟล็ทเพิ่มเติมอีกเลย แม้จะปรับเสียงโน๊ตเพลง "พรปีใหม่" ให้สูงขึ้นหนึ่งเสียงเป็นบันไดเสียง D Major ที่โน๊ต โด และ ฟา ทุกตัวต้องเป็นเสียงชาร์ป ก็จะเห็นว่าไม่มีเครื่องหมายชาร์ปหรือแฟล็ทปรากฏให้เห็นเช่นกัน แต่เพลง "สายฝน" ที่ใช้บันไดเสียง F Major ที่กำหนดให้โน๊ต ที ทุกตัวต้องเล่นเป็น ทีแฟล็ท นั้น ปรากฏว่ามีโน๊ต ที บางตัวมีเครื่องหมายเนเชอรัลกำกับให้เล่นเป็นเสียง ที ปรกติ (จะเรียกว่าเป็นโน๊ตหลุดบันไดเสียงก็ได้) แต่นี่ก็ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเพลงพระราชนิพนธ์เพลงอื่น


รูปที่ ๒ โน๊ตเพลงต้นฉบับที่ได้มาเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว

โน๊ตเพลง "พรปีใหม่" ต้นฉบับที่ผมมีเป็นบันไดเสียง C Major แต่มันมีโน๊ตหนึ่งตัวที่เป็นเสียง ทีต่ำ ที่ฟลุตมันเล่นไม่ได้ ผมก็เลยปรับเสียงโน๊ตแต่ละตัวให้สูงขึ้นหนึ่งช่วงเสียงด้วยการปรับเป็นบันไดเสียง D Major ทั้งสองเพลงจะว่าไปแล้วก็รูสึกว่าเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่เล่นได้ง่ายเมื่อเทียบกับเพลงพระราชนิพนธ์เพลงอื่น เช้าวันอาทิตย์นี้ก็คิดเสียว่าพักผ่อนกันด้วยเสียงเพลงก่อนการสอบไล่ปลายภาคต้นที่จะเริ่มในเช้าวันพรุงนี้ก็แล้วกัน




ไม่มีความคิดเห็น: