วันพุธที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

"มหกรรม" หมายความว่า "มากเกินปรกติ" ก็ได้ MO Memoir : Wednesday 12 July 2560

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๖ หน้า ๘๓๗ ให้คำนิยามคำว่า "มหกรรม" ที่เป็นคำภาษาบาลี ไว้ดังแสดงในรูปข้างล่างครับ
 

ว่าแต่ว่า มีใครเคยใช้คำ "มหกรรม" นี้ตามความหมายที่ปรากฏในพจนานุกรมไหมครับ
 
บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" จัดทำโดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น. อธิบายความหมายของคำว่า "มหกรรม" ไว้แตกต่างไปจากที่ปรากฏในพจนานุกรมดังรูปข้างล่างครับ คือเป็นคำที่ประกอบด้วยคำสองคำรวมกันคือ "มห" และ "กรรม" ทำให้คำนี้มีความหมายแตกต่างไปจากความหมายที่ปรากฏในพจนานุกรม


เมื่อวานเห็นมีคนเขาวิจารณ์ (ตามด้วยคนด่าตามน้ำ) สำนักข่าวแห่งหนึ่งที่พาดหัวข่าวโดยมีคำว่า "มหกรรมดาวดับ" ประกอบในหัวข่าว (วันนี้เห็นมีการตัดคำนี้ทิ้งไปแล้ว) ว่าใช้คำไม่ถูกต้องตามความหมายของมัน
 
ที่ผมแปลกใจก็คือ จะว่าไปแล้วผมเองก็ยังไม่เคยเห็นใครใช้คำ "มหกรรม" ตามความหมายที่ปรากฏในพจานุกรมเลย มักจะใช้ตามความหมายที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาอธิบายไว้มากกว่า และถ้าความหมายของคำนี้ต้องเป็นตามที่พจนานุกรมกำหนดเท่านั้น เป็นอย่างอื่นไม่ได้ แล้วทำไมเวลามีการจัดงานเช่น งานมหกรรมสินค้าราคาถูก งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ งานมหกรรมยานยนต์ งานมหกรรมรถยนต์มือสอง ฯลฯ จึงไม่มีการออกมาโวยวายว่าใช้คำไม่ถูกต้อง ทั้ง ๆ นี้งานเหล่านี้ไม่ได้เป็นงานจัดขึ้นเพื่อฉลองหรือบูชา สินค้าราคาถูก หนังสือ รถยนต์ ฯลฯ และการใช้คำแบบนี้ก็มีมานานมากแล้วด้วย ไม่ใช่เพิ่งจะมี
 
ผมเองก็ไม่ใช่นักภาษาศาสตร์ ได้แต่ตั้งข้อสงสัยว่า เป็นไปได้ไหมที่คำในภาษาไทยที่ใช้อยู่นั้นที่สะกดเหมือนกัน แต่มีความหมายแตกต่างกันเนื่องจากมีที่มาที่แตกต่างกัน พอเอาความหมายจากที่มาหนึ่งไปใช้แทนความหมายจากอีกที่มาหนึ่ง ก็เลยทำให้ดูว่าใช้คำผิด ใช้คำไม่เป็น (ทั้ง ๆ ที่เขาใช้ถูกต้องตามความหมายจากอีกที่มาหนึ่ง)
 
อีกคำหนึ่งที่ผมเองก็สงสัยว่ามีปัญหาในทำนองเดียวกันคือคำว่า "ครู" ที่มาจากรากศัพท์คำ "ครุ" ในภาษาบาลีและสันสกฤต คำว่า "ครุ" นี้มีสองความหมาย ความหมายหนึ่งนั้นแปลว่า "หนัก" ส่วนอีกความหมายหนึ่งนั้นหมายถึง "ผู้รู้" หรือ "ผู้สั่งสอนศิษย์" หรือ "ผู้ถ่ายทอดวิชาให้กับศิษย์" ดังนั้นคำว่า "ครุศาสตร์" จะแปลว่าศาสตร์ที่หนักก็ไม่น่าจะถูกต้อง (แต่ได้ยินหลายครั้งแล้วที่คนเป็นครูบาอาจารย์หลายคนชอบแปลแบบนี้) เพราะมันไม่สื่อความหมายใด

ไม่มีความคิดเห็น: