วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ก่อนจะเลือนหายไปจากความทรงจำ ตอนที่ ๒๑ ทางหลวงล่องใต้ MO Memoir : Wednesday 11 July 2555


ฉบับแรกของปีที่ ๕ นี้ออกล่าช้าไปหน่อยเพราะมัวแต่วุ่นอยู่กับปัญหาพีค NO ของ GC-2014 ECD & PDD ซึ่งตอนนี้หลังจากโทรคุยโทรศัพท์กับสาวน้อยหน้าบาน (คนใหม่) เมื่อสักชั่วโมงที่ผ่านมาก็คิดว่าปัญหาคงไม่ได้อยู่ที่เครื่อง GC แล้ว แต่น่าจะอยู่ที่ระบบ tubing ของอุปกรณ์ทดลอง (ปัญหาเดิมกลับมาใหม่อีกครั้ง)

นอกจากนี้ยังโดยไข้หวัดเล่นงานเสียอีก ติดจากลูกมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว จนป่านนี้ก็ยังไม่หายดี อยู่ได้ด้วยการกินยาพาราเซตามอลทีละ ๒ เม็ดทุก ๖ ชั่วโมง

วันศุกร์ที่แล้วต้องเข้าไปประชุมในห้องสำนักงานของหัวหน้าใหญ่ ห้องประชุมนี้นาน ๆ จะโดนเรียกเข้าไปที (ไม่จำเป็นไม่อยากจะเข้าไป เพราะถ้าต้องไปทีไรแสดงว่ามีเรื่องปวดหัวให้ต้องทำ) ในห้องนั้นจะมีแผนที่ทางหลวงประเทศไทยเก่า ๆ ใส่กรอบแขวนไว้ข้างฝาอยู่ฉบับหนึ่ง ผมเห็นมานานแล้ว ตอนเดินออกจากห้องนั้นทีไรก็มักจะแวะหยุดดูทุกที

แผนที่ทางหลวงเก่า ๆ นั้นผมว่ามันบอกให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรต่อมิอะไรในประเทศของเราหลายอย่าง จากบริเวณที่เคยเป็นพื้นที่ที่ไม่มีคนอยู่หรือมีอยู่บางตา กลับกลายเป็นชุมชนใหญ่เมื่อมีถนนตัดผ่าน

การตัดถนนแต่ก่อนนั้นเข้าใจว่าจะตัดไปยังชุมชนต่าง ๆ ตอนเด็ก ๆ ไปเยี่ยมญาติทางใต้ ผู้ใหญ่ก็เล่าให้ฟังว่าแต่ก่อนพอชาวบ้านรู้ว่าจะมีโครงการตัดถนน ก็จะยกที่ตัวเองให้ เพื่อที่จะได้มีถนนผ่านแถวบ้านตัวเอง ถนนเส้นเดิมก็เลยคดไปคดมา ถนนตามแนวเดิมนั้นจะวางแนวไปบนพื้นผิวภูมิประเทศ ตรงไหนลงต่ำก็ต่ำตาม ตรงไหนขึ้นสูงก็ขึ้นสูงตาม ดังนั้นจะเห็นว่าความสูงของระดับถนนกับระดับพื้นข้างถนนนั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงมาก

ในช่วงหลังการตัดถนนเปลี่ยนแปลงไป ใช้วิธีการวางแนวให้ตรงที่สุดเท่าที่จะตรงได้ จะหลบโค้งเมื่อจำเป็น ตรงไหนเป็นเนินดินสูงก็จะใช้วิธีตัดผ่านกลางให้มันเตี้ยลง ตรงไหนเป็นที่ต่ำก็ใช้การถมให้มันสูงขึ้น ผลออกมาก็คือใครมีบ้านที่อยู่ตรงที่เป็นเนินดินก็จะเห็นระดับพื้นดินบ้านตัวเองนั้นอยู่สูงเหนือพื้นถนนหรือไม่ก็สูงกว่าหลังคารถที่วิ่งผ่านเสียอีก แต่ถ้าใครมีบ้านอยู่ตรงที่ต่ำก็อาจจะได้เห็นว่ารถดับพื้นถนนอยู่ระดับเดียวกับหลังคาบ้านตัวเอง

ผมมีโอกาสได้ขับรถไปเที่ยวทางใต้หลายครั้ง ปรกติก็จะขับลงทางฝั่งอ่าวไทยและกลับทางฝั่งอันดามัน ตอนขับลงก็จะลงไปตามถนนเพชรเกษม (ทางหลวงสาย ๔) ถึงแยกปฐมพรที่จังหวัดชุมพร ก็ขับต่อไปตามทางหลวงสาย ๔๑ ลงไปทางสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ซึ่งเป็นจุดที่ทางหลวงสาย ๔๑ มาบรรจบถนนเพชรเกษมใหม่ และต่อลงไปยังสงขลา พอตอนกลับก็จะออกจากจังหวัดพัทลุงไปทางจังหวัดตรังตามทางถนนเพชรเกษม จำความได้ตอนเด็ก ๆ เคยนั่งรถจากพัทลุงไปทางตรัง ตรงรอยต่อระหว่างสองจังหวัดนี้ถนนเพชรเกษมต้องข้ามเขาบรรทัด เส้นทางช่วงนี้คดเคี้ยวมากจนชาวบ้านเรียกว่าถนนช่วงนี้ว่าเป็นช่วงขึ้น "เขาพับผ้า" (มันคดเหมือนผ้าที่เขาพับทบเอาไว้) ด้านหนึ่งของถนนเป็นภูเขา อีกด้านลึกต่ำลงไปมีลำธารน้ำไหลผ่าน แต่นั่นเป็นอดีตไปแล้ว เพราะมีการตัดแนวถนนดังกล่าวใหม่ แต่ถ้าใครสังเกตดูข้างทางให้ดี ๆ ก็จะพอเห็นร่องรอยของถนนเส้นเดิมหลงเหลืออยู่ (เช่นแนวถนนหรือสะพานเก่า ถ้าไม่โดนต้นไม้ขึ้นปกคลุมจนหมดเสียก่อน)

ช่วงที่ยังให้บรรยากาศเก่า ๆ ใกล้เคียงบรรยากาศเขาพับผ้าเดิมเห็นจะเป็นทางหลวงหมายเลข ๔ ช่วงอ.ทับปุด ถึง อ.เมือง จ.พังงา ถนนเส้นดังกล่าวมีคนใช้น้อยมาก คงเพราะเป็นเส้นทางขึ้นเขาและคดเคี้ยวมาก หาช่วงที่เป็นทางตรงแทบไม่ได้เลย รถใหญ่จะผ่านไปลำบาก คนก็เลยไปใช้เส้น ๔๑๕ ที่ตัดผ่านป่าชายเลนกันมากกว่า

ขับรถมาหลายถนนแล้ว (ขาดแต่ภาคอีสาน) เส้นทางที่ชอบมากเส้นทางหนึ่งคือถนนเพชรเกษมช่วงระหว่างจังหวัดระนอง ต่อไปยัง พังงา กระบี่ และตรัง เพราะให้บรรยากาศที่ไม่ทำให้รู้สึกแห้งแล้ง มีอะไรต่อมิอะไรให้ชมตลอดสองข้างทาง ถนนไม่ตรงดิ่งเป็นทางยาวที่ทำให้ขับแล้วน่าเบื่อ แต่สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องเมารถและพวกที่ชอบขับรถเร็วแล้ว คงจะไม่ชอบเส้นทางนี้แน่ เพราะส่วนใหญ่ยังเป็นถนนสองเลนอยู่ (แต่ตอนนี้ไม่รู้เหมือนกันว่ายังเป็นสองเลนเหมือนเดิมหรือเปล่า แต่ถ้าถูกขยายขึ้นเป็น ๔ เลนเมื่อใดจะรู้สึกเสียดายบรรยากาศสองข้างทางมาก

เคยสงสัยเหมือนกันว่าทำไปถนนเพชรเกษมถึงได้ตัดอ้อมไปมา จากกรุงเทพพอมาถึงชุมพรที่อยู่ฝั่งอ่าวไทยก็เลี้ยวขวาไปยังจังหวัดระนอง ไปวิ่งเลียบฝั่งอันดามันจนถึงจังหวัดตรัง จากนั้นจึงค่อยวกกลับมาฝั่งอ่าวไทยที่จังหวัดพัทลุงใหม่อีกครั้ง แต่พอได้เห็นแผนที่ฉบับนี้แล้ว (รูปที่ ๑) ก็คิดว่าที่คำตอบที่เคยคิดไว้น่าจะถูกต้อง

จังหวัดที่อยู่ริมด้านอ่าวไทยนั้นมี "ทางรถไฟ" วิ่งผ่านอยู่แล้ว นอกจากนี้ถ้าไม่ใช้รถไฟก็ยังใช้เรือเดินทางมายังกรุงเทพได้ แต่จังหวัดด้านทะเลอันดามันนั้นไม่มีรถไฟวิ่งผ่าน ถ้าจะมาเรือก็ต้องไปอ้อมที่สิงคโปร์ ดังนั้นจุดนี้จึงน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เมื่อตัดถนนเพชรเกษมนั้นพอตัดไปถึงชุมพรก็ให้เลี้ยวไปทางจังหวัดที่อยู่ทางด้านฝั่งทะเลอันดามัน ส่วนเส้นทางจากชุมพรตรงไปยังสุราษฎ์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง ซึ่งก็คือทางหลวงสาย ๔๑ นั้นก็เก็บเอาไว้ก่อน ในแผนที่จะเห็นว่าทางหลวงสาย ๔๑ ทำเสร็จสมบูรณ์มาแค่ปากน้ำหลังสวน ชุมพร จากนั้นก็เป็นแค่จุดประ ๆ ไม่รู้เหมือนกันว่าความหมายคือถนนในโครงการหรือเป็นทางลูกรัง (แต่คิดว่าน่าจะเป็นทางลูกรังมากกว่า เพราะบ้านเกิดของคุณแม่ของผมนั้นอยู่ริมถนนเส้นดังกล่าว ท่านเคยเล่าให้ฟังว่าตอนเด็ก ๆ ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองยังได้เห็นทหารญี่ปุ่นนั่งรถผ่านถนนหน้าบ้าน)

ดังนั้นแต่ก่อนถ้าใครจะเดินทางไปสุราษฎร์ธานีหรือนครศรีธรรมราชทางรถยนต์ก็ต้องเดินทางกว่าพันกิโลเมตร เพราะต้องขับรถไปทางชุมพร ระนอง ลงไปถึงอ.ตะกั่วป่า จ.พังงา จากนั้นจึงค่อยเลี้ยวเข้าทางหลวงแผ่นดินสาย ๔๐๑ (ที่ปัจจุบันมีเขื่อนเชี่ยวหลานหรือเขื่อนรัชชประภาอยู่) ผ่านคีรีรัฐนิคม แล้วค่อยไปโผล่ที่อ.พุนพิน และเข้าตัวจังหวัดสุราษฎร์ธานีอีกที

ถ้าจะไปนครศรีธรรมราช ก็ต้องขับลงต่อไปยังจังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ ไปถึงอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง จากนั้นจึงค่อย้อนขึ้นตามทางหลวงสาย ๔๐๓ ไปยังอำเภอทุ่งสง อำเภอร่อนพิบูลย์ แล้วค่อยเข้าจังหวัดนครศรีธรรมราช

นั่นเป็นอดีตที่เคยได้ยินผู้ใหญ่ท่านเล่าให้ฟัง เลยเอามาบันทึกไว้กันลืม

รูปที่ ๑ แผนที่ทางหลวงสายใต้ไม่ทราบปีพ.. รู้แต่ว่าตอนนั้นทางหลวงสาย ๔๑ จากชุมพรไปยังพัทลุงพึ่งสร้างไปได้แค่อำเภอหลังสวน ดังนั้นถ้าใครจะเดินทางโดยรถยนต์ไปยังสุราษฎร์ธานีหรือนครศรีธรรมราช ต้องนั่งรถกันร่วมพันกิโลเมตรหรือมากกว่า